30thOctober

30thOctober

30thOctober

 

January 09,2021

‘ราชภัฏโคราช’ลดค่าเทอม ๑๐% ปรับเรียนออนไลน์รูปแบบใหม่

อธิการบดีราชภัฏโคราช พร้อมถอดบทเรียนจากการแพร่ระบาดรอบแรก รับมือโควิด-๑๙ รอบสอง ปรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์รูปแบบใหม่ และยินดีลดค่าเทอม ๑๐% ช่วยนักศึกษา แนะสถานศึกษาปรับหลักสูตรออนไลน์ ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการสอน ลดงานด้านวิชาการ สร้างวินัยและความรับผิดชอบให้กับนักเรียน

 

ตามที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ทั่วโลก โดยประเทศไทยเริ่มมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๓ ส่งผลให้มีรัฐบาลมีมาตรการต่างๆ ออกมา เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ทำให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศก็เริ่มลดลง กระทั่งไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเวลาหลายเดือน และเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓ เกิดการลักลอบเข้าภายในประเทศ จากผู้ใช้แรงงานชาวไทยและแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ อย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย และรัฐบาลได้กำหนดมาตรการต่างๆ ออกมาอีกครั้ง

จากนั้น เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๔ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) หรือ ศบค. มีคำสั่งที่ ๑/๒๕๖๔ เรื่องพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด (โซนสีแดง) ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ กำหนดให้ ๒๘ จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ดังนี้ จังหวัดกาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชุมพร ชลบุรี ตราด ตาก นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ราชบุรี ระนอง ระยอง ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี สระแก้ว สระบุรี อ่างทอง และกรุงเทพมหานคร 

ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมานั้น ศบค.กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุม (โซนสีส้ม) เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อรอบใหม่สะสม ๙ ราย โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ได้กำหนดให้มีมาตรการบางส่วนออกมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ แต่ยังอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมและกิจการ รวมทั้งสถานศึกษายังสามารถเปิดให้มีการเรียนการสอนต่อไป โดยกล่าวไว้ว่า “กรณีการปิดสถานศึกษาถือเป็นอำนาจของผู้บริหารในการพิจารณาตามความเหมาะสม โดยเฉพาะโรงเรียนประถมควรปิดเพื่อความปลอดภัย ของบุตรหลาน หากเกินอำนาจของผู้บริหารที่กำหนดไว้ครั้งละไม่เกิน ๗ วัน และสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย สามารถนำเสนอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมานำเข้าสู่วาระการพิจารณาได้ทันที”

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๓๐ น. “โคราชคนอีสาน” ติดต่อสัมภาษณ์ ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์โควิด-๑๙ รอบใหม่ ในสถานศึกษา ซึ่งได้รับการเปิดเผยว่า “จากสถานการณ์ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้กำหนดให้มีมาตรการดังนี้ ๑.จัดให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งประกาศให้หยุดก่อนปีใหม่ ๓ วัน และเริ่มให้มีการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ๒.ทำงานร่วมกับศูนย์แพทย์ที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นจุดแจ้งสำหรับบุคลากรที่เดินทางมาจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อคัดกรองในเบื้องต้น และส่งตรวจที่โรงพยาบาลเทพรัตน์ นครราชสีมา และ ๓.ลดค่าเทอมให้นักศึกษา ๑๐% ต่อเนื่องจากครั้งแรก เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับนักศึกษา เป็นสิ่งที่ทำในเบื้องต้นเพื่อรอดูสถานการณ์ว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ หากเกิดความรุนแรงมากขึ้น ต้องมีมาตรการเพื่อทำควบคู่กัน ป้องกันไม่ให้แพร่ระบาดมากขึ้นกับกลุ่มนักศึกษา บุคลากร และผู้ปกครอง แต่อย่างไรก็ตามเราจะเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน ไม่ใช่ป้องกันโควิด-๑๙ แล้วไม่มีประสิทธิภาพเรื่องการเรียนการสอน อาจจะพัฒนาเอกสารประกอบการสอนด้านอื่นที่สามารถส่งให้โดยตรงได้”

อย่าถ่ายทอดสดอย่างเดียว

ต่อข้อถามที่ว่า “มีโอกาสที่จะจัดทำเป็นออนไลน์ ๑๐๐% หรือไม่” ผศ.ดร.อดิศร ตอบว่า “จากการถอดบทเรียนครั้งแรกที่ใช้การเรียนออนไลน์ ๑๐๐% ซึ่งพบปัญหาหลายด้าน คือ ๑.ความพร้อมของผู้เรียนเกี่ยวกับเครื่องมือการใช้งาน ซึ่งโทรศัพท์มือถือใช้เรียนออนไลน์ไม่ได้ ๒.สัญญาณอินเทอร์เน็ต ส่วนนี้เป็นปัญหาค่อนข้างมาก แม้ครั้งที่ผ่านมาจะแจกซิมการ์ด แต่ผลการประเมินเด็กไม่มารับเป็นจำนวนมาก บางคนรับไปก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น แต่จะไม่ใช้ออนไลน์เพียงอย่างเดียว ต้องเปลี่ยนชุดความคิดใหม่ว่า การเรียนการสอนแบบออนไลน์ไม่ใช่การถ่ายทอดสดเท่านั้น ซึ่งมีวิธีการในการเตรียมสอนแบบออนไลน์หลากหลาย หรือการทำชุดการเรียนสำเร็จรูป การออกแบบการเรียนออนไลน์เพื่อประกอบการสอน การเรียนควรเป็นการวิพากษ์ แสดงความคิดเห็น ต้องให้ศึกษาก่อนที่จะมาวิพากษ์ร่วมกัน เพราะส่วนใหญ่มองว่าออนไลน์เป็นการมานั่งรอเรียนผ่านโปรแกรม อาจจะเป็นการเรียนผ่านแพลตฟอร์มอื่น ต้องทำความเข้าใจกันใหม่”

กระทบประสิทธิภาพและเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่า “จากสถานการณ์ส่งผลต่อด้านการศึกษามากน้อยอย่างไร” ผศ.ดร.อดิศร ตอบว่า “ส่งผลกระทบใน ๒ มิติ คือ ๑.ประสิทธิภาพการเรียนการสอน หากเด็กไม่ได้เข้าห้องเรียนก็อาจลดลง และ ๒.ส่งผลต่อเรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ปกครองหรือเด็กที่มีงานทำอยู่แล้วจะได้รับผลกระทบเกี่ยวกับรายได้ที่ลดลง ย่อมส่งผลต่อการจ่ายค่าบำรุงการศึกษา หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ในมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งส่งผลต่อบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวแต่รับจากนักศึกษาด้วย รวมทั้งส่งผลต่อเรื่องการจัดการของมหาวิทยาลัยในระดับหนึ่ง แต่ในวิกฤตยังมีโอกาสที่จะให้บุคลากรและนักศึกษาปรับตัวในการเรียนรู้ระบบทางไกลและระบบออนไลน์ การเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยน เป็นเรื่องที่ท้าทายต่ออนาคตว่า จะใช้ระบบไอทีกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร เป็นผลกระทบทางบวกและทางลบ”

สถานศึกษาต้องมีอำนาจตัดสินใจ

ต่อข้อถามว่า “สำหรับสถานศึกษาอื่นๆ จะส่งเสริมมาตรการในการเรียนการสอนอย่างไรนั้น” ผศ.ดร.อดิศร เสนอแนะว่า “ภาคอุดมศึกษาจะจัดการง่ายกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเรื่องความรับผิดชอบและความพร้อมในการเรียนออนไลน์ยังไม่พร้อมค่อนข้างสูง หากจะนำมาใช้ต้องอยู่ในลักษณะผสมผสานระหว่างระบบออนไลน์และระบบทางไกล ต้องผลิตสื่อการเรียนการสอนที่เป็นกระดาษจัดส่งทางไปรษณีย์ หรือให้มารับด้วยตนเองโดยมีกระบวนการส่งประกอบกับระบบออนไลน์ ส่วนระดับประถมศึกษาหรือปฐมวัย ในทัศนะของผม มองว่า สถานศึกษาต้องมีอำนาจในการตัดสินใจในการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะการสอนตามมาตรฐานของหลักสูตร มีอำนาจในการปรับ ลด มาตรฐานการจัดการเรียนการสอนไม่ต้องดำเนินการตามมาตรฐานที่วางไว้ เน้นการให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยเหลือการจัดการเรียนการสอน เนื่องจากผู้ปกครองต้องอยู่ที่บ้านกับเด็ก ดังนั้นต้องให้ผู้ปกครองเข้ามาช่วยการเรียนการสอน แต่ไม่ใช่การจัดการด้านวิชาการอย่างเดียว แต่ควรจะถือโอกาสสร้างวินัยที่เป็นเรื่องสำคัญให้กับเด็ก เช่น กิจกรรมงานบ้าน การปลูกผักสวนครัว เพื่อนำกลไกมารายงานให้โรงเรียนทราบ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานหลักสูตร งานด้านวิชาการควรลดลงและทำในระดับที่ผู้ปกครองช่วยเหลือได้ ต้องสื่อสารผ่านผู้ปกครองมากกว่าเด็ก ถือโอกาสปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ของเด็กให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น”

รัฐควรมีมาตรการที่ชัดเจน 

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ กล่าวท้ายสุดว่า “รัฐบาลต้องให้ความชัดเจนในเรื่องนี้ ต้องปรับหลักสูตรในการศึกษาขั้นพื้นฐานมากกว่าอุดมศึกษา ส่วนความคาดหวังจากภาครัฐ มองว่า เราต้องช่วยเหลือตนเอง อย่าไปเรียกร้องอะไร เพราะรัฐก็จะไปไม่รอดเช่นเดียวกัน สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุน คือ ความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการ กฎ กติกาต้องยืดหยุ่น แม้กระทั่งหลักสูตรต้องลดมาตรฐานตัวชี้วัด รวมทั้งสนับสนุนโรงเรียนที่อยู่ในชนบทที่ไม่มีความพร้อม โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อย หากไม่จำเป็นก็ไม่ต้องหยุด อย่าไปทำเหมือนกันทั้งหมด ถ้าไม่มีโควิด-๑๙ ในพื้นที่นั้น ก็ไม่จำเป็นต้องหยุด ควรให้อำนาจในการตัดสินใจโดยมีการรายงานเป็นระยะ อาจทำออกมาในเชิงนโยบาย และผมไม่เห็นด้วยกับการซื้อแท็ปเล็ตแจกเด็ก”

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๑ วันพุธที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๒ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

91 1,770