March 20,2021
ถอดบทเรียน‘กราดยิง’ไม่สาย หวังลดความรุนแรงในอนาคต
ราชภัฏโคราช สานเสวนาถอดบทเรียนเหตุการณ์กราดยิง “อธิการบดี” ย้ำแม้ผ่านไปกว่า ๑ ปี ก็ยังไม่สายไปที่จะทำ เพื่อเป็นข้อมูลรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ในอนาคต ด้านตำรวจแนะ ประชาชน เรียนรู้หลักการเอาตัวรอด “หนี ซ่อน สู้” ลดความเสี่ยงเพิ่มโอกาสรอดชีวิต
เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ๑ อาคาร ๓๑ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมสานเสวนาถอดบทเรียนเหตุการณ์ Terminal ๒๑ “๓๖๕ วัน รำลึก เรียนรู้ รับมือ สะท้อนสิ่งที่ชาวโคราชต้องปรับตัว สังคมต้องปรับเปลี่ยน” จัดโดยสาขาวิชารัฐปศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งมีตัวแทนจาก ๑๔ หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๒, กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา, ปกครองจังหวัดนครราชสีมา, ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต ๕ นครราชสีมา, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานเทศบาลตำบลบ้านใหม องค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่า ศูนย์การค้า Terminal 21 โคราช, และมูลนิธิพุทธธรรม ๓๑ (ฮุก ๓๑) เข้าร่วมเสวนา
ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ กล่าวว่า “ขณะนี้ก็ผ่านไปกว่า ๑ ปีแล้ว กับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโคราช ซึ่งการถอดบทเรียนนั้น มหาวิทยาลัยเคยทำแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้นไม่นาน แต่ขณะนั้นเป็นการถอดบทเรียนที่เน้นเรื่องเหตุผลและแรงจูงใจในการก่อเหตุ โดยล่าสุดคณะผู้ศึกษามาปรึกษาผมว่า แม้เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นยากในประเทศไทย แต่ปัจจุบันเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะในโรงเรียน เพียงแต่เรื่องที่เกิดขึ้นสะเทือนขวัญมาก เพราะคนก่อเหตุมีอาวุธปืนและมีผู้เสียชีวิตหลายราย เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น ลองไปถามคนใกล้ชิดผู้ก่อเหตุ ทุกคนมักจะบอกว่า เขาเป็นคนดี ไม่เคยมีอาการผิดปกติ แม้แต่ทุกคนที่มาประชุมในวันนี้ก็เป็นคนดีทั้งสิ้น แต่ภายในตัวมนุษย์นั้นยากจะหยั่งถึง ดังนั้นจะต้องดูมิติอื่นๆ ด้วย จึงได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งมาจัดกิจกรรมครั้งนี้ ให้สมกับที่ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยการนำองค์ความรู้เข้าไปพัฒนาท้องถิ่น ไม่ใช่ถนนเสียแล้วต้องไปซ่อม นั่นไม่ใช่บทบาทของมหาวิทยาลัย แต่เราจะนำองค์ความรู้ไปสู่ประชาชน และนำไปต่อยอดพัฒนาชีวิตต่อไป”
- ถอดบทเรียนเพื่ออนาคต
“เหตุการณ์กราดยิงนั้นเกิดขึ้นแล้ว จึงต้องถอดบทเรียน เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ แต่ละคนก็จะมีองค์ความรู้ต่างกัน มีคนละมิติ วันนี้จึงต้องมาเสวนาเพื่อถอดออกมาเป็นบทเรียน จากนั้นก็รวบรวมเป็นองค์ความรู้และเผยแพร่ต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะได้นำไปปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นระดับนโยบายหรือลงมือทำทันที เรื่องนี้บางคนอาจจะถามว่า ทำช้าเพราะผ่านไป ๑ ปีแล้ว แต่ความจริงการถอดบทเรียนครั้งนี้ไม่ช้า ให้ลองคิดถึงภาพอนาคตหรือสังคมในอนาคต มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกระบวนการคิดของบุคคล เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของทุกคน ซึ่งสามารถแก้ไขและป้องกันได้ เราทำงานนี้ไม่ใช่เพื่อให้จบอย่างเดียว แต่ทำเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ขอให้ทุกคนระดมความคิดและเสนอออกมา อย่าให้เหมือนกับการทำงานของราชการ ที่ทำให้จบ แค่ทำออกมาเสร็จก็พอ จึงต้องให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นออกมา เพื่อจะได้นำไปเป็นบทเรียนให้กับสังคมไทยต่อไป นอกจากงานนี้ หากต้องการความช่วยเหลืออะไรก็สามารถติดต่อมหาวิทยาลัยได้ หรือจะมาบอกผมก็ได้ เพราะราชภัฏเป็นของทุกคน เป็นที่พึ่งของท้องถิ่น ผมเป็นคนเปิดใจเสมอ พร้อมช่วยเหลือทุกหน่วยงาน แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องการเรียนการสอนก็มีความพร้อม ขอให้ทำแล้วช่วยเหลือประชาชน ช่วยเหลือท้องถิ่น”
- แก้ปัญหาสังคม
ผศ.ดร.วรัชยา เชื้อจันทึก อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐปศาสนศาสตรบัณฑิต กล่าวว่า “หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้น ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีความต้องการที่จะถอดบทเรียน ซึ่งการถอดบทเรียนที่ดีควรเว้นระยะหลังเหตุการณ์สงบ แต่เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จึงทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมถอดบทเรียนได้ และเมื่อครบรอบ ๑ ปี สังคมมีการตั้งคำถามว่า มีการแก้ไขอย่างไรบ้าง วันนี้จึงจัดการประชุมเพื่อสะท้อนว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งที่มาของการจัดเสวนาครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรหลากหลายหน่อยงาน โดยครั้งนี้ใช้คำว่าสานเสวนา เพื่อพูดคุยกันด้วยความอะลุ้มอล่วย ซึ่งวันนี้จะพูดคุยกัน ๓ คำถาม คือ ๑.มองเหตุการณ์นี้เป็นภัยพิบัติหรือไม่ ๒.สิ่งที่ทุกคนคาดหวังจากการถอดบทเรียนนี้คืออะไร และ ๓.ข้อเสนอแนะในการถอดบทเรียน โดยจะไม่ขอพูดถึงอดีต แต่จะพูดถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต หากเรามีการรับมือที่ดีหรือมีการศึกษาที่ดี ก็อาจจะช่วยลดผลกระทบด้านความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในสังคมได้ สาเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น อาจจะเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือระเบียบสังคม รวมทั้งพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม จึงทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น และเนื่องจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนทั่วประเทศเกิดความปั่นป่วน ดังนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งเป็นที่พึ่งของท้องถิ่น จึงให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจะเปลี่ยนจากโศกนาฏกรรม ให้เป็นบทเรียน เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้งการเยียวยาสำหรับผู้ประสบเหตุ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างสงบสุข”
- กราดยิงไม่ใช่ภัยพิบัติ
การประชุมสานเสวนาถอดบทเรียนเหตุการณ์ Terminal 21 “๓๖๕ วัน รำลึก เรียนรู้ รับมือ สะท้อนสิ่งที่ชาวโคราชต้องปรับตัว สังคมต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้ ประเด็นที่ ๑ มองเหตุการณ์นี้เป็นภัยพิบัติหรือไม่ โดยผู้แทนกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ผมมองว่าเหตุการณ์กราดยิง เป็นเพียงการก่อเหตุอาชญากรรมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก โดย FBI เคยให้นิยามการกราดยิงไว้ว่า เป็นบุคคลที่ใช้อาวุธปืนกราดยิงในการฆ่า หรือพยายามฆ่าบุคคลในพื้นที่สาธารณะ จึงเป็นเพียงภัยคุกคามทางด้านอาชญกรรมรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย แต่ในต่างประเทศนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง”
ผู้แทนกองทัพภาคที่ ๒ กล่าวว่า ‘เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพียงสาธารณภัย แต่ไม่ถึงขั้นการก่อการร้าย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงมากกว่า และการที่พวกเรายังใช้คำว่า กราดยิง อาจจะทำให้กระทบกับจิตใจของหลายคน เราอาจจะมาใช้คำพูดกลางๆ ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดนครราชสีมา”
ผู้แทนกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการกล่าวถึงการก่อการร้าย จะต้องเป็นพฤติกรรมที่มีความรุนแรง เพื่อก่อให้เกิดความกลัว โดยมีเป้าหมายด้านศาสนา การเมือง หรือวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่การ กราดยิง เกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งในเรื่องของการก่อการร้าย ความแค้น ความรุนแรงทางอารมณ์ และปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้นเหตุกราดยิงจะต้องมาดูที่วัตถุประสงค์ว่าต้องการอะไร จึงจะแยกระหว่างการก่อการร้ายกับเหตุกราดยิงออกจากกันได้”
- ต้องหนี ซ่อน สู้
ประเด็นที่ ๒ สิ่งที่ทุกคนคาดหวังจากการถอดบทเรียนนี้คืออะไร ซึ่งผู้แทนจากกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ในสิ่งที่ทุกคนอยากทราบคือ ทำไมถึงสูญเสียจำนวนมากและใช้ระยะเวลาในการก่อเหหตุนาน ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ หากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา สิ่งที่จะต้องทำให้เร็วที่สุด คือ หยุดการฆ่า และหยุดการตาย เมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้น จะต้ององรีบเข้าระงับเหตุทันที เพราะทุกๆ ๑ วินาที ที่ผ่านไปอาจจะมีการตายเกิดขึ้น เมื่อหยุดการฆ่าได้แล้ว จากนั้นให้หยุดการตาย โดยเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในพื้นที่ จากเหตุการณ์เช่นนี้ จะต้องให้ความสำคัญที่ผู้ประสบเหตุคนแรกหรือเจ้าหน้าที่คนแรก โดยส่วนใหญ่ผู้ประสบเหตุคนแรกมักจะเป็นเจ้าหน้าที่สายตรวจ หากเป็นเหตุกราดยิงต้องรีบเข้าระงับเหตุทันที จากนั้นค่อยเรียกขอกำลังเสริม ซึ่งต่างจากเหตุอื่นๆ ที่ให้เรียกกำลังเสริมก่อนเข้าระงับเหตุ เพื่อให้มีความได้เปรียบทางยุทธวิธี ในส่วนของประชาชนเองก็มี ข้อปฏิบัติเมื่อพบเหตุการณ์นี้ ต้องหนี ซ่อน และต่อสู้ คือ เมื่อเกิดเหตุขึ้นจะต้องหนีออกจากพื้นที่เสี่ยงทันที หากหนีไม่ได้ ผู้ก่อเหตุใกล้เข้ามา ต้องหาที่ซ่อนตัว และหากซ่อนตัวแล้ว แต่ผู้ก่อเหตุรู้ตัว จึงค่อยต่อสู้ แต่ที่ผ่านมาเราชินกับการถูกสอนว่า เมื่อเกิดเหตุคนยิงกันให้หาที่ซ่อน จึงทำให้เกิดความเสี่ยงในการเสียชีวิตมาก ดังนั้น ในการถอดบทเรียนครั้งนี้ จึงต้องการให้มีการสอนในหลักสูตรต่างๆ ให้แก่เยาวชน เพื่อจะได้รู้วิธีรับมือจากเหตุการณ์”
- การเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ
ประเด็นที่ ๓ ข้อเสนอในการถอดบทเรียน ซึ่งผู้แทนจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ต้องการให้โรงเรียนสอนเบื้องต้นในกรณีที่พบเด็กมีปัญหาต่างๆ เพราะบางครั้งการเกิดเหตุรุนแรงนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด หากเกิดขึ้นแล้วต้องมีสติในการแก้ไข้ปัญหา โดยครูต้องไปเยี่ยมบ้านเด็ก เพื่อรับรู้การเป็นอยู่หรือปัญหาที่บ้าน เมื่อทราบข้อมุลแล้วครูจะได้บอกและสอนเด็กให้รู้จักแนวทางการปฏิบัตัวในสังคม โดยเฉพาะเมื่อเผชิญเหตุรุนแรงจะต้องหนี ซ่อน และสู้ หากนำเรื่องนี้มาจัดทำเป็นแผนการเรียนการสอนเสริมนอกเวลา เด็กจะได้ทราบถึงวิธีการเอาตัวรอดเบื้องต้น หากดึงเข้าไปในหลักสูตรได้ ก็น่าจะเป็นผลดีต่อเด็กทุกๆ คน นอกจากนี้ ยังต้องสอนเรื่องจริยธรรม การเอารอด และการอยู่ในสังคม ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่ฟังมาปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการที่ปรึกษาใครไม่ได้ หรือปรึกษาแล้วก็โดนกดดันจากผู้ใหญ่ จึงทำให้เกิดความไม่สบายใจ และใช้อารมณ์ส่วนตัวกระทั่งเกิดเหตุรุนแรงขึ้น”
- สื่อต้องมีจรรยาบรรณ
นายสัญญา ภักดิ์โพธิ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ปัจจุบันบนโลกที่มีการสื่อสารอย่างรวดเร็ว ทำให้ข้อมูลบางเรื่องมีความคลาดเคลื่อน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีหลายสื่อพยายามเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ บางการนำเสนอก็ส่งผลกระทบในทางลบ เช่น ผู้ก่อเหตุสามารถรับชมข้อมูลผ่านการนำเสนอข่าว หลังจากการถอดบทเรียนก็อยากให้แต่ละหน่วยงาน จัดทำตำราการปฏิบัติงานในสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้จะต้องทำตัวอย่างไร รวมถึงการนำเสนอข่าวหลังเหตุการณ์ โดยเฉพาะการพาดหัวข่าวที่รุนแรงเกินไป หรือการรายงานซ้ำๆ มีการเจาะลึกข้อมูลเบื้องลึกต่างๆ เอาแต่นึกถึงว่า ทำอย่างไรคนจะดูมากที่สุด จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน นิสัยคนเปลี่ยน เกิดคนร้ายมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เกิดจากการนำเสนอของสื่อ นอกจากนี้ การถอดบทเรียนนี้ อยากให้นำมาใช้จริงๆ ไม่ใช่ทำแล้วเก็บเอาไว้ไม่ได้ใช้ และการจัดทำหลักสูตรส่งเสริมนักเรียนก็เป็นเรื่องสำคัญ อยากให้เกิดขึ้นเช่นกัน”
ทั้งนี้ การประชุมสานเสวนาครั้งนี้ เป็นเพียงขั้นตอนแรกในการถอดบทเรียนเหตุการณ์ Terminal 21 “๓๖๕ วัน รำลึก เรียนรู้ รับมือ สะท้อนสิ่งที่ชาวโคราชต้องปรับตัว สังคมต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งหลังจากนี้คณะผู้จัดทำจะลงพื้นที่สัมภาษณ์ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยชื่อผู้ให้ข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับ เนื่องจากมีการเล่ารายละเอียดต่างๆ ในเหตุการณ์ด้วย และเมื่อเก็บข้อมูลแล้ว จึงจะนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๐ วันพุธที่ ๑๐ - วันอังคารที่ ๑๖ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
80 1,689