January 14,2021
นกเขาคารม (๑)
ในอดีตนครราชสีมา เคยมีคำขวัญประจำจังหวัด ว่า “โคราชลือเลื่องเมืองก่อนเก่า นกเขาคารม อ้อยคันร่ม ส้มขี้ม้า ผ้าหางกระรอก” โดยเฉพาะนกเขาใหญ่ที่มีเสียงขันไพเราะเป็นคารมหาที่ใดเปรียบมิได้ จนมีคำกล่าวขานว่า “นกเขาใหญ่โคราชขันถี่มีคารม.....นกโคราชเป็นนกเพลง เป็นนกดีมีคารม…..ดูเหลื่อมดูลายแล้วที่ไหนก็สู้ไม่ได้”
อ้อยคันร่ม เป็นอ้อยลำเล็กๆ ขนาดหัวนิ้วโป้งมือเท่าๆ กับคันร่มแต่ก่อนปลูกกันมากจนแทบจะทุกหลังคาเรือน ปัจจุบันไม่นิยมปลูกกันจนสูญพันธุ์ไปในที่สุด
ส้มขี้ม้า เป็นส้มผลเล็กรูปทรงกลมแป้นตรงกลางบุ๋มคล้ายลูกจันหรือลูกอิน ผลอ่อนจะมีสีเขียวเหมือนสีขี้ม้า เมื่อสุกจะมีสีเหลืองส้ม รสออกเปรี้ยว ปัจจุบันคาดว่าส้มขี้ม้าอาจสูญพันธุ์ไม่เหลือแม้แต่ต้นเดียว
ผ้าหางกระรอก เป็นผ้าทอจากด้ายหรือไหม ต่างสีฟั่นเป็นเกลียวเสียก่อน มีลักษณะเด่นก็คือผิวผ้าจะเป็นเส้นฝอยฟู แลดูเหมือนขนของหางกระรอก ปัจจุบันผ้าหางกระรอกก็ไม่เป็นที่นิยมในท้องตลาดผ้าไหม
คงเหลืออย่างเดียวที่ยังพอหาดูได้ก็คือ “นกเขาคารม” ซึ่งปัจจุบันยังมีการเลี้ยงไว้ดูเล่น
นกเขาคารม คือ นกเขาใหญ่ที่ขันอย่างมีคารม คือ เสียงขันฟังว่า เจ้าพุทโธ เจ็กหัวโต โก้โก้
การขันของนกเขาใหญ่
โดยธรรมชาติแล้วนกเขาใหญ่จะมีเสียงขันอยู่ ๓ ลักษณะ ดังนี้
๑. ขันโยน หรือขันธรรมดา เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของถิ่น ด้วยเสียงขัน “กุ๊ก…กรู…กรู….กุ๊ก หรือกุ๊ก…กรู…กรู….กุ๊ก กุ๊ก ” ซึ่งถือว่าเป็นเสียงขันธรรมดาทั่วๆ ไปตามปกติ แต่ถ้าตัวผู้ขันโยน (กุ๊ก…กรู…กรู…กุ๊ก) แล้วเห็นตัวเมียหรือตัวผู้ตัวอื่นจะเปลี่ยนจากการโยนเป็นเสียงขันเรียกทันที
ลักษณะของการขันโยน
๑) ปกตินกเขาจะขันโยน ๔ เสียง หรือ ๔ พยางค์ คือ กุ๊ก…กรู…กรู….กุ๊ก เรียกว่าขัน ๑ ชุด แล้วก็จะขันชุดใหม่เช่นนี้ไปเรื่อยๆ
๒) ขัน ๒ กุ๊ก หรือเรียกว่านก ๒ กุ๊ก คือนกเขาที่ขันครบ ๑ ชุดแล้วจะมีเสียง กุ๊ก เพิ่มต่อมาอีก นับรวมแล้วเป็น ๕ เสียง หรือ ๕ พยางค์ คือ กุ๊ก…กรู…กรู….กุ๊ก กุ๊ก และถ้าขัน ๒ กุ๊ก แล้วถ้ามีเสียง กุ๊ก เพิ่มต่อมาอีก นับรวมแล้วเป็น ๖ เสียง หรือ ๖ พยางค์ คือ กุ๊ก…กรู…กรู….กุ๊ก กุ๊ก กุ๊ก เรียกว่านก ๓ กุ๊ก ดังนั้นจะเรียกว่านก ๔ กุ๊ก ๕ กุ๊ก ให้ฟังจากเสียง กุ๊ก แล้วนับรวมว่าทั้งหมดมีกี่เสียงหรือกี่พยางค์
อย่างไรก็ตาม บางท้องถิ่นเห็นว่าท้ายเสียง ๓-๔ กุ๊ก ที่กระแทกกระทั้น เรียกว่า “นกเขากระทุ้งโลง” เป็นนกที่เบิกไม่ดีหรือไม่ต้องโฉลกจึงมักไม่นิยมเลี้ยงกัน
๓) นกหลิ่ว คือ นกที่ขันเพียง ๓ เสียง หรือ ๓ พยางค์ คือ กุ๊ก…กรู…กรู….โดยไม่มีเสียง กุ๊ก เพิ่มมา แต่ถ้านกหลิ่วขันมากกว่า ๑ ชุดหรือขันหลาย ๆ ชุด เรียกว่า นกหลิ่วตัน เช่น
ชุดที่ ๑ กุ๊ก…กรู…กรู…. ชุดที่ ๒ กุ๊ก…กรู…กรู… ชุดที่ ๓ กุ๊ก…กรู…กรู….เป็นต้น
๔) นกหลิ่วแกมกุ๊ก คือนกหลิ่วขัน ๓ เสียง หรือ ๓ พยางค์ คือ กุ๊ก…กรู…กรู….แล้วพอขันชุดใหม่กลับเพิ่มเสียง กุ๊ก ในเสียงที่ ๔ หรือพยางค์ที่ ๔ เช่น ชุดที่ ๑ กุ๊ก…กรู…กรู…. ชุดที่ ๒ กุ๊ก…กรู…กรู….กุ๊ก
๒. ขันคู เมื่อนกเขามาประจันหน้ากันก็จะขันด้วยเสียง จู้ กรู…จู้ กรู ในทำนองแสดงอำนาจขู่ ขับไล่ หรือไม่ก็เป็นการท้าทาย บางตัวอาจตะเบ็งเสียงแข่งด้วยความไม่พอใจ
๓. ขันเรียก เป็นเสียงขันที่เรียกว่า “คารม” บางท่านเรียกว่า “เบิกดี”
ถ้าตัวผู้เห็นตัวเมียจะส่งเสียง “ขันเรียก” ด้วยคารมให้มาสนใจ แต่ถ้าเห็นตัวผู้ตัวอื่นจะขันท้าทายด้วยคารมหรือท้าคารม อีกทั้งเพื่อโอ้อวดแสดงให้ตัวเมียเห็นถึงความสามารถ ความเก่งกาจ ในช่วงนี้นกขันปะทะคารมกัน นกจะรู้โดยธรรมชาติว่าใครมีอำนาจของเสียงที่เหนือกว่า หรือมีคารมที่ขันถี่เพื่อข่มคู่ต่อสู้ให้ยอมสยบ นกตัวที่รู้ว่าตนด้อยกว่าหรือไม่มีทางสู้ได้ก็จะบินหนีไป
(อ่านต่อฉบับหน้า)
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๒ วันพุธที่ ๑๓ - วันอังคารที่ ๑๙ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
984 2,774