August 20,2021
‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’
๒ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๒๙ น. รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ขบวนปฐมฤกษ์ ออกจากสถานีกลางบางซื่อ แบ่งออกเป็น ๒ สาย ได้แก่ บางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง ๑๕ กิโลเมตร และบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง ๒๖ กิโลเมตร
มาพร้อมกับการเปิดใช้ สถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางของระบบคมนาคมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บนพื้นที่ ๒,๓๒๕ ไร่ ที่ชั้น ๒ รองรับทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง ๔ ชานชาลา รถไฟทางไกลสายเหนือ อีสาน ใต้ ตะวันออก ๘ ชานชาลา
ส่วนชั้น ๓ ที่จะเปิดในอนาคต รองรับรถไฟความเร็วสูง สายเหนือ สายอีสาน สายตะวันออก ๑๐ ชานชาลา และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ๒ ชานชาลา และยังมีทางเชื่อมใต้ดิน ไปสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) สถานีบางซื่ออีกด้วย
จากการทดลองใช้บริการจาก สถานีชุมทางตลิ่งชัน ถึง สถานีรังสิต ซึ่งอยู่คนละฝั่งชานเมือง พบว่าใช้เวลาเพียงแค่ ๕๕ นาที รวมเวลาเปลี่ยนขบวนรถไฟที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งถือว่าเร็วพอๆ กับการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว
ความรู้สึกแรกที่ได้นั่งรถไฟฟ้าสายสีแดง ทำให้นึกถึงช่วงที่ไปเที่ยวเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย นั่งรถไฟกอมมูเตอ จากสถานีปาดังเบซาร์ (ตรงข้าม อ.สะเดา จ.สงขลา) ไปยังสถานีบัตเตอร์เวอร์ธ ระยะทาง ๑๗๐ กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง
เป็น ๒ ชั่วโมงที่รู้สึกเหมือนได้เปิดโลกมาก เพราะสัมผัสได้ถึงแอร์เย็นสบาย ต่างจากรถไฟชานเมืองบ้านเรา ส่วนใหญ่ยังเป็นรถไฟธรรมดา เคยนึกฝันว่าอยากให้มีในเมืองไทยบ้าง มาถึงวันนี้ความฝันเริ่มจะกลายเป็นจริง
ในอนาคต การรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนจะขยายรถไฟฟ้าสายสีแดงไปยัง ๔ มุมเมือง ได้แก่ สถานีชุมทางบ้านภาชี สถานีนครปฐม สถานีฉะเชิงเทรา และเส้นทางใหม่จากสถานีมหาชัย ไปสถานีปากท่อ
แต่ก็เป็นเรื่องอนาคตที่เราไม่อาจคาดเดาได้ว่า จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะหากไม่นับรวมโครงการโฮปเวลล์เมื่อ ๓๓ ปีก่อน ที่สุดท้ายฝันสลาย กว่าที่รถไฟฟ้าสายสีแดงจะเกิดขึ้นได้ นับตั้งแต่ก่อสร้างเส้นทางตลิ่งชัน-บางซื่อ ใช้เวลามากถึง ๑๒ ปี
สำหรับผู้อ่าน “โคราชคนอีสาน” ที่ยังไม่เคยไป เมื่อถึงสถานีกลางบางซื่อ เวลาเปลี่ยนขบวนรถ ให้ลงบันไดเลื่อนก่อน แล้วเดินไปขึ้นบันไดเลื่อนอีกฝั่ง รถไฟฟ้าไปรังสิตจะอยู่ที่ชานชาลา ๓-๔ ส่วนรถไฟฟ้าไปตลิ่งชันจะอยู่ที่ชานชาลา ๙-๑๐
ทางที่ดีแนะนำว่า หากสถานการณ์โควิด-๑๙ คลี่คลาย และเปิดให้เดินทางไปยังกรุงเทพฯ ได้ มีเวลาก็อยากจะให้มาทดลองใช้บริการสักครั้ง ซึ่งให้บริการฟรีถึงเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ ครั้งแรกอาจจะสับสน แต่เมื่อมาเยือนบ่อยๆ ก็จะชินไปเอง
ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับคนที่เดินทางด้วยรถไฟเป็นประจำก็คือ รถไฟที่จะเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จาก ๑๑๘ ขบวนจะเหลือ ๒๒ ขบวน เพื่อลดปัญหาการจราจรตามจุดตัดทางรถไฟในเมือง
ส่วนใหญ่จะเป็นสายตะวันออก ๑๔ ขบวน นอกนั้นจะเป็นขบวนรถไฟชานเมือง เช่น กรุงเทพ-ชุมทางบ้านภาชี, กรุงเทพ-ลพบุรี, กรุงเทพ-ชุมทางแก่งคอย และกรุงเทพ-สุรรรณบุรี (หมดระยะชุมทางหนองปลาดุก) รวม ๘ ขบวนเท่านั้น
ถ้าเป็นรถไฟทางไกล ตามแผนที่วางไว้ สายเหนือและสายอีสาน จะหมดระยะที่สถานีรังสิต และสายใต้จะหมดระยะที่สถานีตลิ่งชัน ยกเว้นขบวนรถใหม่ที่เป็นรถกำลังไฟฟ้า (Power Car) ๑๑๕ คัน มี ๘ ขบวน จะให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ
ได้แก่ ขบวนรถอุตราวิถี (กรุงเทพ-เชียงใหม่) ขบวนรถอีสานวัตนา (กรุงเทพ-อุบลราชธานี) ขบวนรถอีสานมรรคา (กรุงเทพ-หนองคาย) และขบวนรถทักษิณารัถย์ (กรุงเทพ-ชุมทางหาดใหญ่) เพราะไม่มีปัญหาเรื่องควันรถและมลพิษในสถานี
ถ้าไม่ใช่ขบวนรถ Power Car ในอนาคต คนที่นั่งรถไฟทางไกลภาคเหนือและอีสาน อาจจะต้องลงที่สถานีรังสิต แล้วต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้าเมือง ส่วนรถไฟชานเมืองจากลพบุรี ชุมทางแก่งคอย หรือชุมทางบ้านภาชี จะใช้ทางยกระดับ แต่ไม่เข้าสถานีกลางบางซื่อ ลงมาเบี่ยงไปทางสถานีรถไฟบางซื่อเดิม เพื่อไปยังหัวลำโพงต่อไป
เมื่อกล่าวถึง สถานีรังสิต อธิบายให้เห็นภาพว่า ตัวสถานีมีอยู่ ๓ ชั้น โดยชั้นล่างสุดเป็นชานชาลารถไฟชานเมือง รถไฟทางไกลชานชาลา ๕-๖ และชานชาลา ๗-๘ มีรั้วกั้นไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไป ถ้าจะเข้าสถานีต้องขึ้นบันไดไปชั้น ๒
ชั้น ๒ เป็นที่ทำการสถานี เมื่อลงรถไฟที่สถานีรังสิต แล้วขึ้นบันไดไปชั้น ๒ ฝั่งหนึ่งจะเป็นห้องจำหน่ายตั๋วรถไฟทางไกล (จะมีตู้จำหน่ายตั๋วรถไฟอัตโนมัติ) อีกฝั่งหนึ่งจะเป็นห้องจำหน่ายตั๋วรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ
เมื่อเข้าประตูกั้นอัตโนมัติแล้ว ให้ขึ้นบันไดเลื่อนไปที่ชั้น ๓ จะพบกับชานชาลาที่ ๑-๔ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายสีแดง เราสามารถรอขึ้นรถไฟฟ้าตรงจุดนี้ ไปยังสถานีกลางบางซื่อได้ที่นี่ มีรถออกทุก ๓๐ นาที หรือถ้าเป็นชั่วโมงเร่งด่วนก็ทุก ๑๕ นาที
แต่ถ้าลงบันไดที่ทางออกหมายเลข ๓ (ฝั่งโรงแรมบอสส์โฮเต็ล) จะมีรถเมล์ ขสมก. สาย ๕๒๒ (เสริม) ไปฟิวเจอร์พาร์ครังสิต แยกลำลูกกา สิ้นสุดที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส แยก คปอ. กับรถสองแถวสีแดงเลือดหมู ไป ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ใครที่รีบจะมีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เช็กราคาจากสถานีรังสิต ถ้าไปป้ายรถเมล์ ๑๕ บาท ไปโรงพยาบาลปทุมเวช ๒๐ บาท ไปสถานีรถตู้รังสิต ๓๐ บาท และไปฟิวเจอร์พาร์ค เมเจอร์รังสิต หรือคิวรถตู้รังสิตฮับ (โรงแรมฮ็อปอินน์ รังสิต) ๔๐ บาท
ส่วนคนที่จะไปต่อเครื่องบินที่ สนามบินดอนเมือง ในอนาคตถ้านั่งรถไฟทางไกล ขบวนอุตราวิถีจากเชียงใหม่ อีสานวัตนาจากอุบลราชธานี และอีสานมรรคาจากหนองคาย ก็จะแวะจอดที่ สถานีดอนเมือง เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีแดง
เมื่อลงมาที่ชั้น ๒ ให้สังเกตทางออกหมายเลข ๖ ไปทางขวา ออกจากประตูกั้นอัตโนมัติ จะมีทางเชื่อมขวามือ ให้ตรงเข้าไปสะพานลอย จะเจอป้ายท่าอากาศยานดอนเมือง เลี้ยวซ้ายเข้าสกายวอล์ก ไปอาคารผู้โดยสารในประเทศ (Terminal 2)
ยอมรับว่า กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ทำการบ้านกับรถไฟฟ้าสายสีแดงไว้ดีมาก โดยเฉพาะปัญหาที่ว่า จากสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงจะไปต่อยังไง ก็จัดรถเมล์เข้าสถานีกลางบางซื่อ สถานีรังสิต และสถานีชุมทางตลิ่งชัน
รวมทั้งยังบูรณาการกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างสกายวอล์กเชื่อมสนามบินกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ต่อไปใครลงเครื่องบินที่ดอนเมือง ขึ้นบันไดเลื่อนไปชั้น ๒ ไปทางร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อเข้าทางเชื่อมได้เลย
อาจมีคนสงสัยว่า เป็นไปได้ไหม ถ้าภาคอีสานจะมีรถไฟฟ้าระหว่างเมืองแบบกรุงเทพฯ บ้าง เพราะปัจจุบันมีรถไฟทางคู่ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่นอยู่แล้ว และกำลังทำรถไฟทางคู่ พร้อมรถไฟความเร็วสูงมายังโคราช
โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ กรอบวงเงิน ๕๙,๘๘๘ ล้านบาท โดยได้รับความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)
แต่ที่ผ่านมามีการปรับกรอบวงเงินถึง ๕ ครั้ง มากกว่า ๙๓,๐๐๐ ล้านบาท เพราะมีการปรับแบบก่อสร้างตลอดเวลา เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง ล่าสุดยังจะมีปรับกรอบวงเงินเพิ่มอีกครั้ง ทำให้กรอบวงเงินอาจจะสูงกว่า ๑ แสนล้านบาท
ที่น่าสนใจก็คือ งานไฟฟ้าและเครื่องกลสำหรับระบบรถไฟ มีบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์, บริษัท ฮิตาชิ และบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ทำหน้าที่ออกแบบ จัดหา และติดตั้งระบบงานไฟฟ้าและเครื่องกล รวมถึงการจัดหารถตู้ไฟฟ้า
ปรากฎว่า มีมูลค่าสัญญาสูงถึง ๓๒,๓๙๙ ล้านบาท มีทั้งการวางรางรถไฟขนาด ๑ เมตร ระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบอาณัติสัญญาณ จัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น แบ่งเป็น บางซื่อ-รังสิต ๑๕ ขบวน ๙๐ ตู้ และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ๑๐ ขบวน ๔๐ ตู้
ปัจจุบันระบบรางในต่างจังหวัดไม่ได้เอื้อให้เกิดการเดินทางได้บ่อยเท่าที่ควร เวลาจะข้ามจังหวัดต้องรอรถไฟทางไกลซึ่งใช้เวลานาน ขณะที่ขบวนรถท้องถิ่นจะเป็นขบวนรถบริการเชิงสังคม เน้นค่าโดยสารถูก จอดทุกสถานี เข้าถึงผู้ที่มีรายได้น้อย
ถ้าจะให้ต่างจังหวัดมีรถไฟฟ้าติดแอร์ ต้องติดตั้งระบบไฟฟ้ากำลัง (คนละส่วนกับรถไฟความเร็วสูง ที่ใช้ราง ๑.๔๓๕ เมตร) ติดตั้งระบบควบคุมการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ ทำสถานีรถไฟระบบปิด ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และอื่นๆ อีกมาก
แม้ไม่ง่ายไม่ยาก แต่เมื่อมองความเป็นจริง สุดท้ายก็เป็นเรื่องอนาคต ที่เวลานี้อาจไม่เร่งด่วนในการลงทุน
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๙๑ วันพุธที่ ๑๘ - วันอังคารที่ ๒๔ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
827 1,612