June 10,2021
โคราชยังไม่วางใจโควิด เฝ้าระวัง‘รง.ไก่-ก่อสร้าง’ ติดตาม‘กุนเชียง’ต่อเนื่อง
โคราชควบคุมสถานการณ์โควิด-๑๙ ได้ดี แต่ยังเฝ้าระวังคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ หลังพบแพร่ระบาดให้คนในครอบครัว ย้ำอำเภอเมืองและปากช่องยังน่ากังวล ผลการค้นหาเชิงรุกราบรื่น จับตาเข้มงวดคนงานจากพื้นที่อื่น ด้านโรงงานเจ้าสัวยังติดตามต่อเนื่อง
การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา มีขึ้นต่อเนื่องและปรับให้ประชุมสัปดาห์ละ ๒ วัน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในจังหวัดฯ มีแนวโน้มดีขึ้น
ความคืบหน้าในวันศุกร์ที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม
นพ.วิญญู จันทร์เนตร เปิดเผยว่า “วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๕ ราย มีผู้ป่วยสะสม ๙๕๓ ราย รักษาหาย ๘๑๘ ราย ยังรักษาอยู่ ๑๒๔ ราย และเสียชีวิต ๑๑ ราย โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ทั้ง ๕ ราย อยู่ในพื้นที่อำเภอปากช่องทั้งหมด ได้แก่ ตำบลปากช่อง ๒ ราย รายที่ ๙๔๙ ชาย อายุ ๔๘ ปี ทำงานในพื้นที่เสี่ยง CPF แก่งคอย และรายที่ ๙๕๓ หญิง อายุ ๓๑ ปี เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงกรุงเทพมหานคร ตำบลจันทึก ๒ ราย รายที่ ๙๕๐ หญิง อายุ ๓๗ ปี ทำงานในโรงงาน CPF แก่งคอย (จ.สระบุรี) และรายที่ ๙๕๑ หญิง อายุ ๕๓ ปี ทำงานในโรงงาน CPF แก่งคอย ตำบลกลางดง ๑ ราย รายที่ ๙๕๒ เด็กชาย อายุ ๓ ปี สัมผัสผู้ป่วยโควิด-๑๙ CPF แก่งคอย ซึ่งขณะนี้โคราชกำลังอยู่ในการควบคุมผู้ติดเชื้อรายใหม่ จะเห็นว่ามีตัวเลขในแต่ละวันลดลง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์จังหวัดใกล้เคียงด้วย อย่างที่พบล่าสุดก็เดินทางมาจากนอกพื้นที่ทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพราะพนักงาน CPF แก่งคอย ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ที่อำเภอปากช่อง”
จับตาโรงงานแปรรูปไก่
นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สสจ.นครราชสีมา ในฐานะนักระบาดวิทยา รายงานสถานการณ์คลัสเตอร์สำคัญ ว่า “โรงงานแปรรูปไก่ CPF สระบุรี มีคนโคราชจำนวนมากเข้าไปทำงาน ทำให้พบผู้ติดเชื้อ รายที่ ๙๔๖, ๙๔๐ และ ๙๔๑ เป็นกลุ่มแรก อยู่ในวงที่ ๑ และวันนี้พบอีก ๓ ราย รวมวงที่ ๑ มีทั้งหมด ๖ ราย ซึ่งการระบาดยังแพร่ต่อไปยังวงที่ ๒ ติดเชื้อภายในครอบครัว รวม ๓ ราย นอกจากนี้ยังมีการระบาดกระจายไปที่อำเภอสีคิ้วอีก ๑ ราย ต้องขอความร่วมมือทุกอำเภอให้เฝ้าระวังและกักตัวผู้ที่ทำงานในโรงงานไก่สระบุรี สำหรับผลการดำเนินงานตรวจค้นหาเชิงรุกในจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ ๑-๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ โดยมีเป้าหมายการตรวจ ๕,๐๐๐ ราย ซึ่งวันนี้ตรวจไปแล้วในพื้นที่อำเภอโนนสูงและสูงเนิน รวม ๑,๕๐๘ ราย ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม”
เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย
จากนั้น วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ ไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย เป็นผู้ป่วยรายที่ ๘๐๓ เพศชาย อายุ ๔๗ ปี อยู่อำเภอขามทะเลสอ มีโรคประจำตัว คือ โรคไต (ต้องฟอกไตเป็นประจำ) และเป็นโรคเบาหวาน มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยรายอื่น (ภริยา) จากนั้นวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑ ราย และวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๒ ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก ๑ ราย (รายที่ ๘๑๙) นับเป็นรายที่ ๑๓ ของจังหวัดนครราชสีมา อายุ ๕๖ ปี เพศหญิง อยู่ในพื้นที่ตำบลในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา ปฏิเสธการไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายแรกของคลัสเตอร์หมู่บ้านดวงพร มีอาชีพเป็นช่างเสริมสวยและสักคิ้ว โดยให้บริการนอกสถานที่ ทำให้มีการแพร่ระบาดในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอพิมาย
รง.แปรรูปไก่ระบาดไม่หยุด
จากนั้นวันอังคารที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม
นพ.วิชาญ คิดเห็น เปิดเผยว่า “วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒ ราย โดยเป็นเด็กทั้ง ๒ ราย ติดจากผู้ปกครองในคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ CPF สระบุรี ประกอบด้วย เด็กหญิง อายุ ๔ ปี และอายุ ๑๑ ปี ส่วนภาพรวมในโคราช มีผู้ป่วยสะสม ๙๕๘ ราย รักษาหาย ๘๗๖ ราย ยังรักษาอยู่ ๖๙ ราย และเสียชีวิต ๑๓ ราย ซึ่งในพื้นที่อำเภอเมืองยางและอำเภอพระทองคำ เป็น ๒ พื้นที่ ที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อตั้งแต่มีการระบาดระลอกที่ ๓ สถานการณ์ขณะนี้ในพื้นที่อำเภอเมืองและปากช่อง ยังเป็นพื้นที่ที่น่ากังวล แต่อำเภอเมืองไม่พบผู้ป่วยรายใหม่มาหลายวันแล้ว แต่ที่อำเภอปากช่องยังมีการติดเชื้อ เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดสระบุรี และในช่วงวันหยุดมีคนจากพื้นที่ภาคกลางเดินทางมาเที่ยวพักผ่อน”
“สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนของโคราช เมื่อมีการจัดสรรวัคซีนมาที่โคราช จะมีคณะกรรมการจัดสรรวัคซีน ที่แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา โดยดูปัจจัย ๓ เรื่อง ดังนี้ ๑.ฐานประชากรที่จะฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่ม ๗ โรคเสี่ยง ก็จะดูว่าอำเภอใดมีฐานประชากรกลุ่มนี้ ก็จะจัดสรรไป ๕๐% ๒.ผู้ที่ลงทะเบียนจองเข้ามาก็จะจัดสรรให้ ๒๕% และ ๓.เรื่องการระบาดในพื้นที่อีก ๒๕% ทั้งหมดนี้ คือ ๓ ปัจจัยหลักที่จะจัดสรรวัคซีนไปยังแต่ละพื้นที่ และลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ในกรณีที่วัคซีนมาเร่งด่วนและรวดเร็ว ก็จะมีหลักเกณฑ์อื่นในการจัดสรร โดยกลุ่มเป้าหมายในโคราช ตั้งไว้ประมาณ ๑.๙ ล้านคน โดยสามารถฉีดวัคซีนรายใหม่เมื่อวานนี้ (๗ มิถุนายน ๒๕๖๔) ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ราย แต่ศักยภาพจริงๆ ของเรา คาดว่า อาจจะฉีดได้มากถึง ๓๐,๐๐๐ รายต่อวัน”
ยังไม่พบสายพันธุ์อินเดีย
“ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า โคราชพบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ สายพันธุ์อินเดีย ๒ ราย ขอยืนยันว่าเป็นการแถลงข่าวจากส่วนกลางจริง ซึ่งมีการออกข้อมูลมาเป็นตาราง เมื่อสื่อมวลชนเห็นก็นำไปเสนอข่าวว่า โคราชพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดีย ๒ ราย และเมื่อมีข่าวออกไปเช่นนั้น จึงตรวจสอบดูว่า เราได้ส่งเชื้อผู้ป่วยไปตรวจสอบหาสายพันธุ์หรือไม่ ซึ่งส่งไปจริง แต่ผลออกมาเป็นสายพันธุ์อังกฤษทั้งหมด ส่วนสายพันธุ์อินเดีย ๒ รายนี้ ปรากฏว่า อยู่ในพื้นที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ” นพ.วิชาญ กล่าว
ค้นหาเชิงรุก
นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สสจ.นครราชสีมา รายงานผลการดำเนินงานตรวจค้นหาเชิงรุกในจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ ๑-๑๑ มิถุยายน ๒๕๖๔ ที่กำหนดไว้ ๕ กลุ่ม และมีเป้าหมายการตรวจ ๕,๐๐๐ ราย ว่า “วันนี้ตรวจไปแล้วในพื้นที่อำเภอโนนสูง สูงเนิน ปากช่อง และชุมพวง รวม ๓,๓๒๐ ราย พบผู้ติดเชื้อ ๑ ราย ที่ตำบลท่าลาด อำเภอชุมพวง โดยพบเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เนื่องจากผู้ป่วยเดินทางไปอยู่กับพ่อในแคมป์ก่อสร้างที่กรุงเทพมหานคร สำหรับพื้นที่ค้นหาที่ยังเหลืออยู่ จะอยู่ในการรับผิดชอบของเทศบาลนครนครราชสีมา”
นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “การค้นหาเชิงรุก ทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดรอบที่ ๑ เพื่อสุ่มในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ขณะนี้ที่เป็นปัญหาอยู่ คือ แคมป์คนงาน และโรงงานต่างๆ จะเห็นว่า หลายโรงงานในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ มีการติดเชื้อภายในหลายราย เมื่อมีผู้ติดเชื้อก็จะต้องปิดโรงงาน ทำให้เกิดความเสียหายมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะโคราช ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ เมื่อย้ายมารับตำแหน่งก็ลงพื้นที่โรงงานต่างๆ เพื่อให้โรงงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอฝากไปยังทุกอำเภอว่า ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ แต่สิ่งที่แตกต่างกับกรุงเทพมหานคร คือ แคมป์คนงานบ้านเราจะอยู่ในพื้นที่จนกว่างานจะเรียบร้อย แต่ที่กรุงเทพฯ เมื่อหมดวัน เขาก็จะแยกย้ายไปพักผ่อน ทำให้การติดเชื้อแพร่กระจายในวงกว้าง แต่โคราชจะต้องไม่ประมาท เพราะบางครั้งเจ้าของโครงการอาจจะเคลื่อนย้ายคนงานมาจากพื้นที่อื่น หากพบก็ขอให้ทำตามมาตรการและประกาศของจังหวัด”
ยังติดตามโรงงานเจ้าสัว
“โคราชคนอีสาน” สอบถามประเด็นของโรงงานกุนเชียง หลังจากเปิดดำเนินกิจการว่า มีการติดตามผลอย่างไร นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ ตอบว่า “เราได้กำกับและควบคุมตลอด ขณะนี้กำลังตรวจสอบรายชื่อพนักงานที่ตรวจหาเชื้อครบ ๓ ครั้งเพิ่ม เพื่อดูว่า จะสามารถเข้าทำงานได้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีการติดตามการดำเนินกิจการตามมาตรการที่คณะกรรมการฯ แนะนำไว้ และยังมีการเฝ้าระวังอยู่ว่า จะมีการติดเชื้อเพิ่มอีกหรือไม่”
นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวเสริมว่า “เรื่องโรงงานเจ้าสัว เรายังติดตามอย่างใกล้ชิด และได้วางมาตรการให้เขาปฏิบัติตาม มีการตรวจสอบรายชื่อผู้ที่จะเข้าไปทำงาน ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขตามที่คณะกรรมการฯ วางไว้ ก็จะไม่สามารถเข้าทำงานได้ ส่วนกำลังการผลิตก็คงจะลดลง เนื่องจากมีพนักงานน้อยลง ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ เมื่อคณะกรรมการฯ วางมาตรการไว้ ก็จะมีการติดตามตลอด เพื่อให้ประชาชนได้คลายกังวล และเราก็ทำงานกันอย่างจริงจัง ดังนั้น การทำงานในเชิงรุกจึงสำคัญ เพื่อตัดวงจรต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วที่สุด”
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๒ ราย อยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง ต.หนองจะบก และอำเภอเทพารักษ์ ต.เทพารักษ์ สรุปมีผู้ติดเชื้อสะสม ๙๖๐ ราย รักษาหาย ๘๘๐ ราย ยังรักษาอยู่ ๖๗ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๓ ราย โดยผู้ป่วยสะสมกระจายในพื้นที่ ๓๐ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ๔๑๔ ราย, ปากช่อง ๑๖๗ ราย, สีคิ้ว ๔๗ ราย, ด่านขุนทด ๔๘ ราย, สูงเนิน ๑๓ ราย, ชุมพวง ๓๐ ราย, บัวใหญ่ ๓๑ ราย, พิมาย ๑๕ ราย, โนนไทย ๑๑ ราย, ประทาย ๔๙ ราย, ปักธงชัย ๑๒ ราย, ครบุรี ๑๖ ราย, บัวลาย ๑ ราย, เสิงสาง ๗ ราย, โนนสูง ๒๓ ราย, คง ๙ ราย, โชคชัย ๙ ราย, ห้วยแถลง ๙ ราย, ขามทะเลสอ ๕ ราย, เทพารักษ์ ๒ ราย, หนองบุญมาก ๔ ราย, จักราช ๔ ราย, เฉลิมพระเกียรติ ๒ ราย, ลำทะเมนชัย ๑ ราย, สีดา ๓ ราย, โนนแดง ๑ ราย, บ้านเหลื่อม ๓ ราย, วังน้ำเขียว ๑๓ ราย, แก้งสนามนาง ๗ ราย และขามสะแกแสง ๔ ราย โดยมี ๒ อำเภอที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ คือ อำเภอพระทองคำ และเมืองยาง
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๒ วันพุธที่ ๙ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
83 1,621