January 30,2021
ทล.แจงเหตุสะพานถล่ม คนงานขับรถชนนั่งร้าน
เหตุนั่งร้านถล่ม ขณะก่อสร้างสะพานต่างระดับถนนวงแหวนรอบเมือง ด้านทิศเหนือตอนที่ ๒ เกิดจากคนงานขับรถเครนชนนั่งร้าน ทำให้รับน้ำหนักปูนที่เทไว้ไม่ไหว บาดเจ็บ ๙ ราย ยืนยันช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล ไม่กระทบตัวโครงการฯ เสียหายแค่ปูนและนั่งร้านเท่านั้น
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. หน่วยกู้ภัยมูลนิธิพุทธธรรม ๓๑ นครราชสีมา รับแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือมีสะพานถล่มทับคนงานที่บ้านโคกสูง หมู่ ๑ ต.โคกสูง อ.เมือง จ.นครราชสีมา จึงรุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ เกิดอุบัติเหตุบริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ๒๙๐ วงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ด้านเหนือ ตอน ๒ ตัดกับทางหลวงหมายเลข ๒๐๕ ตอน โคกสวาย-แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๑ ที่ กม.๒๑๗+๕๐๐ พบนั่งร้านทรุดตัวขณะกำลังดำเนินการเทคอนกรีตโครงสร้างพื้นส่วนบนของสะพานยกระดับคู่ขนานกับทางสายหลัก ส่วนที่ข้าม ทล.๒๐๕ มุ่งหน้าอำเภอโนนไทย ช่วงพื้นสะพานระหว่างคาน RA5-RA6 (๑ ช่วง) เบื้องต้นมีผู้บาดเจ็บ จำนวน ๑๒ ราย
ต่อมา วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๔ กรมทางหลวง โดยสำนักงานทางหลวงที่ ๑๐ (นครราชสีมา) และสำนักก่อสร้างทางที่ ๒ ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุ โดยสภาพทางจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๐๕ และทางหลวงวงแหวนหมายเลข ๒๙๐ ขนาด ๔ ช่องจราจร ผิวจราจรไม่มีหลุมบ่อ มีไฟฟ้าแสงสว่าง และการจราจรสามารถผ่านได้ปกติ เนื่องจากจุดโครงสร้างทรุดตัวไม่ได้อยู่ในช่องทางจราจรทางหลวงหมายเลข ๒๐๕
จากการตรวจสอบไม่มีทรัพย์สินของราชการเสียหาย ซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน ๙ ราย แบ่งเป็น ผู้ชาย ๕ ราย ผู้หญิง ๔ ราย แบ่งเป็นชาวกัมพูชา ๗ ราย เมียนมา ๑ ราย และไทย ๑ ราย ผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และไม่มีผู้เสียชีวิต สำหรับโครงการฯ ๒๙๐ ตอน วงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ด้านเหนือ ตอน ๒ มีกิจการร่วมค้า สี่แสง–โชคชัยเป็นผู้รับจ้าง เริ่มต้นสัญญาวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๑ ค่างานก่อสร้าง ๑,๔๐๐,๙๙๘,๒๙๕ บาท ทั้งนี้สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุอยู่ระหว่างการสอบสวน
สำหรับแนวทางในการดำเนินการแก้ไข ให้ผู้รับจ้างดำเนินการรื้อถอนโครงสร้างนั่งร้านและเศษวัสดุออกจากจุดเกิดเหตุโดยเร่งด่วน และให้เยียวยาผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บ พร้อมทั้งประชุมวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนี้ สำหรับเเรงงานชาวกัมพูชา และชาวเมียนมา เป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานกับโครงการฯ อย่างถูกต้องตามกฏหมาย และอยู่มาตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายแต่อย่างใด อีกทั้งในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-๑๙ ทางโครงการฯ ยังไม่มีการรับแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติม
ล่าสุด นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ ๑๐ นครราชสีมา เปิดเผยทางโทรศัพท์กับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “ขณะนี้กำลังสอบสวนกับผู้เกี่ยวข้องว่า จำนวนนั่งร้านที่ใช้มีจำนวนถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ ส่วนสาเหตุเบื้องต้นรับรายงานว่า มีคนงานขับรถเครนเคลื่อนย้ายไปมา แล้วได้ขับไปชนกับนั่งร้าน ซึ่งนั่งร้านมีข้อต่อจำนวนมาก เมื่อไปชนเข้าก็ทำให้ข้อต่อหักและเกิดเหตุถล่มลงมา เนื่องจากรับน้ำหนักจากปูนที่เทไว้ไม่ไหว สำหรับความเสียหายมีเพียงคอนกรีตที่เทไว้เท่านั้น และมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งบริษัทผู้รับเหมาฯ จะต้องรับผิดชอบความเสียหายในทุกมิติ เพราะเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นหน้างาน ไม่มีบุคคลที่ ๓ หรือผู้ใช้ทางเข้ามาในเขตก่อสร้าง ในส่วนของโครงสร้างหลักไม่ต้องมีการรับผิดชอบ เพราะเสียหายเพียงปูนที่เทลงมาและนั่งร้านเท่านั้น ในส่วนของผู้ได้รับบาดเจ็บ ทั้งบริษัทผู้รับเหมาฯ และกรมทางหลวง จะช่วยดูแลค่ารักษาพยาบาลและค่าทำขวัญ
“สำหรับความคืบหน้าของการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมาช่วงทิศเหนือ ตอนที่ ๒ ขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จ เพราะอยู่ในขั้นตอนการเทพื้นคอนกรีตแล้ว ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ทั้งโครงการวงแหวนรอบเมืองแล้วเสร็จไม่พร้อมกัน เนื่องจากแต่ละช่วงมีการประมูลโครงการคนละเวลา และทำการเวนคืนไม่พร้อมกัน ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุครั้งนี้ขึ้น ทางนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำชับให้ดูแลและเข้มงวดในการก่อสร้างตลอดทั้งโครงการ โดยเฉพาะช่วงที่กำลังก่อสร้างอยู่ขณะนี้” นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ ในการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓ ความคืบหน้าโครงการทางหลวงหมายเลข ๒๙๐ ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ระยะทางรวมทั้งสิ้น ๑๑๐ กม. ก่อสร้างแล้วเสร็จ ๓๑.๙๔ กม. กำลังก่อสร้าง ๕๔.๒๕ กม. และได้รับบประมาณปี ๒๕๖๓ ซึ่งอยู่ระหว่างหาผู้รับจ้าง จำนวน ๒๙.๐๐ กม. ภาพรวมโครงการตามแผนเดิม ๖๙.๙๘๘% แต่คืบหน้า ๗๒.๙๙๑% โดยแบ่งออกเป็น ๗ ช่วงดังนี้ ๑.ทิศใต้ตอนที่ ๑ โครงการถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ตอนที่ ๑ ระหว่างกิโลเมตรที่ ๐+๐๐๐–๑๗+๙๔๑ ระยะทางรวม ๑๗.๙๔๑ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๓๑๔.๙๗๔ ล้านบาท ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว ๒.ทิศใต้ตอนที่ ๒ โครงการถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ตอนที่ ๒ ระหว่างกิโลเมตรที่ ๒+๔๐๐–๑๖+๕๐๐BK./๐+๐๐๐ AHD.๑๒+๕๒๓.๔๘๖ ระยะทางรวม ๑๔ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๙๘๗.๙๓๔ ล้านบาท ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว ๓.ทิศเหนือตอนที่ ๑ ก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.๒ กับ ทล.๒๙๐ ระหว่างกิโลเมตรที่ ๐+๐๐๐–๓+๐๐๐ ระยะทางรวม ๓ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๑,๓๙๔.๘๐๐ ล้านบาท ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว และก่อสร้างตั้งแต่แยก ทล.๒ บรรจบ ทล.๒๐๖๘ ระหว่างกิโลเมตรที่ ๐+๐๐๐–๙+๑๑๑ ระยะทางรวม ๙.๑๑๑ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๙๙๑.๔๐๐ ล้านบาท ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว
๔.ทิศเหนือตอนที่ ๒ ก่อสร้างตั้งแต่แยก ทล.๒๐๖๘ บรรจบ ทล.๒๐๕ รวมทางแยกต่างระดับ ระหว่างกิโลเมตรที่ ๐+๙๓๘–๙+๙๐๐ ระยะทางรวม ๘.๙๖๒ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๑,๔๐๕.๘๑๙ ล้านบาท ผลงานคืบหน้า ๘๐.๓๓๕% และก่อสร้างตั้งแต่แยก ทล.๒๐๖๘ บรรจบ ทล.๒๐๕ รวมทางแยกต่างระดับ ระหว่างกิโลเมตรที่ ๙+๙๐๐–๒๔+๔๐๐ ระยะทางรวม ๑๔.๕ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๑,๔๐๐.๙๙๘ ล้านบาท ผลงานคืบหน้า ๔๓.๓๐๖% ๕.ทิศใต้ตอนที่ ๓ ก่อสร้างตั้งแต่แยก ทล.๒๒๔ บรรจบ ทล.๒๒๖ ตอน ๑ ระหว่างกิโลเมตรที่ ๐+๐๐๐–๗+๕๐๐, ๑๒+๕๒๓-๑๓+๗๐๐ ระยะทางรวม ๘.๖๗๗ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๙๔๖.๐๕๐ ล้านบาท ผลงานคืบหน้า ๒๓.๑๓๙% ก่อสร้างตั้งแต่แยก ทล.๒๒๔ บรรจบ ทล.๒๒๖ ตอน ๒ ระหว่างกิโลเมตรที่ ๗+๕๐๐–๑๕+๕๐๐ ระยะทางรวม ๘ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๙๔๖.๗๗๙ ล้านบาท ผลงานคืบหน้า ๕๙.๕๗๕% และก่อสร้างตั้งแต่แยก ทล.๒๒๔ บรรจบ ทล.๒๒๖ ตอน ๓ ระหว่างกิโลเมตรที่ ๑๕+๕๐๐–๑๗+๕๐๐ ระยะทางรวม ๒ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๑,๔๐๐ ล้านบาท ผลงานคืบหน้า ๖.๑๒๕% ๖.ทิศเหนือตอนที่ ๓ ก่อสร้างตั้งแต่แยกจุดตัด ทล.๒๐๕ ถึงแยกจุดตัด ทล.๒ ค่าก่อสร้าง ๒,๔๐๐ ล้านบาท กำลังหาผู้รับจ้าง และ ๗.ทิศใต้ตอนที่ ๔ ก่อสร้างตั้งแต่แยกจุดตัด ทล.๒ ถึงแยก ทล.๒๐๖ ค่าก่อสร้าง ๑,๕๗๐ ล้านบาท กำลังหาผู้รับจ้าง
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๔ วันพุธที่ ๒๗ เดือนมกราคม - วันอังคารที่ ๒ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๔
93 1,679