8thDecember

8thDecember

8thDecember

 

January 30,2021

‘ยลดา’ลั่นทำงานเองได้ ตระเวนครบแล้ว ๓๒ อ. รองนายก อบจ.ไร้‘ชพน.’

แถลงนโยบาย ๔ ข้อต่อสภาอบจ.แล้ว สมาชิกพอใจ แต่ขอให้นายกฯ กล้าฟาดฟันกับ สตง. แนะอย่ายึดระเบียบมากไปแต่ให้ยึดประโยชน์ประชาชน “โคราชโฉมใหม่” คือการสร้างคนโคราช “ยลดา” ยังไม่ยอมเปิดเผยชื่อรองนายกฯ ทั้ง ๔ ทั้งที่เข้าร่วมประชุมด้วย อ้างโควิดกำลังระบาดอย่าเพิ่งถาม ลั่นนายกฯ ทำงานเองได้ ไปมาครบแล้วทั้ง ๓๒ อำเภอ แต่ไร้เงาคน “ชาติพัฒนา” ร่วมทีมบริหาร 

 

ภายหลังที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งนายก อบจ.นครราชสีมา และสมาชิกสภา อบจ. ๔๓ เขตจากทั้งหมด ๔๘ เขต เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๔ โดยหลังจากนั้นมีการเปิดประชุมสภา อบจ.ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ โดยเลือกนายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ส.อบจ.สูงเนิน เป็นประธานสภาฯ นาย          สมพร จินตนามณีรัตน์ ส.อบจ.โนนสูง เขต ๒ เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ ๑ และนายศิริพงศ์ มกรพงศ์ ส.อบจ.อำเภอสีคิ้ว เขต ๑ เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ ๒ ส่วนนายณัฏฐพัชร์ อนิวัตกูลชัย ส.อบจ.อำเภอปากช่อง เขต ๑ เป็นเลขานุการสภาฯ ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวไปแล้วนั้น 

ไร้ ‘ชาติพัฒนา’ นั่งบริหาร

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา สำนักการช่าง ต.มะเริง อ.เมืองนครราชสีมา มีการประชุมสภาอบจ.นครราชสีมา สมัยวิสามัญ สมัยที่ ๑ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ซึ่งมีนางยลดา (หน่อย) หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา พร้อมด้วยผู้บริหารสภา และสมาชิกเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ขาดเพียงส.อบจ.ที่ยังไม่ผ่านการรับรองจาก กกต. ๕ เขต ได้แก่ นายก้องเกียรติ วงศ์นิยม อำเภอเมือง เขต ๑, นายประพจน์ ธรรมประทีป อำเภอเมือง เขต ๔, นายสมบูรณ์ นิยมไร่ อำเภอพิมาย เขต ๑ และนายสมพงษ์ เลิศด้วยลาภ อำเภอปากช่อง เขต ๓ นอกจากนี้ ยังมีบุคคลที่ถูกวางตัวให้เป็นรองนายก อบจ.นครราชสีมา ทั้ง ๔ คน แต่นายก อบจ.ยังไม่เปิดเผยหรือแนะนำอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล อดีตส.อบจ.โนนสูง และอดีตผู้สมัครส.ส.โคราช เขต ๔ พรรคภูมิใจไทย, นายไพศาล เกียรติชัยพัฒน อดีตกำนันตำบลเมืองคง และอดีตผู้สมัครส.ส.โคราช เขต ๑๔ พรรคภูมิใจไทย, นายนรเสฏฐ์ ศิริโรจนกุล หลานชายนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเคยลงสมัครส.ส.โคราช เขต ๑๑ พรรคภูมิใจไทย และนายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม อดีตส.อบจ.อำเภอเสิงสาง ลูกชายนายวันชัย ทุ่งไผ่แหลม อดีตส.อบจ.และเจ้าของบริษัท แป้งไทย จำกัด (อำเภอเสิงสาง) ซึ่งไม่ปรากฏชื่อบุคคลจากพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) เข้ามาเป็นผู้บริหาร ทั้งที่ร่วมด้วยช่วยนางยลดาหาเสียงเลือกตั้งด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดตัวที่ปรึกษานายก อบจ. และเลขานุการนายก อบจ.เช่นกัน

จัดระเบียบสื่อมวลชน

สำหรับการประชุมสภาฯ ครั้งนี้ มีวาระสำคัญอยู่ในวาระที่ ๓ เรื่องการแถลงนโยบายของนายก อบจ.นครราชสีมา และวาระที่ ๔ เรื่องการตั้งคณะกรรมการประจำสภา อบจ.นครราชสีมา ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการสามัญประจำสภาฯ คณะกรรมการตรวจรายงานการประชุม คณะกรรมการแปรญัตติร่างข้อบัญญัติ และคณะกรรมการอื่นๆ ตามที่สภาท้องถิ่นเห็นสมควร โดยก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่การแถลงนโยบายของนายก อบจ.นครราชสีมานั้น นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภาฯ ได้อนุญาตให้สื่อมวลชนบันทึกภาพก่อน โดยได้เพียงภาพของนางยลดายืนตรงเพื่อให้สื่อมวลชนบันทึกภาพเท่านั้น ส่วนระหว่างที่มีสมาชิกสภาฯ ลุกขึ้นอภิปราย ไม่สามารถเดินเข้าไปถ่ายภาพใกล้ๆ ได้ ทำได้เพียงบันทึกภาพจากด้านหลัง และจอภาพที่จัดไว้บริเวณหน้าห้องประชุม โดยอ้างว่าเพื่อความเป็นระเบียบในการประชุมสภาฯ 

นายกฯ หน่อย’แถลงนโยบาย

จากนั้น มาถึงวาระการแถลงนโยบายของนายก อบจ.นครราชสีมา ซึ่งนางยลดาลุกขึ้นอ่านคำแถลงนโยบายทั้ง ๔ ข้อใหญ่ ด้วยเสียงดังชัดเจน ได้แก่ ๑.นโยบายโครงการตามแนวทางพระราชดำริ ๒.นโยบายด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ๓.นโยบายด้านพัฒนาเศรษฐกิจ และ ๔.นโยบายด้านการพัฒนาเมือง (อ่านคำแถลงนโยบายฯ โดยละเอียดที่หน้า ๔) พร้อมย้ำในช่วงท้ายว่า 

“ดิฉันมีความมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการภารกิจขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวม ด้วยการยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ มีกรอบการทำงานภายใต้แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด การจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีการประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ ภายใต้หลักการ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ” เพื่อพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ให้มีความเจริญก้าวหน้า ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อดำรงไร้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ ที่เชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด และยุทธศาสตร์จังหวัด โดยบูรณาการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ระเบียบกฎหมาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนโดยรวมอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และรวดเร็ว”

ส.อบจ. เสนอนโยบายหนุน

จากนั้น สมาชิกสภาฯ ลุกขึ้นอภิปรายนโยบายของนายก อบจ. โดยเริ่มจากนายธวัฒน์ ศิริปริญญานันท์ ส.อบจ.ด่านขุนทด เขต ๒ กล่าวว่า “ชื่นชมการใช้ภาษาไทยของนายกฯ และเห็นด้วยกับนโยบายทั้ง ๔ ข้อ โดยเฉพาะด้านคุณภาพชีวิตเกี่ยวกับการส่งเสริมสาธารณสุขที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยก่อนวันแถลงนโยบาย นายก อบจ. นำส่งมอบชุดตรวจ Rapid Test สำหรับตรวจโควิด–๑๙ ให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา (สสจ.นครราชสีมา) ๕,๐๐๐ ชุด จำนวนเงินถึง ๒ ล้านบาท ประชาชนที่ทราบข่าวต่างชื่นชอบและชื่นชมอย่างมาก ถือเป็นก้าวที่ไม่ใช่ก้าวแรก แต่เป็นการทำงานก่อนการแถลงนโยบาย ซึ่งเชื่อว่าการพัฒนา ๔ นโยบายเป็นไปด้วยดี และเห็นด้วยกับการส่งเสริมระบบสาธารณสุข ด้านการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต แต่ขอเพิ่มเติมเรื่อง  ผู้พิการ เพื่อให้ครอบคลุมกับคนทุกกลุ่ม ด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ให้ครอบคลุมทุกด้านนั้น เชื่อว่า นายกฯ จะเห็นความสำคัญของโรงเรียนในสังกัด อบจ.ทั้ง ๕๘ แห่ง ให้เด็กมีคุณภาพการศึกษาที่ดี ซึ่งสอดรับการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหา               ยาเสพติด ไม่ให้มียาเสพติดภายในโรงเรียน อาจจะพัฒนาเป็นศูนย์ฯ โดยมีความร่วมมือจากทุกคน หรือการแข่งขันกีฬาที่แบ่งเขต อบจ.เป็นโซน ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ป้องกันยาเสพติดเช่นกัน” 

ต้องการเห็น ‘โคราชโฉมใหม่’

“ด้านการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดรายจ่ายให้ประชาชน อำเภอด่านขุนทดมีวิสาหกิจชุมชน วัดบ้านไร่ ดินแดนหลวงพ่อคูณ ห้วยบงมีกังหันลมและแหล่งท่องเที่ยววิสาหกิจชุมชน บ้านดอนกลอยเป็นหมู่บ้านปลอดขยะได้รับรางวัลท้องถิ่นยอดเยี่ยม สิ่งที่กล่าวมาต้องการเห็นในโคราชโฉมใหม่ เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ส่วนหนึ่งเป็นการส่งเสริมอาชีพให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ด้านการทำนุบำรุงศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ประเพณีและวัฒนธรรมที่สำคัญคือ งานบวงสรวงท้าวสุรนารี (ย่าโม) แต่เป็นการจัดภายในจังหวัด แต่ในอำเภอจัดเป็นบางปีเท่านั้น จะสามารถจัดในทุกอำเภอได้หรือไม่ และบริบทของแต่ละอำเภอไม่เหมือนกัน อำเภอขามสะแกแสงมีพริกแดงจินดา อำเภอด่านขุนทดมีงานปลาเผาสะเดาหวาน ทุกกิจกรรมต้องใช้งบประมาณ ส่วนกังหันลมที่โคราชมีเกือบครึ่ง ที่อำเภอด่านขุนทดอยู่ที่ตำบลห้วยบง ส่วนอำเภอเทพารักษ์ อยู่ที่ตำบลหนองแวง นอกจากนั้นยังไม่เห็นกังหันลมเกิดขึ้น ทำอย่างไรจะสามารถนำงบประมาณสร้างกังหันลม เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว จำหน่ายสินค้าสร้างรายได้เพื่อความอยู่รอด” นายธวัฒน์ กล่าว

การศึกษาไม่ควรอยู่ในข้อย่อย

ทางด้านนายชวาล พัฒนกำชัย ส.อบจ.ขามสะแกแสง อภิปรายว่า “นโยบายครอบคลุมทุกด้าน แต่เนื่องจากมีโรงเรียนในสังกัดถึง ๕๘ แห่ง ควรให้ความสำคัญกับด้านการศึกษาเป็นข้อหลัก เพื่อเป็นต้นแบบในทุกด้านของการศึกษา ให้เด็กมีความรู้ความสามารถ เฉลียวฉลาด และรู้ทันเทคโนโลยี เพราะการศึกษากว้างมาก” 

ปัญหาโครงสร้างต้องแก้ไข 

นายเสกสรร วิวัฒน์สกุลรัตน์ ส.อบจ.เทพารักษ์ อภิปรายว่า “ภาพรวมจากที่นายกฯ แถลงนโยบายทั้ง ๔ ด้าน โคราชมี ๓๒ อำเภอ ๓๓๓ ท้องถิ่น ๓,๗๔๓ หมู่บ้าน ๗๓๗,๓๗๗ ครัวเรือน ประชากรประมาณ ๓ ล้านคน แต่มีปัญหาด้านโครงสร้าง ปัญหาน้ำท่วมไหลหลากจนเป็นน้ำท่วมถาวร ที่เกี่ยวโยงถึงสินค้าการเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกร ถนนดี แหล่งน้ำดี เกษตรกรมีเงิน ต้องการให้พัฒนาด้านโครงสร้างที่เกิดขึ้นทั้ง ๓๒ อำเภอและดูแลอย่างทั่วถึง”  

ช่วยคิด ช่วยทำ แก้ปัญหาร่วมกัน

นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ส.อบจ.วังน้ำเขียว ลุกขึ้นอภิปรายและขอให้ ส.อบจ.ลุกขึ้นยืนปรบมือให้กำลังใจและชื่นชมนายก อบจ. พร้อมกล่าวว่า “ชื่นชมน้ำเสียงของนายกฯ ที่แถลงนโยบาย พร้อมนำการมีส่วนร่วมเข้ามาช่วยคิดทำให้เกิดนโยบายฉบับนี้ขึ้น แต่นโยบายที่เสนอนั้นอาจต้องให้สมาชิกมาร่วมคิดช่วยกัน ซึ่งขอเสนอนโยบายเพิ่มเติม ดังนี้ ๑.นโยบายโครงการตามแนวทางพระราชดำริ เสนอให้โคราชสร้างศูนย์การเรียนรู้ฯ จะทำให้คนเข้ามาในโคราชเพิ่มมากขึ้น ๒.นโยบายด้านคุณภาพชีวิต เกี่ยวกับการศึกษา ก่อนการแถลงต้องการให้ผู้อำนวยการโรงเรียนร่วมคิดและนำมาเสนอต่อนายกฯ เพื่อการแก้ปัญหาที่ดี การทำนุบำรุงศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีอันดีของท้องถิ่น ต้องให้ความสำคัญ การรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดควรตั้งคณะกรรมการเพื่อปราบปรามอย่างจริงจัง ๓.นโยบายด้านพัฒนาเศรษฐกิจ เสนอให้ตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าทั้ง ๓๒ อำเภอ เพื่อเพิ่มรายได้ประชาชน ด้านอุตสาหกรรมควรขยายเขตอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพื่อความหลากหลายและประชาชนมีงานทำ ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวต้องพัฒนาให้ครบวงจร พัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน ควรส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ เสนอให้ทุกอำเภอแก้ปัญหาภัยแล้ง นำตัวอย่างมาศึกษาแก้ปัญหาร่วมกัน ๔.นโยบายด้านการพัฒนาเมือง ควรของบประมาณเพิ่มเพื่อทำถนน โดยต้องออกแบบให้มีมาตรฐานและครอบคลุม ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมควรแบ่งเขตให้ชัดเจน ด้านการบรรเทาสาธารณภัยต้องมีความพร้อม และเตรียมถุงยังชีพให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากภัยพิบัติ และขอทิ้งท้าย สิ่งที่ควรทำคือ ความดี สิ่งที่ควรมี คือ ศีลธรรม สิ่งที่ควรจำ คือ บุญคุณ สิ่งที่เพิ่มพูน คือ ปัญญา สิ่งที่พัฒนา คือ จิตใจ”

ทั้งนี้ หลังจากนายชุณห์อภิปรายจบ นายรักชาติ ประธานสภาฯ ท้วงว่า “การที่นายชุณห์ให้สมาชิกลุกขึ้นยืนปรบมือ กังวลว่า หากกระทำแบบนี้ทั้งหมด เกรงว่าจะไม่ถูกต้อง ดังนั้นการชื่นชมก็ขอให้เป็นการชื่นชมเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องลุกขึ้นปรบมือ” 

อ้างคนโคราชต้องการโฉมใหม่

จากนั้นนางสาวจุฑาสัณห์ ตั้งตรีวีระกุล ส.อบจ.บัวลาย อภิปรายว่า “ขอแสดงความยินดีกับนายกฯ ที่ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น แสดงให้เห็นว่าคนโคราชต้องการเปลี่ยนให้เป็นโฉมใหม่ อบจ.โฉมใหม่ตามยุคของนายกฯ นั้น ดิฉันขอเสนอให้ อบจ.สร้างศูนย์กลางการทำงานและติดต่อประสานงานในจุดเดียว เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว แต่เป็นห่วงด้านการศึกษา เนื่องจากเด็กอ่อนวิชาการ ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสอนให้เด็กมีผลการเรียนที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้วิชาการเกิดผลสัมฤทธิ์ สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดี มีอนาคตที่ดี รวมทั้งเพิ่มการเรียน ๓ ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีนด้วย” 

นายกฯ ต้องตอบ สตง.ด้วยตนเอง

นายโกวิทย์ เลาวัณย์ศิริ ส.อบจ.บ้านเหลื่อม อภิปรายว่า “การแถลงนโยบายของนายก อบจ.ครอบคลุม ขอเป็นกำลังใจให้ เพราะนโยบายจะสำเร็จได้ต้องมีหลายปัจจัย โดยเฉพาะการตรวจสอบของ สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) เนื่องจากนโยบายที่กล่าวมานั้นจะติดขัดตลอดเวลา เมื่อจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งจังหวัดก็จะมีปัญหา สิ่งที่สำคัญ คือ เมื่อพบปัญหา นายก อบจ. ๒ สมัยที่ผ่านมาจะให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ตอบคำถาม สตง.แทน ซึ่งไม่มีการถกเถียงหรือต่อรองใดๆ ฉะนั้นเมื่อพบปัญหาเกี่ยวกับ สตง. ขอให้นายก อบจ. เป็นผู้ตอบด้วยตนเอง ไม่ส่งเจ้าหน้าที่ไปตอบ ไม่เช่นนั้นจะเป็นรูปแบบเดิม และหวังว่านโยบายของนายกฯ จะสำเร็จตามที่กล่าวมา”

เบื้องหลังความเข้มแข็งในชุมชน

นายอดุลย์ อยู่ยืน ส.อบจ.อำเภอเมือง เขต ๒ อภิปรายว่า “เห็นด้วยกับนโยบายที่นายกฯ แถลง และต้องการนำเสนอปัญหาให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เสนอให้นำโครงการพระราชดำริ ๔,๘๗๗ โครงการที่ครอบคลุมทุกภาค มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชน สร้างความรู้ให้ประชาชน พร้อมทั้งขอเสนอให้ผลิตแอลกอฮอล์ใช้เอง เพื่อฆ่าเชื้อโรค และสามารถประกอบอาชีพได้ ด้านเศรษฐกิจ ต้องพัฒนาให้โคราชเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีคนเดินทางมาค้างคืนมากขึ้น ผ่านการพาเที่ยวพาชิมในพื้นที่รับผิดชอบของ ส.อบจ. เพื่อนำจุดเด่นมาส่งเสริมการท่องเที่ยวและสามารถพัฒนาเป็น Big Data เกี่ยวกับข้อมูลในจังหวัดด้วย อบจ.ต้องเป็นเบื้องหลังสร้างความ                   เข้มแข็งในชุมชน รวมทั้งพัฒนาท่องเที่ยวเชิงกีฬาให้มากขึ้น และส่งเสริมการนำกัญชามาวิจัยเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์”        

อ้าง ‘สตง.’ ทำให้ไม่กล้าทำงาน

นายชาคริต ทิศกลาง ส.อบจ.เฉลิมพระเกียรติ อภิปรายว่า “ผมสนับสนุนนายโกวิทย์ เกี่ยวกับเรื่อง สตง. โดยเสนอให้กำหนดขอบเขตการทำงานของ อบจ.และ สตง. สามารถทำได้มากหรือน้อยเพียงใด เนื่องจากทำงานลำบาก สตง.ทำให้ไม่กล้าดำเนินการใดๆ ต้องตั้งรับตลอดเวลา ทำอะไรก็ผิดระเบียบไปทั้งหมด ซึ่งปัจจุบัน อบจ.สามารถทำงานได้เพียง ๒ ด้านเท่านั้น คือ ถนนและโรงเรียน นโยบายดีๆ ก็ถูกปรับ เนื่องจากไม่เอื้อต่อระเบียบที่กำหนด ฉะนั้นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ต้องนำมาแก้ไข เพื่อการทำงานที่ครอบคลุม ดูแลประชาชนให้มากที่สุด ไม่ยึดระเบียบมากเกินไป ต้องยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง หากยึดระเบียบก็ทำงานไม่ได้ ไม่เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชน เพราะพื้นที่อบจ.ครอบคลุมทั้งจังหวัด แต่มีพื้นที่อบต. และเทศบาลอยู่ด้วย จะทำสิ่งใดก็ต้องประสานงานกับท้องถิ่นเหล่านี้ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตการทำงานท้องถิ่นกับท้องถิ่นได้ เมื่อประสานงานบางครั้งก็ไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากหน่วยงานมีภารกิจไม่สามารถทำให้ได้ ซึ่ง ส.อบจ.ต้องอ้อนวอนผู้นำหรือนายกฯ ให้ช่วยทำโครงการ ฉะนั้นจึงต้องการให้ อบจ. สามารถจัดทำโครงการ สำรวจ และออกแบบ เพื่อประสานพื้นที่ให้เกิดความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น สามารถทำงานเชิงรุก พื้นที่ต้องมีแผนงาน ซึ่งตามระเบียบ อบจ.สามารถทำโครงการขนาดใหญ่ เพื่อแสดงศักยภาพของท้องถิ่น สามารถทำโครงการที่เป็นภาพรวมของจังหวัด และโครงการเชื่อมต่อหรือต่อเนื่อง โดยไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์อื่นใด จึงต้องศึกษาและหาวิธีทำให้โครงข่ายงานนั้นสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบริการประชาชนอย่างทั่วถึง”  

วอนนายกฯ อย่าทิ้ง

ท้ายสุด นายประเวทย์ ชุมสงฆ์ ส.อบจ.เมืองยาง อภิปรายว่า “นโยบายที่นายกฯ แถลงครอบคลุมทั้งหมด ชื่นชมที่เห็นความสำคัญของการสร้างถนน ซึ่งเมืองยางเป็นอำเภอห่างไกลและการเดินทางลำบาก โดยภายในพื้นที่มีทราย ซึ่งเป็นวัสดุที่นำมาใช้งานในทุกอำเภอ วอนนายก อบจ.อย่าทิ้งอำเภอเมืองยาง และขอแสดงความยินดีกับนายกฯ ที่เข้ามาบริหาร ขอให้ทำทุกอย่างสำเร็จ ฝากความหวังไว้ด้วย”

จากนั้น นางยลดา หวังศุภกิจโกศล ยกกระดาษขึ้นมาอ่านว่า “ตามคำชี้แนะของ ส.อบจ. ดิฉันขอน้อมรับ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหาร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาต่อไป”

ลงนามร่วมบริหาร อบจ.

ทั้งนี้ ภายหลังจากแถลงนโยบายเสร็จ นางยลดาได้ออกไปนอกห้องประชุมเพื่อต้อนรับบุคคลต่างๆ ที่มามอบกระเช้าดอกไม้และของขวัญแสดงความยินดี เช่น พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค ๓, นายเรวัต กลีบตะขบ ผู้อำนวยการสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๓, นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา, นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา, นางอรุณรัตน์ ชิงชนะ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา และนายปรีชา จันทรรวงทอง นายกเทศมนตรีเมืองสีคิ้ว เป็นต้น พร้อมทั้งนางยลดายังมีการทำบันทึกข้อตกลงการปฏิบัติราชการประจำปี พ.ศ.๒๕๖๔ กับนายไพศาล สมุทรเผ่าจินดา รองปลัด อบจ.รักษาราชการแทนปลัดอบจ.นครราชสีมาด้วย เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจก็เดินเข้าไปร่วมประชุมสภาฯ เป็นระยะ 

ตั้งกรรมการมโหฬาร ๑๙ คณะ

โดยในที่ประชุมสภาฯ มีการเสนอคณะกรรมการประจำสภา อบจ.นครราชสีมา ทั้งสิ้น ๑๙ คณะ ได้แก่ ๑.คณะกรรมการสามัญประจำสภาฯ ๒.คณะกรรมการตรวจรายงานการประชุม ๓.คณะกรรมการแปรญัตติร่างข้อบัญญัติ ๔.คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณ ๕.คณะกรรมการการกีฬา ๖.คณะกรรมการการศึกษา ๗.คณะกรรมการสาธารณสุข ๘.คณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์ ๙.คณะกรรมการเกษตรและชลประทาน ๑๐.คณะกรรมการส่งเสริมอาชีพ ๑๑.คณะกรรมการคมนาคมและการขนส่ง ๑๒.คณะกรรมการการคลังและจัดเก็บรายได้ ๑๓.คณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติ ๑๔.คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเด็กเยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ ๑๕.คณะกรรมการส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรม ๑๖.คณะกรรมการการพลังงาน วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม ๑๗.คณะกรรมการป้องกันสาธารณภัย ๑๘.คณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร และ ๑๙.คณะกรรมการกฎหมายและความยุติธรรม โดยแต่ละคณะมีกรรมการ ๗ คน และนับว่า มีคณะกรรมการหลายคณะกว่าทุกสมัยที่ผ่านมา 

โดยปิดประชุมสภาฯ ในเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. และนายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภาฯ นำสมาชิกมาร่วมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับนางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา ด้วย พร้อมทั้งมีการเตรียมอาหารหลายรายการเพื่อรับรองผู้มาร่วมประชุม และเจ้าหน้าที่

“โคราชโฉมใหม่”คือการสร้างคน

นางยลดา หวังศุภกิจโกศล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “วันนี้เป็นการแถลงนโยบายของนายก อบจ. ให้สมาชิกทราบ ส่วนบางนโยบายที่ขาดไป ทางสมาชิกก็เสนอแนะ ซึ่งสมาชิกจะนำไปปรับใช้ เอาไปพัฒนา เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชน”

“โคราชคนอีสาน” ถามว่า นโยบายทั้ง ๔ ข้อที่แถลงนั้น จะทำให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมอย่างไร และจะฝากถึงประชาชนที่เลือกเข้ามาเป็นนายก อบจ.อย่างไรบ้าง แต่นางยลดาตอบเพียงว่า “ขอบคุณทุกกำลังใจ ทุกคะแนนเสียงที่เลือกหน่อยเข้ามาเป็นนายก อบจ.นครราชสีมา ก็จะตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” 

“โคราชคนอีสาน” ถามว่านโยบายช่วงหาเสียงที่ระบุว่า “โคราชโฉมใหม่” จะเป็นอย่างไร มีความชัดเจนเพียงใด นางยลดาตอบว่า “ชัดเจนอยู่แล้ว โคราชโฉมใหม่อันดับแรกเลยคือการสร้างคนโคราช อยากให้คนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ร่วมกันทำงาน นายกฯ คนเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ต้องช่วยกันทุกภาคส่วน อยากเห็นโคราชร่วมคิด ร่วมทำไปด้วยกันทุกภาคส่วน”

ไม่เปิดตัวรองนายกฯ

เมื่อ “โคราชคนอีสาน” ถามถึงรองนายก อบจ.ทั้ง ๔ คน รวมทั้งที่ปรึกษา และเลขานุการว่า ประกอบด้วยบุคคลใดบ้าง นางยลดาตอบว่า “ช่วงนี้โควิด อย่าเพิ่งถาม ดูนายกฯ ทำงานก่อน” แต่ “โคราชคนอีสาน” ท้วงว่า ก็ต้องมีรองนายกฯ มาช่วยทำงาน ซึ่งนางยลดาตอบว่า “นายกฯ ไปพบปะประชาชนทั้ง ๓๒ อำเภอยังไปได้” 

“โคราชคนอีสาน” ถามอีกว่า ขณะนี้มีรองนายกฯ ครบทั้ง ๔ คนแล้วใช่หรือไม่ นางยลดาตอบว่า “มีแล้วค่ะ” เมื่อถามย้ำว่า แต่ยังไม่เปิดตัวเป็นทางการใช่หรือไม่ นางยลดาตอบว่า “ค่ะ แต่นายกฯ สามารถทำงานเองได้ ๓๒ อำเภอก็ไปมาแล้ว จะต้องให้ประชาชนเห็นผลงานก่อนดีกว่า” 

ทั้งนี้ ระหว่างที่นางยลดาให้สัมภาษณ์นั้น มีนายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล และนายนรเสฏฐ์ ศิริโรจนกุล ซึ่งเป็น ๒ ใน ๔ ที่ถูกวางตัวให้เป็นรองนายก อบจ.นครราชสีมา ยืนอยู่ด้วย 

เพื่อความเป็นระเบียบ

ทางด้านนายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภาฯ เปิดเผยกรณีที่มีการจัดระเบียบการทำข่าวของสื่อมวลชน ส่งผลให้บางส่วนไม่พอใจว่า “เนื่องจากห้องประชุมคับแคบ เมื่อก่อนอาจจะให้อิสระในการทำงานของผู้สื่อข่าว จึงมองว่า หากต้องการจัดระเบียบ มีการพูดคุยว่าจะทำอย่างไรให้การนำเสนอข่าว หรือผู้สื่อข่าวมีระเบียบมากขึ้นน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เช่น ในระหว่างที่มีการประชุม หากมีสมาชิกคนใดต้องการอภิปราย และมีผู้สื่อข่าวเข้าไปถ่ายภาพ จึงขอความกรุณาไม่เดินถ่ายภาพเท่านั้น ส่วนการถ่ายทอดสดอาจจะจัดมุมไว้เพื่อรองรับ ไม่มีปัญหา เพราะประชุมแล้วว่า จะมีการถ่ายทอดสดผู้บริหารด้วย เพื่อความโปร่งใส แต่ควรอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ขณะนี้กำลังหารือกับฝ่ายบริหาร เพื่อกำหนดพื้นที่ให้ผู้สื่อข่าวทำหน้าที่อย่างเต็มที่”

นายรักชาติ กล่าวท้ายสุดว่า “ส่วนหนึ่งก็เข้าใจ แต่ต้องมาหารือร่วมกันถึงความเหมาะสม เพราะบางครั้งที่ประชุมก็พบว่าบางคนใส่รองเท้าไม่สุภาพเข้ามา ไม่เหมาะสม หากจะต้องหารือกับองค์กรสื่อมวลชนในจังหวัดก็ยินดี เมื่อหารือและสรุปผลกับฝ่ายบริหารแล้ว จะร่วมพูดคุยกับสื่อมวลชนอีกครั้ง ”    

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๔ วันพุธที่ ๒๗ เดือนมกราคม - วันอังคารที่ ๒ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

114 1,800