25thSeptember

25thSeptember

25thSeptember

 

March 24,2021

นักการเมืองเขี้ยวลากดิน “กระเหี้ยนกระหือรือ” แก้รัฐธรรมนูญ

 

 

“กระเหี้ยนกระหือรือ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เป็น คำกิริยา หมายถึง “แสดงความกระตือรือร้นเอาจริงเอาจังอย่างออกนอกหน้า”
คำๆ นี้ “สมัคร สุนทรเวช” ผู้ล่วงลับและโลกลืม เคยกล่าวกับสื่อมวลชนขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ในนามพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นที่โจษจันว่า เป็น “นอมินี” ของนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี ๒๕๕๑

แม้ว่าในขณะนั้นคนฟังจะรู้สึกอึ้งที่นายกฯ สมัครให้สัมภาษณ์แบบที่ว่า พูดพร่ำเพรื่อ พูดจาหยาบคาย เช่นเดียวกับคำว่า “เฮงซวย” และคำว่า “ทำหอกอะไร” แต่เจ้าตัวก็ยืนยันว่า คำว่ากระเหี้ยนกระหือรือไม่ใช่คำหยาบ

คนที่ผ่านความขัดแย้งทางการเมืองมาตั้งแต่พันธมิตรฯ ๑, นปก., พันธมิตรฯ ๒, เสื้อแดง นปช. และ กปปส. มานานถึง ๑๖ ปี ถ้าใครเกิดทัน ก็คงจะได้เห็น “นักการเมืองแบบนี้” ลอยหน้าลอยตาในทำเนียบรัฐบาลและในรัฐสภา

แม้นักการเมืองหลังยุค คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านไปจะมีแต่นักการเมืองหน้าใหม่ แต่ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่พวกที่เขี้ยวลากดิน ๑๐-๒๐ ปีก็ยังลอยหน้าลอยตา ก็เต็มไปด้วยพวก “หิวแสง” อยากมีตัวตนทั้งในและนอกสภา

 

ใครผ่านพ้นนักการเมืองอย่างสมัคร สุนทรเวช, เสนาะ เทียนทอง, เฉลิม อยู่บำรุง, ปลอดประสพ สุรัสวดี, สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล, จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, เหวง โตจิราการ แม้แต่ จ่าประสิทธิ์ ไชยศีรษะ มาแล้ว ก็คงไม่รู้สึกแปลก

เมื่อเทียบกับยุคนี้ เป็นยุคที่มีแต่ “นักการเมืองหน้าใหม่หิวแสง” อยากมีซีน อยากมีตัวตน จะว่าด้วยเข้ามาเพราะบารมี “หลวงประดิษฐ์วาทกรรม” หรือ “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” แต่ก็ยังห่างชั้นจาก “นักการเมืองวัยเก๋า” ตั้งเยอะ 

แต่สุดท้ายการเมืองไทยยังคงน้ำเน่า ไปไม่ถึงไหน ไม่ว่าคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่ก็ “เฮงซวย” พอกัน

ที่น่าอิดหนาระอาใจ นักการเมืองยุคนี้วันๆ ไม่เห็นทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนอกจาก “กระเหี้ยนกระหือรือแก้รัฐธรรมนูญ” เพียงเพราะไปตราหน้าว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจเผด็จการ 

 

ทั้งๆ ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการเห็นชอบจากประชาชน ๑๖ ล้านเสียง อีกทั้งพรรคการเมืองบางพรรค โดยเฉพาะ “พรรคต่ำสิบ” เข้ามาเป็น ส.ส.ได้ก็เพราะกติกาอันนี้ ต้องขอบคุณที่คะแนนเสียงไม่ตกน้ำเสียด้วยซ้ำ

บางคน บางกลุ่มก็ฉวยโอกาสสอดไส้ โละทิ้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  โละทิ้งตุลาการศาลธรรมนูญ กรรมการองค์กรอิสระ หวังเปิดทางให้ “นักการเมืองหนีคดีทุจริต” ได้นิรโทษกรรมลอยหน้าลอยตา ในสังคมโดยไม่ต้องรับโทษ

ที่หนักกว่านั้นคือการแตะ “หมวด ๑ บททั่วไป” และ “หมวด ๒ พระมหากษัตริย์” โดยใช้ข้ออ้าง “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ตามที่บรรดานักวิชาการอีแอบทั้งหลายุยงปลุกปั่นให้ผู้คนออกมาจาบจ้วงล่วงละเมิด

นับว่าโชคดีที่ร่างรัฐธรรมนูญจากที่เสนอเข้ามา ๗ ฉบับ ถูกตีตกออกไป เหลือเพียง ๒ ฉบับที่ไปต่อ ได้แก่ “ฉบับฝ่ายค้าน” แก้มาตรา ๒๕๖ ให้มี ส.ส.ร. จากการเลือกตั้ง ๒๐๐ คน กับ “ฉบับรัฐบาล” ให้มี ส.ส.ร.แต่งตั้ง ๕๐ คน เลือกตั้ง ๑๕๐ คน

ปรากฎว่าในการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอญัตติด่วนขอให้รัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยปัญหาการทำหน้าที่ของรัฐสภาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ

ไพบูลย์ชี้แจงว่า ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจรัฐสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทำได้แค่แก้รายมาตรา ส่วนที่ขอให้ส่งวินิจฉัยหลังวาระ ๓ และทำประชามตินั้น หากถูกวินิจฉัยว่าแก้ทั้งฉบับไม่ได้จะเสียเงินทำประชามติ ๓ พันล้านบาท 

เพราะฉะนั้น ควรให้เกิดความชัดเจนก่อนหากขัดรัฐธรรมนูญก็เปลี่ยนเป็นแก้ รายมาตรา โดยตั้งกรรมาธิการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมให้ ส.ส.และ ส.ว. ทำหน้าที่แทนสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ใช้เวลาไม่นานและไม่เสียงบประมาณตั้ง ส.ส.ร.

ในตอนนั้นบรรดา “นักการเมืองเขี้ยวลากดิน” ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านพากันร้องโหยหวน พากันอภิปรายให้ถอนญัตติ อ้างว่า มีเจตนาแอบแฝง เตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่ก็มีเสียงสะท้อนจาก ส.ว. อย่าง “เสรี สุวรรณภานนท์” กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนคิดเรื่อง “ปัญหาปากท้อง” มากกว่าแก้รัฐธรรมนูญ ต้องมีความชัดเจนจะแก้เรื่องใด ไม่ใช่แก้โดยไม่รู้จะแก้เรื่องใด การยื่นวินิจฉัย จะได้ชัดเจนตั้งแต่แรก

ที่สุดแล้วที่ประชุมรัฐสภามีมติ ๓๖๖ ต่อ ๓๑๖ ส่งญัตติดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กระทั่ง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ วรรคหนึ่ง (๒)

ขณะที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของนักการเมืองเขี้ยวลากดินยังคงดำเนินต่อไปในวาระสอง ก่อนที่จะปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง แล้วกลับมาเรียกประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ กำลังจะลงมติในวาระ ๓ อยู่แล้ว 

แต่แล้ว ฟ้ามีตา ... ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๔ ความว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

เท่ากับว่า “ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” จะเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะให้แก้หรือไม่ให้แก้ ไม่ใช่นักการเมือง และไม่ใช่ประชาชนเฉพาะที่อ้างตัวเองอยู่ในม็อบสามนิ้ว แต่หมายถึงประชาชนทุกคนจริงๆ ไม่มีสีเสื้อ

แต่นักการเมืองเขี้ยวลากดิน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ยังคงพยายามดันทุรัง จะลงมติวาระสาม เพื่อผลักดันให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมาให้ได้ แบบไม่ฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และไม่เคารพประชาชนที่ลงประชามติ ๑๖ ล้านเสียง

 

ถ้าฝืนดันทุรังทำแบบนั้น มีคนเตรียมจองกฐินยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ข้อหา “จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” แล้วส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสิน

ดีไม่ดีนักการเมืองเขี้ยวลากดินพวกนี้ ถ้าศาลรับฟ้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที หากตัดสินว่าผิด ต้องพ้นจากตำแหน่ง ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และห้ามลงสมัคร ส.ส. ส.ว. และดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิตด้วย

ไม่นับรวมประชาชนอีกฝั่งที่เคยเคลื่อนไหวไม่แก้รัฐธรรมนูญ “นั่งบนภูดูหมูกัดกัน” ทำมาหากิน ไม่อยากปะทะกับใคร เห็นนักการเมืองเขี้ยวลากดินทำแบบนี้ เขาไม่ยอมบ้างจะทำอย่างไร หรืออยากจะให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟอีกรอบ?

นักการเมืองเขี้ยวลากดิน นักการเมืองหิวแสงทั้งหลาย อย่าเพิ่งไปชี้หน้าด่าคนที่ไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ พยายามด้อยค่าว่าเป็นพวกเผด็จการ แต่ควรลองมองย้อนไปถามตัวเองว่า เวลานี้มันใช่เวลาแก้รัฐธรรมนูญไหม?

การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญครั้งหนึ่ง ใช้งบประมาณกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท แต่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ที่ต้องขยายหน่วยออกเสียงประชามติ ดีไม่ดีงบประมาณอาจจะสูงถึง ๕,๐๐๐ ล้านบาท ๒ รอบก็ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาทเข้าไปแล้ว

ไม่นับรวมเงินเดือน ส.ส.ร. ที่ต้องจ่ายอีก ๒๐๐ คน เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตกเดือนละกว่า ๒๐ ล้านบาท หากใช้ระยะเวลาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ๖ เดือน ต้องจ่ายเงินเดือนกว่า ๑๒๐ ล้านบาท 

และไม่นับรวมประเทศเกิดความไม่แน่นอน จากการหยุดชะงักของกฎหมายสูงสุดของประเทศว่าจะเอายังไงกันแน่?

ในยุคที่เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลกกำลังเดี้ยงจากพิษโควิด-๑๙ รัฐบาลยังต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน ๑ ล้านล้าน เยียวยาประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจแบบตะบันน้ำกิน ยอมควักเนื้อให้จับจ่ายทั้งเราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง เราชนะ ม.๓๓ เรารักกัน

น่าเสียดายหากเวลานี้จะสูญเงินกว่า ๑ หมื่นล้านไปให้นักการเมืองเขี้ยวลากดิน หิวแสง พวกบ้าการเมืองไม่รู้จักเวล่ำเวลาเอาไปผลาญ ท้ายที่สุดก็เป็นเพียงแค่แข่งสนองตัณหาเอาชนะการเมืองเพื่อตัวและพวกพ้องมันเอง

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๑ วันพุธที่ ๑๗ - วันอังคารที่ ๒๓ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


719 1,396