February 04,2021
ภาษาโคราช
ภาษาโคราช เป็นส่วนหนึ่งของภาษาไทยที่พูดกันเฉพาะที่จังหวัดนครราชสีมา และบางท้องที่ที่ติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมา เช่น อำเภอลำปลายมาศ นางรอง หนองกี่ ละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์, อำเภอจัตุรัส บำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ก็พูดภาษาโคราช ด้วยเหตุนี้เอง ภาษาโคราชจึงเป็นภาษาของชนกลุ่มน้อย ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเหมือนภาษาถิ่นอื่นๆ ที่พูดกันทั้งภาค และแม้ว่านครราชสีมาจะตั้งอยู่ในเขตภาคอีสานก็ตาม แต่โดยเนื้อแท้แล้วคนโคราชก็มิได้พูดภาษาอีสาน (เว้าลาว) แต่อย่างใด
ภาษาโคราช เป็นภาษาที่มีสำเนียงต่างจากภาคกลางและก็ไม่เหมือนกับภาษาอีสาน คือมีเสียงเพี้ยนเหน่อ บางคำมีสำเนียงค่อนไปทางภาษาไทยกรุงเทพ บางคำออกสำเนียงไปทางภาษาอีสาน บ้างก็ว่ามีสำเนียงใกล้เคียงสำเนียงระยองและจันทบุรี นอกจากนี้ คนโคราชแต่ละอำเภอก็พูดสำเนียงและคำแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่ เช่น แถบพื้นที่อำเภอพิมาย อำเภอโนนสูงและใกล้เคียง เมื่อจะพูดคำว่า ดู ก็จะออกเสียงเป็น ดู๋, คำว่า ไม่ ก็จะพูดว่า มิ, คำว่า อะไร ก็จะพูดว่า ไอ๋ หรือ อาย แต่คนในเขตอำเภอเมืองจะพูดว่า ดู, ไม่, อะไร โดยออกเสียงธรรมดา เป็นต้น
ที่กล่าวว่า ภาษาโคราชมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ตัวอย่างเช่น
๑. จะมีคำสร้อยต่อท้ายคำพูดเสมอ เช่น หมด ก็จะพูดว่า หมดจาก (มดจาก), ไปละนะ ก็จะพูดว่า ไปละเด้อ, อันนี้ ก็จะพูดว่า อันนี่ดอกเด่ หรือ อันนี่ละว้า, จืด ก็จะพูดว่า จืดจ่องหล่อง หรือ จืดจ๋องหลอง, มาก ก็จะพูดว่า มากโพด เป็นต้น
๒. มีคำที่เป็นภาษาของตนเอง ไม่มีในภาษาถิ่นอื่น เช่น เข่าแข็ง (ข้าวสวย), จำหืน (ฝืน เสแสร้ง), จำโอ (อวก อาเจียน), ชักชา (ชักคะเย่อ), ดินหุน (ปลวก), ปะลมปะเล (ผสมผเส ปนเป), เปียกเข่า (ต้มข้าวต้ม), พี่นาง (พี่สะใภ้), พูดเดิม (นินทาลับหลัง), โหง่ย (ล้ม เอนลง), อีนาง (เด็กหญิง หรือหญิง ที่มีอายุอ่อนกว่า), ไอ้นาย (เด็กชาย หรือชาย ที่มีอายุอ่อนกว่า)
คำด่า เช่น ก้นคุ่ก (คนคุก), บ้าชั่ก (ไอ้บ้า บ้าบอคอแตก), บ้าใหญ่ (ไอ้บ้า บ้าบอคอแตก), ห่าราก (ไอ้ห่า), ห่าฟั่ด (ห่ากิน) สำเพ็งหรืออีสำเพ็ง (กะหรี่: โสเภณีย่านสำเพ็ง กรุงเทพฯ ในอดีต)
คำเสียดสี เช่น เส่อเหล่อ (สะเหล่อ เซ่อซ่า)
๓. คำพูดที่รู้ทันทีว่าเป็นคนโคราช ซึ่งคนโคราชมักจะพูดคำในลักษณะนี้เสมอ เช่น จะรีบไปไหน คนโคราชมักจะพูดว่า จะด่วนไปไหน หรือ จิด่วนไปไหน, ดูซิ คนโคราชมักจะพูดว่า ดูทั่วะ ดูถัวะ หรือ ดูทั้ว, เดินกระสับกระส่ายหรือกระวนกระวายกลับไปกลับมา คนโคราชมักจะพูดว่า เดินหลำละหลำหล่าย, ไปก็ไม่พบไม่เจอ ใครจะขยันไป คนโคราชมักจะพูดว่า ไปก็ไม่ป๊ะ จั๊กใครจิชนะไป, ไม่ยีหระ ไม่สนใจใคร คนโคราชมักจะพูดว่า ไม่เอาเหมือดใคร เป็นต้น
แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าคนโคราชพูดภาษาตระกูลอะไร แต่มีความเชื่อว่ามาจากภาษาตระกูลมอญ-เขมร, ไทย-ลาว อยู่ด้วย เนื่องจากโคราชเป็นเมืองปากประตูไปสู่อีสานซึ่งอยู่ระหว่างกรุงเทพฯ กับภาคอีสาน ภาษาพูดจึงออกสำเนียงเช่นนี้ก็ได้ เสียงเหน่อนี้เองทำให้บางคนเข้าใจว่าเป็นคนปักษ์ใต้บ้าง อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของภาษาโคราชโดยแท้
สำเนียงโคราชที่ออกเสียงไปทางภาษาไทยกรุงเทพ แต่ออกเสียงตามวรรณยุกต์แตกต่างกัน เช่น
๑. อักษรต่ำ คำเป็นและคำตาย ในภาษาไทยกรุงเทพออกเสียงตรี แต่ภาษาโคราชออกเสียงโท เช่น
ภาษาไทยกรุงเทพ ภาษาโคราช
ฟ้า ฟ่า
ม้า ม่า
รู้ รู่
๒. อักษรกลาง คำตายในภาษาไทยกรุงเทพจะออกเสียงเอก แต่ภาษาโคราชออกเสียงตรี เช่น
ภาษาไทยกรุงเทพ ภาษาโคราช
ติด ติ๊ด
จิต จิ๊ต
แกะ แก๊ะ
๓. อักษรสูง คำเป็นภาษาไทยกรุงเทพจะออกเสียงโท แต่ภาษาโคราชออกเสียงเอก เช่น
ภาษากรุงเทพ ภาษาโคราช
ขี้ ขี่
ข้าว เข่า
เสื้อ เสื่อ
ที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องภาษาโคราช ผู้สนใจศึกษาได้จากพจนานุกรมภาษาโคราช
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๔ วันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๔
775 11,604