3rdJanuary

3rdJanuary

3rdJanuary

 

March 06,2021

โคราชอย่าเสียโอกาสอีก ‘ทางลอดบิ๊กซี’ต้องรีบ ‘ประโดก-สีมาธานี’ช้าตาม

ประชุมสร้างทางลอดแยกบิ๊กซี คนเข้าร่วมแค่ ๔๐ คน จากเป้าหมาย ๒๒๐ คน ส่วนหนึ่งมองไม่แก้รถติด ด้านอดีตอธิการบดีราชภัฏโคราช ขอให้รีบทำ อย่าปล่อยให้โคราชเสียโอกาสอีก ที่ปรึกษาโครงการฯ อ้าง คนมาน้อยเพราะโควิด หากล่าช้ากว่านี้จะส่งผลต่อทางลอดแยกประโดกและสีมาธานีอีก

ตามที่ กรมทางหลวง ศึกษาการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกนครราชสีมา (แยกบิ๊กซี) ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ และได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน ๔๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณปี ๒๕๕๐ ต่อเนื่องปี ๒๕๕๑ แต่มีเสียงคัดค้านอย่างหนัก จึงทำให้โครงการถูกระงับไป แต่เมื่อปี ๒๕๖๓ ได้ศึกษาใหม่อีกครั้ง และตั้งงบประมาณไว้ประมาณ ๘๐๐ ล้าน โดยว่าจ้างบริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ซิตี้ แพลน โปรเฟสชันนอล จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การพัฒนาโครงการเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการน้อยที่สุด โดยมีการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการฯ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๓ นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่ห้องนกยูง ๓-๔ ชั้น ๔ โรงแรมเซนเตอร์ พอยต์ เทอร์มินอล ๒๑ โคราช มีการประชุมเพื่อหารือมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม อุโมงค์บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒ กับ ทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (แยกนครราชสีมา) โดยมีประชาชนผู้ได้รับผลกระทบประมาณ ๔๐ คน จากกลุ่มเป้าหมายจำนวน ๒๒๐ คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยายรายละเอียดโครงการฯ จากนายนคร ศรีธิวงศ์ ผู้จัดการโครงการฯ และนายคมชาญ ชัยพิทักษ์โรจน์ วิศวกรงานทางและจราจร โดยมีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุม

นายนคร ศรีธิวงศ์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า “เนื่องด้วย กรมทางหลวง มีแนวคิดในการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดเพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข ๒ และทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่นและติดขัด แต่จากการตรวจสอบพื้นที่โครงการพบว่ามีแหล่งโบราณสถานในระยะ ๑ กิโลเมตรจากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการจำนวน ๓ แห่ง ได้แก่ บ้านสำโรงจันทร์ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และประตูชุมพล ซึ่งทำให้โครงการเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนการพัฒนาโครงการ ดังนั้น กรมทางหลวง จึงได้ว่าจ้างบริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ซิตี้ แพลน โปรเฟสชันนอล จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ เพื่อให้การพัฒนาโครงการเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการน้อยที่สุด”

“สำหรับแนวเส้นทางโครงการตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) จุดเริ่มต้นโครงการที่ กม.๒๕๓+๓๗๑ โดยอยู่บริเวณหน้าร้านชุนหลีแบตเตอรี่ และทางเข้าวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา จากนั้นไปทางทิศตะวันออกตามแนวทางหลวงหมายเลข ๒ จนถึงบริเวณ กม.๒๕๔+๑๕๐ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเทอร์มินอล ๒๑ โคราช และเลี้ยวซ้ายไปตามแนวทางหลวงหมายเลข ๒ และสิ้นสุดโครงการที่ กม.๒๕๔+๕๕๒ บริเวณสะพานข้ามคลองลำตะคอง ระยะทางรวมทั้งสิ้นประมาณ ๑.๑๘ กิโลเมตร สภาพพื้นที่โดยรอบเป็นชุมชนหนาแน่น มีอาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า และสถานศึกษา” นายนคร กล่าว

รูปแบบทางลอด

นายคมชาญ ชัยพิทักโรจน์ วิศวกรงานทางและจราจร กล่าวว่า จากการทบทวนการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางลอดบริเวณนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ กำหนดรูปแบบของโครงการไว้ดังนี้ ๑.เป็นอุโมงค์ขนาด ๒ ช่องจราจร ขนาด ๓.๒๕ เมตร และมีทางเท้ากว้าง ๑.๐๐ เมตร ซ้อนทับกับแนวถนนมิตรภาพ ในทิศทางจากจังหวัดขอนแก่นเลี้ยวขวาไปจังหวัดสระบุรี มีความสูงช่องลอดไม่น้อยกว่า ๕.๕๐ เมตร ความลาดชันของอุโมงค์ ร้อยละ ๔ ความยาวอุโมงค์ ๙๒๙ เมตร ความยาวอุโมงค์ ช่วงปิด ๑๒๖ เมตร สามารถรองรับความเร็วออกแบบได้ ๕๐ กม./ชม. ๒.รูปแบบถนนระดับดิน ออกแบบให้มีขนาด ๔ ช่องจราจร (ทิศทางไปจังหวัดขอนแก่น) ซึ่งมีขนาดความกว้างช่องจราจรละ ๓.๐๐ ถึง ๓.๒๕ เมตร และออกแบบให้มี ๓ ช่องจราจร (ทิศทางไปจังหวัดสระบุรี) ซึ่งมีขนาดความกว้างช่องจราจรละ ๓.๐๐ ถึง ๓.๒๕ เมตร

๓.ระบบไฟฟ้าส่องสว่างของโครงการ ระบบจ่ายไฟแสงสว่างครอบคลุมทุกพื้นที่บริเวณอุโมงค์ในช่วงเปิดและช่วงปิด ทางแยก ทางเชื่อม ทุกพื้นที่ โดยมีระดับความเข้มของแสงที่เพียงพอ เหมาะสม ตลอดจนการกระจายของแสงมีค่าความสม่ำเสมอตามมาตรฐาน CIE ซึ่งรูปแบบของโคมไฟที่จะใช้แบ่งออกได้ดังนี้ บริเวณทางแยก ทางเชื่อม ถนนด้านข้าง จะใช้โคมไฟถนนติดตั้งบนเสาไฟเหล็กความสูง ๙ เมตร ชนิดแขนกิ่งเดี่ยวหรือกิ่งคู่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเสา บริเวณอุโมงค์ช่วงปิดจะใช้โคมไฟ ชนิดให้แสงสว่างภายในอุโมงค์ โดยติดกับเพดานอุโมงค์ บริเวณอุโมงค์ช่วงเปิดจะใช้โคมไฟ ชนิด Floodlight โดยติดตั้งเกาะผนังอุโมงค์บริเวณทางเข้าและทางออกของอุโมงค์ และ ๔.เป็นระบบระบายน้ำระดับดิน โดยรูปแบบของถนนในปัจจุบันได้ขยายช่องจราจรเต็มเขตทาง ระบบระบายน้ำเดิมมีท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๒๐ เมตร พร้อมบ่อพักวางทุกๆ ๑๕.๐ เมตร ใต้ทางเท้า ซึ่งจากสภาพปัจจุบันของยังสามารถระบายน้ำได้ดี แต่ในส่วนของรูปแบบโครงการได้เพิ่มเติมระบบระบายน้ำใต้ผิวจราจรเป็นท่อเหลี่ยมขนาด ๒.๐๐ เมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น โดยระบบระบายน้ำในอุโมงค์จะไหลเข้าสู่ Gutter และ Curb ซึ่งติดตั้งเพื่อรับน้ำฝนบริเวณริมทางเท้า จากนั้นระบายเข้าสู่ RC Ditch แล้วไหลไปยังระบบระบายน้ำของอุโมงค์ที่อยู่ในระดับต่ำสุดเพื่อรับน้ำจากพื้นอุโมงค์ทั้งหมดลงสู่บ่อเก็บน้ำ แล้วทำการสูบระบายออกทิ้งไประบบระบายน้ำเดิม จุดที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และตู้ควบคุมอยู่บริเวณทางแยกเกาะกลางถนน โดยมีปั๊มน้ำจำนวน ๕ เครื่อง ติดตั้งในพื้นที่เพื่อรองรับระบบระบายน้ำของอุโมงค์”

ห่วงเข้าซอยตรอกจันทร์ไม่ได้

จากนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มาเข้าร่วมการประชุมฯ แสดงความคิดเห็น โดยนายศุภกิจ ตั้งสิทธิประเสริฐ ประชาชนในพื้นที่โครงการ กล่าวว่า “โครงการแบบนี้ เวลาศึกษาก็บอกศึกษามาดีแล้ว พูดอย่างสวยหรู แต่เวลาก่อสร้างจริง หากเจอปัญหา ประชาชนก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องยอมรับสภาพตามความจริง ผมอยู่บ้านทุกวัน แต่ไม่เคยเห็นใครไปถามปัญหา ซึ่งไม่ต้องมาถามก็ได้ เพราะอย่างไรก็ต้องทำ ประชาชนต้องยอมรับไปโดยปริยาย ร้องเรียนก็ไม่ได้ ส่วนรูปแบบการก่อสร้างทางลอด ถ้าเข้าอุโมงค์แล้วมาโผล่ตรงหน้าคิงส์ยนต์ คนที่จะเข้าซอยตรอกจันทร์จะเลี้ยวเข้าอย่างไร”

นายคมชาญ ชัยพิทักษ์โรจน์ ตอบว่า “หากรถที่เดินทางมาทางขอนแก่นจะมุ่งหน้าไปสระบุรี ยังสามารถเลี้ยวขวาได้เช่นเดิม แม้จะไม่ลงทางลอดก็ตาม ยังมีสัญญาณไฟให้ แต่สัญญาณไฟจะมีรอบสั้นลง เพราะรถส่วนใหญ่ที่มุ่งหน้าสระบุรีจะลงทางลอดไปหมด ส่วนคนที่จะเข้าซอยตรอกจันทร์ก็ให้วิ่งบนระดับดินและรอสัญญาณไฟ”

ต้องแก้สัญญาณไฟจราจร

นายศุภกิจ ตั้งสิทธิประเสริฐ กล่าวอีกว่า “แสดงว่าถนนเส้นนั้นรถก็ยังติดเหมือนเดิม ซึ่งปัจจุบันนี้ ช่วงชั่วโมงเร่งด่วน การจราจรจะติดขัดตลอด จะมั่นใจได้อย่างไรว่า ทำอุโมงค์แล้วรถจะไม่ติด เพราะหากพ้นอุโมงค์มา ก็ต้องมาติดไฟแดงหน้าปั๊ม ปตท.สำโรงจันทร์เหมือนเดิม หากพ้นจุดนี้ไปก็ต้องไปเจอไฟแดงหน้าโลตัสอีก ดังนั้น ปัญหาจริงๆ คือ สัญญาณไฟจราจร ปัญหานี้จะแก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้ เพราะผมอยู่ในพื้นที่มา ๖๐ ปีแล้ว หากจะแก้จริงๆ ก็ควรปล่อยให้รถไหลไปเรื่อยๆ ไม่ต้องมีสัญญาณไฟจราจร ผมว่า ควรกลับไปศึกษาเพิ่มเติมอีกรอบ และเมื่อก่อสร้างไปแล้ว ขออย่าทุบทิ้งเหมือนจุดอื่นๆ ทำให้สิ้นเปลืองภาษี บริษัทที่ปรึกษาควรมองถึงอนาคตด้วย อีกไม่นานโครงการรถไฟฟ้ารางเบาก็จะก่อสร้าง เดี๋ยวก็มาเจาะถนน หรือก่อสร้างอีก หากจะทำอะไรก็ขอให้ทำเผื่อสิ่งต่างๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าทำไปแล้วก็จะทุบอย่างเดียว ไม่เกิดประโยชน์ต่อภาษีของคนโคราช”

คนเข้าร่วม ๔๐ คน

นางกิติวจี จารุกิจพาณิชย์ สื่อมวลชนสำนักหนึ่ง กล่าวว่า “บรรยากาศในวันนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมน้อยมาก แตกต่างจากการประชุมครั้งที่ผ่านมาซึ่งมีคนเข้าร่วมกว่า ๑๒๐ คน โครงการนี้มีประโยชน์ต่อทุกคน ไม่เฉพาะคนโคราช แต่รวมถึงคนทั้งภาคอีสาน ที่จะต้องสัญจรผ่านเส้นทางนี้ เป็นประตูสู่อีสาน ซึ่งผลกระทบขณะก่อสร้างคนในพื้นที่ได้รับอยู่แล้ว แต่ทำไมคนที่มารับฟังในวันนี้มีจำนวนน้อย มีการประชาสัมพันธ์ทั่วถึงหรือไม่ ไม่ต้องการให้มาจัดกิจกรรมเพื่อใช้งบประมาณไปอย่างเปล่าประโยชน์ ประชาชนในพื้นที่จะต้องได้รับความรู้ เพื่อจะแสดงความคิดเห็นได้”

ไม่มาเพราะกลัวโควิด

นายนคร ศรีธิวงศ์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า “การมีส่วนร่วมของประชาชน เรายึดตามแนวทางที่ตั้งไว้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ๗ กลุ่ม ซึ่งเชิญประชุมทั้งหมด ๒๒๐ คน แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า เนื่องจากปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ บางคนจึงไม่อยากออกจากบ้าน ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ทุกคนต้องยอมรับจุดนี้ด้วย แต่ในขั้นตอนการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ที่ปรึกษาจะลงพื้นที่สอบถามทั้งหมด นอกจากนี้ เรายังสอบถามและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานในพื้นที่ด้วยดังนั้น ในวันนี้อาจจะไม่ได้เชิญมาประชุมทั้งหมด ซึ่งในจำนวน ๒๒๐ คน เรามีรายชื่อทั้งหมด มีการส่งจดหมายเชิญไปถึงที่อยู่ของทุกคน แต่วันนี้มีคนมาร่วมน้อยก็คงเป็นเพราะอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ”

อย่าให้โคราชเสียโอกาส

ผศ.อุทัย เดชตานนท์ อดีตอธิการบดีสถาบันราชภัฏนครราชสีมา แสดงความคิดเห็นในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ กล่าวว่า “โครงการนี้มีมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ก่อสร้าง อาจจะเป็นเพราะเรื่องปัญหาเศรษฐกิจที่ไปกระทบกับคนที่อยู่ข้างทางของโครงการ หรือชุมชนไม่ต้องการ เรื่องเหล่านี้ ผมมีความคิดเห็นว่า การที่เราไม่ได้ก่อสร้างอุโมงค์แห่งนี้ เกือบ ๑๐ ปี แต่ขอนแก่นเขาก่อสร้างและเจริญก้าวหน้าไปแล้ว เพียงเพราะเจ้าของโครงการมัวแต่ไปสนใจคนกลุ่มเล็กๆ แต่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วไป โดยเฉพาะประชาชนที่จะใช้เส้นทางผ่านไปภาคอีสาน หากรัฐบาลโดยกรมทางหลวง กล้าที่จะทำโครงการนี้ให้สำเร็จ ผมก็ขอชมเชย เราเสียโอกาสมามากแล้ว ชุมชนทั้งหลายควรจะหันมาร่วมมือกัน สุดท้ายขอเสนอให้หาเส้นทางเลี่ยงระหว่างก่อสร้าง ที่สำคัญควรมีการประชาสัมพันธ์มากกว่านี้ เพื่อให้คนโคราชและคนอีสานได้รับรู้ถึงโครงการ เมื่อถึงเวลาก่อสร้างประชาชนจะได้เลี่ยงเส้นทางตั้งแต่เนิ่นๆ”

โคราชรถติดเพราะอะไร

นายสุรยุทธ เจ้าของชญาดา การ์เด้นเฮ้าส์ แอนด์ รีสอร์ท กล่าวว่า “ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ในการประชุมบอกว่ามีคนเห็นด้วยจำนวนมาก และประธานสภาเทศบาลนครนครราชสีมา ได้บอกไว้ว่า โครงการนี้ไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาการจราจรได้ครอบคลุม แต่สำหรับผมสงสัยรายละเอียดในเอกสารว่า กำแพงกันเสียงจะติดตั้งชิดเขตทาง จึงสงสัยว่า จะติดชิดกับทางเท้าหรือไม่ หากชิดกับทางเท้า ก็จะทำให้บดบังบริเวณหน้าร้านค้าต่างๆ เมื่อปิดทั้ง ๒ ข้างทาง แล้วธุรกิจต่างๆ เขาจะอยู่อย่างไร ในส่วนของประเด็นการขนย้ายดินเช่นกัน ไม่ต้องการให้ขนผ่านซอยเล็กๆ อย่างซอยท่าตะโก เพราะที่ผ่านมา ซอยนี้จะมีการขนดินขนของอยู่ประจำ ทำให้มีเศษหินเศษดินหล่นเสมอ ประชาชนที่สัญจรไปมาก็ไม่อยากผ่านทางนี้ ผมบอกในที่ประชุมเลยว่า ไม่อยากให้ขนดินผ่านซอยท่าตะโกและซอยสำโรงจันทร์ และขอให้ขนดินในช่วงตอนกลางคืนได้หรือไม่ จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจร”

“ในประเด็นแก้ปัญหาจราจรติดขัด เดิมทีมีการศึกษาของ สนข. เมื่อประมาณปี ๒๕๖๐ ระบุไว้ว่า ปัญหาการจราจรติดขัดของโคราช ส่วนใหญ่เกิดจากการมีระบบขนส่งสาธารณะไม่เพียงพอ คนส่วนใหญ่ในห้องประชุมนี้ แทบจะไม่มีใครเคยนั่งรถสองแถว ทุกคนใช้แต่รถยนต์ส่วนตัว ก็ทำให้ปริมาณรถมีจำนวนมาก บริเวณที่มีการจราจรติดขัดมากๆ อยู่บริเวณหน้าโรงเรียนเมืองนครราชสีมา โรงเรียนสุรนารีวิทยา หากโคราชมีระบบขนส่งสาธารณะเพียงพอ ก็จะช่วยให้คนโคราชลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ปัญหาการจราจรติดขัดก็จะแก้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันโคราชกำลังมีโครงการ LRT หรือรถไฟฟ้ารางเบา เหมือนจะแก้ไขปัญหาจราจรได้ แต่ก็ไม่ เพราะการก่อสร้าง LRT จะต้องทำบนพื้นผิวถนน สุดท้ายช่องจราจรก็แคบลง จึงต้องการถามว่า ในหน่วยงานภาครัฐ เคยมีการพูดคุยกันเองบ้างหรือไม่ ซึ่งควรจะคุยกันก่อน จะได้ไม่ต้องมาแก้ไขในภายหลัง”

ขอชดเชยเป็นตัวเงิน

นายสุรยุทธ กล่าวอีกว่า “นอกจากนี้ ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ส่วนมากมักจะเสร็จไม่ตรงตามกำหนด จะต้องมีการขยายสัญญาอยู่ประจำ ซึ่งปัญหานี้ประชาชนสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง เพราะคนที่ได้รับผลกระทบตรงๆ คือประชาชน บางคนมีการนัดพูดคุย ทำธุรกิจ ลูกค้าก็ขอเลื่อนออกไปก่อนเพราะถนนยังไม่เสร็จ การก่อสร้างยังไม่เรียบร้อย ธุรกิจร้านค้าต่างๆ รอบพื้นที่ก่อสร้างก็ได้รับผลกระทบ หากไม่มีสายป่านยาว ไม่มีเงินเพียงพอ ธุรกิจก็เจ๊ง หากเป็นเช่นนี้ ภาครัฐจะมีอะไรหรือมีเงินมาชดเชยให้ประชาชนได้บ้าง”

นายนคร ศรีธิวงศ์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า การติดตั้งกำแพงกันเสียง เราจะติดชิดกับเขตทาง โดยจะเว้นทางเข้าออกซอยต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม จะมีการลงพื้นที่สอบถามประชาชนในพื้นที่ก่อนว่า ยินยอมหรือไม่ หากติดตั้งแล้วจะมีผลกระทบอย่างไร นอกจากการติดตั้งกำแพงกันเสียง ก็จะมีการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ ไม่ให้มีการรบกวนประชาชนมากเกินไป ส่วนการติดตั้งกำแพงกันเสียง จะทำเมื่อมีการใช้งานอุปกรณ์ที่มีระดับเสียงสูงและหลีกเลี่ยงการทำงานไม่ได้

นายสุรยุทธ แสดงความคิดเห็นอีกว่า “การติดตั้งกำแพงกันเสียงนั้น ไม่ต้องติดตั้งทุกที่ก็ได้ แต่ให้ติดตั้งเฉพาะพื้นที่ที่มีการก่อสร้างในช่วงนั้นๆ แต่อาจจะทำให้กำแพงมีความสูงมากขึ้น และอีกเรื่องที่ผมกังวล คือ เมื่อถึงเวลาก่อสร้าง จะมีการใช้พื้นที่ทั้งสองข้างทาง ถ้าผมเห็นแก่ตัว ก็จะบอกว่า ให้ไปใช้งานพื้นผิวจราจรฝั่งตรงข้าม แต่คนฝั่งตรงข้ามเขาก็คงไม่พอใจ ก็จะทำให้เกิดการโต้เถียงกันไม่จบ ดังนั้น เวลาที่มีการก่อสร้าง ขอให้ทำเฉพาะตรงที่มีการก่อสร้าง เป็นบริเวณเกาะกลางถนน อาจจะทำงานยาก แต่ก็ไม่รบกวนประชาชนที่อยู่ข้างทาง และประชาชนก็จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้”

ส่งผลต่อทางลอดประโดก

ทั้งนี้ หลังจบการประชุมฯ นายนคร ศรีธิวงศ์ ผู้จัดการโครงการฯ เปิดเผยเพิ่มเติมกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “งบประมาณในการก่อสร้างทางลอดแยกบิ๊กซี ประมาณ ๘๐๐ ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ ๒ ปี โดยจะเริ่มในปี ๒๕๖๖ แต่ถ้าการก่อสร้างทางลอดแยกบิ๊กซีมีความล่าช้า ก็อาจจะส่งผลกระทบให้การก่อสร้างทางลอดแยกประโดกและแยกอัมพวัน (สีมาธานี) ช้าไปด้วย เพราะเดิมทีทางลอดแยกบิ๊กซีและแยกประโดก กรมทางหลวงตั้งเป้าไว้ว่า จะก่อสร้างพร้อมกัน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนครั้งเดียว ซึ่งในการประชุมวันนี้ พบว่า มีคนมาร่วมประชุมน้อยมาก แต่เราจะลงพื้นที่ไปรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ จากประชาชนในพื้นที่ และประชาชนกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นจะส่งเรื่องให้กรมทางหลวงต่อไป โดยการประชุมจะมีขึ้นอีกครั้ง ในช่วงเดือนเมษายน ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นการประชุมสรุปโครงการฯ”

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๙ วันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

 


112 1,760