15thJanuary

15thJanuary

15thJanuary

 

July 14,2021

สวัสดิ์ มังกรวัฒน์ นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดนครราชสีมา กรรมการและผู้จัดการทั่วไป โรงแรมสีมาธานี

ในช่วงที่ผ่านมา จังหวัดนครราชสีมามีการลงทุนธุรกิจโรงแรมจำนวนไม่น้อย ทั้งการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โรงแรมแคนทารี โคราช, โรงแรมฟอร์จูน โคราช และโรงแรมเซนเตอร์ พอยต์ นอกจากนี้ ยังมีโรงแรมขนาดกลาง และขนาดเล็กเกิดขึ้นอีกมากเช่นกัน ในขณะที่โรงแรมห้าดาวเดิมก็ยังยืนหยัดอยู่ เช่น โรงแรมสีมาธานี และโรงแรมดิ อิมพีเรียล โคราช เป็นต้น ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ มีการรวมตัวก่อเกิด “สมาคมโรงแรมจังหวัดนครราชสีมา” มี “สวัสดิ์ มังกรวัฒน์” กรรมการและผู้จัดการทั่วไป โรงแรมสีมาธานี นั่งเก้าอี้นายกสมาคมโรงแรมฯ คนแรก ซึ่งนับเป็นมือขวาของ “กงกฤช หิรัญกิจ” ประธานกรรมการโรงแรมสีมาธานี ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันมากว่า ๓๐ ปี 

“โคราชคนอีสาน” ได้มีโอกาสสนทนากับนายกสมาคมโรงแรมจังหวัดนครราชสีมา ถึงการขับเคลื่อนองค์กร โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือ “โควิด-๑๙” ว่าจะมีแนวทางช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไร และในส่วนของโรงแรมสีมาธานีต้องปรับตัวในวิกฤตใหญ่นี้อย่างไรบ้าง

นายสวัสดิ์ มังกรวัฒน์ นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการและผู้จัดการทั่วไป โรงแรมสีมาธานี

 

• ร่วมพัฒนาสีมาธานีกว่า ๓๐ ปี

สวัสดิ์ เล่าถึงการเข้ามาสู่ธุรกิจโรงแรมว่า ผมทำงานกับสีมาธานีมาเกือบ ๓๐ ปีแล้ว และด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งอยากจะเล่าให้ทราบก่อนว่า ในส่วนของโรงแรมสีมาธานี เมื่อก่อนใช้เชนเชอราตันมาบริหารงานประมาณ ๒ ปี หลังจากนั้น owner เข้ามาบริหารเองและผมเข้ามาช่วงนั้นพอดี มาทำงานกับคุณกงกฤช ซึ่งเป็น MD ของสีมาธานีในขณะนั้น ก็ได้มาปรับเปลี่ยนจากเชนต่างประเทศมาเป็นเชนคนไทย ปรับกลยุทธ์ต่างๆ และทุกเรื่อง เพื่อให้เข้ากับลูกค้าที่เป็นคนไทย ซึ่งขณะนั้นวางแผนไว้ว่าลูกค้าที่เข้ามาจะเป็นท่องเที่ยว ๘๐% แต่ปรากฏว่าเป็นคนไทยถึง ๘๐% จึงต้องปรับเปลี่ยนระบบเกือบจะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ห้องพัก ราคา 

ช่วงที่เริ่มใหม่ๆ ต้องบอกว่าหนักและเหนื่อย คุณกงกฤชและผมก็เข้ามาพัฒนาโรงแรมสีมาธานีจนมาถึงทุกวันนี้ กว่าจะปรับได้ก็ใช้เวลาประมาณ ๕-๗ ปี ทำทุกวิถีทาง เพราะขณะนั้น คุณกงกฤชไม่เคยอยู่โคราช แต่คุณพ่อ (พ.อ.สมชาย หิรัญกิจ) และคุณแม่เป็นคนโคราช มีสวนน้ำธารหิรัญอยู่โคราช เมื่อมาอยู่ก็ต้องทำความรู้จักกับโคราช โดยเข้าไปช่วยพัฒนาและสร้างสาธารณประโยชน์เพื่อโคราช ทั้งสมาคม  ท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมภาคอีสาน จึงได้รู้จักเครือข่ายทั่วภาคอีสาน แล้วนำประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้พบเจอมาปรับเปลี่ยนให้กับสีมาธานีจนถึงปัจจุบันนี้ และสู้มาจนถึงทุกวันนี้ รอดมาได้ก็เจอวิกฤตมาแล้วหลายรอบ ครั้งแรกคือการเปลี่ยนถ่ายจากเชอราตัน ครั้งที่สองวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี ๒๕๔๐ และล่าสุดก็มาเจอวิกฤตโควิด-๑๙ ผมว่า เราก็ผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาพอสมควร แต่เราก็ประคองมาได้

ผมว่าเรื่องสำคัญประสบการณ์ที่เราสะสมมา ธุรกิจโรงแรมจริงๆ แล้วแก่นแท้คืออะไร ต้องทำอะไร ในส่วนของโรงแรมที่หนักๆ เลยคือ fixed cost ค่าใช้จ่าย ถ้าเราสามารถลดได้ในอัตราที่เหมาะสมและประกอบกับราคาที่ตั้งไว้ให้เหมาะสม ลูกค้าสามารถจับต้องได้ จะทำให้เป็นจุดแข็งในการทำธุรกิจโรงแรม ฉะนั้น ผมว่าไม่ได้แค่จะหารายได้อย่างเดียว แต่เรื่องค่าใช้จ่ายก็สำคัญ ต้องควบคุม fixed cost ให้อยู่ ใช้คนที่มีคุณภาพ ใช้คนให้น้อย หนึ่งคนทำงานให้มากกว่าหนึ่งอย่าง ให้เงินเพิ่มดีกว่าจ้างสองคนมาทำงานสองอย่าง นี่คือสิ่งที่ผมว่าน่าจะทำให้หลายโรงแรมที่เจอวิกฤตสามารถอยู่รอดได้ ที่ผ่านมา โรงแรมใหญ่ๆ โรงแรมเชนต่างๆ ปิดหมด เพราะว่าสู้ fixed cost ไม่ไหว และลูกค้าก็เป็นชาวต่างชาติ ๑๐๐% เมื่ออยู่ไม่ได้ก็ต้องปิดตัว 

ฉะนั้นในช่วงวิกฤตโควิด ทำให้ผู้ประกอบการคิดเยอะว่า การอยู่รอดภายใต้วิกฤตโควิดต้องทำตัวอย่างไร ปรับตัวอย่างไร เรื่องของงานขายโรงแรมก็ต้องปรับตัว นโยบายของ ศบค.และจังหวัดห้ามนั่งทานที่ร้าน โรงแรมก็ต้องปรับตัวเป็นเดลิเวอรี่ และต้องมาเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้าที่สนใจ เช่น การทำน้ำกระชายขาวส่งเดลิเวอรี่ ก็ได้รับการตอบรับดี เพราะว่ามีสรรพคุณต้านโควิด ฉะนั้น ช่วงวิกฤตต่างๆ ผู้บริหารก็ต้องกลับมาใช้วิกฤตเป็นโอกาสให้ได้ ในส่วนของกลุ่มโรงแรมเองก็ต้องมองในเรื่องของค่าใช้จ่ายเป็นหลักก่อน มีการประหยัดค่าใช้จ่าย หรือประหยัดพลังงานอย่างที่ผมทำ พลังงานส่วนไหนที่ไม่จำเป็น หรือฟุ่มเฟือย เรามา lean (ลีน) องค์กรให้เล็กลงแต่มีประสิทธิภาพ เหมือนการลีนไขมันออกจากร่างกาย ผมว่าทุกคนต้องทำ สิ่งไหนที่เป็นจุดด้อยของเราก็อย่าทำเอง ลองไปหาพาร์ทเนอร์ หาคนร่วมลงทุน เช่นที่สีมาธานีในส่วนของสปาและนวดคลายเส้น หลังจากพ้นโควิดไปแล้วคงไม่ทำเอง จะหาพาร์ทเนอร์มาลงทุน เพราะเขามีประสบการณ์มากกว่าเรา หามืออาชีพเข้ามาร่วมทำ ทุกโรงแรมก็ต้องคิดแบบนี้ คิดใหม่ๆ ทำแบบใหม่ๆ 

• โรงแรมสีมาธานี ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

ผมว่า โควิดรอบแรกยังโชคดีที่เราได้รับการสนับสนุนจาก ศบค. ที่ประกาศปิดโรงแรม ซึ่งได้ไปยื่นขอการชดเชยจากประกันสังคม ๕๐% แต่รอบสองรอบสาม ทาง ศบค.และจังหวัดประกาศปิดเป็นบางส่วนซึ่งน้อยมาก เช่น สปา นวด ฟิตเนส ผับ ห้องอาหาร ได้มาน้อยมาก ช่วงนี้ลำบากกว่าช่วงแรกเยอะ รุนแรงกว่าช่วงแรกมาก การเดินทางน้อยมาก เราก็ต้องช่วยตัวเองในเรื่องค่าใช้จ่าย และต้องหารายได้เล็กๆ น้อยๆ เข้ามา และนำของเก่าที่เราไม่ใช้แล้วไปขายทอดตลาดบ้าง ขายให้พนักงานบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งของที่เปลี่ยนหลังจากการรีโนเวทห้องพัก เช่น ที่นอน หมอน ทีวี ขายให้พนักงานในราคาถูก เป็นรายได้เข้ามาบ้าง 

ในส่วนของพนักงาน ทางโรงแรมไม่ได้เอาคนออก ยังจ้างปกติ จะมีเฉพาะระดับหัวหน้าแผนกขึ้นไปเท่านั้นที่ขอความร่วมมือลดเงินเดือน ๑๐% บ้าง แต่เด็กๆ รองจากหัวหน้า ไม่ได้ตัดเงินเดือน ยังจ้างปกติ และไม่ได้ให้หยุดงาน ให้เขามาช่วยทำงาน ให้ช่วย volunteer เป็นทีมเวิร์ค ทำสวน ปลูกผัก ปลูกกล้วย ปลูกมะพร้าว ปลูกพืชผักที่สามารถนำมาใช้ในครัวได้ และมีการทำโรงเพาะชำเพื่อขายไม้ดอกไม้ประดับ ทุกคนก็ช่วยกันดี เราก็หางานให้เขาทำ 

 

• วิธีการจูงใจและสร้างความเข้าใจให้พนักงาน

 

เรียกประชุมทั้งหมดบอกว่าเกิดอะไรขึ้น เรามีออปชั่นให้เลือกว่า ใครจะหยุดก็จะให้หยุด ใครจะทำงานก็จะให้ทำโดยไม่หักเงินเดือน ไม่ได้บังคับ ส่วนใหญ่ก็มาทำงาน และยังได้รับเงินเดือนปกติ ตามที่ได้รับมอบหมาย ผมตั้งศูนย์โควิด มีผู้ช่วยผู้จัดการเป็นผอ.ศูนย์ นำพนักงานที่ไม่มีงานทำซึ่งเป็นแผนกต่างๆ ที่ถูกปิดมาแยกว่า แต่ละวันทำอะไรบ้าง งานสวน งานช่าง งานรีโนเวท เพื่อให้พร้อมต่อการต้อนรับลูกค้าที่จะเปิดบริการในอนาคต ทุกคนไม่มีใครหยุด ทุกคนแฮปปี้ดี 

• สีมาธานีกระทบหนักกว่าทุกครั้ง 

ครั้งนี้ต้องยอมรับว่าหนักมาก หนักจริงๆ ผมคิดว่า ถ้าวิกฤตนี้ยังอยู่ไปถึงสิ้นปี ผู้ประกอบการบางรายอาจจะต้องปิดชั่วคราว แต่ถ้าทุกคนทำอย่างที่ผมพูด เช่น ลดค่าใช้จ่าย ลด fixed cost ต้องหยุดเลือดไหลออกให้ได้ หาช่องทางที่มีรายได้เสริมเข้ามา ทำเดลิเวอรี่ หาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาขายให้ลูกค้า ขายทางออนไลน์ ก็คิดว่าน่าจะพอไปได้

 

• ปัจจุบันสีมาธานีมีพนักงานเท่าไหร่

เดิมทีก่อนโควิดรอบแรก มีพนักงานเกือบสามร้อยคน เมื่อผมเข้ามาทำการลีนหรือรีดไขมันองค์กร ซึ่งเป็นการคิดไว้ก่อนโควิดว่า หากมีรายจ่ายขนาดนี้ ถ้าเราลดต้นทุนได้ เพิ่มประสิทธิภาพของคนได้ ก็น่าจะกลับมาเป็นผลกำไรของเรา ผมจึงทำแผนต่างๆ ขึ้นมา ทั้งกำลังคน การอบรมแผนกต่างๆ ให้คนทำงานได้มากกว่า ๑ อย่าง ตำแหน่งที่ไม่จำเป็นก็ลด เช่น แคชเชียร์ ทำไมจะต้องมี เพราะมีระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว มีระบบดีอยู่แล้วทำไมต้องใช้คน ก็ยกเลิกตำแหน่งนี้ ให้พนักงานที่อยู่ในห้องอาหารดูแลเอง ลดได้เยอะมาก และมีหลายตำแหน่งที่มีความทับซ้อนกันอยู่ ช่วงโควิดรอบแรกผมมีพนักงานประมาณ ๑๙๐ คน พอโควิดรอบที่สามมีพนักงานเหลือ ๑๐๕ คน แต่ผมไม่ได้เอาออกนะ ลาออกเอง และไม่รับพนักงานเพิ่ม ก็ยังสามารถเลี้ยงกันได้อยู่ 

• ที่ผ่านมาสีมาธานีมีการรีโนเวทอย่างไรบ้าง

เยอะมาก ย้อนไปเมื่อ ๕ ปีมีการรีโนเวทในส่วนของห้องอาหารในเรือน จากนั้นก็มาห้องสีมาแกรนด์บอลรูม ล็อบบี้ สระน้ำ ฟิตเนส ห้องพัก ปัจจุบันเรามีห้องพักใหม่เป็นห้องดีลักซ์ ซึ่งในส่วนของห้องพักทำมาได้ประมาณ ๔๐% แล้ว และจะทำไปเรื่อยๆ มีการรีโนเวทมาตลอดไม่ได้หยุดนิ่ง ผมว่าโรงแรมก็เหมือนคน ปล่อยให้โทรมไม่ได้ ทุกๆ ๕ ปีก็มีรีโนเวท มีการตกแต่งให้ดูทันสมัย อุปกรณ์ข้าวของที่ใช้บริการลูกค้า เช่นในงานประชุมสัมมนาก็พยายามปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด ให้ลูกค้ามีความประทับใจ

• ลูกค้ารายใหญ่ของสีมาธานีที่เข้ามาเป็นประจำทุกปี

มีในส่วนของทหารที่มาฝึกร่วมผสม การแข่งขันกีฬา กรุ๊ปนักเรียนที่มาดูงาน เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดก็หยุดหมด งานต่างๆ เลื่อนออกไป ส่วนลูกค้าที่เข้ามาพักในปัจจุบันเป็นนักธุรกิจที่ทำงานในโรงงาน มาติดต่องาน นักท่องเที่ยวมีน้อยมาก เพราะขณะนี้คนที่จะเดินทางเข้ามาจริงๆ คือมีความจำเป็นต้องมาทำงานที่โคราชเท่านั้นเอง

• บทบาทของคุณกงกฤชในโรงแรมสีมาธานี

ท่านเป็นประธานกรรมการโรงแรมสีมาธานี คอยคิดแผนต่างๆ เข้ามาดูแลบ้าง ส่วนใหญ่จะเข้าไปช่วยงานสาธารณประโยชน์ในโคราชมากกว่า เช่น เป็นบอร์ดมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา บอร์ดสวนสัตว์ ในส่วนของโรงแรมท่านก็ช่วยคิดในเรื่องของการพัฒนา เมื่อมาเจอวิกฤตโควิดท่านก็ให้กำลังใจ ให้ความคิดเพื่อให้องค์กรเดินต่อไปได้ ในเรื่องของ fixed cost จะทำอะไรได้บ้าง รายได้ที่จะเข้ามา หาได้จากส่วนไหนบ้าง วางแผนใน ๓ ปีข้างหน้าหากผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปแล้ว เราจะฟื้นได้อย่างไร ส่วนใหญ่จะทำแผน ๓ ปีอยู่แล้ว

• ความเป็นมาสมาคมโรงแรมจังหวัดนครราชสีมา 

สำหรับในส่วนของการก่อตั้งสมาคมฯ “สวัสดิ์” เล่าว่า โคราชเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศไทย รองจากกรุงเทพฯ ในส่วนของธุรกิจท่องเที่ยวก็มีความหลากหลาย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว ทั้งเขาใหญ่ ไม้กลายเป็นหิน ปราสาทหินพิมาย สวนสัตว์ และวัดวาอารามต่างๆ ที่มีความเก่าแก่ และที่ประชาชนศรัทธาอย่างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาโคราชพอสมควร โดยเฉพาะสัดส่วนผู้ที่มาในภาคอีสาน ผมคิดว่ามาโคราชเยอะที่สุดแล้ว ฉะนั้น โคราชมีความเจริญเติบโต มีการลงทุนในด้านโรงแรมจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมสีมาธานีโรงแรมดิ อิมพีเรียล และมีโรงแรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมา เช่นแคนทารี โคราช, เซนเตอร์ พอยต์, ฟอร์จูน และอีกหลายแห่ง รวมถึงอพาร์ตเมนต์ซึ่งเติบโตขึ้นมาก เรียกว่าก้าวกระโดด มีเป็นหมื่นๆ ห้อง 

เมื่อโรงแรมเล็ก-ใหญ่เกิดขึ้นมากมาย จึงมองเห็นว่า ควรจะรวบรวมมาจัดตั้งเป็นสมาคมฯ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อไปเจรจาคุยกับภาครัฐและเอกชน และส่งเสริมให้การท่องเที่ยวของโคราชมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ รวมทั้งให้โรงแรมแต่ละแห่งมีมาตรฐานในการให้บริการตามดาวที่ควรจะเป็น เพื่อรองรับลูกค้าที่จะเข้ามาในโคราชให้มีความประทับใจให้ได้ และให้มีคุณภาพการบริการเหมาะสมกับราคา จึงอยากให้โรงแรมต่างๆ มารวมกัน เป็นทีมเวิร์ค เป็นยูนิตี้ และเพื่อการพัฒนาโคราชร่วมกับจังหวัด และองค์กรต่างๆ 

• ผู้จุดประกายให้เกิดสมาคมโรงแรมฯ

มีผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในโคราชและดูแลเรื่องท่องเที่ยวมานาน เช่นคุณกงกฤช หิรัญกิจ ก็ไปคุยกับอาจารย์ที่ราชภัฏในเรื่องของการท่องเที่ยวว่า น่าจะมีการรวมตัวของกลุ่มโรงแรม เพราะโรงแรมในโคราชมีความหลากหลาย อยากพัฒนาให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น และเกิดการรวมตัวเพื่อจะดึงงานต่างๆ เข้ามาในจังหวัดให้มากขึ้น อีกทั้งเวลาที่ไปติดต่อประสานงานกับภาครัฐก็จะได้ขับเคลื่อนในนามสมาคม เป็นการสร้างความเชื่อมั่น และมีข้อต่อรองมากขึ้น ดีกว่าการกระจัดกระจายกันอยู่ หรือต่างคนต่างพูด แล้วไม่มีใครทำ จึงต้องหาตัวแทนโรงแรมในโคราชในการที่จะเข้าไปดำเนินการเรื่องต่างๆ ทั้งประสานกับภาครัฐ การเจรจาต่อรอง การส่งเสริมการขาย และการไปเยือนโรงแรมต่างๆ ในภูมิภาค หรือการไปดูงานต่างๆ ด้วย ผู้ใหญ่จึงอยากให้มีการจัดตั้งขึ้น เพราะที่ผ่านมาในโคราชมีเพียงสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งจะรวบรวมธุรกิจหลายๆ อย่าง เช่น ร้านอาหาร บริษัททัวร์ สายการบิน บริษัทเดินรถ เยอะแยะไปหมด จึงต้องการให้ก่อตั้งองค์กรที่เป็นโรงแรมขึ้นเป็นการเฉพาะ

โดยสมาชิกของสมาคมฯ ไม่จำกัดว่าเป็นโรงแรมเล็ก/ใหญ่ รวมถึงที่พัก รีสอร์ต อพาร์ตเมนต์ เพราะว่าสมาชิกสมาคมแยกออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ “สมาชิกสามัญ” คือ โรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกตั้งต่างๆ ในสมาคม “สมาชิกวิสามัญ” คือ ส่วนที่ไม่ได้อยู่ในโรงแรมที่เป็นมาตรฐาน เช่น อพาร์ตเมนต์ ร้านอาหาร บริษัททัวร์ เป็นต้น และ “สมาชิกกิตติมศักดิ์” อาจจะเชิญผู้ใหญ่ในองค์กรต่างๆ ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามา โดยขณะนี้ มีสมาชิกเป็นโรงแรมประมาณ ๔๐ แห่ง

• การตั้งสมาคมฯ ในช่วงวิกฤต จะร่วมมือกันฝ่าฟันอย่างไร 

มีการพูดคุยกัน เรามีไลน์กลุ่มสมาคม และไปร่วมกับโครงการต่างๆ ของโคราช เช่น Korat Go ที่จัดขึ้นล่าสุด เพื่อร่วมกระตุ้นให้คนออกมาใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย การออกไปแจกหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ เราก็ออกไปร่วม และขอความร่วมมือกับสมาชิกโรงแรมในสังกัดสมาคมว่า ถ้ามีลูกค้าเข้ามาพักจะต้องมีการคัดกรอง ดำเนินการตามขั้นตอนของ ศบค. เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจเมื่อเดินทางมาโคราช และมีการคุยกันเรื่องบริหารจัดการว่า ในช่วงนี้ต้องทำอย่างไร ค่าใช้จ่ายต่างๆ เราควรทำอะไรบ้าง ปรึกษาหารือกัน นอกจากนี้ ยังสร้างความมั่นใจให้คนที่เดินทางมาโคราชว่า เดินทางมาแล้วปลอดภัย จัดทำโปรโมชั่นเท่าที่จะทำได้ ซึ่งปัจจุบันหลายแห่งก็ทำลดราคาเกิน ๕๐% กันหมดแล้ว ลดค่าใช้จ่าย ระหว่างที่ยังว่างอยู่และไม่ได้ทำอะไรก็ให้อบรมพนักงาน ซึ่งผมก็อบรมพนักงานอย่างเข้มข้น เพื่อรองรับลูกค้าที่จะเข้ามาในอนาคต ซึ่งสมาคมฯ มีการประชุมทุกสองเดือน

• ธุรกิจโรงแรมเจอวิกฤตนี้หนักที่สุด

ในด้านธุรกิจบริการก็เป็นธุรกิจเดียวที่โดนเยอะที่สุด ซึ่งธุรกิจด้านการท่องเที่ยวโดนกันหมด แต่ว่าที่ตรงจริงๆ คือโรงแรม สายการบิน ต่อมาด้วยร้านอาหาร แต่ร้านอาหารก็เปิดได้บ้างและมีเดลิเวอรี่ พอเอาตัวรอดบ้าง ผมว่าถ้า fixed cost ไม่เยอะก็พออยู่ได้ ส่วนที่มีเยอะก็จะอยู่ไม่ได้ ในส่วนของโรงแรมหนักแน่ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสมุย ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่

• สถานการณ์โควิดน่าจะดีขึ้นเมื่อไหร่

ผมว่าสิ้นปีนี้ไม่รู้ว่า โควิดจะจบหรือเปล่า แต่ว่าปีหน้า (ปี ๖๕) น่าจะเริ่มปรับตัวได้ ถ้าจะให้ดีน่าจะเป็นปลายปี ๒๕๖๕ ในส่วนตัวผมคิดแบบนั้น ผมมองว่า ต้นปี ๒๕๖๕ ในไตรมาส ๑-๒ ยังไม่จบ

• เมื่อได้รับวัคซีนป้องกันโควิด จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่

ผมคิดว่า จะเป็นสิ่งที่ดี อยากให้โคราชฉีดวัคซีนกันครบทุกคน เมื่อฉีดครบทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ฉีดให้หมดเพราะเป็นแหล่งแพร่กระจาย ก็กลับมาใช้ชีวิตปกติได้ คนก็จะออกมาจับจ่ายใช้สอย กล้าใช้ชีวิตมากขึ้น เศรษฐกิจจะหมุนเวียนมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐก็อาจจะมีการกระตุ้นนโยบายการจ้างงาน รวมทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เราชนะ ผมว่าโครงการเหล่านี้ช่วยได้เยอะ และหากรัฐบาลส่งเสริมเรื่องการประชุมสัมมนา เพราะว่าโรงแรมในภาคอีสานก็เป็นตลาดไมซ์ มีการส่งเสริมกระจายการประชุมสัมมนาไปทั่วภาคอีสาน ผมว่าจะทำให้โรงแรมอยู่ได้

• วิกฤตโควิดต้องการให้รัฐช่วยเหลือด้านใดมากที่สุด 

ผมว่าในเรื่องของการจ้างงาน ถ้ารัฐให้ประกันสังคมมาช่วยได้เหมือนรอบแรกสักครึ่งหนึ่ง เพราะทุกองค์กรที่จ่ายประกันสังคม น่าจะจ่ายตอบแทนเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการบ้าง อย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการได้บ้าง เพื่อให้พยุงการจ้างงานให้อยู่รอดต่อไป ไม่อยากให้เลิกจ้าง ผมว่าถ้าเหตุการณ์นี้ยังอยู่ไปถึงสิ้นปี เอสเอ็มอีคงแย่ พนักงานจะถูกให้ออกไปเรื่อยๆ ก็ไม่รู้จะเลือกทางไหน เพราะมีแต่ค่าใช้จ่าย ปิดตัวดีกว่า การปิดกิจการชั่วคราวจะเยอะขึ้น

• ในฐานะนายกสมาคมฯ จะนำพาองค์กรก้าวไปอย่างไร

สมาคมโรงแรมจังหวัดนครราชสีมา เป็นสมาคมเล็กๆ ก็คงใช้นโยบายในการร่วมกันคิด ร่วมกันสร้าง มีประชุมกันทุกสองเดือน มานั่งพบปะหารือกันว่า ใครมีความคิดเห็นอย่างไร มีปัญหาอะไร ก็มาแชร์ไอเดียกัน ใครมีประสบการณ์ก็แนะนำการแก้ไขปัญหากันไป นั่นเป็นเรื่องของโอเปอเรชั่น แต่ในเรื่องของการตลาดหรือมาร์เก็ตติ้งเราก็คงต้องไปเสาะหา จับมือกับองค์กรต่างๆ หรือพาร์ทเนอร์ต่างๆ ว่า เราจะไปคุยกับทางจังหวัด คุยกับหอการค้าได้มั้ย เป็นต้น เพื่อจะส่งเสริมให้มีการจัดประชุมสัมมนาได้มั้ย ดึงลูกค้าเข้ามาอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะเป็นแนวทางในการทำงานของเรา แล้วก็ไปเชื่อมโยงกับสมาคมโรงแรมทุกภูมิภาค ไปดูงาน ไปท่องเที่ยว แล้วก็เชิญชวนเขามาเที่ยวบ้านเราบ้าง หาพาร์ทเนอร์ให้มากขึ้น แลกเปลี่ยนความคิดเห็น คนอื่นเขาทำอย่างไร เราทำแบบนี้ แล้วมาแชร์กัน และทำให้โรงแรมในโคราชมีมาตรฐาน บริการที่ได้มาตรฐานตามดาวและตามราคาที่ควรจะเป็น ไม่อยากให้ลูกค้าเข้ามาแล้วบอกว่าขายแพงแต่บริการไม่ได้เรื่อง คุณภาพไม่ดี เราก็จะไม่ให้เกิดขึ้น ให้มีความเหมาะสมในเรื่องของการตั้งราคากับมาตรฐานการบริการให้ลูกค้าได้มากกว่า คือซื้อ ๑ บาทต้องได้มากกว่า ๑ บาท มาช่วยกันดูแลควบคุมสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจจะเข้ามาทำในช่วงที่เป็นนายกสมาคมฯ ซึ่งมีวาระ ๒ ปี

• สายการบินจะช่วยเสริมธุรกิจโรงแรมให้ดีขึ้นหรือไม่

เมื่อก่อนผมคิดว่ามีความจำเป็น แต่ปัจจุบันมีถนนมอเตอร์เวย์ซึ่งเกือบเสร็จแล้ว มีรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ฉะนั้นสายการบินที่จะบินตรงไปกรุงเทพฯ ไม่จำเป็น แต่จำเป็นที่จะบินไปเชื่อมภูมิภาคมากกว่า เช่นโคราช-เชียงใหม่, โคราชไปภาคใต้, โคราชไปหัวหิน, โคราชไปพัทยา ผมว่ายังจำเป็น แต่ถ้าบินเข้ากรุงเทพฯ ผู้โดยสารน่าจะน้อย เพราะการเดินทางสะดวกมากขึ้น ขับรถเองไม่เกิน ๒ ชั่วโมงก็ถึงแล้ว และมีรถไฟทางคู่/รถไฟความเร็วสูง ประมาณ ๔๐ นาที ผมว่านักธุรกิจน่าจะเลือกแบบนี้ ดังนั้น การบินเชื่อมภูมิภาคจะดีกว่า แต่ถ้ามีสายการบินก็จะมีนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวต่างชาติ ที่จะได้รับความสะดวก แต่หากบริหารจัดการที่ดีการเดินทางด้วยรถไฟก็ดีไม่แพ้กัน

• “เมืองไมซ์ซิตี้” ช่วยส่งเสริมธุรกิจโรงแรมอย่างไร

ผมบอกตรงๆ ว่า ไมซ์ซิตี้เป็นองค์กรที่ดีในการบริหารจัดการเรื่องการจัดประชุมนานาชาติ ทำให้โรงแรมที่เข้าไปเป็นสมาชิกมีมาตรฐานที่จะรองรับลูกค้าชาวต่างชาติ แต่เรื่องมาร์เก็ตติ้ง ผมยังไม่เห็นภาพนั้น เรื่องเซลล์มาร์เก็ตติ้งที่จะดึงงานเข้ามา หรืออาจจะเพราะมาเจอโควิดด้วย จึงยังไม่ค่อย success เหมือนในกรุงเทพฯ ผมว่าเรื่องไมซ์กรุงเทพฯ เหมาะที่สุด เพราะมีศูนย์ประชุมใหญ่ มีความพร้อม การคมนาคมต่างๆ ครบและสะดวกสบาย แต่ในส่วนของภูมิภาคยังไม่ success ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ ขอนแก่น ก็ยังไม่เห็นเป็นเรื่องเป็นราวว่า มีความก้าวหน้าหรือเติบโตในเรื่องของไมซ์ ยังเป็นเพียงการประชุมสัมมนาของภาครัฐในประเทศ ส่วนการประชุมนานาชาติยังไม่เห็น แต่จะให้ดี ผมว่าควรเป็นนานาชาติมากกว่า เพราะหากเป็นนานาชาติ เวลาที่เดินทางเข้ามาจะมีหลายสิบประเทศ พาครอบครัวมาด้วย มาเที่ยวมากินมาจับจ่ายใช้สอย เรื่องนี้จึงต้องดึงนานาชาติเข้ามา ส่วนในประเทศยังไม่ดีพอ เพราะรัฐบาลก็ทำเองอยู่แล้ว

• วอนรัฐช่วยเหลือเกื้อกูลเอสเอ็มอี

“สวัสดิ์ มังกรวัฒน์” นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวทิ้งท้ายว่า “โคราชเป็นเมืองใหญ่ มีความหลากหลาย ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การศึกษา โรงงาน มีจุดแข็งเยอะ อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจในโคราชและภาคอีสานให้มาก โดยเฉพาะการจัดประชุมสัมมนา ดึงงานใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬา การประชุมนานาชาติเข้ามาในโคราช ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มาก เพราะได้รับผลกระทบมากจริงๆ เนื่องจากสายป่านสั้น ไม่เหมือนบางธุรกิจที่มีสายป่านยาวแม้จะถูกปิดแต่ก็ยังสามารถกลับมาเปิดได้ในเวลาที่เหมาะสม จึงอยากจะฝากดูแลเอสเอ็มอี โรงแรมขนาดกลาง รวมทั้งเรื่องภาษี ถ้าสามารถช่วยเหลือได้ก็จะดีมาก เพราะโรงแรมจ่ายภาษีจำนวนมาก ทั้งภาษีโรงเรือน และภาษีท้องถิ่น ถ้ารัฐบาลช่วยเว้นไปสักปีสองปีก็จะดีมาก เพราะไม่มีรายได้เข้ามาอยู่แล้ว พร้อมทั้งช่วยหาแหล่งเงินทุนเตรียมไว้ให้เอสเอ็มอี สำหรับธุรกิจที่ไม่มีเงินทุนที่จะไปต่อ เพื่อให้สามารถพยุงกิจการให้รอดพ้นวิกฤตโควิดนี้ไปได้ ส่วนระบบโลจิสติกส์ของโคราช ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์เวย์ ก็ช่วยเร่งให้เร็วขึ้น ถ้าสามารถเปิดใช้งานได้ก็จะส่งผลถึงการค้าขาย การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ มาโคราชมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็จะเดินทางได้ง่ายขึ้น ถ้าระบบคมนาคมขนส่งดี ระบบเศรษฐกิจก็จะตามมาเอง ต้องการให้เร่งรัด รวมทั้งเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาโคราช อยากให้มีการบูรณาการ ให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวโคราชอย่างมีความสุข จะได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดนครราชสีมา”

 

วิรดา ลักษวุธ : สัมภาษณ์
วีรภัทร์ จูฑะพงษ์ : ภาพ
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔
 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๗ วันพุธที่ ๑๔ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


158 2,199