28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

January 16,2021

เทศบาลเจียดเงินซื้อวัคซีน ป้องกัน‘โควิด’ให้พลเมือง มั่นใจงบประมาณเพียงพอ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพร้อมจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ มาฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ มั่นใจดูแลทั่วถึง และมีงบประมาณเพียงพอ แห่งละ ๑๐๐ กว่าล้านบาท ช่วยแบ่งเบารัฐบาล สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน 

 

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ประเทศไทยเริ่มผลิตวัคซีนโควิด-๑๙ ในประเทศแล้ว ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตราเซนเนก้า กำลังการผลิตได้ปีละ ๒๐๐ ล้านโดส โดยจะทยอยส่งมอบล็อตแรกในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ และสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทประเทศจีน เพื่อส่งมอบในเดือนกุมภาพันธุ์ถึงเมษายน ๒๕๖๔ กว่า ๒ ล้านโดส พร้อมเจรจาจัดหาเพิ่มให้คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนโดยรัฐ แบบฟรี ตามเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ โดยไม่ได้มีการปิดกั้นภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนมาจำหน่ายในประเทศ แต่ต้องทำตามกระบวนการที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อเป็นการประกันว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานสากลนั้น

โดยวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๔ นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ุ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยถึงการจัดซื้อวัคซีนโควิด-๑๙ เพื่อฉีดให้ประชาชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ว่า “เทศบาลนครขอนแก่นมีความห่วงใยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ในการแพร่ระบาดรอบใหม่ และที่ผ่านมาทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายจังหวัด ที่มีศักยภาพทางการคลัง มีเงินสะสมเพียงพอ จึงมีแนวคิดตรงกันกรณีการสนับสนุนการใช้เงินสะสมของท้องถิ่นในการจัดซื้อ จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ มาฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ในการนำเงินสนับสนุนให้รัฐบาลจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นมีความพร้อมในการสนับสนุนฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั้ง ๑๑๐,๐๐๐ คน เพราะหากรัฐบาลฉีดได้ ๓๐ ล้านคน ท้องถิ่นที่มีศักยภาพช่วยกันกระจายอีกกว่า ๑๐ ล้านคน จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้”

“ดังนั้น เพื่อให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานทางการแพทย์ ที่สามารถฉีดยาให้อย่างทั่วถึง เทศบาลนครขอนแก่นจึงหาแนวทางเพื่อหารือกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยเพื่อช่วยรัฐบาลแบ่งเบาภาระงบประมาณ หากรัฐบาลสามารถกำหนดระเบียบให้ท้องถิ่นใช้จ่ายงบประมาณของท้องถิ่นเองเพื่อจัดซื้อวัคซีนและฉีดให้พี่น้องประชาชนในเขตเทศบาล ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากสามารถดำเนินการได้จะเร่งรัดดำเนินการโดยทันที” นายธีระศักดิ์ กล่าว

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ กล่าวต่อไปว่า กรณีการจัดซื้อนั้น อาจจะเป็นการจัดซื้อผ่านทางกระทรวงสาธารณสุขให้สั่งซื้อในราคาเดียวกันทั้งประเทศ จากนั้นกระจายในแต่ละจังหวัดที่สั่งซื้อ แล้วให้บริการประชาชน ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อวัคซีน คาดว่าคนละ ๕๐๐-๑,๐๐๐ บาท ขณะนี้สมาชิกสภาฯ พร้อมประชุมเสนอแนวคิดนี้ นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบเงินสะสมที่มีอยู่ว่าเพียงพอต่อการเบิกจ่ายหรือไม่ 

“ขณะนี้พบว่างบประมาณจัดซื้อวัคซีนในวงเงินกว่า ๑๐๐ ล้านบาท เทศบาลฯ จะมีการหารือไปถึงงบประมาณเพิ่มเติมกรณีที่เมื่อได้รับวัคซีนมาแล้วแจกจ่าย และทำการฉีดวัคซีนให้กับชุมชน ซึ่งอยู่ในรายละเอียดที่ศูนย์แพทย์ฯ ในสังกัดเทศบาลฯ จะต้องพูดคุยกันในรายละเอียดให้เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการดำเนินงานทุกขั้นตอนจะต้องอยู่ในมาตรการคุมเข้มจากสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่กำลังเกิดขึ้น ส่วนการกำหนดนโยบายในการจัดซื้อด้วยงบของท้องถิ่นว่า จะซื้อได้จำนวนเท่าใด มีการจัดสรรมาให้ในระดับพื้นที่อย่างไร คงต้องรอความชัดเจน ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานก็จะสามารถที่จะดำเนินการได้ในภาพรวม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศก็พร้อมที่จะดำเนินการเพื่อคนในชุมชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบของตนเองในเรื่องนี้อย่างพร้อมเพรียงและพร้อมกันอย่างแน่นอน” นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าว 

ด้านนายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ให้สัมภาษณ์ “โคราชคนอีสาน” ในกรณีเทศบาลนครอุดรธานีจะจัดซื้อวัคซีนโควิด-๑๙ ให้ประชาชนกว่า ๑.๓ แสนคน ว่า “เทศบาลนครอุดรธานีมีความพร้อมในการที่จะจัดสรรงบประมาณจัดซื้อวัคซีน หากรัฐบาลอนุญาตและเห็นชอบ อีกทั้งการจัดซื้อต้องได้รับการรับรองจาก อย. หรือองค์การเภสัชกรรม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของเทศบาลฯ ที่สามารถกระทำได้ เช่น ปัจจุบันเทศบาลฯ สามารถซื้อวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าได้ ฉะนั้นการซื้อวัคซีนฉีดให้ประชาชนถือเป็นหน้าที่เช่นกัน และขณะนี้เทศบาลฯ หลายแห่งมีศักยภาพพร้อม เช่น ด้านงบประมาณก็จัดเตรียมไว้เพื่อรองรับ เนื่องจากรัฐบาลกำหนดการจัดซื้อไว้ทั้งหมด ๗๐ ล้านโดส ซึ่งต้องฉีด ๒ โดสต่อ ๑ คน ทำให้มีจำนวนประชากรที่ได้รับเพียง ๕๐% แต่ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ที่จะนำเงินสะสมที่มีอยู่ในการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและทั่วถึงได้ จึงแจ้งความพร้อมต่างๆ ให้รัฐบาลได้ทราบ ล่าสุดนายกเทศมนตรีนครนนทบุรีก็เข้าไปที่กระทรวงสาธารณสุขแล้ว ประกอบกับที่นายอนุทินก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพียงแต่ต้องรอนโยบายจากรัฐบาลอีกครั้ง”     

เมื่อถามถึงงบประมาณและการดำเนินงาน นายอิทธิพนธ์ ตอบว่า“งบประมาณจะใช้ทั้งหมด ๑๓๐ ล้านบาท ประชากรในเขตเทศบาลนครอุดรธานีทั้งหมด ๑.๓ แสนคน ซึ่งเงินสะสมของเรามีเพียงพอ แต่ต้องนำเรื่องผ่านพิจารณาจากสภาฯ เพื่อขอใช้เงินสะสม ซึ่งสมาชิกสภาฯ ยินดีที่จะสนับสนุนการอนุมัติโครงการให้ผ่านไปให้ได้ ส่วนการดำเนินงานหากรัฐบาลอนุมัติ ประชาชนที่อยู่ในเขตเทศบาลฯ ก่อนวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ จะได้รับวัคซีนก่อน กลุ่มเป้าหมายต่อมาจะเป็นผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป และเรียงลำดับมาเรื่อยๆ ขณะนี้เทศบาลฯ มีศูนย์บริการสาธารณสุขทั้งหมด ๓ ศูนย์ และโรงพยาบาล ๑ แห่ง คาดว่าจะฉีดให้ประชาชนประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ คนต่อวัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายและแจ้งให้ประชาชนทราบตามที่จัดเตรียมไว้”

นายอิทธิพนธ์ กล่าวปิดท้ายว่า “ผมมั่นใจว่ามีหลายท้องถิ่นที่เสนอตัวและมีความพร้อมในการสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนเพื่อประชาชน รอเพียงนโยบายของรัฐบาล หากรัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบทุกคนทั่วประเทศก็ไม่มีปัญหา แต่รัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนมาเพียง ๕๐% ของประชากร เราจึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนเกิดความปลอดภัย” 

สำหรับเทศบาลนครนครราชสีมา “โคราชคนอีสาน” ได้ติดต่อสอบถาม นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ถึงกรณีเทศบาลนครนครราชสีมามีนโยบายดังกล่าวหรือไม่นั้น ซึ่งได้รับคำตอบว่า “ขณะนี้มาประชุมอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงขอรับเรื่องที่เสนอไว้ก่อน แล้วจะนำไปพิจารณา ถ้ามีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๔ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลประชาชนในการระบาดของโควิด-๑๙ รอบใหม่ โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า “กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันความพร้อม ทั้งเรื่องการแพทย์ เวชภัณฑ์ การพยาบาลและการดูแลสถานการณ์เรามีความพร้อมและขอให้ช่วยกันสอดส่องดูแลอย่าให้มีการลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย”

ส่วนกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซื้อวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ตัวเองนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า “รัฐบาลมีมาตรการที่จะนำวัคซีนมาบริการประชาชนโดยทั่วไปอยู่แล้ว ถ้าท้องถิ่นมีงบประมาณและต้องการดูแลประชาชน สิ่งที่ใช้ก็ต้องเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียน โดยผ่านอนุมัติจาก สธ. ถือว่าเป็นเรื่องดีหากท้องถิ่นช่วยแบ่งเบาภาระรัฐบาล โดยงบประมาณรัฐบาล ต้องนำรายชื่อมาตรวจคัดกรองกัน เพราะฉีดซ้ำไม่ได้ เป็นการช่วยกันคนละไม้ละมือ”

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๒ วันพุธที่ ๑๓ - วันอังคารที่ ๑๙ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

961 1587