8thDecember

8thDecember

8thDecember

 

May 06,2021

ถ้ารัฐให้กู้ ๕๐ ล.ไม่มีล้ม โควิดแผลงฤทธิ์หนัก ‘คลังพลาซ่า’ขอปิดชั่วคราว

 

เจอพิษ “โควิด-๑๙” หลายระลอก ลูกค้าไม่ออกมาจับจ่ายซื้อของ ส่งผลให้ขาดทุนต่อเนื่อง ท้ายสุดยืนต่อไม่ไหว “คลังพลาซ่า จอมสุรางค์” จำต้องปิดบริการชั่วคราว หากสถานการณ์ดีขึ้นจะกลับมาเปิดบริการอีกแน่นอน พ้อหากได้รับเงินกู้ซอฟต์โลนจากรัฐ ๕๐ ล้านบาท จะเดินต่อไปได้ปฏิเสธข่าวลือมีห้างใหญ่มาเทคโอเวอร์ ขอบคุณคนโคราชที่อุดหนุนตลอดมา ระหว่างนี้เชิญไปสนับสนุนสินค้าที่ “คลังเดิม” และ “คลังวิลล่า”

ตามที่เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๔ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. ภายหลังการประชุมของผู้บริหารบริษัท คลังพลาซ่า จอมสุรางค์ จำกัด มีข่าวสะพัดถึงการปิดกิจการของ “คลังพลาซ่า” สาขาจอมสุรางค์ หรือ “คลังใหม่” หลังได้รับ ผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ที่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบมายังห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นคู่เมืองโคราชมาถึง ๖๐ กว่าปีอย่าง “คลังพลาซ่า” ด้วย โดยเฉพาะสาขาจอมสุรางค์ หรือ “คลังใหม่” ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับพื้นที่ให้เหลือเพียง ๒-๓ ชั้น จากทั้งหมดที่มีการปรับปรุงครั้งล่าสุดมีทั้งหมด ๑๐ ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน) กระทั่งมาถึงวันนี้ แบกรับภาระต่อไม่ไหว ผู้บริหารจึงตัดสินใจปิดกิจการสาขาจอมสุรางค์ แต่ในบางกิจการที่อยู่บนชั้น ๕ ยังเปิดบริการตามปกติ คือ we success หรือ KFC ที่ชั้น ๓ ที่เปิดขายให้ซื้อกลับบ้านได้ รวมทั้งในชั้น G ซึ่งเป็นที่ตั้งของธนาคารกรุงเทพ วัตสัน โมชิโมชิ และร้านค้าเช่าต่างๆ ที่ยังเปิดให้บริการตามปกติ รวมทั้ง “คลังพลาซ่า” สาขา ๑ ถนนอัษฎางค์ หรือ “คลังเดิม” และสาขา ๓ “คลังวิลล่า” หรือ “คลัง ๓” ถนนสุรนารายณ์ ยังเปิดให้บริการตามปกติ

 

ปิดบริการชั่วคราว

ต่อมาในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ แฟนเพจ Klang Plaza โพสต์ภาพว่าปิดบริการชั่วคราว พร้อมข้อความว่า คลังพลาซ่าจอมสุรางค์ ปิดให้บริการ ๑ พฤษภาคมนี้ ปิดชั้น M แผนกดีพาร์ท ทั้งหมด อาทิ เครื่องสำอาง-ชุดชั้นใน-กีฬา-ยีนส์-บูติกสตรี เด็กและเชิ้ต เครื่องหนัง กิฟต์ช็อป ประดับสตรี และชั้นใต้ดิน ซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกหนังสือ-เครื่องเขียน-ศูนย์อาหาร-ศูนย์พระเครื่อง แต่ยังเปิดให้บริการชั้น G โซนมือถือ ร้านคอมพิวเตอร์ ร้านวัตสัน ร้านสินค้าญี่ปุ่น “โมชิโมชิ” ธนาคารกรุงเทพ ร้านกาแฟ biz Café หน้าห้าง KFC ชั้น ๓ เปิดบริการเฉพาะกลับบ้าน และชั้น ๕ ร้าน WE SUCCESS ส่วนคลังพลาซ่าอัษฎางค์ (คลังเก่า) และคลังวิลล่า สุรนารายณ์ เปิดบริการตามปกติ

ชดเชยพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง

จากนั้น เมื่อเวลา ๑๐.๓๐ น. วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ผู้แทน บริษัท คลังพลาซ่า จอมสุรางค์ จำกัด ได้เดินทางมาพบนายเกษมสันต์ เครือเจริญ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ และผู้ตรวจแรงงาน เพื่อเจรจาหาข้อตกลงการจ่ายเงินชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑

โดยภายหลังการหารือ นายเกษมสันต์ เปิดเผยว่า ข้อเท็จจริงสาเหตุ บริษัท คลังพลาซ่า จอมสุรางค์ จำกัด ปิดกิจการเนื่องจากวิกฤตโควิด-๑๙ และภาวะเศรษฐกิจถดถอย นายจ้างต้องแบกรับภาระตั้งแต่การแพร่ระบาดรอบแรกถึงปัจจุบัน ขณะนี้ได้พูดคุยทำความเข้าใจลูกจ้าง เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงจะได้รับกระทั่งเป็นที่พอใจ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีมาตรการรองรับปัญหาการเลิกจ้าง เบื้องต้นมีเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย และมีเงินทดแทนระหว่างการว่างงานจากประกันสังคมในอัตราร้อยละ ๗๐ ของค่าจ้าง และไม่เกิน ๒๐๐ วันต่อปีปฏิทิน ล่าสุดนายจ้างได้จ่ายค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้างทั้งหมดรวมถึงเงินประกันที่มีการเรียกเก็บไว้ล่วงหน้าเป็นนโยบายของนายจ้างที่พยายามลดปัญหาความเดือดร้อนของลูกจ้างให้มากที่สุด ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมมูลค่าเงินชดเชยลูกจ้างอย่างละเอียด ซึ่งลูกจ้างแต่ละคนได้รับค่าชดเชยไม่เท่ากันทั้งนี้ เป็นไปตามอายุงาน จึงแจ้งให้ลูกจ้างนำข้อมูลหลักฐานไปแสดงต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อคิดคำนวณอัตราค่าชดเชยให้เป็นไปตามกฎหมาย

ถ้าโควิดคลายจะเปิดอีก

ล่าสุดวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ “โคราชคนอีสาน” สัมภาษณ์นายไพรัตน์ มานะศิลป์ หรือ “เสี่ยเหลียง” รองประธานกรรมการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด และบริษัทในเครือ โดยถามย้ำถึงการปิดบริการครั้งนี้ เป็นเพียงการปิดบริการชั่วคราว แสดงว่าจะกลับมาเปิดบริการอีกครั้งใช่หรือไม่? ซึ่งนายไพรัตน์ ตอบว่า “ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็พร้อมจะกลับมาเปิดดำเนินการ แต่ในปัจจุบันด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ลูกค้าไม่กล้าออกมาซื้อของ ทำให้ไม่มีรายได้เข้ามา ทำให้ขาดทุนเรื่อยๆ ก็ไม่ไหว จึงต้องปิดชั่วคราวก่อน แต่ในส่วนของพื้นที่เช่าก็ยังเปิดบริการอยู่ เช่น ธนาคารกรุงเทพ วัตสัน โมชิโมชิ และร้านค้าเช่าในชั้น G เป็นต้น

นายไพรัตน์ มานะศิลป์ หรือ “เสี่ยเหลียง” รองประธานกรรมการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด

“คลังพลาซ่า จอมสุรางค์ ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ รอบที่ ๑ ส่วนการคิดจะปิดบริการนั้น ความจริงคิดตั้งแต่เจอโควิดรอบแรก เพราะเงียบมาตลอด รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย แต่ก็สงสารพนักงานที่จะต้องตกงาน จึงต้องเปิดบริการมาอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้เกิดการขาดทุนมาเรื่อยๆ เพราะคนก็ไม่ออกมาจับจ่าย รวมทั้งคนอีกส่วนหนึ่งก็ไม่มีเงินด้วย กระทบกันไปหมด จึงเป็นสาเหตุให้ตัวเลขเข้าเนื้อตลอด และในที่สุดก็ไม่ไหว และยิ่งโควิดระบาดรอบที่่ ๓ นี้ ยิ่งหนักกว่าเดิม ยอดขายเหลือไม่ถึง ๑๐% จากที่เคยขายได้” นายไพรัตน์ กล่าว

ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ

“โคราชคนอีสาน” ถามว่า ในช่วงโควิดระบาดในรอบแรกได้รับการเยียวยาจากรัฐอย่างไรบ้าง? นายไพรัตน์ ตอบว่า “ไม่มีเลย แต่คลัง ๑ กับคลังวิลล่ายังได้รับบ้าง รัฐบาลมาช่วยในกรณีเงินกู้ซอฟต์โลน (มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) ปีละ ๕ ล้านบาท ก็ยังพอกล้อมแกล้มไปได้ แต่คลังใหม่ไม่มีใครช่วย เพราะถือว่าเป็นลูกหนี้ธนาคารรายใหญ่ ซึ่งกิจการที่มีทุน ๑๐๐ ล้านบาทขึ้นไปถือเป็นลูกหนี้รายใหญ่ ถ้าต่ำกว่าร้อยล้านถือเป็นลูกหนี้รายย่อย เมื่อไม่มีการช่วยเหลือเข้ามา และต้องแบกนานๆ เข้า มันก็ไม่ไหว แบกจนล้าหมด ถ้าไม่ปล่อยก็จะดึงคลัง ๑ และคลัง ๓ ไปด้วย จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจปิดกิจการครั้งนี้” 

หาเงินจ่ายชดเชย

สำหรับในส่วนของการจ่ายเงินชดเชยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างกรณีปิดกิจการนี้ นายไพรัตน์ กล่าวว่า “ยังไม่ทราบ เราจะหาเงินจากส่วนไหนมาจ่าย ให้เต็มจำนวนที่เขาต้องการ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และพนักงานก็เห็นสภาพของเราคือ ลูกค้าไม่มีจริงๆ แต่ในเรื่องนี้ ก็มีการแต่งตั้งตัวแทนขึ้นมาคุยกัน โดยพนักงานที่เลิกจ้างครั้งนี้เพียง ๑๐๐ คนเศษเท่านั้น ไม่ใช่ ๓๐๐ กว่าคนอย่างที่บางสำนักข่าวนำเสนอไป”

ไม่มีใครมาเทคโอเวอร์

ต่อกรณีที่มีกระแสข่าวว่า การปิดกิจการของคลังพลาซ่าจอมสุรางค์นี้ มีทุนใหญ่อย่างเครือเซ็นทรัล และ MBK มาเทคโอเวอร์นั้น นายไพรัตน์ ตอบสั้นๆ ว่า “ยังไม่เห็นมีใครมาคุยเลย”

ในด้านตัวเลขการขาดทุนของคลังพลาซ่าจอมสุรางค์นั้น นายไพรัตน์ มานะศิลป์ ระบุว่า “ยังประมาณไม่ได้ เพราะมีในเรื่องสินค้าคงคลัง แม้สินค้าจะไม่เสียหาย ยังโอนไปขายได้ จะบอกว่าขาดทุนเท่าไหร่จึงบอกไม่ได้ และอีกอย่าง ขณะนี้ห้างฯ ก็ไม่ได้ปิดซะทีเดียว ในส่วนของร้านค้าเช่าก็ยังเช่าและเปิดขายอยู่”

“สำหรับการปิดบริการคลังพลาซ่าจอมสุรางค์ครั้งนี้ ผู้เช่าบางรายก็ได้ขอย้ายไปสาขา ๑ หรือสาขา ๓ ส่วนการปรับโฉมหรือปรับปรุงสาขา ๑ และสาขา ๓ ต้องเอาไว้ทีหลัง เพราะเศรษฐกิจในช่วงโควิดนี้แย่มาก เราไม่ได้รับการช่วยเหลือรัฐบาลเลย โดยเฉพาะด้านการเงินหรือ Soft Loan (มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ของธนาคารแห่งประเทศไทย) ถ้าคลังใหม่ได้มาสัก ๕๐ ล้านบาท ผมก็ไม่ปิด จะอุ้มไว้ต่อไป แต่กลับไม่มีอะไรมาช่วยเลย รวมทั้งคลังสเตชั่นก็ต้องพักไว้ก่อน ในส่วนนั้นเป็นการลงทุนไปแล้ว ในสถานการณ์เช่นนี้ก็ต้องพักไว้ก่อน” นายไพรัตน์ กล่าว  

ขอบคุณชาวโคราช

ท้ายสุด นายไพรัตน์ มานะศิลป์ กล่าวว่า “คลังพลาซ่า และบริษัทในเครือ รับใช้ชาวโคราชเข้าปีที่ ๖๔ แล้ว จึงขอโอกาสนี้ขอบคุณชาวโคราชที่อุดหนุนชาวโคราชด้วยกัน ขณะนี้เราก็เหลืออยู่แค่คลังเก่าและคลังวิลล่า ก็ขอให้พากันไปช่วยสนับสนุนคนโคราชด้วยกันต่อไป”

ปูมหลัง

ทั้งนี้ “คลังพลาซ่า จอมสุรางค์” เปิดบริการเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๔ อยู่ห่างจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ประมาณ ๑๐๐ เมตร ดำเนินการในนามบริษัท คลังพลาซ่าจอมสุรางค์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๓๓ ด้วยทุนจดทะเบียน ๓๐๐ ล้านบาท ปัจจุบันมีกรรมการ ๓ คน ได้แก่ นางเสาวลักษณ์ มานะศิลป์ มารดา และลูกชายคือ นายไพฑูรย์ มานะศิลป์ และนายไพรัตน์ มานะศิลป์ โดย “คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์” มีพื้นที่ขายจำนวน ๓๐,๐๐๐ ตารางเมตร และเป็นการเช่าที่ดินประมาณ ๕ ไร่จากตระกูลมหาสันทนะ

ปรับปรุงครั้งใหญ่

หลังจากเปิดบริการมาครบ ๒๐ ปี ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๖ นายไพจิตร มานะศิลป์ (บู๊) ลูกชายคนสุดท้อง ซึ่งเรียนจบคณะออกแบบตกแต่งภายใน จาก Tokyo Design Gakuin College ประเทศญี่ปุ่น ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด แถลงข่าวถึงการปรับปรุงครั้งใหญ่ของ “คลังพลาซ่าจอมสุรางค์” งบประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท โดยจ้างบริษัท วินเทจ จำกัด จำนวน ๑๕ ล้านบาทในการออกแบบ เพื่อให้สามารถใช้บริการได้ทั้ง ๑๐ ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน) โดยใช้เวลาในการปรับปรุง ๑๓ เดือน ซึ่งเริ่มปรับปรุงตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ และมีกำหนดเปิดให้บริการในรูปโฉมใหม่เต็มรูปแบบ ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๗ โดยระบุว่า แทบจะไม่หลงเหลือภาพเดิมๆ ให้เห็น โดยนายไพจิตร (บู๊) เชื่อมั่นว่า “หลังการปรับปรุงครั้งใหญ่นี้ จะทำให้คลังพลาซ่า สาขา ๒ (จอมสุรางค์) มียอดขายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ ๔๐ จากเดิมปีละกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท เพิ่มเป็นกว่า ๒,๑๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นสาขาที่ทำรายได้มากที่สุดของห้างฯ ในเครือคลังพลาซ่า” และระบุว่า มีการต่อสัญญาเช่าที่ดินไปอีก ๒๐ ปี และสัญญาเดิมยังเหลืออีก ๕ ปี (รวม ๒๕ ปี)

โดยภายหลังการปรับปรุงและเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ กลับไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเดิมมีห้างต่างถิ่นระดับชาติแห่งเดียวคือ เดอะมอลล์โคราช แต่ต่อมากลับมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศคือ “เทอร์มินอล ๒๑ โคราช” ที่เปิดบริการในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ และตามมาด้วย “เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา” ที่เปิดบริการเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ จึงทำให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นด้วย กระทั่งมาประสบกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ในปัจจุบัน จึงต้องปิดบริการชั่วคราว

ตำนาน “คลังพลาซ่า”

“คลังพลาซ่า” เติบโตมาจากการขายหนังสือพิมพ์ ดำเนินธุรกิจในห้องแถวเล็กๆ ๑ คูหาใช้ชื่อว่า “คลังวิทยา” ต่อมาด้วยความมานะของนายไพศาล มานะศิลป์ และภริยาคือนางเสาวลักษณ์ มานะศิลป์ จึงขยับขยายกิจการมาจำหน่ายหนังสือแบบเรียน เครื่องเขียน และอุปกรณ์การเรียนต่างๆ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ริมถนนราชดำเนิน อำเภอเมืองนครราชสีมา ธุรกิจเจริญก้าวหน้าจึงเพิ่มพื้นที่ค้าขายเป็น ๔ คูหา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ จากร้าน ๔ คูหา มาเป็นห้างสรรพสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ บริเวณถนนอัษฎางค์ เพื่อรองรับความต้องการเพิ่มมากขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็น “คลังวิทยา ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์” จำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท รวมถึงศูนย์อาหารและสวนสนุก นับว่าเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในขณะนั้น 

ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๒๙ เปลี่ยนชื่อเป็น “คลังพลาซ่า สาขาอัษฎางค์” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “คลังเก่า” จากนั้นมาในปี พ.ศ.๒๕๓๔ เปิด “คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์” นับเป็นสาขา ๒ (คลังใหม่) เพื่อให้เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ทันสมัยครบวงจร บนทำเลใจกลางเมืองโคราช ห่างจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ประมาณ ๑๐๐ เมตร 

ภายหลังบิดา นายไพศาล มานะศิลป์ ผู้เป็นหัวเรือใหญ่เสียชีวิตจากเหตุจมน้ำที่หมู่เกาะมัลดีฟส์ (๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๑) นายไพรัตน์ (เหลียง) มานะศิลป์ ลูกชายคนโต ผู้บริหารรุ่นที่ ๒ เข้ามารับบทบาทหน้าที่รองประธานกรรมการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด และลงทุนขยายคลัง ๓ ภายใต้ชื่อ “คลังวิลล่า” เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๔ รวมทั้ง เริ่มดำเนินการก่อสร้างในส่วนของโครงการ Klang Station บริเวณห้าแยกหัวรถไฟ แต่เนื่องจากประสบภาวะเศรษฐกิจจึงต้องระงับการก่อสร้างไว้ก่อน

“นายไพศาล-นางเสาวลักษณ์ มานะศิลป์” มีบุตร-ธิดา ๔ คน ได้แก่ นายไพรัตน์ มานะศิลป์ (เหลียง), นายไพฑูรย์ มานะศิลป์ (แช), นางสาวประภากร มานะศิลป์ และนายไพจิตร มานะศิลป์ (บู๊) 

“คลังพลาซ่า” มีบริษัทในเครือ ๔ บริษัท ได้แก่ ๑.บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๘ ทุนจดทะเบียนปัจจุบันจำนวน ๓๕ ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๖/๑-๓ ถนนอัษฎางค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา มีกรรมการ ๒ คน ได้แก่ นางเสาวลักษณ์ มานะศิลป์ และนายไพรัตน์ มานะศิลป์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารกิจการ “คลังพลาซ่า สาขาอัษฎางค์”

๒.บริษัท คลังพลาซ่าจอมสุรางค์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๓๓ ด้วยทุนจดทะเบียน ๓๐๐ ล้านบาท ปัจจุบันมีกรรมการ ๓ คน ได้แก่ นางเสาวลักษณ์ มานะศิลป์, นายไพฑูรย์ มานะศิลป์ และนายไพรัตน์ มานะศิลป์ ตั้งอยู่เลขที่ ๒๔ ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารกิจการ “คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์”

๓.บริษัท คลังมาร์เก็ต สุรนารายณ์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ด้วยทุนจดทะเบียน ๕๐ ล้านบาท ปัจจุบันมีกรรมการ ๒ คน ได้แก่ นางเสาวลักษณ์ มานะศิลป์ และนายไพรัตน์ มานะศิลป์ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๒๗ ถนนสุรนารายณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารกิจการ “คลังวิลล่า”

๔.บริษัท คลังมาร์เก็ต เดชอุดม จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ทุนจดทะเบียน ๒๐๐ ล้านบาท ปัจจุบันมีกรรมการ ๒ คน ได้แก่ นางเสาวลักษณ์ มานะศิลป์ และนายไพรัตน์ มานะศิลป์ ตั้งอยู่เลขที่ ๒๔ ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา นัยว่าจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารกิจการ “คลังสเตชั่น”

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๗ วันพุธที่ ๕ - วันอังคารที่ ๑๑ เดือนพฤษภาคม  พุทธศักราช ๒๕๖๔


117 1,757