January 22,2021
“โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด” ใหญ่สุดในโลกที่เขื่อนสิรินธร คืบแล้ว ๘๒% จ่ายไฟฟ้าในปีนี้
คืบหน้าโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรใหญ่ที่สุดในโลกเสร็จแล้ว ๘๒.๐๔% เดินหน้าประกอบแผงโซลาร์เซลล์ชุดแรกแล้ว เร่งติดตั้งให้ครบ ๗ ชุดตามแผน คาดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้กลางปี ๖๔ ชูเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอุบลฯ
วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เร่งเดินหน้าก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร หรือโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต ๔๕ เมกะวัตต์ ให้ทันตามแผน ก่อนดำเนินการต่อในเขื่อนอื่นๆ ของ กฟผ. ให้ครบ ๒,๗๒๕ เมกะวัตต์ อย่างต่อเนื่อง ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐ (PDP2018) โดยขณะนี้ โครงการฯ มีความคืบหน้าภาพรวมอยู่ที่ ร้อยละ ๘๒.๐๔ ได้ประกอบและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อนสิรินธรชุดแรกแล้วเสร็จเมื่อสิ้นปี ๒๕๖๓ พร้อมเร่งเดินหน้าติดตั้งให้ครบ ๗ ชุด เพื่อเตรียมทดสอบระบบไฟฟ้าของโครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามแผนได้ในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ ถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี พัฒนาโครงการนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของจังหวัด โดยก่อสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) ความยาว ๔๑๕ เมตร เพื่อให้ประชาชนได้เดินชมความสวยงามของทิวทัศน์ได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่า จะช่วยเสริมให้ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดกลับมาคึกคัก ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร หรือ Hydro-floating Solar Hybrid เป็นโครงการนำร่องแห่งแรกของ กฟผ. ที่ได้นำพลังงานหมุนเวียนสองประเภทจาก “พลังงานแสงอาทิตย์” และ “พลังน้ำ” มาผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน หรือเรียกว่า ระบบไฮบริด เพื่อลดข้อจำกัดของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่การผลิตไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ โดยพัฒนาระบบควบคุมและบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) เพื่อบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งสองชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องยาวนาน และเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ
ทั้งนี้ โครงการฯ มีขอบเขตพื้นที่ประมาณ ๗๖๐ ไร่ คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่ผิวน้ำไม่ถึงร้อยละ ๑ ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด โดยติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ ๔๕๐ ไร่ ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์เป็นชนิดดับเบิลกลาส (Double Glass) สามารถทนต่อความชื้นสูงได้ดี ทำให้ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ
นอกจากนี้ ได้ติดตั้งทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุชนิดเดียวกับท่อส่งน้ำประปา จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ โครงการแห่งนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ประมาณ ๔๗,๐๐๐ ตัน/ปี หรือคิดเป็นพื้นที่ป่าประมาณ ๓๗,๖๐๐ ไร่ (อ้างอิงจากงานวิจัย กฟผ.)
64 1,721