27thDecember

27thDecember

27thDecember

 

May 15,2021

นักวิจัยพบพืชชนิดใหม่ของโลก จดชื่อรำลึกย่าโม“แจงสุรนารี”

นักวิจัยพฤกษศาสตร์โคราช พิสูจน์พบพืชชนิดใหม่ “แจงสุรนารี” ตั้งชื่อเพื่อระลึกถึงท้าวสุรนารี พร้อมตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ในวารสารวิชาการนานาชาติ Phytotaxa ปี ๒๕๖๔ เบื้องต้นพบเป็นพืชเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง เพาะต้นกล้า ๕๐ ต้น เพื่อปลูกป่า

เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (ศูนย์ อพ.สธ.คลองไผ่) อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนาร (มทส.) พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ วัฒฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์ อพ.สธ.คลองไผ่ ร่วมแถลงข่าว การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก และค้นพบครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยมีทีมนักวิจัยศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.-มทส.) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. เปิดเผยว่า “ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คลองไผ่ (อพ.สธ.) โดยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๑ สำนักพระราชวังได้มอบให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลใช้ประโยชน์ และเป็นศูนย์แม่ข่ายประสาน โครงการ อพ.สธ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เป็นศูนย์ถ่ายทอดแนวทางตามพระราชดำริ มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ทั้งการเป็นแหล่งรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พืชสมุนไพร พืชพื้นบ้านหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ปัจจุบันมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ วัฒฐานะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. เป็นผู้อำนวยการฯ เพื่อสนองแนวพระราชดำริ ในการสร้างความเข้าใจและทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชต่างๆ ที่มีอยู่ในภูมิภาค ตลอดจนให้มีการจัดทำระบบข้อมูลพันธุกรรมพืช ให้แพร่หลายสามารถสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ”

“จากการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น และงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรือน ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ออกสำรวจทรัพยากรท้องถิ่นในพื้นที่รอบศูนย์ อพ.สธ. คลองไผ่ รัศมี ๕๐ กิโลเมตร เก็บรวบรวมทรัพยากรที่หายาก นำมาอนุรักษ์ฟื้นฟูเพื่อเพิ่มจำนวนและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๒ เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ทีมนักวิจัยของศูนย์ ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก ซึ่งพบเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น เป็นพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกับแจง และเมื่อเปรียบเทียบกับชนิดที่มีทั่วโลกแล้วนั้น พบว่า มีลักษณะที่แตกต่างไม่เหมือนกับชนิดใด จึงได้จดตั้งชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Maerua koratensis Srisnga & Watthana และมีชื่อไทยว่า “แจงสุรนารี” เพื่อระลึกถึงท้าวสุรนารี และเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และยังได้รับการตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลก แจงสุรนารี ในวารสารวิชาการนานาชาติ Phytotaxa ในปี ๒๕๖๔ นอกจากนี้ แจงสุรนารียังถือเป็นพืชที่มีสถานภาพทางการอนุรักษ์ คือ เป็นพืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง ดังนั้น ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพ.สธ. คลองไผ่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา ได้ร่วมกันขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ในเบื้องต้นได้นำต้นกล้าจำนวน ๕๐ ต้น ไปฟื้นฟูปลูกคืนสู่ธรรมชาติ และอนุรักษ์ไว้ในพื้นที่ปกปักทรัพยากร อพ.สธ. เพื่อป้องกันไม่ให้พืชท้องถิ่นชนิดนี้สูญหายไปจากประเทศ การค้นพบครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายด้านพันธุกรรมพืชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ของประเทศไทยอีกด้วย” อธิการบดี มทส. กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ วัฒฐานะ เปิดเผยว่า “แจงสุรนารีได้มีการเก็บตัวอย่างครั้งแรกโดย Dr.A.F.G. Kerr เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ในอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิรายุพิน จันทรประสงค์ เก็บตัวอย่างครั้งที่สองจากอำเภอสีคิ้วเช่นกัน แต่ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๒ นายชลธร โพธิแก้ว และนายทศพร ชนกคุณ นักวิชาการประจำศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพ.สธ. คลองไผ่ มทส. ได้ทำการสำรวจพบพืชชนิดนี้ในพื้นที่ตำบลลาดบัวขาวและตำบลกฤษณา อำเภอสีคิ้ว และในปีเดียวกันนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทียมหทัย ชูพันธ์ นักพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สำรวจพบพืชชนิดนี้ที่อำเภอด่านขุนทด จากข้อมูล ณ ปัจจุบัน พืชชนิดนี้พบเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น ตนจึงร่วมกับ ดร.ปรัชญา ศรีสง่า ตรวจสอบชื่อพฤกษศาสตร์ พบว่า เป็นพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกันกับแจง (Maerua siamensis (Kurz) Pax) แต่มีลักษณะที่แตกต่างกันมาก และเมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับชนิดที่ทราบชื่อทั่วโลกแล้ว พบว่า มีลักษณะไม่เหมือนกับชนิดใด จึงตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Maerua koratensis Srisanga & Watthana โดยมีชื่อระบุชนิดเป็นชื่อจังหวัดที่พบ คือ โคราช หรือนครราชสีมา ส่วนชื่อไทยตั้งชื่อเป็นแจงสุรนารี เพื่อระลึกถึงท้าวสุรนารี และเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี”

“แจงสุรนารีเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย เจริญเติบโตช้า พบในป่าเบญจพรรณแล้ง ออกดอกช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ติดผลช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน เป็นพืชป่าที่ยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ แต่เป็นพืชหายาก และพบน้อยต้นในปัจจุบัน มีสถานภาพทางการอนุรักษ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง ดังนั้น ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพ.สธ. คลองไผ่ จึงร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรนครราชสีมา ทำการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เพื่อนำไปฟื้นฟูเพิ่มจำนวนประชากรพืช ในพื้นที่ปกปักทรัพยากร อพ.สธ. ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรนครราชสีมา และอนุรักษ์ในศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพ.สธ. คลองไผ่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์พืชเฉพาะท้องถิ่นนี้ให้คงอยู่ต่อไป”

“พืชชนิดใหม่ของโลกแจงสุรนารีตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ Phytotaxa เล่มที่ ๔๙๘(๓) หน้า ๒๑๓-๒๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๔ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ วัฒฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดาริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และอาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา สานักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจำแนกและการอนุรักษ์พืช ร่วมกับ ดร.ปรัชญา ศรีสง่า นักพฤกษศาสตร์จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.หนูเดือน เมืองแสน อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา มทส. ดร.เทียมหทัย ชูพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อาจารย์จักรพงค์ แท่งทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบล และ น.ส.รัชดา ปรัชเจริญวนิชย์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรนครราชสีมา” ผอ.ศูนย์ อพ.สธ.คลองไผ่ กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์ อพ.สธ.คลองไผ่ ได้ส่งมอบต้นกล้า “แจงสุรนารี” จำนวน ๕๐ ต้น แก่นางรัชดา ปรัชเจริญวนิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. และคณะ ลงพื้นที่ปลูกต้นกล้าเพื่อขยายพันธุ์เข้าสู่พื้นที่ปกปักเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ให้คงอยู่ต่อไปตามธรรมชาติ

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๘ วันพุธที่ ๑๒ - วันอังคารที่ ๑๘ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


110 1,823