May 14,2021
โคราชมีมติให้ปิดโรงงานเจ้าสัว ๑๔-๒๘ พฤษภาคมนี้ เพื่อตรวจหาเชื้อพนักงานทุกคน
คณะกรรมการโรคติดต่อโคราช มีมติให้ปิดโรงงานเจ้าสัว ตั้งแต่วันที่ ๑๔-๒๘ พฤษภาคมนี้ เพื่อตรวจหาเชื้อพนักงานทุกคน
ตามที่ ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการนำเสนอกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ในจังหวัดนครราชสีมา 2-3 กลุ่ม ได้แก่ คลัสเตอร์โรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองนครราชสีมา, คลัสเตอร์งานขึ้นบ้านใหม่ อำเภอโนนสูง และคลัสเตอร์ศูนย์อาหารจุดพักรถแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอโนนสูง ซึ่งต่อมาศูนย์โควิด-19 โคราชมีการเปิดเผยไทม์ไลน์ของผู้ป่วยแต่ละรายด้วยนั้
วันนี้ (14 พฤษภาคม 2564) เวลา 11.00 น. ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการประชุมออนไลน์ด้วยโปรแกรม zoom มีนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และผู้แทนจากองค์กรต่างๆ ร่วมประชุมด้วยนั้น
ในการประชุมนี้ นพ.วิญญู จันทร์เนตร ให้มีการนำเสนอเรื่องการระบาดของโควิด-๑๙ ในโรงงานเจ้าสัว โดยนางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ ในฐานะนักระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา นำเสนอรายละเอียดต่อที่ประชุมว่า “คลัสเตอร์โรงงานเจ้าสัว (ฝ่ายผลิต) เริ่มต้นขึ้นที่โรงงาน ๒ พบคนไข้รายแรก คือ รายที่ ๖๕๔ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เขาอยู่ในส่วนงานปรุงน้ำราด จากนั้นไปพบรายแรกของโรงงาน ๑ คือ รายที่ ๖๙๙ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ รายนี้อยู่ในห้องบรรจุ ๓ ในส่วนของผลิตภัณฑ์กุนเชียง โดยมีพนักงานอยู่ในห้องทั้งหมด ๓๑ คน โดยพบผู้ติดเชื้อในห้องนี้ทั้งหมด ๑๓ ราย ส่วนอีก ๑๘ ราย เราส่งให้กลับบ้านและทำการกักตัว ๑๔ วัน ซึ่งในห้องนี้มีอยู่ ๒ ราย ที่ทำให้เกิดการระบาดไปยังครอบครัวที่อยู่อำเภอโนนไทย ในส่วนของห้องบรรจุ ๒ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าห้องแรก มีพนักงานทั้งหมด ๙๑ คน โดยห้องบรรจุ ๓ เป็นห้องที่มีความแออัดมากกว่า มีระบบระบายอากาศที่ค่อนข้างร้อน พนักงานจึงปลดแมสก์ลง และไม่สวมถุงมือ ทำให้เกิดการระบาดค่อนข้างมาก ซึ่งห้องบรรจุ ๒ เป็นห้องขนาดใหญ่คล้ายกับห้องประชุม จึงพบคนไข้ไม่มาก มีเพียง ๓ ราย จากคนทำงานทั้งหมด ๙๑ คน และห้องบรรจุ ๑ เป็นห้องแคบๆ คล้ายห้องบรรจุ ๓ พบผู้ติดเชื้อ ๓ ราย จากทั้งหมด ๑๗ ราย”
นางสาวทิพวรรณ กล่าวอีกว่า “จากการสอบสวนโรคพบว่า รายที่ ๗๔๙ (ห้องบรรจุ ๑) ๗๕๐ (ห้องบรรจุ ๒) และ ๗๑๕ (ห้องบรรจุ ๓) เป็นคนจากบ้านวัง อำเภอโนนไทย ซึ่งทั้ง ๓ ห้องในโรงงานที่ ๑ มีค่าในห้องปฏิบัติการแตกต่างกันมาก มีทั้งคนที่กำลังแพร่กระจายและติดเชื้อมานานแล้ว โดยรายที่ ๗๔๙ พบว่ามีการติดเชื้อมานานแล้ว ซึ่งคนไข้ทั้ง ๓ รายจากบ้านวัง เคยโดยสารรถสาธารณะในช่วงเดียวกันกับคนไข้ของอำเภอด่านขุนทด เราจึงคิดว่า การเกิดคลัสเตอร์ของโรงงานนี้น่าจะเกิดจากการรวมตัวของคนจากหลายๆ พื้นที่มารวมกัน จึงทำให้เกิดการระบาด หากถามว่าการสอบสวนโรคของเรานั้น ยังหาแหล่งที่ชัดเจนไม่ได้ แต่จากการเข้าไปตรวจสอบในโรงงานพบว่า มีจุดสัมผัสร่วมหลายแห่งที่อาจจะทำให้เกิดการแพร่กระจายโรค ซึ่งเรื่องนี้ได้แนะนำโรงงานให้ทำความสะอาดในเบื้องต้นแล้ว”
“ส่วนโรงงานที่ ๒ รายที่ ๗๘๒ เพิ่งตรวจพบในวันนี้ เป็นคนจากอำเภอด่านขุนทด ทำหน้าที่เป็นพนักงานอนามัยที่จะต้องตรวจทุกคนที่จะเข้าไปทำงาน ซึ่งเขาจะมีไม้ตรวจฝุ่นที่ใช้กลิ้งบนร่างกาย โดยพนักงานจะสวมชุดกาว มีหมวกคลุมหัว ทุกคนจะต้องผ่านการตรวจร่างกายจากคนนี้ ทำให้เป็นจุดสัมผัสร่วม โดยมีพนักงานในช่วงเช้าประมาณ ๑๗๗ คน จึงคิดว่าจุดนี้เป็นจุดสำคัญมาก เพราะต้องสัมผัสกับทุกคน และค่าปฏิบัติการณ์ค่อนข้างต่ำ คือ มีการแพร่กระจายโรคค่อนข้างสูง โดยในช่วงแรกรายที่ ๗๘๒ เป็นคนที่ไม่มีความเสี่ยง แต่เนื่องจากโรงงานจะเปิดทำการในวันที่ ๑๓ (โรงงาน ๑) และ ๑๕ พฤษภาคมนี้ (โรงงาน ๒) จึงต้องตรวจ หากไม่มีผลตรวจก็จะไม่ให้มาปฏิบัติงาน เขาจึงไปตรวจหาเชื้อในวันที่ ๙ พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งในการตรวจครั้งนี้ โรงงานใช้รถตู้นำไป โดยรถตู้นี้เป็นรถคันเดียวที่เวียนรับคนจำนวน ๔๐ คน ในการทำความสะอาดระหว่างถ่ายคนลงคงไม่มีแน่ๆ ที่สำคัญค่าของการติดเชื้อก็น่ากังวล”
นางสาวทิพวรรณ กล่าวท้ายสุดว่า “ขณะนี้การกระจายของคลัสเตอร์เจ้าสัว โดยอำเภอเมืองมีการแพร่กระจายมากที่สุด ในส่วนนี้ก็มีการกักตัวของบุคคลที่โรงงานแจ้งรายชื่อมา บางส่วนก็กำลังติดตาม เพื่อกักตัวให้ได้มากที่สุด เพราะการตรวจในวันแรกจะไม่พบเชื้อ ส่วนใหญ่จะพบในวันที่ ๕ สำหรับคลัสเตอร์ของอำเภอชุมพวง ยังไม่สรุปว่าเป็นการระบาดมาจากที่ใด ยังอยู่ในการสอบสวนโรคอยู่ นอกจากนี้ยังมีการระบาดไปที่อำเภอด่านขุนทด ขามทะเลสอ และโนนไทย ในการเข้าร่วมกับโรงงานเพื่อพิจารณาบุคคลเสี่ยงทำค่อนข้างยาก เพราะโรงงานนี้มีพนักงานเกือบ ๘๐๐ คน และมีพนักงานรายวันด้วย ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับโรงงาน จึงทำให้เราทำงานค่อนข้างยากว่า จะเหลือใครที่สามารถทำงานได้บ้าง เพราะจุดหนี่งในการลงพื้นที่โรงงาน มีจุดเสี่ยงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เป็นห้องที่ทุกคนจะต้องมาเปลี่ยนชุดเป็นชุดคลุมสีขาว จุดนี้จึงเป็นจุดที่มีการสัมผัสค่อนข้างมาก และในช่วงกลางวันก็ต้องมาห้องนี้เพื่อเปลี่ยนชุด เพื่อไปรับประทานอาหาร ในส่วนนี้ได้คุยกับโรงงานแล้ว เห็นว่าจะปรับเป็นห้องที่มีแสงส่อง เพื่อใช้ฆ่าเชื้อ แต่ขณะนี้ยังอยู่ในระยะเวลาการดำเนินงาน และยังมีอีกหลายจุดที่เสี่ยง จากการลงพื้นที่ได้ให้คำแนะนำไปบ้างแล้ว และจะมีการติดามเป็นระยะ และเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้”
นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า “หากมองย้อนกับไป คลัสเตอร์เจ้าสัวจะคล้ายๆ กับที่จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากผ่านมา ๑๐ วันนี้ เราก็ยังไม่ทราบว่าเชื้อเข้ามาอย่างไร ลักษณะแบบนี้จะเรียกว่า รังโรค คือ มีคนติดเชื้อไปทั่ว การแยกผู้สัมผัสก็ทำได้ยาก ความเห็นของผม คือ ลักษณะแบบนี้จะต้องปิดและตรวจทั้งหมด โดยที่ไม่ต้องแยกเสี่ยงสูง-เสี่ยงต่ำ ขอให้ตรวจอย่างน้อย ๒ ครั้ง เพราะครั้งนี้มีการระบาดไป ๕ อำเภอแล้ว ทั้งอำเภอเมือง ด่านขุนทด ขามทะเลสอ โนนไทย และชุมพวง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ปิดสถานที่ ขอให้ตรวจอย่างน้อย ๒ ครั้ง ทุกคนที่อยู่ในโรงงาน และขอให้ปิดโรงงานผลิตหรือสถานที่ขายอะไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความมั่นใจเมื่อกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ขอให้ที่ประชุมให้ความเห็นชอบในเรื่องนี้ด้วย”
นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ เปิดเผยอีกว่า “ในส่วนของโรงงาน ๑ เขาปิดทำการตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ และจะเปิดในวันนี้ ส่วนโรงงานที่ ๒ ปิดตั้งแต่วันที่ ๑๐-๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔”
นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ถ้าจะปิดก็จะต้องกำหนดว่าตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน และในโรงงานเขาก็มีลูกจ้างอยู่ ๒ ประเภท คือ ลูกจ้างประจำและลูกจ้างรายวัน เราจะต้องมีรายชื่อและตรวจหาเชื้อให้ครบทั้งหมด เราจะได้ติดตาม ดังนั้นคนที่อยู่ในโรงงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ ผู้จัดการ ลูกจ้าง ต้องมาตรวจหาเชื้อทั้งหมด ซึ่งในส่วนของโรงงานเจ้าสัวก็มีสถานที่ขายสินค้า จุดนั้นก็ต้องปิดด้วย เพราะสถานที่อยู่ใกล้กัน”
นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวสรุปว่า “ถ้าไม่มีท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่น ถือว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ มีมติให้ปิดโรงงานเจ้าสัว ในจุดที่มีการแพร่ระบาดเป็นระยะเวลา ๑๔ วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๔-๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยจะต้องมีการตรวจเชื้อคนงานทุกคน เป็นจำนวน ๒ ครั้ง”
นิติกรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ในส่วนของคำสั่งนี้ ฝ่ายกฎหมายจะมีการหารือกับฝ่ายเลขาอีกครั้งหนึ่ง ถึงเรื่องรายละเอียดของคำสั่ง โดยการปิดครั้งนี้จะขอใช้มาตรา ๓๕ ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ คือ เป็นในการกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีอำนาจในพื้นที่รับผิดชอบของตน คือ ในการสั่งปิดพื้นที่ หรือผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่า เป็นโรคติดต่ออันตรายหยุดประกอบอาชีพชั่วคราว และห้ามผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่า เป็นโรคติดต่ออันตราย เข้าไปในที่ชุมชนต่างๆ ในส่วนของการอุทธรณ์ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน คุ่กรณีจะไม่สามารถอุทธรณ์ได้ หลังจากมีคำสั่งแล้วจำเป็นต้องปิดตามคำสั่งของจังหวัดนครราชสีมาโดยทันที่ที่รับทราบคำสั่ง”
69 1,601