June 24,2021
ภาคธุรกิจขอเปิด ๔ อำเภอ รับนักท่องเที่ยวชมศิลปะ มั่นใจเงินสะพัด ๑,๖๐๐ ล.
เอกชนโคราชเสนอขอเปิดเมือง ๔ อำเภอ รับนักท่องเที่ยว ๑ ล้านคน ชมงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ คาดเงินสะพัดกว่า ๑,๖๐๐ ล้านบาท ด้าน รมว.พาณิชย์แนะให้ฉีดวัคซีนแบบจำกัดวง เฉพาะผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้งานจัดได้ พร้อมเปิดตัวรถ Mobile พาณิชย์ (พุ่มพวง) ช่วยประชาชนช่วงโควิดระบาด และรับปากสานต่อโครงการประกันรายได้เกษตรกรเป็นปีที่ ๓
เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๓๐ น. ที่โรงแรมแคนทารี โคราช นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายวิจักร วิเศษน้อย ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และข้าราชการประจำกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้กิจกรรม “จุรินทร์ออนทัวร์” ภาคอีสาน เพื่อรับฟังปัญหาและติดตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมาที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ให้การต้อนรับ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
สำหรับจังหวัดนครราชสีมา กิจกรรมเริ่มต้นด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และคณะ ร่วมประชุมหารือกับทีมเซลล์แมนจังหวัดนครราชสีมา หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และภาคธุรกิจ โดยมี นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา นายธีระ เอื้ออภิธร นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมประชุมด้วย
เปิดเมืองรับการท่องเที่ยว
นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวในที่ประชุมว่า “วันนี้มีข้อเสนอจากการหารือร่วมระหว่างหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา สมาคม SMEs นครราชสีมา BizClub สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และชมรมร้านอาหารนครราชสีมา โดยมีประเด็นนำเสนอ ดังนี้ ประเด็นที่ ๑ สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยในขณะนี้ ทางภาคเอกชนโคราชคิดว่า การแก้ปัญหาของประเด็นนี้ คือ การเปิดเมือง แต่ถ้าเปิดเมืองทั้ง ๓๒ อำเภอ อาจจะเป็นเรื่องยาก จึงเสนอขอเปิดเมืองในบางอำเภอที่จะเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม โดยโคราชจะมีการจัดงาน Thailand Biennale, Korat 2021 หรืองานแสดงศิลปะนานาชาติ ครั้งที่ ๒ ซึ่งครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดกระบี่ เป็นงานที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากประเทศอิตาลี โดยงานนี้ภาครัฐได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดงาน และจัดแสดงผลงานของศิลปิน จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ภายในระยะเวลา ๒ เดือน อาจจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประมาณ ๑ ล้านคน โดยนักท่องเที่ยว ๑ คน จะใช้จ่ายเงินประมาณ ๑,๖๐๐ บาท ดังนั้น อาจจะมีเงินหมุนเวียนประมาณ ๑,๖๐๐ ล้านบาท ในระยะเวลาการจัดงาน จึงเป็นที่มาว่า ทำไมจะต้องเปิดเมือง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และร้านขายของฝากต่างๆ โดย ๔ อำเภอที่จะขอเปิดเมืองประกอบด้วย อำเภอเมือง ปากช่อง วังน้ำเขียว และพิมาย ทั้ง ๔ อำเภอนี้ เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานของศิลปินที่จะมาร่วมในงาน โดยจะขอให้มีการฉีดวัคซีนภายในจังหวัดนครราชสีมา ให้ครอบคลุมประชากร ๗๐% ขอให้มีการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โครงการต่างๆ ที่จัดมาก็เป็นประโยชน์อย่างมาก แต่ยังมีบางเงื่อนไขที่ทำให้ไม่สามารถเขาถึงแหล่งเงินกู้ได้ และต้องการให้กระทรวงพาณิชย์จัดให้โคราชเป็น Korat Select ให้เชื่อมโยงกับ Thailand Select เพื่อคัดสรรสินค้าของดี ของดัง ภายในโคราช นำไปให้ทูตพาณิชย์ของแต่ละประเทศ เป็นเซลล์แมนให้ผู้ประกอบการโคราช ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ขอความร่วมมือในการใช้แพลตฟอร์มที่กระทรวงพาณิชย์มี เพื่อให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการนำสินค้ามาแบ่งเป็นคลัสเตอร์สินค้า เพื่อให้มีความชัดเจนและสามารถช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องตามแนวทาง โดยมีทูตพาณิชย์เป็นเซลล์แมนในการนำเสนอสินค้าให้กับประเทศต่างๆ”
ข้อเสนอช่วยผู้ประกอบการ
“ประเด็นที่ ๒ การเข้าถึงบริการภาครัฐเพื่อผู้ประกอบการรายใหม่ เช่น กิจกรรมของรัฐที่จะช่วยส่งเสริมการขาย แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้เข้าร่วมจะต้องจดทะเบียนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี ซึ่งผู้ประกอบการรายใหม่ยังไม่ถึงจุดนี้ จึงทำให้เข้าถึงบริการของภาครัฐส่วนนี้ไม่ได้ ประเด็นที่ ๓ การค้าในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยและรายเล็กได้เสนอว่า ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมให้ความรู้ด้านกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับการส่งออกและนำเข้าของแต่ละประเทศ ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการรายเล็กอาจจะถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการต่างประเทศ และตามตะเข็บชายแดน โดยจะขอให้มีโกดังพักเก็บสินค้าตามเขตชายแดนต่างๆ เพื่อให้เกิดมาตรฐานและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการนำเข้าและส่งออก และต้องการให้เพิ่มช่องทางการค้าออนไลน์ของแต่ละประเทศ เพราะในแต่ละประเทศมีแนวทางการจำหน่ายสินค้าที่แตกต่างกันไป โดยให้ทูตพาณิชย์ของแต่ละประเทศแจ้งว่า การค้าของแต่ละประเทศจะใช้ช่องทางไหนอย่างไร เพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการของไทย และประเด็นที่ ๔ เรื่องอื่นๆ โดยมีข้อเสนอ ดังนี้ ๑.โครงการต่างๆ ของภาครัฐมีประโยชน์มาก เช่น โครงการคนละครึ่ง และเรารักกัน ซึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างดี จึงเสนอให้มีต่อเนื่องไปตลอดปี ๒๕๖๕ โดยมีการควบคุมราคาและกระจายธุรกิจมากขึ้น ๒.ต้องการให้ลดภาษีนิติบุคคล ในปี ๒๕๖๔-๒๕๖๖ ไม่เกินร้อยละ ๑๐-๑๕ ๓.ต้องการให้ขยายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีท้องถิ่นอื่นๆ ในอัตราร้อยละ ๑๐ ที่จัดเก็บอยู่แล้ว ขยายระยะเวลาไปอีกอย่างน้อย ๓ ปี และ ๔.ต้องการให้ช่วยลดอัตราการส่งเงินสมทบประกันสังคม ทั้งลูกจ้างและนายจ้าง ให้เหลือ ร้อยละ ๒ ในระยะเวลา ๓ ปี” นายศักดิ์ชาย กล่าว
ข้อเสนอภาคอุตสาหกรรม
นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวในที่ประชุมว่า “สำหรับภาคอุตสาหกรรม มีประเด็นเสนอเกี่ยวกับกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด ๔ ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ ๑ ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคพาณิชยกรรม ที่ต้องการส่งออก ซึ่งโคราชเป็นเมืองแห่งการส่งออกประจำภาคอีสาน โดยมีอัตราการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ ๓๒-๓๔ ของภูมิภาค จึงมีปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ และมีราคาค่อนข้างแพง ถ้ากระทรวงพาณิชย์สามารถช่วยได้ ก็จะทำให้การส่งออกดีขึ้น และอาจจะมีผลไปถึงสินค้าทางการเกษตรด้วย คือ หากการส่งออกไหลลื่น ราคามันสำปะหลังก็จะเพิ่มมากขึ้น ประเด็นที่ ๒ เมื่อปีที่แล้ว มีการทำ business matching ภายในงาน Agro fex แม้ว่าจะไม่ได้เชื่อมโยงกับงาน China International Import Expo เนื่องจากไม่ตรงวันกัน แต่กระทรวงพาณิชย์ก็สามารถทำ business matching ออนไลน์ ให้มียอดขายมากถึง ๕๑๑ ล้านบาท และยอดขายของทางจังหวัดด้วย ๒๗ ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการได้ขายสินค้าหลายชนิด ปีนี้จึงต้องการให้กระทรวงพาณิชย์มาทำเรื่อง business matching ออนไลน์อีกครั้ง และปีนี้ งาน Agro fex จะจัดตรงวันกับงาน China International Import Expo คือ วันที่ ๕-๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔”
“ประเด็นที่ ๓ สินค้าเกษตรหลายตัวที่ไม่ใช่สินค้าหลัก ประสบปัญหาในการขายช่วงต้นฤดู ทั้ง ข้าวโพดหวาน และขนุน ทำให้ผู้ประกอบการต้องมาช่วยเกษตรกร จึงต้องการให้กระทรวงพาณิชย์เป็นพี่เลี้ยงในด้านแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ ประเด็นที่ ๔ การส่งเสริมสินค้าแปรรูปทางการเกษตร เพื่อการส่งออก กรณีของข้าวโพดหวาน หากสามารถจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อให้เกิดโรงงานแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ขนาดไม่ใหญ่มาก ให้สินค้ากลายเป็นผลิตภัณฑ์กระป๋อง หรืออย่างอื่น ก็จะช่วยให้สินค้าถูกกระจายออกไป” นายหัสดิน กล่าว
สรุปการหารือ
ภายหลังการประชุม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แถลงสรุปประเด็นสำคัญในการประชุม ว่า “การประชุมครั้งนี้ ได้พูดคุยหารือกันถึง ๔ เรื่องหลัก คือ ๑.ช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ ถ้าเป็นไปได้ โคราชจะร่วมมือกับเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จัดงาน Thailand Biennale, Korat 2021 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวที่โคราช โดยหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ ๑ ล้านคน ทำให้เงินสะพัดรวมประมาณ ๑,๖๐๐ ล้านบาท โดยงานนี้จะต้องเปิดเมืองอย่างน้อยใน ๔ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ปากช่อง วังน้ำเขียว และพิมาย ซึ่งการจัดงานนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการฉีดวัคซีนครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ ศบค.กำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด จะเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดสรรวัคซีนต่อไป โดยวันนี้ผมมีความเห็นว่า ภายใต้ข้อจำกัดของวัคซีน อาจจะมีการฉีดแบบจำกัดวง ในแต่ละอำเภอ เพื่อให้สามารถจัดงานนี้ได้ โดยแต่ละกลุ่มที่จะฉีดจะต้องได้รับการฉีดอย่างน้อย ๗๐% ของผู้เกี่ยวข้อง โดยจะทำคล้ายกับ “อันดามัน แซนด์บ็อกซ์” ที่ผมไปหารือกับจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และพังงา ซึ่งการทำเช่นนี้ แม้จะไม่ได้วัคซีนครบทั้งจังหวัด แต่จะทำให้บางพื้นที่ สามารถเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวได้ก่อน”
ประเด็นที่ ๒ สภาอุตสาหกรรมจะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดงาน Agro Fex เพื่อส่งเสริมการตลาดให้กับสินค้าทางการเกษตรในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง โดยจะจัดขึ้นวันที่ ๕-๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เพื่อให้ตรงกับงานส่งเสริมการนำเข้าส่งออกของจีน หรือ China International Import Expo เป็นงานใหญ่ระดับโลก ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยการจัดงานพร้อมกันเพื่อให้สินค้าเกษตรของภาคอีสาน เกิดการส่งออกไปยังประเทศจีน ประเด็นที่ ๓ สนองความต้องการของภาคเอกชน และภาคการเกษตรของโคราช ในเรื่องของการค้าขายกับกลุ่มประเทศ CLMV ใน รูปแบบการค้าออนไลน์ กระทรวงพาณิชย์จึงจะร่วมมือกับภาคเอกชน ในการจัดอบรมให้ความรู้การค้าออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการเปิดตลาดภายในประเทศและการส่งออก โดยจะจัดหลักสูตรอบรมให้ทั้งภาคการเกษตร กลุ่ม SMEs และอื่นๆ นอกจากนี้ ผมยังได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เปิดพื้นที่ เวลามีการจัดนิทรรศการส่งเสริมการขายไปยังตลาด CLMV ให้กลุ่ม SMEs และ Micro SME ได้มีโอกาสไปออกบูธสู่ระดับนานาชาติ”
แนวทางช่วยชาวไร่มัน
“ประเด็นที่ ๔ โคราชเป็นเมืองหลวงของมันสำปะหลัง โดยมีเรื่องหารือเกี่ยวกับมันสำปะหลังทั้งหมด ๗ เรื่อง คือ เรื่องที่ ๑ ปีนี้เป็นอีกหนึ่งปืทองของมันสำปะหลังไทย ราคาที่เกษตรกรขายได้โดยเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ดี มันสำปะหลังเชื้อแป้งขณะนี้ มีราคากิโลกรัมละ ๒-๒.๕ บาท และถ้าต่ำกว่า ๒.๕ บาท ก็จะได้รับการประกันรายได้เป็นตัวช่วยให้การชดเชยเงินส่วนต่าง นอกจากราคาจะดีขึ้นแล้ว การส่งออกก็ดีด้วย เพราะสามารถส่งออกมันสำปะหลังไปแล้วกว่า ๔ ล้านตัน และคาดว่า ปีนี้จะส่งออกมันสำปะหลังมากกว่าปีที่แล้ว เรื่องที่ ๒ ภาคเอกชนและภาคเกษตร เห็นควรตรงกันว่า ควรจะมีการประกันรายได้เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังต่อไป หากพรรคประชาธิปัตย์ยังร่วมรัฐบาลอยู่ นโยบายประกันรายได้จะดำเนินการต่อไป เพราะเป็นเงื่อนไขก่อนเข้าร่วมรัฐบาล โดยปีนี้จะก้าวเข้าสู่ปีที่ ๓ แล้ว เรื่องที่ ๓ การหาตลาดให้กับมันสับ เพื่อนำไปทำอาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในขั้นกลางและขั้นปลาย มอบหมายให้ทีมเซลล์แมนจังหวัดฯ เป็นผู้จัดหาตลาดภายในประเทศ โดยประสานกันระหว่างจังหวัดต่อไป เรื่องที่ ๔ การแก้ปัญหาในช่วงที่มันสำปะหลังมีผลผลิตจำนวนมาก ราคาจะได้ไม่ตกมาก โดยจะจัดให้มีการส่งเสริมจากภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการได้ซื้อมันสำปะหลังไปเก็บเข้าโกดัง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะช่วยดอกเบี้ยร้อยละ ๓ และจะขยายเวลาโครงการนี้ออกไปนานกว่าปีที่แล้ว เรื่องที่ ๕ การส่งออกเพื่อแก้ปัญหาการตัดราคาส่งออก ทำให้รัฐหรือประเทศเสียรายได้โดยไม่จำเป็น โดยจะมีการกำหนดราคาขั้นต่ำในการส่งออก หมายความว่า อย่าส่งออกต่ำกว่าราคาที่กำหนด เรื่องที่ ๖ การขยายตลาดมันสำปะหลังต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ตลาดของไทย คือ ประเทศจีน แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ในจีนยังไม่ได้ใช้มันสำปะหลังของไทย เช่น อุตสาหกรรมการทำอาหารสัตว์ ดังนั้นจีนยังเป็นตลาดใหญ่ในการส่งออกมันสำปะหลัง วันนี้จะเริ่มทำแผนว่า จะไปขยายตลาดประเทศต่างๆ ได้อย่างไร และเรื่องที่ ๗ วันนี้ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ประเทศควรมีการระดมความร่วมมือทั้งภาคเกษตรกร การแปรรูป การผลิต นักวิชาการ นักวิจัย ทุกฝ่าย ในการระดมสมอง เพื่อนำมันสำปะหลังไทยไปสู่ความทันสมัย ด้วยการจัดให้มียุทธศาสตร์มันสำปะหลังไทย” นายจุรินทร์ กล่าว
เปิดตัวรถ Mobile พาณิชย์
จากนั้น เวลา ๑๔.๓๐ น. ที่ลานอเนก ประสงค์ชุมชนหัวทะเล (ตลาดศูนย์พระเครื่องตำบลหัวทะเล) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พร้อมด้วยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ร่วมเปิดตัว “รถ Mobile พาณิชย์ ลดราคาช่วยประชาชน”
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เปิดเผยว่า “รถ Mobile พาณิชย์ ลดราคาช่วยประชาชน ประจำจังหวัดนครราชสีมา มีจำนวน ๒๐ คัน เพื่อตระเวนจำหน่ายสินค้าราคาถูก ตามพื้นที่ชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ รวม ๓๐ วัน โดยสินค้าที่จัดจำหน่ายบนรถมีทั้ง สินค้าบริโภค เช่น ข้าวหอมมะลิ ๕ กิโลกรัม ราคา ๑๕๐ บาท น้ำมันพืช ขวดละ ๔๓ บาท ปลากระป๋อง ราคา ๑๐ บาท น้ำตาลทราย กิโลกรัมละ ๒๐ บาท บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซองละ ๕ บาท ไข่ไก่ แผงละ ๓๐ ฟอง ๘๓ บาท หรือฟองละ ๒.๖๗ บาท และสินค้าอุปโภค เช่น ยาสีฟัน แปรงสีฟัน แป้งเด็ก กระดาษทิชชู ซึ่งลดราคาสูงสุดถึง ๖๐% รวมมีสินค้าทั้งหมด ๗๕ รายการ หากต้องการทราบว่า รถ Mobile พาณิชย์ จะไปจำหน่ายสินค้าจุดไหน สามารถเช็คได้ที่ www.mobilepanich.com ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนในส่วนภูมิภาคทุกจังหวัดไม่มียกเว้น”
เยือน รง.แป้งมันใหญ่
เวลา ๑๔.๔๕ น. ที่โรงแป้งบริษัทสงวนวงษ์อุตสาหกรรม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พร้อมคณะ เดินทางมาพบเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยมีนางธิดารัตน์ รอดอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม ร่วมกับเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่ใกล้เคียง ให้การต้อนรับ ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้พูดคุยกับกลุ่มเกษตรกร เพื่อรับฟังปัญหาและความคิดเห็น อย่างเป็นกันเอง ก่อนที่จะเข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง และเยี่ยมชมโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกากมันสำปะหลัง
นางธิดารัตน์ รอดอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า “สงวนวงษ์อุตสาหกรรม เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิต ๑,๔๐๐ ตันแป้งต่อวัน สามารถรับหัวมันสดได้มากถึง ๕,๐๐๐ ตันต่อวัน มีพนักงาน ๙๐๐ คน มีการส่งออกแป้งมันดิบและแป้งโมดิฟาย ๔๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี กระจายกว่า ๕๐ ประเทศทั่วโลก นโยบายการสนับสนุนมันสำปะหลังของกระทรวงพาณิชย์ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจแป้งมันสำปะหลังเติบโตเป็นอย่างดี ในปีนี้หลายโรงงานก็ได้ปรับปรุงเครื่องจักร เพื่อรองรับการผลิต โดยต้องขอขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ ที่มีนโยบายช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง และโครงการชดเชยโรคใบด่างในมันสำปะหลัง”
ยืนยันประกันรายได้เกษตรกร
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กล่าวว่า “ดีใจที่ได้มาพบกับเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังอีกครั้ง แม้ว่าปีนี้ราคามันสำปะหลังจะไม่ได้ดีเลิศ กิโลกรัมละ ๑๐-๒๐ บาท แต่ได้กิโลกรัมละ ๒ บาทกว่า และที่โคราชมีราคาดีที่สุด ส่วนราคาเชื้อแป้งอย่างเป็นทางการ ราคา ๒.๓๐-๒.๕๐ บาท จึงถือว่า ยังพอไปได้ แต่ถ้าราคาตกก็ไม่ต้องกังวล เพราะเรามีตัวช่วย คือ นโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง นโยบายนี้เป็นของผม เพราะผมเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนโยบายประกันรายได้มันสำปะหลัง เป็นนโยบายที่พรรคฯ เสนอก่อนเข้าร่วมรัฐบาลว่า หากรัฐบาลชุดนี้ ยินดีรับนโยบายประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนโยบายของรัฐบาล จึงจะเข้าร่วมรัฐบาล สรุปก็ได้รับเสียงตอบรับจากนายกประยุทธ์ ให้เป็นนโยบายรัฐบาล โดยนโยบายประกันรายได้ มีพืชเกษตรทั้งหมด ๕ ชนิด ได้แก่ ข้าว ปาล์ม ยางพารา ข้าวโพด และมันสำปะหลัง โดยมันสำปะหลังประกันเชื้อแป้ง ๒๕% กิโลกรัมละ ๒.๕๐ บาท ต่อไปนี้หากมีคุณภาพเชื้อแป้ง ๒๕% จะได้รับประกันรายได้กิโลกรัมละ ๒.๕๐ บาท ถ้าเมื่อไหร่ราคาต่ำกว่า ๒.๕๐ บาท เกษตรกรก็จะไม่ถึงกับเดือดร้อน เพราะจะมีส่วนต่าง ๕๐ สตางค์ ที่ชดเชยให้เกษตรกร นี่คือข้อดีของนโยบายประกันรายได้ และตราบที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เราจะผลักดันนโยบายประกันรายได้ให้เกษตรกรต่อไป”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๔ วันพุธที่ ๒๓ - วันอังคารที่ ๒๙ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
73 1,627