March 06,2021
‘ธรรมนัส’ยกคณะตรวจมลพิษ แก้ปัญหาฝุ่น‘น้ำตาลพิมาย’ ชาวไร่อ้อยวอนอย่าปิดรง.
รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลุยแก้ปัญหาโรงงานน้ำตาลพิมายปล่อยมลพิษ เสนอตั้งคณะกรรมการรับฟังทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ชาวไร่อ้อยชูป้ายวอนเห็นใจ อย่าสั่งปิดโรงงาน ด้านผู้บริหารบอกยินดีแก้ไขปัญหาให้ดีกว่าเดิม ตั้งใจเป็นโรงงานใหญ่ที่สุด ล่าสุดเตรียมเปิดอีกครั้ง หวังหีบอ้อยที่ตกค้างให้แล้วเสร็จ
ตามที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนคร ราชสีมา มีหนังสือสั่งการให้บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด หรือ “น้ำตาลพิมาย” ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองระเวียง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ปิดปรับปรุงระบบควบคุมฝุ่นละอองให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน หากแก้ไขไม่ได้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำเสียและฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการผลิตน้ำตาล เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า “ได้รับรายงานข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทราบว่าโรงงานนี้ปล่อยมลพิษจริง ทั้งฝุ่นละอองขนาดกลางเกินมาตรฐาน น้ำเสียส่งผลกระทบให้ลำน้ำธรรมชาติของประชาชนที่ใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง จากการตรวจวัดค่าความสกปรกอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก โดยได้สั่งการให้ผู้ประกอบการแก้ไขปัญหาด่วน และหยุดการปลดปล่อยมลพิษทุกรูปแบบในทันที พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ท้องถิ่นจังหวัด, อุตสาหกรรมจังหวัด และกรมควบคุมมลพิษ ติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด พร้อมประสานงานพนักงานสอบสวนดำเนินคดีทางกฎหมายควบคู่กันไป”
ลุยตรวจโรงงานน้ำตาล
เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่สำนักชลประทานที่ ๘ จังหวัดนครราชสีมา ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุรศักดิ์ เรืองเครือ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะ ร่วมประชุมหารือเพื่อพิจารณาบรรเทาความเดือดร้อนกรณีประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากการดำเนินกิจการของโรงงานน้ำตาลอุตสาหกรรมโคราช อำเภอพิมาย กับนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ ๘ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดนครราชสีมา อาทิ นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.เขต ๑ นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส.เขต ๔ นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.เขต ๗ และนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.เขต ๘ ร่วมให้การต้อนรับ
จากนั้น เวลา ๑๒.๐๐ น. ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ตำบลหนองระเวียง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อติดตามข้อร้องเรียนจากประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานน้ำตาลพิมาย และโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีชาวไร่อ้อยจำนานมามาชูป้ายขออย่าให้มีการปิดโรงงานอ้อย รวมทั้งผู้บริหารโรงงานน้ำตาลก็เดินทางมาชี้แจงด้วย
แก้ปัญหาอย่างเท่าเทียมกัน
ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า “วันนี้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์และแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยมลพิษ หรือ ฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM 10 เกินมาตรฐาน และเรื่องสำคัญ คือ การปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำคลองสาธารณะ ซึ่งเรื่องนี้นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ให้โรงงานแก้ปัญหาดังกล่าวภายใน ๓๐ วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๔ โดยเบื้องต้นโรงงานได้แก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM 10 โดยว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีมาตรฐานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มาตรวจสอบปัญหาน้ำเสียและฝุ่นละออง ซึ่งผลปรากฏว่า อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว จากนั้นโรงงานจะทำรายงานถึงสำนักงานอุตสาหกรรมและสำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัด เพื่อส่งเรื่องให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติเปิดกิจการต่อ ในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ผมจะแต่งตั้งคณะกรรมการในการแก้ปัญหาอย่างสมานฉันท์ โดยมีผู้ตรวจการสำนักงานคณะรัฐมนตรีเป็นประธาน มีผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นรองประธาน และประชาชนเป็นกรรมการ โดยจะมอบหมายให้นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ซึ่งเป็น ส.ส.ในพื้นที่ เป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ทั้ง ๒ ฝ่าย อย่างเท่าเทียมกัน”
“ส่วนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานในระยะเวลาที่ผ่านมา โดยหลังจากพรุ่งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดจะอนุมัติเปิดกิจการต่อ ก็จะให้แก้ปัญหาต่อไป เมื่อโรงงานแก้ปัญหาแล้ว เราก็ไม่มีสิทธิไปสั่งปิดอะไรเขาอีก หากปิดนานกว่านี้ เกษตรกรก็จะได้รับผลกระทบที่รุนแรง ชาวบ้านก็ไม่รู้จะไปขายอ้อยให้ใคร ปีนี้ฝนดีน้ำดีเขาก็คงหวังว่าจะขายอ้อยได้ราคาดี แต่เมื่อโรงงานปิดก็ทำให้ไม่มีรายได้ หลังจากนี้โรงงานจะต้องตรวจสภาพปีละ ๒ ครั้ง และส่งผลตรวจให้กับสำนักงานอุตสาหกรรมและสำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัด แต่การตรวจน้ำจะตรวจเป็นประจำ และถ้าจากวันนี้ไป หากมีการละเว้นเกิดขึ้นอีก ก็คงต้องมีมาตรการในการลงโทษเพิ่มต่อไป” รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว
จะทำให้ดีกว่าเดิม
นายมงคล เสถียรถิระกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด กล่าวว่า “การที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ในวันนี้ เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่บริษัทผมโดนแบบนี้ ตอนแรกก็สับสนไม่รู้จะทำอย่างไร แต่เมื่อมีการแก้ปัญหาช่วยกันอย่างจริงจัง เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ผมก็ดีใจ เพราะถ้าปล่อยให้โรงงานคุยกับชาวบ้านเอง คงจะเข้าใจกันยาก ต่างคนต่างมีจุดยืนของตัวเอง และเมื่อมีคนกลางมาร่วมพูดคุย ก็น่าจะหาทางออกและแก้ปัญหาสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้แก้ไขปัญหาตามมาตรการที่วางไว้แล้ว โดยหลังจากนี้ จะดูว่ามีอะไรอีกบ้างที่เราจะทำได้ในระยะยาว เช่น ปัญหาน้ำ ไม่ใช่เรื่องยาก สูบน้ำหรือเปลี่ยนน้ำก็เรียบร้อยแล้ว แต่ที่จะทำระยะยาว คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ และสัตว์ป่าต่างๆ ซึ่งขณะนี้โรงงานยังมีอ้อยเหลืออีก ๖ แสนตัน ชาวไร่อ้อยก็ตกค้างอยู่มาก จึงต้องแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เพื่อให้โรงงานสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ที่สำคัญหากแปรรูปไม่ทันฝนตก อ้อยที่ตากไว้จะเสียหาย ชาวไร่อ้อยคงเป็นลมแน่ๆ ดังนั้นโรงงานต้องดำเนินกิจการและจัดการอ้อยที่ตกค้างให้หมดเสียก่อน หากพบว่า โรงงานยังทำผิดอะไรอีกก็ค่อยมาปิด มาคุยกันอีกครั้ง หากแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ปีหน้าก็ไม่ต้องให้เปิด หลังจากนี้โรงงานจะเข้มงวดกับข้อกฎหมายต่างๆ ดีไม่ดีอาจจะทำให้ดีกว่าที่กฎหมายกำหนดอีกด้วย”
“ในช่วงบ่ายวันนี้โรงงานจะไปยื่นหนังสือ เกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงว่า ทำอย่างไรบ้าง เมื่อทำเสร็จพรุ่งนี้ได้เปิดกิจการแน่นอน ขอให้ชาวไร่อ้อยใจเย็นๆ โรงงานจะหีบอ้อยให้หมดเหมือนทุกปี ถึงแม้จะต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นบ้าง เพราะมีอุปสรรคเข้ามา หากมีฝนตกโรงงานก็จะมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบางส่วน แต่ถ้าฝนไม่ตกเราก็จะเร่งดำเนินการหีบอ้อยต่อไป ซึ่งโรงงานแห่งนี้มีกำลังหีบมากที่สุดในภาคอีสาน และถ้าไม่มีเรื่องนี้เข้ามาอาจจะเป็นโรงงานที่มีกำลังหีบมากที่สุดในประเทศก็ได้” นายมงคล เสถียรถิระกุล กล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังการลงพื้นที่ของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า แฟนเพจเฟสบุ๊กชื่อ “น้ำตาลพิมาย” ได้โพสต์ข้อความว่า “โรงงานน้ำตาลพิมาย ขอขอบคุณสมาคมชาวไร่อ้อยสุรนารีและพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกท่าน และพี่น้องชาวบ้านทุกคน ที่คอยเป็นกำลังใจและอยู่เคียงข้างโรงงานเสมอมา”
อนึ่ง “กลุ่มเคไอ” ก่อตั้งโดยตระกูลเสถียรถิระกุล ถือกำเนิดขึ้นในอุตสาหกรรมน้ำตาล เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ โดยก่อตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของกลุ่มขึ้นที่จังหวัดชลบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๓ จากนั้นย้ายฐานการผลิตจากจังหวัดชลบุรีมาที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และในปี พ.ศ.๒๕๔๖ บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด โรงงานน้ำตาลแห่งที่สองของกลุ่มก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้นที่อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ กว่า ๔๐ ปี ของการทำธุรกิจ มีการปรับปรุงพัฒนาระบบบริหารงานคุณภาพอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้บริษัทได้รับการรับรองระบบมาตรฐานคุณภาพระบบ ISO9000:2000 มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมระบบ ISO14001:2004 GMP HALAL และ มอก.18001
ปัจจุบัน กลุ่มเคไอ มีบริษัทในเครือ ทั้งหมด ๕ บริษัท ได้แก่ ๑.บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๓ ด้วยทุนจดทะเบียน ๗๐๐ ล้านบาท บนเนื้อที่ ๒,๕๐๐ ไร่ ของตำบลหนองระเวียง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ด้วยกำลังการผลิตกว่า ๒๘,๐๐๐ ตันอ้อยต่อวัน พร้อมทั้งมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลโดยใช้กากอ้อย เพื่อนำมาใช้ ในกระบวนการผลิตน้ำตาลและจำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม ๔๒ เมกะวัตต์ ต่อชั่วโมง ๒.บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๖ ด้วยทุนจดทะเบียน ๙๕๐ ล้านบาท บนเนื้อที่ ๑,๐๐๐ ไร่ ของตำบลปรือ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ด้วยกำลังการผลิตกว่า ๑๘,๐๐๐ ตันอ้อยต่อวัน ๓.บริษัท ไฟฟ้าสุรินทร์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ด้วยทุนจดทะเบียน ๙๙๕ ล้านบาท โดยตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกับ บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล โดยใช้กากอ้อย มีกำลังการผลิตไฟฟ้า รวม ๓๐ เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ๔.บริษัท เค ไอ เอทานอล จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๖ ด้วยทุนจดทะเบียน ๑๑๒.๕ ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลบริสุทธิ์ ๙๙.๕% มีกำลังการผลิต ๑๐๐,๐๐๐ ลิตรต่อวัน โดยตั้งอยู่ภายในพื้นที่เดียวกับบริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด ๕.บริษัท เคไอไบโอก๊าซ จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๑ ด้วยทุนจดทะเบียน ๒๕ ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายก๊าซชีวภาพ และกระแสไฟ โดยตั้งอยู่ภายในพื้นที่เดียวกับบริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๙ วันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
80 1,734