30thOctober

30thOctober

30thOctober

 

July 29,2021

“โคราชต้องไม่มีตายข้างถนน” วอนปฏิบัติตามมาตรการเคร่งครัด หมอย้ำ‘ต้องมีชีวิตเพื่อวันพรุ่งนี้’

โคราชพบผู้ติดเชื้อพุ่งสูงต่อเนื่องทุกวัน  เกินครึ่งหมื่นรายไปแล้ว โรงพยาบาลหลักเตียงไม่พอ ต้องเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม พร้อมใช้ศูนย์พักคอยตามชุมชน และส่งผู้ป่วยรักษาเกิน ๑๐ วันไปรักษาที่บ้าน ด้าน สสจ.ย้ำมาตรการที่ประกาศ หวังให้ผู้ติดเชื้อลด วอนช่วยปฏิบัติตามเคร่งครัด “ต้องมีชีวิตเพื่อวันพรุ่งนี้” และ “โคราชจะต้องไม่มีผู้เสียชีวิตข้างถนนเด็ดขาด”

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ระลอกที่ ๓ ในจังหวัดนครราชสีมา ยังพบการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ๓๒ อำเภอ และไม่มีท่าทีว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ของสัปดาห์

ความคืบหน้าวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๒๔๕ ราย เสียชีวิต ๒ ราย ติดเชื้อสะสม ๓,๙๘๔ ราย รักษาหาย ๑,๗๑๓ ราย รักษาอยู่ ๒,๒๓๐ ราย เสียชีวิตสะสม ๔๑ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม

ต้องมีชีวิตเพื่อวันพรุ่งนี้

นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าวว่า “ตามมาตรการต่างๆ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ประกาศไปนั้น ไม่มีเจตนาทำให้การติดเชื้อเพิ่ม แต่มีเจตนาหลัก คือ ทำให้ลดจำนวนผู้ติดเชื้อลง จะเห็นว่าตัวเลขผู้ป่วยสะสม ๓,๙๘๔ ราย อีก ๑๖ ราย จะครบ ๔,๐๐๐ ราย วันพรุ่งนี้ครบแน่นอน ส่วนตัวเลขที่น่ากังวลคือ ยอดผู้ป่วยยังรักษาอยู่ ๒,๒๓๐ ราย จากการแถลงข่าวทุกครั้งที่ผ่านมา ยืนยันตัวเลขเดิมว่า ระบบที่ดีที่สุดของจังหวัดนครราชสีมาสามารถรองรับผู้ป่วยโควิดได้ ๗๐๐ เตียง หากคนไข้ครบตามกำหนดจะแยกเข้าห้องแยกโรค และรักษาภายใต้มาตรการสูงที่สุด หากระบาดในอัตรานี้ มาตรการควบคุมยังสามารถควบคุมได้ประมาณนี้ มีโอกาสที่จะเจอผู้ป่วยจังหวัดนครราชสีมาวันละ ๕๐๐ ราย หากไม่ช่วยกันหรือไม่นำมาตรการไปใช้อย่างเคร่งครัด หมอพูดแบบนี้เพื่อต้องการให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ในวันพรุ่งนี้ ทุกคนต้องเตรียมตัว ส่วนข้าราชการ Work from home ได้ก็ต้องทำ” 

นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา

“สำหรับอำเภอปากช่องยอดติดเชื้อ ๑๐๐ ราย ประชาชนต้องสังเกตว่าเชื้อเกิดที่ใด และสถานที่นั้นควรสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างไร ควรจะนำลูกลงไปด้วยหรือไม่ ประชาชนต้องคิดวางแผน ด้านโรงพยาบาลในสังกัด สสจ.นครราชสีมา ต้องคิดแผนว่า จะขยายเตียงเพิ่มเท่าไหร่ ดังนั้น สิ่งที่มีความหมายมากกว่าตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อแต่ละวัน คือ วันนี้เราอยู่ที่เชิงเขา เราต้องเตรียมตัวไปสู่ยอดเขาด้วยความยากลำบากอย่างไร โคราชจะต้องไม่มีผู้เสียชีวิตข้างถนนเด็ดขาด จะทำอย่างนั้นให้ได้ ถึงแม้จะมีเคสเสียชีวิตก็ต้องเข้าสู่ระบบก่อน จำนวนคนไข้ที่เยอะขนาด ๓ เท่าของความจุ แต่ละโรงพยาบาลเขารักษาอย่างไร ตัวเลขยอดรักษาอยู่ ๒,๒๓๐ ราย ที่อยู่ในโรงพยาบาลมหาราชฯ ๒๓๑ คน โรงพยาบาลสนาม ๒๔๘ คน ที่เหลือ ๒,๐๐๐ คน กระจายอยู่อำเภอต่างๆ โดยเฉพาะอำเภอปากช่องทะลุไป ๑๔๖ ราย” นพ.วิชาญ กล่าว

ให้รักษาตัวที่บ้าน

นพ.วิชาญ กล่าวอีกว่า “ขณะนี้ทุกโรงพยาบาลใช้วิธีย้ายคนไข้ธรรมดารวมกัน และตึกที่มีพื้นที่ว่างก็ขยายเตียงเพิ่ม ทั้งโรงพยาบาลมหาราชฯ โรงพยาบาลเทพรัตน์ฯ และโรงพยาบาลอื่นๆ พยายามช่วยเหลือประชาชนให้มากที่สุด หากถามว่า ทำไมต้องเปิดโรงพยาบาลสนาม เพราะโรงพยาบาลธรรมดาเต็ม แต่ขณะนี้โรงพยาบาลสนามใกล้เต็มแล้ว ทางโรงพยาบาลมหาราชฯ จึงขยายเตียงเพิ่ม และโรงพยาบาลชุมชนก็เหลือแค่หลักหน่วย สิ่งที่ผมกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อาจจะต้องถึงเวลาที่คนโคราชจะต้องรักษาตัวที่บ้าน เมื่อโรงพยาบาลเต็ม โรงพยาบาลขยายตัวแล้วยังเต็ม โรงพยาบาลสนามเต็ม จึงถึงเวลาที่ผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งจะต้องได้รักษาตัวอยู่บ้าน ทีมแพทย์จะไม่ส่งใครก็ได้ไปรักษาตัวที่บ้าน ผู้ป่วยจะต้องเข้ามาที่โรงพยาบาลก่อน เมื่อรักษาครบ ๑๐ วัน ทีมแพทย์จะประเมินอาการ จากนั้นจึงจะส่งไปรักษาตัวที่บ้าน บ้านหลังนั้นจะต้องแยกห้องนอนห้องน้ำ หรือบางอำเภอจัดเตรียมสถานที่กักตัวไว้ เช่น ที่ว่าการอำเภอ วัด หรือที่เรียกว่า Community Isolation (CI) ตามข้อสั่งการของจังหวัด ให้ดำเนินการทุกพื้นที่ ขณะนี้มีคนไข้รักษาที่ CI และ Home Isolation (HI) เกือบ ๑๐๐ ราย คาดว่า วันนี้จะรายงานมาอีกหลาย ๑๐ ราย โรงพยาบาลทุกแห่งพยายามอย่างเต็มที่ จะรักษาให้มากที่สุด ไม่มีวันทิ้งคนโคราชแน่นอน อย่าเพิ่งไปดุว่าหมอที่อยู่หน้างาน ให้หมอได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่” 

“ส่วนคนไข้ที่ไม่มีเตียงจากกรุงเทพฯ ติดต่อมาแล้ว ๑,๑๖๓ ราย เมื่อติดต่อมาจะต้องประเมินก่อนว่า เป็นผู้ป่วยสีเขียวหรือแดง หากสีแดงไม่รับ ต่อให้รับมาผู้ป่วยอาจจะหยุดหายใจก่อนจะถึงมือหมอ กลุ่มสีแดงจะเร่งประสานหาเตียงให้เร็วที่สุด โดยแจ้งหน่วยงานต่างๆ ให้ไปรับรักษาและหาเตียงที่กรุงเทพฯ ให้ และสามารถช่วยคนเหล่านี้ได้แล้ว ๒๓๐ ราย ส่วนที่โรงพยาบาลมหาราชฯ รับมานอนเตียงโคราช มี ๗๑๖ ราย คิดเป็น ๙๕% โดยอยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลมหาราชฯ ๔๓ ราย ส่วนอีก ๖๗๓ ราย กระจายตามอำเภอต่างๆ”

ขอให้เคร่งครัดในมาตรการ

“ต้องการให้ประชาชนช่วยกัน รักษามาตรการอย่างเคร่งครัด ทุกมาตรการที่ประกาศออกมามักจะมีเสียงคัดค้าน บางคนบอกว่า เชื้อไม่ได้เดินทางตอนกลางดึก แต่ลองคิดว่า ถ้าวันหนึ่งมีคนเดินทางไปตลาด ๑,๐๐๐ คน แต่เมื่อมีมาตรการมีคนไปตลาดเพียง ๑๐๐ คน มาตรการก็สามารถช่วยลดจำนวนคนได้ หากมีผู้ป่วยหมอก็ดูแลทัน ส่งผลให้ไม่ต้องรอเตียงว่าง และไม่มีคนตายข้างถนน แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอกจริง เช่น ไปหาหมอ ไปทำธุระเร่งด่วน ไม่มีเจ้าหน้าที่ราชการคนใดห้าม แต่ต้องระวังและปฏิบัติตามมาตรการให้ดี” นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าว

คลัสเตอร์ใหญ่ในโคราช

จากนั้น นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานว่า “คลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้างถนนโค้ง อำเภอปากช่อง ซึ่งทำ Active Case แล้วหนึ่งครั้ง เมื่อประมาณเดือนเมษายน ปรากฏว่าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ นำคนงานในแคมป์นี้หรือคนงานแคมป์แก่งคอย ๒๔ คนไปทำงานที่ไซต์พระราม ๓ กทม. ไปเช้าเย็นกลับ ไม่มีการแยกกลุ่มในการทำงานระหว่างคนงานที่อยู่ในกลุ่ม กทม. กับคนงานแคมป์อำเภอปากช่อง ๒๔ คน จากนั้นวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เดินทางกลับมาโคราช และมีคนงานไม่สบาย คนอื่นจึงเดินทางไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลมวกเหล็ก และเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบว่า ติดเชื้อ ๒ ราย ทางแคมป์จึงแยกกลุ่มผู้เดินทางไปทำงาน ให้ไปกักตัวที่แก่งคอย ๒๘ คน แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยในแคมป์มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบติดเชื้อ ๑ ราย”

“โรงพยาบาลปากช่องเริ่มรู้สึกว่า จะผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จึงให้แคมป์ส่งคนงานมาตรวจ RT-PCR ปรากฏว่าผลบวกเพิ่มเรื่อยๆ โดยในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พบว่า ติดเชื้อเพิ่ม ๑๒ ราย ทำให้แคมป์จัดเป็น Community Isolation โดยแคมป์แยกเป็นสีแดง เขียว และเหลือง ดังนี้ พื้นที่โซนสีแดง หรือ Isolation Camp เป็นพื้นที่กักตัวผู้ติดเชื้อ ส่วนโซนสีเหลือง หรือ Quarantine Camp เป็นพื้นที่กักตัวผู้เสี่ยงสูง และโซนสีเขียว หรือ Green Clean Camp เป็นพื้นที่ของพนักงานปกติที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ จากนั้นวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ทางแคมป์ซื้อ Rapid Test มาตรวจ ๓๓๖ ชิ้น พบติดเชื้อ ๙ คน จึงส่งตัว RT-PCR โรงพยาบาลปากช่องนานา และวันที่ ๒๑ กรกฎาคม แคมป์ปิด ๑๔ วัน โดยปิดทุกโซน เนื่องจากคนงานกระจายเชื้อทั่วแคมป์ พบว่าคนงานติดเชื้อทั้งหมด ๓๗ ราย คนงานรักษาตัวที่จังหวัดนครราชสีมา ๑๙ ราย และไปจังหวัดอื่นๆ ๑๘ ราย เริ่มมาตรการกักแคมป์คนงาน และให้ตรวจเรื่องสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ให้ทุกคนมีความเสี่ยงล็อกตัวอยู่ในห้อง ไม่รวมตัวกัน ซึ่งควบคุมกำกับโดย ศปก.ปากช่อง โรงพยาบาลปากช่องนานา และ สสอ.ปากช่อง” นางสาวทิพวรรณ กล่าว

ระบาดหนักในตลาด

คลัสเตอร์ตลาดเทศบาลเมืองปากช่อง (ตลาดเช้า) ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อในตลาด ๑๓๖ ราย เป็นแม่ค้ามีอาการ ตรวจที่โรงพยาบาลปากช่องนานา แล้วรู้ผลติดเชื้อ ๑๘ ราย ทำให้ครอบครัวของแม่ค้าติดเชื้อ ๑๔ ราย ลูกค้า ๖ ราย การระบาดครั้งนี้เริ่มก่อนวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบรายแรกเป็นแม่ค้าปลาร้า ทำให้เกิดการกระจาย และมีลูกค้าเป็นรถเร่ ต้องมารับผักที่ตลาดสดนี้ไปขายที่อำเภอวังน้ำเขียว ๑ ราย ยังคงมีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และติดตามรถเร่ที่เป็นรถพุ่มพวงมาตรวจหาเชื้อ ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อแล้ว ๒๐ ราย ขณะนี้ได้สั่งให้ปิดตลาด เป็นเวลา ๑๔ วัน ระหว่างวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ถึง ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ เพราะแม่ค้าในตลาด คนขับรถซาเล้ง คนขนส่งสินค้า พบติดเชื้อทั้งหมด และมีการตรวจหาเชื้อทั้งหมด ๑๐๐% ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ โดยให้โรงพยาบาลปากช่องส่งรายชื่อผู้สัมผัสเสี่ยงให้กับผู้นำชุมชน และ อสม.ในพื้นที่ ควบคุมกำกับการกักตัวและค้นหาเชิงรุก ด้วยวิธี Rapid test ๓๐๐ คน โดยโรงพยาบาลปากช่องนานา และ สสอ.ปากช่อง วางแผนการคัดกรองพ่อค้าแม่ค้า เข้ามาจำหน่ายสินค้าในตลาด โดยจะต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ จัดทำทะเบียนพ่อค้าแม่ค้า เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และวางแผนต่อไป

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวเสริมว่า “คลัสเตอร์เหล่านี้ส่วนมากเกิดจากไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่วางเอาไว้ ฝ่ายตรวจสอบต้องเข้มแข็งกว่านี้ อย่างกรณีตลาดหากมีการวางระบบที่ดี เป็นตลาดเปิดก็สามารถทำทางเข้าออกได้ มีจุดวัดอุณหภูมิ เทศบาลจะต้องรู้ว่าพ่อค้าแม่ค้ามีกี่ราย เพราะเทศบาลต้องไปเก็บค่าเช่า เทศบาลควรปรับระบบ ไม่ควรให้มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น”

เสียชีวิตเพิ่มต่อเนื่อง

ต่อมาวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒๙๒ ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย เป็นผู้ป่วยลำดับที่ ๒๓๘๐ เพศชาย อายุ ๗๘ ปี ตำบลชุมพวง อำเภอชุมพวง ซึ่งในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม มีอาการป่วย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมพวง ตรวจพบเชื้อโควิด-๑๙ จากนั้นวันที่ ๒๓ กรกฎาคม มีอาการไข้ เหนื่อยหอบมาก จึงส่งต่อมาที่โรงพยาบาลมหาราชฯ และเสียชีวิตในเวลา ๑๕.๐๐ น. และเป็นผู้ป่วยลำดับที่ ๒๓๙๓ เพศหญิง อายุ ๗๓ ปี ผู้ป่วยและครอบครัวอาศัยอยู่ที่แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ ตรวจพบเชื้อและไม่มีเตียงรักษา ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม จึงเดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลปากช่องนานา จากนั้นวันที่ ๑๙ กรกฎาคม มีอาการหอบเหนื่อยมาก จึงส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชฯ และในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม อาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตเวลา ๐๔.๒๐ น.

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๒๑๘ ราย เสียชีวิต ๒ ราย ติดเชื้อสะสม ๔,๘๔๕ ราย รักษาหาย ๒,๐๖๐ ราย รักษาอยู่ ๒,๗๓๙ ราย เสียชีวิตสะสม ๔๖ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

สถานการณ์ฉีดวัคซีน

นพ.นรินทร์รัชต์ รายงานสถานการณ์การฉีดวัคซีนว่า “โคราชมีเป้าหมายฉีดวัคซีนในประชาชนอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป รวมจำนวน ๒,๑๑๖,๗๐๐ คน โดยฉีดวัคซีนเข็มที่ ๑ แล้ว ๒๘๑,๓๘๙ ราย เข็มที่ ๒ จำนวน ๑๒๙,๘๑๕ ราย รวมฉีดไปแล้ว ๔๑๑,๒๐๔ โดส ซึ่งการฉีดวัคซีนในขณะนี้ เข็มแรกเป็นซิโนแวค ส่วนเข็มที่ ๒ เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ในทุกกลุ่ม แต่ช่วงนี้จะเน้นไปที่ ๗ กลุ่มโรคเรื้อรัง สตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุ เนื่องจากปัจจุบันเชื้อเดลตามีความรุนแรงมาก อาจจะทำให้คนกลุ่มนี้เสียชีวิตได้ ส่วนวัคซีนที่จะมาในเดือนนี้ ประมาณการณ์ไว้ว่า จะมาจำนวน ๒๓๐,๐๐๐ โดส แต่อาจจะได้น้อยกว่า เพราะต้องแบ่งไปให้กับ ๑๓ จังหวัดที่มีการระบาดหนัก”

โรงพยาบาลสนามเต็ม

“สำหรับสถานการณ์โรงพยาบาลสนามนั้น ขณะนี้มีโรงพยาบาลสนาม ๕ แห่ง รวม ๕๗๒ เตียง แบ่งเป็น โรงพยาบาลสนามในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา ๓๐๐ เตียง ครองเตียง ๒๖๗ คน ว่าง ๓๓ เตียง โรงพยาบาลสนามอำเภอปากช่อง ๑๒๐ เตียง ครองเตียง ๕๒ คน ว่าง ๖๘ เตียง โรงพยาบาลสนามอำเภอสีคิ้ว ๖๒ เตียง ครองเตียง ๕๗ คน ว่าง ๕ เตียง โรงพยาบาลสนามอำเภอคง ๖๐ เตียง ครองเตียง ๓๒ คน ว่าง ๒๘ เตียง และโรงพยาบาลสนามอำเภอแก้งสนามนาง ๓๐ เตียง ครองเตียง ๘ คน ว่าง ๒๒ เตียง รวมทั้งจังหวัดนครราชสีมา เหลือเตียงว่าง ๑๕๖ เตียง ทั้งนี้ ยังเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามในค่ายทหารอีก ๒ แห่ง ที่ค่ายสุรนารีและค่ายสุรธรรมพิทักษ์ รวม ๑๒๐ เตียง และในขณะเดียวกันโรงพยาบาลมหาราชฯ จะใช้พื้นที่หอพักแถวบริเวณชุมชนประโดก ที่เพิ่งสร้างเสร็จ เป็นโรงพยาบาสนามเช่นกัน นอกจากนี้ โคราชยังได้จัดตั้ง Community/Home Isolation จำนวน ๙๓ แห่ง มีเตียงทั้งหมด ๒,๔๗๔ เตียง ขณะนี้มีผู้เข้าอยู่ ๒๔๖ คน เหลือว่าง ๒,๒๒๘ เตียง โดยสถานที่แห่งนี้จะใช้กับผู้ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดฯ แล้วมีผลตรวจเป็นสีเขียว แต่ในขณะนี้จังหวัดนครราชสีมาพบปัญหาเตียงสีแดง ไว้รองรับผู้ป่วยอาการหนัก ซึ่งขณะนี้มีเพียง ๑๔๔ เตียง ครองเตียงแล้ว ๑๓๑ คน เหลือว่าง ๑๓ เตียง โดยโรงพยาบาลมหาราชฯ จะเร่งขยายเตียงเพิ่มเติม และเตียงสีเหลือง ขณะนี้เหลือเพียง ๑๕๐ เตียง จากทั้งหมด ๒,๒๘๒ เตียง ซึ่งเตียงสีเหลืองเป็นเตียงสำคัญ จึงให้โรงพยาบาลต่างในจังหวัด เร่งเพิ่มจำนวนเตียงสีเหลืองให้มากขึ้น” นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา กล่าว

ส่งผู้ป่วยกลับด้วยรถไฟ

นพ.นรินทร์รัชต์ กล่าวอีกว่า “ส่วนเรื่องการนำผู้ป่วยกลับมาด้วยการเดินทางโดยรถไฟ จำนวน ๒๙๖ คน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เฟกนิวส์ ซึ่งผมก็เพิ่งทราบเรื่องเมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า จะมีการนำผู้ป่วยกลับคืนภูมิลำเนา ผมจึงจะใช้โรงพยาบาลสนามของกองทัพ ๒ แห่ง ที่กำลังจะจัดตั้ง เป็นสถานที่สำหรับ Community Isolation เพื่อพักผู้ป่วยก่อนจะส่งต่อไปยังภูมิลำเนา อีกส่วนหนึ่ง คือ ที่โรงพยาบาล มทส. และโรงพยาบาลโชคชัย สรุปคือ หากมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง จุดแรกที่จะรับคนกลุ่มนี้ คือ โรงพยาบาลสนามค่ายสุรนารีและค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จากนั้นก็จะส่งให้ โรงพยาบาล มทส. และโรงพยาบาลโชคชัย กระจายผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาต่อไป สำหรับกรณีนี้ที่มีการนำเสนอข่าวในเพจต่างๆ ได้เช็คข่าวไปยัง สปสช. พบว่า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่พื้นที่ต้นทาง ๒๗๑ คน และมารักษาที่จังหวัดนครราชสีมา ๗ คน อีก ๑๘ คนยังติดต่อไม่ได้ ซึ่งในช่วงค่ำวานนี้มีการแจ้งว่า ให้งดการส่งตัวด้วยรถไฟ โดยเวลา ๑๕.๐๐ น. วันนี้จะมีการประชุมร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อหาแนวทางในการส่งตัวผู้ป่วยอย่างมีระบบ มีความปลอดภัย และพื้นที่ปลายทางต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรองรับ ดังนั้นข่าวที่เผยแพร่ออกมา จึงเป็นข่าวที่ยังไม่ได้รับการยืนยันข้อมูล แต่ไม่ใช่เฟกนิวส์”

เกิดคลัสเตอร์ใหม่ต่อเนื่อง

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานคลัสเตอร์ที่สำคัญว่า “คลัสเตอร์ ฟาร์มมาร์ท มทส. เริ่มจากรายที่ ๓๖๗๓ เป็นพนักงานมีอาการไข้ มีเสมหะ น้ำมูก คลื่นไส้ และถ่ายเหลว จึงเดินทางไปตรวจที่ รพ.มทส. พบว่า ติดเชื้อโควิด-๑๙ จากนั้นพนักงานฟาร์มมาร์ท มทส. ทุกคนไปตรวจหาเชื้อพบว่า ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ๖ ราย ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของครอบครัวพนักงานรายแรกอยู่ที่อำเภอปักธงชัย พนักงานรายนี้จะกลับบ้านทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เพื่อไปหาลูกและหลาน พบว่าครอบครัวนี้ติดเชื้อ ๓ ราย แยกเป็น ลูก หลาน และน้า ส่วนสามีที่อยู่บ้านในเมืองยังไม่พบติดเชื้อ”

คลัสเตอร์ตลาดเทศบาลปากช่อง พบผู้ติดเชื้อวงแรก ๑๗๕ ราย และ Active cases finding ๔๙๖ ราย ปรากฏว่าพบเชื้อ ๔๖ ราย รอยืนยัน RT-PCR ผลยังไม่ออก ในส่วนวงที่ ๒ ทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นครอบครัว ๓๓ ราย ลูกค้า ๑๑ ราย (อำเภอปากช่อง ๘ ราย อำเภอวังน้ำเขียว ๑ ราย อำเภอประทาย ๒ ราย) ส่วนวงที่ ๓ พบติดเชื้อ ๑๑ ราย เป็นครอบครัวและลูกค้า รวมคลัสเตอร์นี้ทั้งหมด ๒๓๐ ราย ทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้สั่งปิดตลาดทั้งหมด ๕ ตลาด ได้แก่ ตลาดสดเทศบาลเมืองปากช่อง ตลาดไนท์บาซาร์ ตลาดเอ๊าะเยาะพลาซ่า ตลาดกังวาฬวัฒนา และตลาดพงษ์สว่าง (ตลาดแขก) ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคมถึงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ จากนี้ยังค้นหาผู้สัมผัส และค้นหาแม่ค้า เพื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation เพราะยังมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และพบว่ามีผู้ป่วยเดินทางกลับภูมิลำเนาในอำเภอต่างๆ ยังต้องเฝ้าระวัง และติดตามต่อไป

คลัสเตอร์โชว์รูมฟอร์ด ถนนมิตรภาพ ผู้ป่วยรายที่ ๓๕๖๗ เป็นแม่ย่าของพนักงานแผนกขายของฟอร์ด สาขาเซฟวัน มีไข้เจ็บคอ มีเสมหะ ท้องเสีย ส่งรักษาที่โรงพยาบาล ป.แพทย์ ทางโรงพยาบาลได้ตรวจหาเชื้อ พบติดเชื้อโควิด-๑๙ จากนั้นรายที่ ๓๙๕๐ เป็นพนักงานฟอร์ด จึงแจ้งเพื่อนๆ ให้ตรวจหาเชื้อรวมถึงตัวเอง จากนั้นโรงพยาบาล ป.แพทย์ แจ้งรายที่ ๓๙๕๐ ว่า ติดเชื้อโควิด-๑๙ จากนั้นพนักงานขายของฟอร์ดทั้งหมด ไปตรวจตามโรงพยาบาลต่างๆ พบว่าพนักงานติดเชื้อเพิ่ม ๑๒ ราย เป็นแผนกเซลล์ขายทั้งหมด และมีแผนกประชาสัมพันธ์ที่รอรับลูกค้า บริเวณฝ่ายบริการติดเชื้อ ๒ ราย ผลจากห้องปฏิบัติการแจ้งว่า ไม่ใช่แม่ย่าที่นำเชื้อมาคนแรก แต่เป็นพนักงานในฟอร์ดที่เป็นเซลล์ขายหรือรายที่ ๓๕๙๑ มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการติดเชื้อมานานเกือบหายแล้ว ทำให้รายที่ ๓๕๙๐ เป็นลูก ไปติดแม่ย่ารายที่ ๓๕๖๗ อายุ ๗๒ ปี ทำให้มีการกระจายวงที่ ๒ รายที่ ๓๕๙๒ เป็นพนักงาน ซึ่งเป็นแม่ ทำให้รายที่ ๔๕๔๔ เป็นลูกของพนักงานรายที่ ๓๕๙๒ ติดเชื้อไปด้วย ทำให้คลัสเตอร์ฟอร์ด สาขาเซฟวันติดเชื้ออย่างรวดเร็ว ขณะนี้ฟอร์ดได้ดำเนินการปิดตั้งแต่วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ และในส่วนของเซลล์ขาย และส่วนด้านหน้าได้ให้พนักงานไปตรวจหาเชื้อ และในส่วนของช่างตรวจสอบแล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ๑๕ คน บริษัทไม่นิ่งนอนใจให้พนักงานไปตรวจทั้งหมด ๔๒ คน จากนั้นจะปิดเฉพาะแผนกช่าง ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ส่วนแผนกขายรถจะปิดยาว ถึงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๔”

ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒๓๔ ราย แยกเป็นผู้ป่วยมาจากพื้นที่เสี่ยง ๑๓๒ ราย รับผู้ป่วยกลับมารักษา ๗ ราย สัมผัสผู้ป่วยในจังหวัด ๙๕ ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย รายที่ ๔๗ ของจังหวัดเป็นผู้ป่วยลำดับที่ ๔๐๑๖ เพศชาย อายุ ๖๙ ปี เป็นผู้สูงอายุ จากอำเภอโชคชัย และรายที่ ๔๘ ของจังหวัดเป็นผู้ป่วยลำดับที่ ๑๓๘๓ เพศหญิง อายุ ๖๑ ปี เป็นชาวตำบลหมื่นไวย อำเภอเมือง 

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๓๑๒ ราย เสียชีวิต ๓ ราย ติดเชื้อสะสม ๕,๓๙๑ ราย รักษาหาย ๒,๒๔๙ ราย รักษาอยู่ ๓,๐๙๑ ราย เสียชีวิตสะสม ๕๑ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานว่า กรณีพบผู้ป่วยในโรงงานไก่ อำเภอโชคชัย เริ่มจากชายอายุ ๑๙ ปี ซึ่งวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เดินทางไปสูบปลากับครอบครัว มีการสังสรรค์รับประทานอาหารร่วมกัน ทำให้เครือญาติติดเชื้อ ๓ ราย และครอบครัวผู้ป่วยนำมาติดพนักงานในโรงงานคาร์กิลล์ เป็นรายที่ ๓๐๐๓ แผนกหั่นไก่ วันที่ ๑๗ กรกฎาคมมีอาการไข้ วัดอุณหภูมิที่โรงงานไม่ผ่าน จึงไปตรวจที่อำเภอครบุรี พบว่า ติดเชื้อโควิด-๑๙ ทำให้คนในครอบครัวติดเพิ่มจากชายอายุ ๑๙ ปี ที่ไปสูบปลา ซึ่งป็นนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคฯ ที่เดินทางไปมาระหว่างในเมืองกับบ้านบ่อยครั้ง ส่วนของโรงงานพบติดเชื้อเพิ่ม แยกเป็นรายที่ ๔๙๑๙ พนักงานแผนกล้างลาน รายที่ ๔๖๕๘ พนักงานแผนกเครื่องในไก่ ซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของรายที่ ๔๙๑๙ และผู้ป่วยชาย อายุ ๑๘ ปี พนักงานแผนกต้มเลือด อำเภอโชคชัยได้ค้นหาผู้สัมผัสเกี่ยวข้องกับพนักงานทั้ง ๔ คน และมีเฝ้าระวังว่าจะติดเชื้อเพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนโรงงานคาร์กิลล์ยังมีการดูแลพนักงาน ทำความสะอาด ปิดบางแผนกที่มีการติดเชื้อ และเฝ้าระวังต่อเนื่อง

ปรับเปลี่ยนมาตรการ

จากนั้น ฝ่ายนิติกร รายงานว่า “ขณะนี้มีการแก้ไขคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา ในกรณีที่มีคำสั่งให้สถานศึกษางดการเรียนการสอนในสถานที่ตั้ง ยังไม่มีกำหนดว่า จะให้สิ้นสุดวันใด ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ มีมาตรการเกี่ยวกับค่าเล่าเรียน จังหวัดนครราชสีมา โดยนายกอบชัย บุณอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ จึงมีคำสั่งให้สถานศึกษาทุกสังกัด เช่น โรงเรียน สถานบันกวดวิชา โรงเรียนสอนพิเศษ ให้งดการเรียนการสอนในสถานที่ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ ประเด็นต่อมา คือ ข้อกำหนดประกาศฉบับที่ ๒๔ เกี่ยวกับเรื่องสนามกีฬาในจังหวัดฯ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดของ ศบค. จังหวัดฯ จึงมีการแก้ไขให้สนามกีฬาในร่ม สถานกีฬากลางแจ้ง และสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ให้เปิดดำเนินการได้ แต่เปิดได้ถึงเวลา ๒๑.๐๐ น. โดยจะต้องจำกัดจำนวนผู้เข้าชม และปฏิบัติตามมาตรการที่ทางจังหวัดฯ กำหนดไว้ เช่น จะต้องมีการตรวจวัดและคัดกรองพนักงานหรือผู้ให้บริการ ด้วยการวัดอุณหภูมิ มีเส้นทางเข้าออกที่ชัดเจน มีเจลล้างมือประจำจุดต่างๆ มีการเว้นระยะห่าง ๑-๒ เมตร ให้ทำความสะอาดผิวสัมผัสในสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ เป็นประจำ ผู้มาใช้บริการจะต้องจองคิวก่อนเข้าใช้เสมอ และพนักงานในสถานที่ออกกำลังกายหรือสนามกีฬาและผู้ใช้บริการ จะต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา”

ไทยได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์

“โคราชคนอีสาน” สอบถามกรณีวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกาว่า มีการกระจายมายังจังหวัดนครราชสีมาอย่างไรบ้าง โดยนพ.ชาญชัย บุญอยู่ ชี้แจงว่า วัคซีนไฟเซอร์จากการบริจาคของประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน ๑.๕๔ ล้านโดส ล็อตนี้จะส่งมาถึงประเทศไทยประมาณวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔ จากนั้นจะมีการตรวจสอบความปลอดภัยและคุณภาพของวัคซีน โดยจะกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ประมาณช่วงต้นเดือนสิงหาคม ส่วนจำนวนการจัดสรรในแต่ละจังหวัด จะต้องรอคณะกรรมการจัดสรรวัคซีนดำเนินการ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์มีทั้งหมด ๕ กลุ่ม ได้แก่ ๑.บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานเสี่ยงสูง จำนวน ๗๐๐,๐๐๐ โดส ๒.ผู้มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากเชื้อโควิด-๑๙ ผู้สูงอายุ บุคคลกลุ่ม ๗ โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ จำนวน  ๖๔๕,๐๐๐ โดส ๓.ชาวต่างชาติที่พักอาศัยในประเทศไทย โดยเน้นผู้สูงอายุ บุคคลกลุ่ม ๗ โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่จำเป็นในการเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักการทูต และนักศึกษา จำนวน ๑๕๐,๐๐๐ โดส ๔.คณะนักวิจัย จำนวน ๕,๐๐๐ โดส และ ๕.สำรองไว้ส่วนกลาง เพื่อใช้ตอบโต้ไวรัสกลายพันธุ์ ๔๐,๐๐๐ โดส”

อนึ่ง การระบาดของโควิด-๑๙ ระลอก ๓ ในจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ๒๕๖๔ (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔) พบผู้ป่วยสะสม ๕,๓๙๑ ราย รักษาหาย ๒,๒๔๙ ราย รักษาอยู่ ๓,๐๙๑ ราย เสียชีวิตสะสม ๕๑ ราย โดยพบผู้ป่วยรายอำเภอ ดังนี้ อำเภอเมือง ๑,๐๕๑ ราย ปากช่อง ๑,๐๔๔ ราย สีคิ้ว ๑๔๕ ราย ด่านขุนทด ๒๖๘ ราย สูงเนิน ๑๘๓ ราย ชุมพวง ๘๑ ราย บัวใหญ่ ๑๖๕ ราย พิมาย ๑๙๑ ราย โนนไทย ๑๐๕ ราย ประทาย ๒๕๒ ราย ปักธงชัย ๑๑๗ ราย ครบุรี ๑๐๖ ราย บัวลาย ๒๙ ราย เสิงสาง ๑๖๙ ราย โนนสูง ๒๓๗ ราย คง ๑๕๔ ราย โชคชัย ๙๓ ราย ห้วยแถลง ๖๙ ราย ขามทะเลสอ ๗๙ ราย เทพารักษ์ ๓๔ ราย เมืองยาง ๒๕ ราย หนองบุญมาก ๑๐๖ ราย จักราช ๖๘ ราย เฉลิมพระเกียรติ ๓๙ ราย ลำทะเมนชัย ๒๙ ราย สีดา ๕๕ ราย โนนแดง ๖๓ ราย บ้านเหลื่อม ๖๕ ราย วังน้ำเขียว ๙๒ ราย แก้งสนามนาง ๑๐๘ ราย ขามสะแกแสง ๗๑ ราย และพระทองคำ ๖๙ ราย ส่วนสถานการณ์โรงพยาบาลสนามในจังหวัดสครราชสีมา โรงพยาบาลสนามอำเภอเมือง (สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ+หอพักพยาบาล) จำนวน ๕๔๖ เตียง ว่าง ๒๙๔ เตียง โรงพยาบาลสนามอำเภอปากช่อง (โรงแรมโซลสยามรีสอร์ท) จำนวน ๑๒๐ เตียง ว่าง ๖๗ เตียง โรงพยาบาลสนามอำเภอสีคิ้ว (สนามกีฬาริมบึง) จำนวน ๖๒ เตียง ว่าง ๕ เตียง โรงพยาบาลสนามอำเภอคง (วัดตะคร้อ) จำนวน ๖๐ เตียง ว่าง ๖ เตียง โรงพยาบาลสนามอำเภอแก้งสนามนาง (อาคารชมรมข้าราชการบำนาญ) จำนวน ๓๐ เตียง ว่าง ๒๒ เตียง

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๙ วันพุธที่ ๒๘ กรกฎาคม - วันอังคารที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


78 1,641