February 06,2021
โคราชรุ่งเรืองคนทั้งเมืองอุดหนุนกัน ชวน‘กิน-ใช้-ช่วย’กระตุ้นเศรษฐกิจ
ปลุกกระแส “โคราชรุ่งเรือง คนทั้งเมืองอุดหนุนกัน” นำกลยุทธ์เลข ๓๒ จัดโปรโมชั่นทั้งลด แลก แจก แถม กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว หวังเป็นโคราชโมเดล นักธุรกิจโรงแรมแนะผู้บริหารจังหวัดควรนัดคุยกับเจ้าสัวซีพี เพื่อหารือให้ช่วยเหลือ
เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (หลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) ถนนโยธา อ.เมืองนครราชสีมา เครือข่าย Biz CLUB นครราชสีมา ร่วมกับผู้ประกอบการในจังหวัดนครราชสีมา ประชุมขับเคลื่อนกิจกรรม “โคราชรุ่งเรือง คนทั้งเมืองอุดหนุนกัน” ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งการประกอบการธุรกิจในเมืองโคราช โดยมีนายรังสรรค์ อินทรชาธร กรรมการที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ ประธานมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการผู้จัดการนครชัย ๒๑ และนครชัยทัวร์ และนายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม ว่าที่รองนายก อบจ.นครราชสีมา พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มอบหมายให้นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา นางรุ่งทิพย์ บุกขุนทด ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานนครราชสีมา และนายธนิต จิตละมัย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม ซึ่งภายในงานได้เปิดโอกาสให้เสนอแนะแนวทางการช่วยเหลือ เยียวยาปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม กับการประกอบธุรกิจในจังหวัดนครราชสีมา
เร่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
นายรังสรรค์ อินทรชาธร กล่าวว่า “เมื่อนักธุรกิจมองเห็นว่า เศรษฐกิจได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-๑๙ ครั้งแรกก็เดือดร้อนแล้ว คิดว่ามาแล้วก็คงหายไปและจะดีขึ้น แต่ยังมีระลอก ๒ เข้ามาอีก คราวนี้เงินเกลี้ยงกระเป๋า หลายๆ ฝ่ายจึงได้พิจารณาร่วมกัน องค์กรหลักที่จะช่วย SME คือ Biz CLUB อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องขับเคลื่อน ยกตัวอย่างเมืองจีนมีประชากรหนึ่งพันกว่าล้านคน แม้จะปิดประเทศก็ไม่กลัว เพราะมีการใช้จ่ายหมุนเวียน เปรียบเทียบกับโคราชที่เป็นจังหวัดใหญ่ มี ๓๒ อำเภอ มีประชากรกว่า ๒ ล้านคน และประชากรแฝงกว่า ๑ ล้านคน ประชากรสะสมแล้วกว่า ๔ ล้านคน ถ้า ๔ ล้านคนใช้จ่ายคนละ ๑๐๐ บาทต่อวัน ก็ตก ๔๐๐ ล้านบาท ที่จะหมุนเวียนในแต่ละวัน ดังนั้นต้องประมาณว่า ทำอย่างไรจะกระตุ้นให้คนออกมาใช้จ่าย บางคนบอกว่า ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องกระตุ้น ไม่มีการใช้จ่าย แบบนี้ไม่ได้เพราะโควิดลดน้อยลงแล้ว แต่ว่าคนไม่มีการเดินทาง จึงต้องทำให้มีการเดินทาง หากเราสามารถดึงนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดเข้ามา โดยเฉพาะพื้นที่นครชัยบุรินทร์เข้ามาพักในโคราช ๑ คืน อย่างน้อยก็มีการใช้จ่าย ๓-๔ พันบาท เงินก็จะหมุนเวียนมากขึ้น ทุกคนก็อยู่ได้ โดยจะคิกออฟและขับเคลื่อนโครงการในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์นี้”
ชูเลข ๓๒ ขับเคลื่อนโคราช
“ก่อนหน้านี้ได้นำโครงการ “โคราชรุ่งเรือง” ไปเสนอผู้ว่าฯ โดยใช้สโลแกนเลข ๓๒ ในการกระตุ้นและผลักดันโครงการ เช่น ขายก๋วยเตี๋ยวชามละ ๓๒ บาท หรือขายข้าวราดแกงจานละ ๓๒ บาท ประเด็นคือจะทำอย่างไรเพื่อให้คนออกมาใช้จ่าย ให้ผู้ประกอบการรับทราบและเดินหน้าไปพร้อมกัน ผมคิดว่า โคราชรอดแน่ โดยไม่ขอเงินภาครัฐ ทุกคนต้องช่วยเหลือตัวเอง เมื่อขายของถูกคนก็มาอุดหนุน เมื่อเกิดการอุดหนุนก็เกิดการหมุนเวียน หากส่วนราชการมองเห็นว่าดี เดี๋ยวเขาก็มาเอง แล้วจะเข้ามาสนับสนุนส่วนไหนก็แล้วแต่ ส่วนราชการมีงบประมาณอยู่ในมือเอาออกมาใช้และกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ถ้าจะจัดงานมีการซื้อขายสินค้าต้องใช้คนโคราช การอบรม สัมมนา ต้องหมุนเวียนเปลี่ยนไปหลายๆ โรงแรม หากไม่ทำอะไร ธุรกิจก็ไปไม่ได้”
เวลาของการใช้เงิน
นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กล่าวถึงโครงการโคราชรุ่งเรืองว่า “เงินในโคราชมีไม่เยอะ รวมถึงหลายๆ จังหวัดยังนิ่งอยู่ พยายามจะให้ทุกบาททุกสตางค์หมุนเวียน แต่สิ่งที่ช่วยให้กระแสเงินเคลื่อนไหวได้เร็วมากคือการนำเงินภายใต้กรอบการใช้จ่ายของภาครัฐมาใช้จ่ายในโคราชให้มากกว่าเดิม ผู้ว่าฯ ก็ให้ความสำคัญและเริ่มมีนโยบาย แต่สิ่งที่จะเติมเงินเข้ามาในระบบได้คืองบประมาณของภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจภายในจังหวัดให้เคลื่อนไหวเร็วกว่าเดิม สิ่งที่ต้องการฝากถึงภาครัฐ นาทีนี้ไม่ใช่เวลาของการประหยัดเงิน แต่เป็นเวลาของการใช้เงิน ต้องดูงบประมาณปี ๒๕๖๔ ว่า จะบริหารและนำมาใช้ในเวลาเร่งด่วนนี้อย่างไร ภายใต้เงื่อนไขที่ถูกต้อง ดังนี้ ๑.การสร้างความรับรู้ให้กับผู้ประกอบการ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ และ ๒.กระตุ้นการมีส่วนร่วม ภายใต้แคมเปญร้านค้าขี้อวด โดยใช้ตัวเลข ๓๒ ในการกระตุ้นและขับเคลื่อน ไม่ใช่แค่ว่า ต้องลดราคาเพียงอย่างเดียว แต่สามารถใช้เพื่อจัดทำโปรโมชั่นอื่นๆ ได้ด้วย โดยผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อสร้างกระแส ขยายขอบข่ายสินค้า และให้ได้เห็นภาพร่วมกัน พร้อมติดแฮชแท็กโคราชรุ่งเรืองคนทั้งเมืองอุดหนุนกัน แฮชแท็กมีความสำคัญเพราะสามารถสืบค้นข้อมูลได้ว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจในโคราชเติบโตขึ้นเท่าไหร่ ต้องการให้จังหวัดนครราชสีมาเห็นความสำคัญของโครงการนี้แล้วผลักดัน โดยเริ่มต้นจากจังหวัดนครราชสีมาตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ และเอกชน สร้างความแข็งแกร่งเพื่อเป็นทีมงานเดียวกันภายใต้คำสั่งของจังหวัด”
“กิน ใช้ ช่วย”
“การปกครองในจังหวัดนครราชสีมา ประกอบไปด้วย จังหวัด อปท.ต่างๆ งบประมาณรายจ่ายหรืองบประมาณที่สามารถดึงมาใช้ได้ แต่ผมไม่ทราบว่า แต่ละหน่วยงานทำอะไร รู้แค่เพียงว่า อะไรที่สามารถทำได้ให้แจ้งมา แจ้งคนโคราชว่าสิ่งนี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ผมเห็นด้วยกับผู้ว่าฯ กับนโยบายการศึกษาดูงานข้ามเขตอำเภอ แต่ยังไม่เห็นรูปแบบของการปฏิบัติ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก สำหรับธุรกิจผมค่าโดยสารถูกบังคับว่า จะลดหรือเพิ่มราคาไม่ได้ มีกฎหมายคุ้มครองอยู่ กำลังหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้คนโคราชมาใช้บริการและยังประหยัดเงิน ให้คนมาอุดหนุนในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการและนักธุรกิจในโคราช ผมมีรถนำเที่ยว ประกอบกับนโยบายของผู้ว่าฯ กำลังคิดโปรเจกต์นี้ขึ้นมา เช่น เดินทางภายในจังหวัดฯ ด้วยรถเช่าของผมในระยะ ๑๐๐ กิโลเมตรแรก ราคา ๒,๓๐๐ บาท กิโลเมตรต่อไปจ่ายเพียง ๓๒ บาท หากโมเดลนี้สำเร็จต่อให้เกิดวิกฤตโควิดอีกระลอก โมเดลนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ทั้งส่วนราชการ อบจ. เอกชน ผู้ประกอบการ และประชาชน กินในโคราช ใช้ในโคราช ช่วยผู้ประกอบการในโคราช และหากผู้ประกอบการต่างถิ่นมาลงทุนในโคราชถือว่าเงินหลุดออกไปหรือไม่นั้น ต้องบอกว่า โครงการนี้ไม่ต้องการทำร้ายผู้ประกอบการคนใดคนหนึ่ง แต่กำลังบอกผู้ประกอบการแต่ละธุรกิจว่า ให้หากลยุทธ์และตัวเลข ๓๒ มากระตุ้น เพื่อให้กระแสเงินหมุนเวียนในโคราชให้มากที่สุด” นายชัยวัฒน์ กล่าว
รวมตัวผู้นำเจรจาธุรกิจยักษ์ใหญ่
ทางด้านนายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ในฐานะประธานกรรมการโรงแรมสีมาธานี กล่าวสรุปว่า “มาตรการทุกอย่างจะสำเร็จก็ต่อเมื่อมีการรณรงค์ทั้งผู้ประกอบการและสื่อมวลชนร่วมมือกัน แต่ถ้าให้มองระยะยาวไม่ใช่แค่การเยียวยาเท่านั้น แต่ต้องใช้ทางเลือกเข้ามาด้วย โคราชต้องหาเรื่องเข้ามา ผู้ว่าฯ นายก อบจ. หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ประธานหอการค้า และประธานสภาอุตสาหกรรม ต้องจัดภารกิจเพื่อไปพบผู้ที่มีศักยภาพให้มาช่วยเหลือจังหวัดฯ เช่น เข้าพบผู้บริหาร CP เพราะมีกิจการ และโรงงานผลิตจำนวนมากในโคราช เพื่อหารือว่า จะมีส่วนช่วยจังหวัดอย่างไร โคราชมีศักยภาพ ให้ผู้นำองค์กรรวมทีมเพื่อคุยกับธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยเฉพาะธุรกิจด้านเกษตร อุตสหกรรม และตลาดหลักทรัพย์ จะเห็นได้ว่า ยังมีมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ซึ่งได้ยินจาก รมว.ท่องเที่ยวและกีฬาว่า โควิด-๑๙ ระลอก ๒ จะควบคุมได้ภายในเดือนมีนาคมและวัคซีนจะฉีดให้คนไทยเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ ผมคิดว่า ไม่ใช่แค่ตอนนั้น แต่ตอนนี้ต้องร่วมใจกันทำ โครงการโคราชรุ่งเรือง เป็นโครงการที่ดีมากๆ เพราะฉะนั้นต้องสนับสนุนและช่วยกัน”
โครงการ “โคราชรุ่งเรืองฯ” จะจัดคิกออฟในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์นี้ ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม)
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๔ วันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๔
67 1,627