June 18,2021
คนโคราชการ์ดอย่าตก วัคซีนยี่ห้ออะไรก็ฉีดได้
โคราชสถานการณ์โควิด-๑๙ ยังน่าห่วง ต้องเฝ้าระวังคลัสเตอร์ครอบครัว ส่วนคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ยังระบาด กระจายสู่วงที่ ๓ สสจ.ชี้หากสถานการณ์ดีขึ้น อาจจะพิจารณาผ่อนปรนธุรกิจ “ผู้ว่าฯ กอบชัย” เผย จำกัดกลุ่มเสี่ยงได้แล้ว ย้ำคนโคราชการ์ดอย่าตก ชวนไปลงทะเบียนรอรับวัคซีน “ยี่ห้ออะไรก็ฉีดได้หมด”
ความคืบหน้าในวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม
นพ.วิญญู จันทร์เนตร เปิดเผยว่า “วันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่ ๑๓ ราย มีผู้ป่วยสะสม ๙๗๓ ราย รักษาหาย ๘๘๕ ราย ยังรักษาอยู่ ๗๕ ราย และเสียชีวิตสะสม ๑๓ ราย นอกจากนี้ยังมีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนสะสม ๑๓๑,๒๘๗ ราย คิดเป็นร้อยละ ๖.๙๖ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ร้อยละ ๗๐ ของประขากรทั้งหมด หรือ ๑,๘๕๕,๐๒๓ ราย จากจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ ๒.๗ ล้านคน สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ที่พบในวันนี้ อยู่ที่อำเภอปากช่อง ๔ ราย แบ่งเป็นตำบลวังไทร ๑ ราย ติดจากการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงจังหวัดระยอง และตำบลปากช่อง ๓ ราย ติดจากการสัมผัสผู้ป่วยจากจังหวัดสระบุรี แต่ไม่เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ อำเภอเมือง ๘ ราย แบ่งเป็นตำบลหนองจะบก ๕ ราย ตำบลในเมือง ๒ ราย และตำบลหนองไผ่ล้อม ๑ ราย โดยมี ๗ ราย มีจุดสัมผัสร่วมกัน คือ ที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี่ และอยู่ที่อำเภอสูงเนิน ตำบลสูงเนิน ๑ ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงกรุงเทพมหานคร”
ผุดคลัสเตอร์ครอบครัว
นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สสจ.นครราชสีมา ในฐานะนักระบาดวิทยา รายงานสถานการณ์คลัสเตอร์สำคัญ ว่า “คลัสเตอร์ที่พบใหม่วันนี้ มีรายที่ ๙๕๙ เป็นรายแรกที่เราพบ เพศหญิงอายุ ๕๓ ปี ประกอบอาชีพค้าขายอยู่ที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี่ โดยพักอาศัยอยู่ที่ตำบลหนองจะบก มาทำงานด้วยรถโดยสารประจำทางสาย ๑๗ แต่ตอนกลับจะกลับพร้อมกับคนในครอบครัว ซึ่งการใช้ชีวิตของเขา ไม่พบการเดินทางไปต่างจังหวัด จากนั้นเริ่มมีอาการปวดเมื่อยและปวดศีรษะ โดยวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีอาการหอบเหนื่อยง่าย จึงเดินทางไปโรงพยาบาลเทพรัตน์ แต่เนื่องจากค่าออกซิเจนต่ำ จึงนำตัวเข้าห้อง ICU และผลตรวจออกมาวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบว่า ติดเชื้อโควิด-๑๙ สำหรับชีวิตประจำวัน ไม่ค่อยได้พบปะเพื่อนบ้านมากนัก เช้ามาก็ไปทำงาน แต่จะมีเด็กในครอบครัวที่ดูแลเป็นพิเศษ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจึงมีเพียงคนในครอบครัว และเครือญาติที่อยู่บ้านอีกหลังหนึ่ง เมื่อนำตัวผู้สัมผัสเสี่ยง ๗ รายมาตรวจหาเชื้อ พบว่า มี ๔ รายที่ติดเชื้อ ส่วนอีก ๓ รายนั้น มีความน่าเป็นห่วง เพราะพบว่ามีการเดินทางไปกรุงเทพฯ แต่ผลตรวจออกมาไม่พบเชื้อ เราจึงคิดว่า รายที่ ๙๕๙ ติดเชื้อมาจากการพบปะผู้คนจากการทำงาน คือ ขายของอยู่ที่โรงพยาบาลฯ”
“การระบาดยังแพร่กระจายไปสู่บ้านของเครือญาติด้วย ๒ ราย โดยรายที่ ๙๖๘ เป็นหลานของรายที่ ๙๕๙ ซึ่งหลานคนนี้ไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนบ้านครูกาน ถนนกิ่งสวายเรียง ซึ่งในโรงเรียนนี้มีเด็กเข้าเรียนด้วยกัน ๙ คน เรียนทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. ผู้ป่วยรายที่ ๙๖๘ เป็นนักเรียนของโรงเรียนมารีย์วิทยา โดยเมื่อเด็กคนนี้ติดเชื้อ จึงจะตามหาเด็กอีก ๙ คน ที่เข้าเรียนพิเศษร่วมกัน แต่โรงเรียนบอกว่า รู้จักแค่ชื่อเล่น จึงต้องประสานงานกับเทศบาลนครนครราชสีมา ขอรายชื่อเด็กทั้ง ๙ คน เมื่อติดตามได้ จึงให้ทั้ง ๙ คน ไปตรวจหาเชื้อ ดังนั้น ขอแนะนำถึงโรงเรียนสอนพิเศษทุกแห่งว่า ขอให้เก็บข้อมูลชื่อจริงและนามสกุลของเด็กด้วย อย่างน้อยก็สามารถติดตามได้ นอกจากนี้ เด็กรายที่ ๙๖๘ อาศัยอยู่ในบ้านร่วมกับครอบครัวรวม ๕ ราย โดยมีรายที่ ๙๖๙ ติดเชื้ออีกหนึ่งคน ซึ่งทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี่เช่นกัน และรายที่ ๙๗๓ เป็นคนขายของร้านข้างๆ รายที่ ๙๕๙ ทั้งคู่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันมาก แต่รายที่ ๙๗๓ จะชอบเล่นกับเด็กรายที่ ๙๖๘ จึงอาจจะทำให้เชื้อระบาดสู่กันได้ ในส่วนของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี่ทั้งหมด ได้ติดตามไว้แล้ว ส่วนคนในครอบครัวจะต้องกักตัว ๑๔ วัน โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและเทศบาลในพื้นที่คอยกำกับดูแล”
นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา ต้องลงไปดูโรงเรียนสอนพิเศษ ทำไมถึงไม่มีข้อมูลเด็ก เด็กก็ไม่ได้เดินทางไปโรงเรียนเอง พ่อแม่จะต้องมาส่ง เก็บเงินค่าสอนก็จะต้องมีข้อมูล มีรายรับรายจ่าย จะเปิดสอนเด็กจะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ส่วนโรงพยาบาลเซนต์แมรี่ ก็จะต้องดูว่า แผนกไหนหรือส่วนไหน ที่ผู้ติดเชื้อมาสัมผัส อาจจะต้องมีการสอบสวนโรค หากมีจุดไหนที่ต้องปิดก็ให้เร่งดำเนินการ เพราะว่าสถานพยาบาลจะต้องเป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัยที่สุด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เวลาเจอกรณีแบบนี้ จะต้องปิดให้บริการในบางส่วน เพื่อความปลอดภัยต่อพนักงานและประชาชนที่มาติดต่อ จะต้องยึดหลักสาธารณสุขในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด”
ซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม ๑ แสนโดส
ในระเบียบวาระที่ ๔.๒ เรื่องขอรับการสนับสนุนวัคซีนซิโนฟาร์มจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (อบจ.นครราชสีมา) นพ.วิญญู จันทร์เนตร เปิดเผยว่า “สืบเนื่องจากวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีโทรสารในกระทรวงมหาดไทยถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด โดยนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในประกาศ ศบค. เรื่องแนวทางบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ซึ่งมีสาระสำคัญ ข้อที่ ๕ ว่า โดยที่ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ที่ผลิตหรือนำเข้ามายังมีจำนวนจำกัด หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ มาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ ให้จัดหาจากกรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุขแก่ประชาชน และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-๑๙ หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด การดำเนินการตามวรรคหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นไปตามแนวทาง หรืออยู่ในการกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ที่แตกต่างกัน และเพื่อให้การกระจายวัคซีนในห้วงเวลาวิกฤตมีความเป็นธรรมมากที่สุด ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนและให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวก แก่ประชาชนในพื้นที่ในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมของประเทศ”
“สรุปเนื้อหา คือ สามารถอนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาวัคซีนเพื่อให้บริการแก่ประชาชน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการบริหารจัดการ ซึ่งวันนี้สำนักงานสาธารณสุขจะขอสนับสนุนวัคซีนจาก อบจ. จำนวน ๑ แสนโดส เพื่อจัดให้กับประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา” นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าว
นายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม รองนายก อบจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “อบจ.มีความประสงค์จะสนับสนุนวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา จากการหารือพบว่า วัคซีนที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลางนั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และจากประกาศ ศบค. ที่ระบุว่า ต้องการให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและไปสู่ประชาชนอย่างรวดเร็ว อบจ.จึงมีความยินดีที่จะให้การสนับสนุนวัคซีน และขอมติจากที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ เพื่อนำเรื่องนี้ไปพิจารณาในการจัดสรรงบประมาณว่า จะสามารถใช้งบประมาณจากส่วนใดได้บ้าง และจัดทำระเบียบต่างๆ ให้เรียบร้อย”
นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “ต้องขอขอบคุณ อบจ. ที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และถือเป็นการทำงานที่สมบทบาทหน้าที่ของส่วนท้องถิ่น โดยสรุปง่ายๆ ว่า เมื่อ อบจ.ขอมา คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดฯ จะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะส่งความเห็นชอบนี้ไปยัง ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่ง ศบค.จะตรวจสอบตัดสินใจอีกครั้งว่า จะได้หรือไม่ หากอนุญาตให้ทำได้ ก็ต้องดูว่า จะไปซื้อจากหน่วยงานใด ซึ่ง อบจ.มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า จะจัดซื้อจากราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์”
ยังพบผู้ติดเชื้อทุกวัน
จากนั้น วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก ๕ ราย โดยอยู่ในพื้นที่ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง ทั้ง ๕ ราย วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก ๒ ราย อยู่ในพื้นที่ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง ๑ ราย และอีก ๑ ราย อยู่ในพื้นที่ตำบลพลับพลา อำเภอโชคชัย วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๙ ราย อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้ ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง ๕ ราย ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ๒ ราย ตำบลเสมาใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ ๑ ราย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ๑ ราย วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๒ ราย อยู่ในพื้นที่ตำบลเสมาใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ ๑ ราย และตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง ๑ ราย
โคราชยังมีคลัสเตอร์ระบาด
วันอังคารที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงาน สสจ.นครราชสีมา ร่วมประชุม
นพ.วิญญู จันทร์เนตร เปิดเผยว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ จำนวน ๓ ราย อยู่ในพื้นที่ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง ๑ ราย มีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙, ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ๑ ราย มีประวัติเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงกรุงเทพฯ และตำบลพันชนะ อำเภอด่านขุนทด ๑ ราย มีประวัติเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงคือกรุงเทพฯ สรุปมีผู้ป่วยสะสม ๙๙๔ ราย รักษาหาย ๙๐๖ ราย ยังรักษาอยู่ ๗๕ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๓ ราย
คลัสเตอร์ ต.หนองจะบก
นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานคลัสเตอร์สำคัญในจังหวัดฯ ว่า “คลัสเตอร์ครอบครัว ตำบลหนองจะบก อำเภอเมือง ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม โดยที่โรงเรียนสอนพิเศษบ้านครูกาน เทศบาลนครนครราชสีมาเป็นผู้ดูแลและประสานให้เด็กทั้ง ๙ คน เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ แล้ว ผลยังไม่พบเชื้อ นอกจากนี้เทศบาลฯ ยังลงพื้นที่ไปให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการด้านสาธารณสุข ซึ่งพบว่า ที่โรงเรียนสอนพิเศษ มีจุดเสี่ยงหลายจุด เช่น แก้วน้ำที่จะทำความสะอาด ๗ วันต่อครั้ง และปากกาหรือดินสอที่เด็กต้องใช้งานร่วมกัน ซึ่งหลังจากตรวจหาเชื้อรอบแรกยังไม่พบการติดเชื้อเพิ่ม โดยวันนี้จะเป็นการตรวจเชื้อครั้งที่ ๒ ก็ต้องรอดูว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไร”
กระจายวงที่ ๓
“เมื่อสอบสวนโรคแล้ว พบว่า อาจจะมีความเกี่ยวเนื่องกับ กลุ่มผู้ป่วยค้นหาเชิงรุกของเทศบาลฯ ที่พักอยู่รีสอร์ทบ้านไผ่ พบว่า ผู้ป่วยรายที่ ๙๗๑ เดินทางมาจากจังหวัดสมุทรปราการ เข้าพักที่รีสอร์ทแห่งนี้ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าของร้านนวดที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี่ แต่เจ้าของร้านรายนี้ ตรวจหาเชื้อแล้วไม่พบการติดเชื้อ และเจ้าของร้านยังอยู่ในผังผู้สัมผัสเกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์นี้ด้วย ในส่วนของพนักงานโรงพยาบาลฯ ร้านขายของเล่น และห้องนวด ซึ่งมีพนักงานเกี่ยวข้องหลายจุด โดยโรงพยาบาลฯ ได้ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว และได้นำตัวพนักงานที่มีการสัมผัสเสี่ยงสูงไปกักตัว จำนวน ๒๔ คน ในสถานที่ที่โรงพยาบาลฯ จัดเตรียมไว้ โดยมีเทศบาลฯ คอยเข้าไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด”
นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ กล่าวอีกว่า “สำหรับคลัสเตอร์ที่อำเภอปากช่อง เกี่ยวข้องกับโรงงานแปรรูปไก่ จังหวัดสระบุรี วันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่ ติดเชื้อจากพ่อแม่ที่เดินทางมาเยี่ยมลูกที่อำเภอปากช่อง โดยคลัสเตอร์นี้มีพนักงานทำงานอยู่ในโรงงาน เกิดเป็นวงที่ ๑ จำนวน ๗ คน เมื่อเดินทางกลับมาบ้านหลังจากโรงงานพบการระบาด นำเชื้อมาติดคนในครอบครัว เกิดเป็นวงที่ ๒ จำนวน ๖ ราย ซึ่งล่าสุดเคสของวันนี้ รายที่ ๙๘๒ เป็นลูก ติดเชื้อจากรายที่ ๙๔๙ ซึ่งเป็นพนักงานของโรงงาน นอกจากนี้ผู้ป่วยรายที่ ๙๕๒ ในวงที่ ๒ ยังระบาดไปสู่รายที่ ๙๗๙ เกิดเป็นวงที่ ๓ จำนวน ๑ ราย และมีผู้ติดเชื้อที่อำเภอสีคิ้วอีก ๑ ราย”
“คลัสเตอร์ครอบครัวอำเภอปากช่อง โดยรายแรก คือ ผู้ป่วยรายที่ ๙๗๖ กลับมาจากพื้นที่งานก่อสร้างที่ทองหล่อ (กทม.) วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เดินทางกลับมาหาครอบครัว ทำให้คนในครอบครัวติดเชื้อทั้งหมด ๕ ราย รวมถึงเด็กอายุ ๑๐ เดือนด้วย ซึ่งผู้ป่วยรายที่ ๙๗๖ ไปซื้อของที่ร้านค้าของรายที่ ๙๗๗ ทำให้เกิดการติดเชื้อกระจายสู่วงที่ ๒ จำนวน ๓ ราย สำหรับการติดเชื้อในครอบครัวนี้ คาดเกิดจากการกักตัว เพราะคนในครอบครัวยังอาศัยอยู่กับผู้ป่วย จึงทำให้เกิดการติดเชื้อทุกคน” นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ กล่าว
ผู้ป่วยให้ข้อมูลไม่ชัดเจน
นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานเพิ่มเติมอีกว่า “สำหรับไทม์ไลน์ที่สำคัญ ผู้ป่วยรายที่ ๙๘๗ มีอาชีพรับจ้างเป็นแม่บ้าน ที่กรุงเทพฯ มีการติดเชื้อจากนายจ้างที่อาศัยร่วมบ้านด้วยกัน ในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม-๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ อยู่ภายในบ้านกับนายจ้าง แถวเพลินจิตร ชิดลม กรุงเทพฯ จากนั้นวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ ผู้ป่วยเดินทางพร้อมกับนายจ้างไปจังหวัดกำแพงเพชร วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ เดินทางกลับกรุงเทพฯ ซึ่งในวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ ผู้ป่วยขอนายจ้างเดินทางกลับมาบ้านที่อำเภอปากช่อง วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ จึงเดินทางกลับอำเภอปากช่อง โดยให้น้องสาวมาส่ง ในเวลา ๑๖.๐๐ น. มีรายงานว่า น้องชายของนายจ้างที่จังหวัดกำแพงเพชร ติดเชื้อโควิด-๑๙ รวมถึงนายจ้างอีก ๒ คนด้วย วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ อสม.เข้าคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไอ อ่อนเพลีย วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น. ญาติโทรมาที่ห้องนายแพทย์ สสจ. ถามว่า มีผู้ป่วยสัมผัสเสี่ยงสูงและผู้ติดเชื้อ แต่ทำไมยังไม่ได้รับการรักษา เมื่อติดตามผู้ป่วยรายนี้ เขาแจ้งว่า สัมผัสผู้ติดเชื้อ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดนายจ้างและผู้ที่โทรเข้ามา จากนั้นจึงนำตัวเข้าตรวจหาเชื้อ ซึ่งญาติโทรมาติดตามผลเรื่อยๆ แต่ไม่ได้แจ้งข้อมูลที่ชัดเจน สอบถามเพียงว่า ทำไมไม่ไปรับผู้ป่วยมารักษา ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ ทราบผลว่า ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อโควิด-๑๙ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ ผู้ป่วยไม่ได้บอก อสม.ว่า ตนสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-๑๙ แจ้งเพียงว่า เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง และมีการพูดคุยกับเพื่อนบ้านโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยประมาณ ๕ นาที โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ผู้ป่วยให้มา เป็นผู้สัมผัสที่อยู่ในกรุงเทพฯ รวมทั้งน้องสาวและน้องเขย ประเด็นเคสนี้ คือ ผู้ป่วยกลับมาแล้วไม่แจ้งข้อมูลที่ชัดเจน แม้แต่ญาติที่โทรมาแจ้งก็ไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนเพิ่มเติม”
ยังไม่ผ่อนปรนกิจการ
นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวถึงกรณีการขออนุญาตให้ผ่อนปรนธุรกิจนวดแผนไทย ร้านอินเทอร์เน็ต ร้านคอมพิวเตอร์ และฟิตเนส ว่า “เดิมทีธุรกิจนวดแผนไทย ผ่อนปรนให้มีการนวดฝ่าเท้า ถ้าจะขยายมากกว่านี้ก็จะเหมือนการผ่อนปรนร้านอินเทอร์เน็ต ร้านเกม และฟิตเนส เหตุผลที่ผมเสนอที่ประชุมว่า ยังไม่อนุญาต เพราะเมื่อเข้าไปแล้วควบคุมได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การสวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งการอยู่ในสถานที่เหล่านี้ก็ใช้เวลานาน ขอให้สถานการณ์ของโคราชดีกว่านี้ก่อน ถึงจะขอนำเข้าที่ประชุมเพื่อผ่อนปรนธุรกิจต่อไป”
นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา สรุปว่า “ยังคงประกาศเหมือนเดิม เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อยังมีให้เห็นต่อเนื่องทุกวัน มีช่วงที่ผ่านมาไม่พบผู้ป่วยเพิ่มอยู่วันหนึ่ง แต่จากนั้นก็พุ่งขึ้นเป็น ๑๓ ราย แสดงว่าสถานการณ์การติดเชื้อยังไม่นิ่ง เมื่อยังไม่นิ่งก็ไม่ต้องการให้ผู้ประกอบการประมาท ซึ่งเราก็ต้องการช่วย เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ จะช่วยเหลือกันเท่าที่จะทำได้ แต่เรื่องความเสี่ยงติดเชื้อก็ยังสำคัญ ดังนั้นจึงจะต้องมีประกาศตามเดิมไว้ก่อน ซึ่งร้านเกมขณะนี้มี ๒๐๐ กว่าแห่ง แต่ที่ขอมามี ๒๐ แห่ง และมีใบอนุญาตเปิดเพียง ๑๖ แห่ง หากสังเกตสภาพแวดล้อมของร้านเกม จะพบว่า อยู่ในห้องแอร์ โต๊ะมีความชิดติดกัน และเล่นแต่ละครั้งก็ใช้เวลานานมาก หากมีเวลาก็ต้องการให้ผู้ประกอบการมาพุดคุยกันว่า จะสามารถลดอะไรได้บ้าง เพื่อให้กิจการเดินไปต่อได้ ถ้ายังใช้สถานที่เท่าเดิม มีคนเท่าเดิม เวลาเท่าเดิม คงจะให้ทำไม่ได้ ผมมองว่า หลายกิจการที่จะต้องการเปิด ขอให้มีมาตรการเพื่อประคับประคองกิจการให้อยู่ได้เสียก่อน ขนาดโรงเรียนเปิดเทอมยังลดจำนวนคนลง สลับวันเรียน ก็ขอฝากไว้ให้นำไปปรับแก้ไข จากนั้นค่อยเสนอหลังจากสถานการณ์ดีขึ้น และในส่วนของโรงภาพยนตร์ขอให้อดใจรอ ขอให้สถานการณ์โควิดคลี่คลายกว่านี้ จากนั้นจึงจะมีการเปิดงานด้านเศรษฐกิจอีกมากมาย”
จำกัดกลุ่มเสี่ยงได้แล้ว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๗.๐๐ น. นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ในจังหวัดนครราชสีมา ว่า “ขณะนี้สามารถจำกัดกลุ่มเสี่ยงได้แล้ว แต่ก็ยังมีความเป็นห่วงคนงาน แคมป์ก่อสร้างต่างๆ เรือนจำทั้ง ๖ แห่ง นักโทษประมาณ ๒ หมื่นคน และพื้นที่ชุมชนที่หนาแน่น หากสถานการณ์ควบคุมได้ พื้นที่โคราชก็พร้อมเปิดรับภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว และขอคนโคราชช่วยกันการ์ดอย่าตก เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยดี ส่วนการผ่านคลายกิจกรรม สามารถทำได้ภายใต้มาตรการทางธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยขณะนี้ผ่อนคลายให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มได้ไม่เกิน ๑๐๐ คน เช่น การประชุม และสัมมนา โดยผู้จัดจะต้องนำเสนอมาตรการต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่”
“สำหรับการจัดสรรวัคซีน รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ ขอให้ไปลงทะเบียนไว้ รอวันนัดหมาย ขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไรก็ฉีดได้หมด อาจจะมีข้อแตกต่างกันบ้าง เช่น ระยะเวลาการสร้างภูมิคุ้มกัน ซิโนแวคเข็มสองไม่เกิน ๔ สัปดาห์ ถ้าเป็นแอสตร้าเซนเนก้า อาจจะ ๖-๗ สัปดาห์ การจัดสรรขณะนี้รัฐบาลก็ให้มาเรื่อยๆ” นายกอบชัย กล่าว
อนึ่ง ข้อมูล ณ วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยมีผู้ป่วยสะสมในระลแ๙อกที่ ๓ ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๔ เป็นต้นมา จำนวน ๙๙๔ ราย รักษาหาย ๙๑๐ ราย ยังรักษาอยู่ ๗๑ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๓ ราย โดยผู้ป่วยสะสมกระจายในพื้นที่ ๓๐ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ๔๒๕ ราย ปากช่อง ๑๘๓ ราย สีคิ้ว ๔๗ ราย ด่านขุนทด ๔๙ ราย สูงเนิน ๑๔ ราย ชุมพวง ๓๐ ราย บัวใหญ่ ๓๓ ราย พิมาย ๑๕ ราย โนนไทย ๑๑ ราย ประทาย ๔๙ ราย ปักธงชัย ๑๒ ราย ครบุรี ๑๖ ราย บัวลาย ๑ ราย เสิงสาง ๗ ราย โนนสูง ๒๓ ราย คง ๙ ราย โชคชัย ๑๐ ราย ห้วยแถลง ๙ ราย ขามทะเลสอ ๕ ราย เทพารักษ์ ๒ ราย หนองบุญมาก ๔ ราย จักราช ๔ ราย เฉลิมพระเกียรติ ๔ ราย ลำทะเมนชัย ๑ ราย สีดา ๓ ราย โนนแดง ๑ ราย บ้านเหลื่อม ๓ ราย วังน้ำเขียว ๑๓ ราย แก้งสนามนาง ๗ ราย และขามสะแกแสง ๔ ราย
ทั้งนี้ ยังมี ๒ อำเภอที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ ได้แก่ อำเภอพระทองคำ และเมืองยาง
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๓ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๒ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
67 1,587