13thNovember

13thNovember

13thNovember

 

August 06,2021

‘มีวินัย ซื่อสัตย์ มุมานะ พอเพียง’ ‘น้องอรสู้โว้ย’ พ.ท.(หญิง) อุดมพร พลศักดิ์ เหรียญทองโอลิมปิกหญิงคนแรกของไทย

ในช่วงนี้หลายคนคงกำลังเชียร์นักกีฬาไทย ในการแข่งขัน “โอลิมปิกเกมส์ กรุงโตเกียว ๒๐๒๐” ระหว่างวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔-๘ สิงหาคม ๒๕๖๔ ซึ่งขณะนี้ไทยคว้ามาได้ ๑ เหรียญทองแล้วจากกีฬาเทควันโด ด้วยสุดยอดนักเตะ “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ

ประเทศไทยใน “โอลิมปิกเกมส์” ถือว่ามีชื่อเสียงในการคว้าเหรียญมาได้เกือบทุกปีที่จัดแข่ง และก็มีสาวแกร่งไม่น้อยที่สร้างชื่อเช่นกัน โดยเฉพาะในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์๒๐๐๔ กรุงเอเธนส์ ทุกคนคงเคยได้ยินชื่อนักกีฬายกน้ำหนัก รุ่น ๕๓ กิโลกรัมหญิง “น้องอร” หรือ “น้องอรสู้โว้ย” ซึ่งปัจจุบันคือ พันโทหญิงอุดมพร  พลศักดิ์ นายทหารแผนกประวัติบำเหน็จบำนาญ ช่วยราชการกองยุทธการ มณฑลทหารบกที่ ๒๑ ค่ายสุรนารี ซึ่ง “โคราชคนอีสาน” ได้มีโอกาสพูดคุยถึงประสบการณ์การแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ รวมถึงการใช้ชีวิตหลังจากเลิกเล่นกีฬา

 

• ยินดีกับนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกคนล่าสุด

“พันโทหญิงอุดมพร พลศักดิ์” กล่าวว่า “ขอแสดงความยินดีกับน้องๆ ได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ในนามทีมชาติไทยที่ไปแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวในปีนี้ และแสดงความยินดีกับน้องเทนนิส นักกีฬาเทควันโด ที่ได้เหรียญทองมาครอง รวมทั้งชื่นชมนักกีฬาที่ได้เหรียญ และไม่ได้หรียญ ส่วนกีฬายกน้ำหนักที่พี่อรเล่นนั้น มีความคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก ซึ่งทุ่มเทจนได้เหรียญโอลิมปิก เกือบ ๑๔ ปี กว่าจะได้เหรียญทองมา มีหกล้มบ้าง มีลุกนั่งบ้าง ก็คือทางเดินไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะฉะนั้นการฝึกซ้อมต้องมีอาการบาดเจ็บ มีหนักบ้างเบาบ้าง ต้องมีวินัย มีความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และความมีมุมานะพยายาม ทำความฝันของเราว่า ครั้งหนึ่งจะต้องไปแข่งขันโอลิมปิกให้ประสบความสำเร็จให้ได้”

• สู้โว้ยปลุกพลัง

“แค่ได้ไปโอลิมปิกก็ประสบความสำเร็จในด้านกีฬาระดับหนึ่งแล้ว การไปแข่งขันเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ หรือ ค.ศ.๒๐๐๔ ซึ่งไม่ได้หวังเหรียญใดๆ เลย เพียงแต่ว่าเราดูจากการแข่งขันแล้ว น่าจะอยู่ลำดับที่ ๒-๓ ต้องเผื่อใจไว้ด้วยว่า สถานที่แข่งเราไม่รู้เลยว่า ใครจะมาดีหรือว่ามาไม่ดี จะมีฟอร์มขนาดไหน มั่นใจขนาดไหน โดยรวมไม่ได้คิดว่าเราจะได้เหรียญอะไรในการแข่งขัน เพียงแต่ว่า เราทำให้ดีที่สุด ในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทย ความมุ่งมั่นที่มีให้กับกีฬายกน้ำหนักคือทำให้ดีที่สุด ทุกอย่างจะไม่มีคำว่า เสียใจ เสียดาย ผิดหวัง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำไป เป็นผลงานของเรา จะเล่นต่อหรือไม่เล่นต่อ คือความทรงจำดีๆ ส่วนคำว่า “สู้โว้ย” เกิดจากความเครียดในการแข่งขัน จะไม่มีใครรู้เลยว่า เรามีความเครียดขนาดไหน มีทั้งสงครามประสาท หรือพูดกับตัวเอง จึงเกิดคำว่า “สู้โว้ย” เพื่อเรียกพลังตัวเองออกมาต่อสู้แข่งขันกับตัวเองและคู่แข่ง”

 

• ความเป็นตัวตนของตัวเอง

“ครอบครัวพี่อรเป็นครอบครัวธรรมดา ที่มีโอกาสไปคว้าเหรียญทองโอลิมปิก พ่อกับแม่สอนเสมอมาว่า “อย่าเป็นวัวลืมตีน” หมายถึงว่า ไม่ว่าสิ่งใดจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือในทางที่ต่ำลง แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ อย่าลืมความเป็นตัวตนของตัวเอง เพราะฉะนั้นในส่วนของครอบครัวจะไม่การเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคนรู้จักมากขึ้น เหมือนกับ Popular ในเรื่องกีฬา ทำให้มีชีวิตดีขึ้นในฐานะคนหนึ่งในครอบครัว ในเรื่องของการงาน ได้เข้ามาบรรจุเป็นทหารที่ค่ายสุรนารี และการวางตัวในสังคมก็มีบ้างตามวาระ ตามสภาพที่มีการเปลี่ยนแปลง”

• ขอเป็นทหารรับใช้ชาติ

การเป็นข้าราชการทหาร หรือข้าราชการอื่นๆ คนที่เป็นนักกีฬาได้หวังว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตของเรากับการทุ่มเทให้ทีมชาติไทย จะหวังในความมั่นคงในอาชีพที่จะเลี้ยงทั้งครอบครัว ให้มีความมั่นคงทางด้านอาชีพการงาน ส่วนเหตุที่เลือกทหารเพราะว่า มีความทรงจำดีๆ ในช่วงเด็กว่า เห็นทหารเดินผ่านมา รู้สึกว่า “ครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องเป็นทหารให้ได้ จะต้องเป็นทหารบกด้วย” เพราะมีความเท่ สมาร์ท ส่วนตัวชอบอยู่แล้ว กล้าๆ ลุยๆ ครั้งหนึ่งเมื่อมีโอกาสจึงขอเป็นทหาร เพื่อรับใช้ชาติ ทำตามความฝัน ส่วนเงินอัดฉีดที่ได้มาอยู่ประมาณ ๑๐-๒๐ ล้านบาท ได้นำมาใช้ในเลี้ยงดูครอบครัว และอีกหนึ่งธุรกิจ คือ หอพักชื่อว่า หอพักน้องอร (สู้โวย) ที่ชุมชนมหาชัย-อุดมพร เขตเทศบาลนครนครราชสีมา หอพักอยู่บริเวณหลังประตู ๓ มทร.อีสาน

 

• ออกกำลังกายประจำ

“ปัจจุบันยังเล่นกีฬาอยู่ เพื่อคงสภาพกล้ามเนื้อไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บ เพราะว่าการเล่นกีฬา อาจมีการบาดเจ็บ เพียงแต่มีกล้ามเนื้อพยุงอยู่ หมอแนะนำว่า พี่ผ่านั้นผ่านี่มาเยอะหลังจากที่เลิกเล่นไปแล้ว ไม่ได้ออกกำลังกาย อาการบาดเจ็บมีมากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องออกกำลังกายประจำ อย่างเวทเทรนนิ่งหรือวิ่ง จะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ช่วยพยุงการบาดเจ็บเป็นอย่างดี”

 

• มีความพอเพียงเลี้ยงดูครอบครัว

“การใช้ชีวิตหลังจากการเป็นนักกีฬาเหรียญทอง มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี การวางแผนชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ว่าการดำเนินชีวิตเหมือนกัน หมายถึงว่า การเดินทางชีวิตไปในทางดีขึ้น เราได้สิ่งที่คาดหวังมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเงินทองชื่อเสียงต่างๆ การดำเนินชีวิตของเราจะต้องอยู่ในศีลธรรม ใช้ชีวิตพอเพียง และเลี้ยงดูครอบครัวให้ดีขึ้น ฉะนั้นการได้รับเหรียญรางวัลหรือไม่ได้รับเหรียญรางวัล อยากให้มีวินัย มีความพยายาม มีความมุมานะ มีสติ และมีความพอเพียง ในการดำรงชีวิต”

• ยกน้ำหนักยังคงอยู่

“กีฬายกน้ำหนักไม่ได้เงียบลง แต่โดนแบนจากสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ (IWF) เนื่องจากไทยมีผลตรวจโดปสารต้องห้ามในร่างกาย ทำให้มีการตัดสิทธิ์ในการแข่งขันยกน้ำหนัก ไม่ให้ร่วมแข่งขันประมาณ ๑-๒ ปี ทำให้การเก็บคะแนนจำนวนที่นั่งในการแข่งขันระดับโอลิมปิก หรือว่าแข่งขันระดับนานาชาติ ยังไม่ได้ส่งนักกีฬาไปเก็บคะแนน ทำให้ไม่มีที่นั่งในโอลิมปิก แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-๑๙ ก็ทำให้เงียบลงด้วย แต่ว่ายังมีกีฬายกน้ำหนักในประเทศไทย มีแชมป์ประเทศไทย มีแชมป์เยาวชนแห่งชาติ ซึ่งเราได้ไปรับบทลงโทษ IOC และติดสถานการณ์โควิด-๑๙ ทำให้สถาการณ์ของนักกีฬายกน้ำหนักไทย อาจจะดูลดลง และไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์”

ร่วมวิ่งกับ พ.ต.สมจิตร จงจอหอ ส่งกำลังใจให้ทัพนักกีฬาไทยไปโอลิมปิกเกมส์ ๒๐๒๐

“สุดท้ายอยากเห็นความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของชาวโคราช ให้ผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-๑๙ซึ่งเป็นระลอก ๓ อย่างน้อยอยากให้ทุกคนมีกำลังใจในการทำงาน ในการดำรงชีวิต ถึงแม้อาจจะดูร้ายๆ เหนือสิ่งอื่นใดที่เราจะทำได้ คือ เป็นกำลังใจให้ซึ่งกันและกัน อยากให้ร่วมใจเว้นระยะห่างในสังคม ร่วมใจใส่หน้ากากอนามัย และทุกคนจะต้องมีสติในการดำรงชีวิต ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี” 

สำหรับโอลิมปิก กรุงโตเกียว ๒๐๒๐ ท่ามกลางการแข่งขันสุดตื่นเต้น พร้อมด้วยทัพนักกีฬาไทยที่ยังคงมุ่งมั่นชิงชัย จะกวาดเหรียญทองและรางวัลอื่นไปได้กี่รางวัล คงต้องรอลุ้นรอเชียร์ให้กำลังใจกัน ต่อไป

 

เกศวรินทร์ : สัมภาษณ์

ขอบคุณภาพจาก อินเทอร์เน็ต และเฟซบุ๊ก Aonny Udomporn

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๙๐ วันพุธที่ ๔ - วันอังคารที่ ๑๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


731 1,805