February 27,2021
หัวชนฝาไม่กลัวแตก สะพานข้ามแยกหัวทะเล
ชาวหัวทะเลโคราชไม่เห็นด้วย กรมทางหลวงสร้างสะพานข้ามแยกหัวทะเล หวั่นทำลายเศรษฐกิจรอบข้าง พร้อมโหวตกลางที่ประชุม มีประชาชนเห็นด้วย ๑ คน ที่เหลือยกมือคัดค้าน “ป๋าซิม” วอนฟังเสียงส่วนใหญ่ ด้านที่ปรึกษายืนยันทำตามหน้าที่ ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย
ตามที่ กรมทางหลวงว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ได้แก่ บริษัท สยามเยนเนอรัล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จํากัด และบริษัท เอ็นทิค จํากัด ดําเนินงานศึกษาโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) โดยจัดให้มีการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนาครั้งที่ ๑) เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ การประชุมกลุ่มย่อยเพื่อหารือรูปแบบทางเลือกของโครงการ (กลุ่มย่อยครั้งที่ ๑) เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๑๓ และการประชุมสรุปผลคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการ (สัมมนาครั้งที่ ๒) เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมการประชุมและคัดค้านโครงการทุกครั้ง
เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายวีรกุล หวังวีระ ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองนครราชสีมา พร้อมด้วยผู้แทนส่วนราชการ ผู้ประกอบการค้าละแวกทางแยกหัวทะเล และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ประมาณ ๑๐๐ คน ร่วมประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม (กลุ่มย่อยครั้งที่ ๒) โครงการสํารวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) โดยมีนายสยุมโพธิ์ อินทะผิว วิศวกรโครงการ จากบริษัท สยาม เยนเนอรัล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จํากัด นายอาทิตย์ เชาวนาภรณ์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากบริษัท เอ็นทิค จํากัด และนายณฤทธิ์ นาคเสวตร วิศวกรโครงการ เป็นวิทยากรให้รายละเอียดโครงการ
นายวีรกุล หวังวีระ ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองฯกล่าวว่า “จังหวัดนครราชสีมาเป็นศูนย์กลางความเจริญด้านเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาค ความเจริญในเขตเมืองมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้ประชากรย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อย่างหนาแน่น สิ่งที่ตามมา คือ ความแออัดคับคั่งของการการจราจร การระบายรถออกนอกเขตเมืองขาดความคล่องตัว เป็น อุปสรรคของการเดินทาง และเป็นสาเหตุสําคัญที่ทําให้เกิดอุบัติเหตุ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น การที่กรมทางหลวงมีแผนดําเนินโครงการสํารวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) ผมเห็นว่ามีความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการจราจรในปัจจุบันได้อย่างตรงเป้าหมาย แม้ว่าโครงการจะก่อเกิดผลดีในภาพรวม แต่อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อประชาชนบางกลุ่ม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงมีความสําคัญยิ่งในการสร้างความเข้าใจและส่งเสริมความร่วมมือต่อโครงการ เพื่อนําไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้น การที่ท่านทั้งหลายได้เข้าร่วมประชุมในวันนี้ ต้องการให้ทุกคนให้ความร่วมมือ โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็น ตลอดจนการให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ อันก่อเกิดผลดีต่อโครงการมากที่สุด”
สร้างสะพานข้ามแยก
นายสยุมโพธิ์ อินทะผิว วิศวกรโครงการ บรรยายว่า “พื้นที่ศึกษาโครงการในระยะศึกษา ๕๐๐ เมตร จากที่ตั้งโครงการ โดยครอบคลุมพื้นที่เขตการปกครองในเทศบาลตำบลหัวทะเล และเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ประกอบด้วย เทศบาลตำบลหัวทะเล จำนวน ๔ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๑ บ้านหัวทะเล หมู่ที่ ๒ บ้านดอนขวาง หมู่ที่ ๔ บ้านหนองสองห้อง และหมู่ที่ ๑๐ บ้านหนองสองห้องเหนือ เทศบาลนครนครราชสีมา จำนวน ๒ ชุมชน ได้แก่ ชุมชนท้าวสุระ และชุมชนท้าวสุระ-เบญจรงค์ โดยรูปแบบที่เหมาะสมของโครงการ ออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับ รูปแบบ Loop Route About At Grade ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ต้องการเดินทางบนทางหลวงสายหลักได้แก่ทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ที่จะเดินทางจากจังหวัดนครราชสีมาไปยังอำเภอโชคชัย ออกแบบเป็นลักษณะบังคับให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ จากนั้นให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๔๒๖ และเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔ มุ่งหน้าไปอำเภอโชคชัย และจากอำเภอโชคชัยไปจังหวัดนครราชสีมา ออกแบบเป็นลักษณะถนนระดับพื้นโดยสามารถผ่านทางแยกแห่งนี้ โดยไม่มีจุดตัดกระแสจราจร และตามแนวทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ ทิศทางจากจังหวัดนครราชสีมาไปจังหวัดบุรีรัมย์ ออกแบบปรับปรุงช่องทางเลี้ยวซ้ายให้เกิดการสัญจรได้สะดวกและปลอดภัย ทิศทางจังหวัดบุรีรัมย์ไปจังหวัดนครราขสีมา ออกแบบเป็นลักษณะบังคับให้เบี่ยงซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๔๒๖ จากนั้นให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ มุ่งหน้าไปจังหวัดนครราชสีมา”
ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นายอาทิตย์ เชาวนาภรณ์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “จากการสำรวจพื้นที่โครงการ พบว่า แนวเส้นทางโคราชส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชุมชน ที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ ร้านค้า สถานประกอบการ ย่านพาณิชยกรรม สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ พื้นที่รกร้าง/ว่างเปล่า พื้นที่อื่นๆ (สุสาน) และพื้นที่แหล่งน้ำ จากสำรวจพื้นที่ในรัศมี ๕๐๐ เมตรจากที่ตั้งโครงการ พบพื้นที่อ่อนไหวต่อการได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อม ๓ แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบุญวัฒนา ระยะห่างจากโครงการประมาณ ๒๐๐ เมตร วัดดอนขวาง ระยะห่างจากโครงการประมาณ ๔๕๐ เมตร และสุสานสว่างเมตรตาธรรมสถาน (เม้งยิ้นซัวจึง) อยู่ในระยะประชิดโครงการ”
“ในช่วงการก่อสร้าง ที่ปรึกษาได้คัดกรองปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการครอบคลุมปัจจัยทรัพยากรทางด้านสิ่งแวดล้อม ๓๗ ปัจจัย ครอบคลุมองค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อม ๔ ประเภท ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ทางด้านชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต โดยใช้แบบรายการตรวจสอบผลกระทบ สิ่งแวดล้อม (Environmental Checklist) เพื่อคัดกรองปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่นำมาใช้ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) พบว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าอาจจะเกิดผลกระทบ รวมทั้งสิ้น ๑๓ ปัจจัย ประกอบด้วย ๑.ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ ๓ ปัจจัย ได้แก่ อากาศและบรรยากาศ เสียง ความสั่นสะเทือน ๒.คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ๓ ปัจจัย ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค การควบคุมน้ำท่วม และการระบายน้ำ และ ๓.คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ๗ ปัจจัย ได้แก่ เศรษฐกิจ-สังคม อาชีวอนามัย อุบัติเหตุและความปลอดภัย ความปลอดภัยในสังคม สุขาภิบาล ผู้ใช้ทาง สุนทรียภาพ ซึ่งสามารถสรุปผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกัน แก้ไข และ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม” นายอาทิตย์ กล่าว
เดือดร้อนจากน้ำท่วม
จากนั้น ที่ประชุมเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น โดยนายมาโนช สายแก้ว ประธานชุมชนท้าวสุระ-เบญจรงค์ กล่าวว่า “บริเวณแยกหัวทะเล ประชาชนในชุมชนเดือดร้อนเพราะน้ำท่วม ดังนั้นการมาทำโครงการต่างๆ ควรมาถามประชาชนก่อนว่า เดือดร้อนเรื่องอะไร ผมอยู่ที่นี่ไม่เคยได้ยินว่าแยกหัวทะเลมีรถติดตลอดทั้งวัน มีแต่ได้ยินว่าเมื่อฝนตกน้ำก็ท่วม เพราะชุมชนหัวทะเลเป็นพื้นที่รับน้ำมาก่อน เวลาน้ำท่วมจึงส่งผลให้การจราจรติดขัด ส่วนในเวลาปกติ โดยเฉพาะช่วง ๐๗.๐๐-๐๘.๐๐ น. ที่พูดกันว่ารถติด แต่พอ ๐๘.๓๐ น. ก็ระบายหมดแล้ว หากจะแก้ปัญหาจริงๆ ไปตัดถนนเพิ่มเพื่อแบ่งเบาแยกอื่นๆ ดีกว่า ให้รถเลี่ยงแยกนี้ ซึ่งการที่รถติดในชั่วโมงเร่งด่วนถือเป็นเรื่องปกติของทุกแยก แต่ในวันหยุดรถวิ่งได้ปกติ แม้จะเปิดเวลาถอยสัญญาณไฟจราจรน้อยลงก็ยังคล่องตัว แต่ที่เป็นความเดือดร้อนจริงๆ คือ ปัญหาน้ำท่วม”
แก้ปัญหาน้ำท่วม
ด้าน นายณฤทธิ์ นาคเสวตร วิศวกรโครงการ ชี้แจงเรื่องการระบายน้ำว่า “พื้นที่แยกหัวทะเลมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ โดยบริเวณแยกหัวทะเลมีระดับความสูงประมาณ ๑๘๐ เมตร ระหว่างตำบลไชยมงคลซึ่งเป็นสันปันน้ำที่ความสูงประมาณ ๒๖๒ เมตร และลำตะคองเก่าที่ความสูงประมาณ ๑๗๗ เมตร พื้นที่รับน้ำของแยกหัวทะเลมาจาก ๒ พื้นที่ด้วยกันประกอบด้วย พื้นที่รับน้ำขนาดประมาณ ๒๑.๔๓ ตารางกิโลเมตร ซึ่งไหลเข้าสู่ถนนสาย ๒๒๔ และพื้นที่รับน้ำขนาดประมาณ ๙.๔๖ ตารางกิโลเมตร ซึ่งไหลเข้าสู่ถนนสาย ๒๒๖ ซึ่งถนนทั้ง ๒ สายนำน้ำฝนไหลมารวมกันที่แยกหัวทะเลและจุดทิ้งน้ำของแยกหัวทะเล สำหรับแนวทางในการปรับปรุงระบบระบายน้ำ สามารถแบ่งได้เป็น ๒ ส่วนดังนี้ คือ ๑.งานปรับปรุงระบบระบายน้ำเดิม ด้วยการเพิ่มระบบระบายน้ำ จากการคำนวณปริมาณน้ำ พบว่า ขนาดระบบระบายน้ำที่เหมาะสมในการรองรับปริมาณน้ำฝน คือ Box Culvert ขนาด ๑-๒.๔๐ x ๒.๔๐ ม. บนถนนสาย ๒๒๔ ขาเข้า คู่ขนานกับ Box Culvert ขนาด ๑-๑.๕๐ x ๑.๕๐ ม. เดิมซึ่งอยู่ฝั่งขาออก ๒.งานปรับปรุงระบบระบายน้ำเดิม ด้วยการเพิ่มปรับปรุงขยายขนาดบริเวณจุดทิ้งน้ำ จุดทิ้งน้ำลงสู่ลำลางธรรมชาตินั้น มีขนาดไม่เหมาะสมกับระบบระบายน้ำ ที่ปรึกษาจึงมีแนวทางในการปรับปรุงจุดทิ้งน้ำดังกล่าว ด้วยการปรับปรุงให้เป็นลักษณะของบ่อรับน้ำและปั้มออกลงสู่ลำลางธรรมชาติ ซึ่งเป็นคลองเลียบทางรถไฟ สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างเป็นระบบ อาจจะไม่ใช่ขอบข่ายหน้าที่ของกรมทางหลวง แต่ก็จะทำทุกทางเพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้น”
ยกมือโหวตคัดค้าน
นางสมพร ศิริบุญนภา ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแยกหัวทะเล ซึ่งเข้าร่วมการประชุมทุกครั้ง และไม่เห็นด้วยกับโครงการ กล่าวว่า “การประชุมครั้งที่ผ่านมา ตนเป็นคนแรกๆ ที่มาร่วมประชุมโดยที่ไม่ถูกเชิญ ซึ่งการประชุมเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ มีประชาชนเข้าร่วม ๓๗ คน จึงสอบถามว่า ผู้ที่เข้าร่วมเป็นใคร อยู่กลุ่มไหน จากนั้นวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ ผลการประชุมระบุไว้ว่ามีคนเห็นด้วยครึ่งหนึ่ง ซึ่งตนคิดว่า มีเหตุอันน่าเชื่อว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง ซึ่งต้องการดูหลักฐานว่า สะพานจะไม่เกิดขึ้น เพราะที่ปรึกษาให้ข้อมูลไม่เป็นจริง และเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ ระบุไว้ว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยกว่าร้อยละ ๖๗ และเห็นด้วยประมาณร้อยละ ๓๓ ซึ่งในวันนั้นนายสยุมโพธิ์ อินทะผิว คงทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าอย่างนั้นวันนี้มายกมือโหวตดูว่า จะมีคนเห็นด้วยกี่คน จะได้เก็บไว้เป็นหลักฐาน” จากนั้นนางสมพร ศิริบุญนภา ได้เชิญชวนผู้ร่วมประชุมยกมือโหวต ปรากฏว่า มีผู้ยกมือเห็นด้วยเพียง ๑ คน
เห็นด้วยกับโครงการ
นายศรัทธา บุดดาเพ็ง ผู้ยกมือเห็นด้วย กล่าวว่า ผมเห็นในเชิงเศรษฐกิจ แต่ผมไม่เห็นด้วยในการก่อสร้างสะพาน เพราะจุดคุ้มทุนไม่มี หากคุ้มทุนก็อาจจะใช้เวลานานมาก เมื่อลงสะพานมาก็ต้องไปติดไฟแดงแถวประตูพลล้านอีกเช่นเดิม เมื่อ ๓๐ ปีก่อน ผมเคยรอรถตรงแยกจักราช ผมต้องการกินข้าวตรงไหนก็กินได้ แต่ปัจจุบันไม่ได้แล้ว และกลับกัน สะพานจอหอ มีขึ้นมาก็ยังไปแวะกินข้าวได้ ข้างสะพานมีถนน ๒ เลน มีรถจอดทำธุรกิจ ซื้อขายกันคึกครื้น เพราะจุดนั้นเป็นสะพานที่ไปทางเดียวกันกับถนน ไม่เป็นสะพานขวางเหมือนสะพานข้ามทางรถไฟ ซึ่งขวางแยกที่อยู่จุดนั้น ผมผ่านสะพานหัวทะเลทุกวัน เมื่อก่อนยังมีการค้าขาย แต่เมื่อสะพานมาทุกอย่างก็หายไป แต่ถ้าสะพานแยกหัวทะเลเกิดขึ้น ก็อาจจะค้าขายได้ เพราะทุกวันนี้ก็ขายกันไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเขาไม่ให้รถจอด หากจอดก็จะเจอด่าว่า ไม่รู้เรื่อง ทำให้รถติด แต่ถ้ามี ๒ เลน และมีสะพานข้ามเมื่อใด รถทางตรงก็ขึ้นข้างบนไป แต่ถ้าผมต้องการกินข้าวก็วิ่งข้างล่าง”
นางสมพร ศิริบุญนภา กล่าวอีกว่า “ชีวิตคนเราไม่ใช่แค่กินข้าวอย่างเดียว ธุรกิจอย่างอื่น เช่น โชว์รูมรถจะอยู่อย่างไร มีคนตกงานจะทำอย่างไร ไม่ใช่แค่เรื่องกินข้าวอย่างเดียว” ซึ่งที่ปรึกษาโครงการฯ พยายามทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย ถึงการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น และชี้แจงว่า การโหวตด้วยการยกมือ ถือว่าไม่เป็นทางการ แต่ให้แสดงความคิดเห็นผ่านแบบสอบถาม เพื่อนำไปเป็นข้อมูลต่อไป
มีสะพานที่ไหนเจ๊งที่นั้น
ด้านนายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล หรือซิม ประธานกรรมการบริษัทในเครือแผ่นดินทอง กล่าวว่า “สะพานอย่าให้เกิดเลย มาคิดดีกว่าว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ดีกินดีไม่กระทบใคร ทุกวันนี้ไม่มีใครเขาต้องการสะพานแล้ว แต่ให้หาทางแก้ เช่น ทำเป็นอุโมงค์ ทำแล้วจะน้ำท่วมหรือไม่ ทำอุโมงค์แค่ ๓๐๐-๕๐๐ เมตร เอาความเป็นส่วนรวมมาคุยกัน อย่าเอาแต่ส่วนตัว นั่งกินข้าวคนเดียวคุณก็เจ๊งไปคนเดียว ขอร้องว่า สิ่งไหนที่มีการคัดค้านก็ให้ไปปรึกษาประชาชน”
“สะพานลอยข้ามแยกขึ้นมาที่ไหน เจ๊งที่นั่น พ่อค้า ประชาชนอยู่ไม่ได้ เช่น สะพานสีมาธานี พ่อค้าทั้งสองข้างทางเจ๊งหมด สะพานหัวทะเลตรงก็เช่นกัน โดยเฉพาะจอหอตายสนิท ฉะนั้นสะพานลอยยังไม่เหมาะสม ถ้าประเทศที่เจริญแล้ว ส่วนใหญ่ทำเป็นอุโมงค์ แต่งบประมาณก็มากเหมือนกัน แต่ถ้าทำให้ดี คือ ทำเป็นวงเวียน ใช้งบประมาณก็น้อย แนะนำให้ทำตรงหัวมุมร้านสมส่วนค้าเหล็ก สามารถขอเวนคืนได้ เพราะบริเวณหัวมุมไม่ได้รับผลกระทบใด หากทำเป็นวงเวียนก็จะแก้ปัญหาได้มาก และใช้งบประมาณน้อยกว่า ทำไม่กี่เดือนก็ใช้งานได้ แต่ทั้งนี้ มีความเห็นว่า คนออกแบบเขียนแบบก็นั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ไม่เคยมาสัมผัสประชาชน อยู่ห้องสี่เหลี่ยม นั่งห้องแอร์เขียน ถามสิ่งใดก็ไม่ทราบ วันนี้มีการยกมือโหวต มีคนเห็นด้วยแค่ ๑ คน ดังนั้น ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ โครงการนี้ควรจะยุติ” นายทรงศักดิ์ กล่าว
ยังเหลือสรุปโครงการ
นายสยุมโพธิ์ อินทะผิว วิศวกรโครงการ กล่าวท้ายสุดว่า “วันนี้เป็นการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ ๔ โดยนำรูปแบบที่คัดเลือก เพื่อมานำเสนอมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อประชาชน โครงการทุกโครงการที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าจะต้องมีผู้ได้รับผลกระทบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ ในวันนี้ก็ได้เข้าร่วมประชุม และให้ข้อเสนอแนะด้วยการตอบแบบสอบถามกลับมา โดยจะนำไปประมวลผลและดำเนินการต่อ รวมทั้งเก็บข้อมูลและข้อคิดเห็นต่างๆ กลับไป เพื่อนำไปประมวลผล และปรับปรุงรูปแบบ ปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้งโครงการให้ดีขึ้น ซึ่งครั้งต่อไปที่จะจัดประชุมอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายน เป็นการประชุมสรุปโครงการ ซึ่งการศึกษาโครงการนี้ มีระยะเวลา ๓๖๐ วัน หรือประมาณ ๑ ปี จะเสร็จสิ้นโครงการหรือหมดสัญญาเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งต้องทำตามหน้าที่ที่ได้รับจ้าง โดยสิ่งที่จัดส่งมอบให้กรมทางหลวงต่อไป คือ เรื่องแบบก่อสร้าง การประมาณราคา และเอกสารที่กรมทางหลวงกำหนดขึ้นมา และถือเป็นการสิ้นสุดหน้าที่ของที่ปรึกษา”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๘ วันพุธที่ ๒๔ เดือนกุมภาพันธ์ - วันอังคารที่ ๒ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
116 1,764