30thOctober

30thOctober

30thOctober

 

August 13,2021

‘รถไฟทางคู่’คาดใช้งานปี ๖๙ เลื่อนทุบ‘สะพานสีมาธานี’ ยืนยันไม่รื้อสะพานหัวทะเล

รฟท.เผยความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สัญญาที่ ๒ ขณะนี้กำลังปรับแบบช่วงตำบลบ้านใหม่ พร้อมรอของบประมาณก่อสร้างปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ ด้านกรมทางหลวงรับหน้าที่ทุบสะพานสีมาธานีและสร้างทางลอด คาดเริ่มปี ๒๕๖๖ สรุปรถไฟทางคู่ เปิดใช้งานมกราคม ๒๕๖๙ ยืนยันไม่ทุบสะพานหัวทะเล ชี้ไม่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง


สืบเนื่องจาก ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้อยู่อาศัย บริเวณสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ยื่นหนังสือขอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา และหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา สนับสนุนให้รื้อสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล เพื่อยกระดับรางรถไฟทางคู่ตลอดช่วงผ่านเมือง ระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร

จากนั้น เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ยื่นหนังสือ ขอทราบความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่ยกระดับ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อพิจารณาจัดประชุมนำเสนอรูปแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา โดยให้มีเจ้าหน้าที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้นำเสนอ

ต่อมา เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ ๑๐ (นครราชสีมา) พร้อมด้วยนายชิตพล เหล่าอัน ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ และเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ยกระดับ ช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา เพื่อชี้แจงรายละเอียดการออกแบบ แผนงานความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ และแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กรณีรื้อถอนสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล โดยมีนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการที่ปรึกษาฯ นายอรชัย ปุณณะนิธิ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Video Conference

เลื่อนทุบสะพานสีมาธานี

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายชิตพล เหล่าอัน ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ ให้สัมภาษณ์ “โคราชคนอีสาน” ถึงการประชุมติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ยกระดับ ช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา โดยเปิดเผยว่า การประชุมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อรายงานความคืบหน้าของโคราชการรถไฟทางคู่ ในกรณีที่จะมีการทุบสะพานสีมาธานีและสะพานหัวทะเล โดยในการประชุมเจ้าหน้าที่จาก รฟท. รายงานเรื่องทุบสะพานสีมาธานีว่า ขณะนี้ยังดำเนินการทุบไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันผลการศึกษา EIA ยังติดปัญหาการปรับปรุงรูปแบบบริเวณตำบลบ้านใหม่และในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ทำให้ยังนำเรื่องของบประมาณในการทุบสะพานสีมาธานี เข้าในที่ประชุม ครม.ไม่ได้ ในส่วนของกรมทางหลวง จึงไม่สามารถดำเนินการต่อได้เช่นกัน เพราะต้องรอให้โครงการผ่านความเห็นชอบ EIA ก่อน หากประเด็นนี้ผ่าน กรมทางหลวงก็จะดำเนินการของบประมาณทุบรื้อและก่อสร้างทางลอด ซึ่งในที่ประชุมรายงานว่า ถ้าไม่มีปัญหาอื่นเพิ่มเติม คาดว่า การปรับแบบและการศึกษา EIA ของ รฟท.จะแล้วเสร็จประมาณปลายปี ๒๕๖๕ หลังจากนั้นกรมทางหลวงจึงจะดำเนินการต่อได้ เพราะรูปแบบการก่อสร้างทางลอด รฟท.จะเป็นผู้ออกแบบทั้งหมด แต่จะใช้งบประมาณของกรมทางหลวง โดยใช้ผลการศึกษา EIA มาดำเนินการ ในส่วนของสะพานหัวทะเล สรุป รฟท.จะคงรูปแบบเดิมไว้ คือ ก่อสร้างรางรถไฟระดับพื้นดิน ไม่มีการยกระดับ  

ปรับแบบรถไฟทางคู่

นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการที่ปรึกษา หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “เริ่มต้นเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อผู้ประกอบการบริเวณแยกอัมพวัน มายื่นหนังสือให้หอการค้าจังหวัดฯ เพื่อขอทราบรายละเอียดโครงการรถไฟทางคู่ รวมถึงการจราจรขณะทุบสะพานสีมาธานีและก่อสร้างทางลอด ขณะเดียวกันผู้ประกอบการบริเวณรอบสะพานหัวทะเล มายื่นหนังสือให้หอการค้าจังหวัดฯ เพื่อขอทราบรายละเอียดโครงการรถไฟทางคู่และขอให้รื้อสะพานหัวทะเล หอการค้าจังหวัดฯ จึงรับเรื่องทั้ง ๒ กลุ่มไว้ โดยเสนอถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมทางหลวง โดยมีภาครัฐและเอกชนในโคราชเข้าร่วมด้วย ซึ่งการออกแบบโครงการรถไฟทางคู่ช่วงผ่านเมืองโคราช ทุกคนคงทราบรายละเอียดแล้ว เพราะมีการประชุมเรื่องทุบสะพานสีมาธานีหลายครั้ง เมื่อปัญหาการทุบสะพานสีมาธานีจบ ขณะนี้ยังติดปัญหาเรื่องถนน เนื่องจากสภาพัฒน์ชี้ว่า ถนนข้างล่างควรเป็นของกรมทางหลวงไม่ใช่ของ รฟท. โดยสรุปแล้วการก่อสร้างรถไฟจะเป็นหน้าที่ของ รฟท. ส่วนถนนข้างล่างจะให้กรมทางหลวงรับผิดชอบ ดังนั้น กรมทางหลวงจึงเน้นถนนมิตรภาพใต้สะพานสีมาธานีเป็นพิเศษ ซึ่งการทุบสะพานและการสร้างอุโมงค์จึงให้กรมทางหลวงรับผิดชอบ”

ความคืบหน้าล่าสุด

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า “สำหรับความคืบหน้าปัจจุบันของรถไฟทางคู่ มีประเด็นเกิดขึ้น ๓ จุด คือ ๑.ก่อนถึงสะพานสีมาธานี ๒.บริเวณสะพานสีมาธานี และ ๓.บริเวณสะพานหัวทะเล ซึ่งขณะนี้บริเวณตำบลบ้านใหม่ มีประชาชนส่วนหนึ่งร้องเรียนเรื่องการออกแบบว่า รางรถไฟอยู่บนคันดิน ทำให้เป็นการแบ่งแยกพื้นที่ ๒ ฝั่ง ซึ่ง รฟท.ก็รับเรื่องและขณะนี้กำลังปรับแบบ จากเดิมที่มีบล็อกคอนเวิร์สก็จะเปลี่ยนมาใช้สะพานบก คือ ทำเป็นสะพานพาดผ่านรางรถไฟ โดยยังคงความกว้างของถนนไว้ แต่จะขยายคันดินของสองข้างทางให้กว้างขึ้น สำหรับกรณีที่ประชาชนขอเป็นตอม่อตลอดช่วงผ่านตำบลบ้านใหม่ คงจะยาก เพราะติดเรื่องงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น แต่ รฟท.ก็รับปากว่า จะดูแลถนนต่างๆ ตลอดเส้นทาง เพื่อให้ดูแล้วโล่ง ไม่เป็นการแบ่งแยกพื้นที่ แต่เรื่องความสูงของคันดิน อาจจะปรับแก้ไม่ได้ เนื่องจากบริเวณตำบลบ้านใหม่ จะต้องคงความสูงไว้ หากทำยกระดับรถไฟก็จะชนกับสะพานสามแยกปักธงชัย ถ้าจะทุบทิ้งคงวุ่นวายกว่าทุกสะพาน เมื่อมาถึงจุดสะพานสีมาธานี ขณะนี้ รฟท.กำลังปรับแบบเนื่องจากมีการร้องเรียนจากการทำประชาพิจารณ์ว่า รูปแบบบางส่วนไม่เหมาะสม แต่การปรับแก้แบบก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด เพราะติดเงื่อนไขบางเรื่อง แต่ รฟท.ก็พยายามปรับให้ได้มากที่สุด ซึ่ง รฟท.เปิดเผยว่า หากการปรับแบบช่วงตำบลบ้านใหม่และสะพานสีมาธานีเสร็จสิ้น จากนั้นนำเรื่องเข้า ครม. เพื่อของบประมาณก่อสร้าง คาดว่า จะเป็นช่วงปลายปี ๒๕๖๕ และคาดว่า การก่อสร้างทั้งหมดจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมกราคม ๒๕๖๙ สรุปว่า ในปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ สะพานสีมาธานียังไม่ได้ทุบแน่ๆ”

คาดเสร็จปี ๒๕๖๙

“รฟท.จะเริ่มในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ถึง ๒๕๖๖ แต่เมื่อ ครม.อนุมัติงบประมาณก็จะไม่ได้ทำตรงสะพานสีธานีทันที แต่จะทำในจุดอื่นก่อน เมื่อ รฟท.ได้รับงบประมาณมาและลงมือ กรมทางหลวงก็จะเสนอของบประมาณ เพื่อก่อสร้างทางลอดและทุบสะพานสีมาธานี ซึ่ง รฟท.คุยกับกรมทางหลวงว่า แผนงานของกรมทางหลวงจะล่าช้ากว่า รฟท. เป็นเวลา ๑ ปี สำหรับระยะเวลาในการก่อสร้างทางลอดและทุบสะพานสีมาธานี เริ่มต้นกรมทางหลวงจะทำถนนข้างสะพาน ๓ เลน จากนั้นจะเริ่มทุบสะพานเป็นเวลา ๖ เดือน และก่อสร้างทางลอดใช้เวลา ๑ ปี ๖ เดือน ถึง ๒ ปี ดังนั้น กรมทางหลวงจะก่อสร้างในพื้นที่สะพานสีมาธานีประมาณ ๒ ปีครึ่ง ถึง ๓ ปี ซึ่งระยะเวลานี้จะไปสอดรับกับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ที่บอกว่า จะเสร็จในปี ๒๕๖๙”

ไม่ทุบสะพานหัวทะเล

“เมื่อรถไฟทางคู่ผ่านช่วงสะพานสีมาธานี เข้าสู่สถานีรถไฟนครราชสีมา ซึ่งเป็นสถานียกระดับ จากนั้นจะเริ่มไต่ระดับลงไปยังสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ และจะลดระดับถึงระดับพื้นก่อนถึงสะพานหัวทะเล จากนั้นก็ลอดใต้สะพานหัวทะเลต่อไป ส่วนรถไฟความเร็วสูงจะวิ่งสูงกว่าสะพานหัวทะเลอยู่แล้ว ซึ่ง รฟท.ชี้แจงในที่ประชุมว่า สะพานหัวทะเลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างทางรถไฟ หากจะแก้แบบเพื่อยกระดับรถไฟทางคู่ ก็ไม่มีเหตุและผลที่จะต้องลงทุนในการยกระดับ ซึ่งต่างกับสะพานสีมาธานีที่ต้องยกระดับเพราะสถานีรถไฟนครราชสีมาเป็นสถานีรถไฟยกระดับ เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง หากจะยกระดับ และทุบสะพานหัวทะเล รฟท.เขาใช้คำว่า สะพานไม่เป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้าง สรุปคือ จะไม่มีการทุบสะพานหัวทะเล หากดูตามแบบของ รฟท. สะพานไม่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการ และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านเมืองโคราช อยู่ในสัญญาที่ ๒ มีจุดสิ้นสุดโครงการก่อนถึงสะพานหัวทะเล แต่ช่วงหลังจากสถานีชุมทางถนนจิระและลอดใต้สะพานไป เป็นพื้นที่ของสัญญารถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ซึ่งขณะนี้ทำเสร็จแล้ว เหลือแค่เชื่อมกับสัญญาที่ ๒ ทั้งนี้ หลังการประชุมครั้งนี้ หอการค้าจังหวัดฯ จะรวบรวมข้อมูลและชี้แจงต่อผู้ร้องเรียนต่อไป”

ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๑๓๕ กิโลเมตร แบ่งออกเป็น ๓ สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ ๑ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง ๕๘ กิโลเมตร, สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ (โคราช) ระยะทาง ๖๙ กิโลเมตร อยู่ระหว่างปรับรูปแบบการก่อสร้าง (ตำบลบ้านใหม่) ในช่วงผ่านเมืองโคราช จะยกระดับระยะทางรวม ๕.๔๐ กิโลเมตร ใช้งบประมาณ ๑๑,๕๑๘ ล้านบาท และสัญญาที่ ๓ งานอุโมงค์ ระยะทาง ๘ กิโลเมตร วงเงิน ๙,๓๙๙ ล้านบาท


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๑ วันพุธที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๗ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔

 


122 1,824