August 20,2021
ตั้งสถานที่กักตัวใน รง. หวังพ้นพื้นที่สีแดงเข้ม
ภาคอุตสาหกรรม เตรียมจัดตั้ง “Factory Isolution” เสนอขอจังหวัดช่วยลดจำนวนเตียงและขอทำนอกโรงงาน ‘ผู้ว่าฯ กอบชัย’ ไม่ขัด ขอเพียงโรงงานพร้อมรับมือการติดเชื้อ ด้าน ‘สสจ.’ เผยสาเหตุเข้มงวดโรงงาน เพราะถ้ามีการ ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลถึงการคลายล็อกมาตรการและยกเลิกพื้นที่สีแดงเข้ม
สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีการระบาดรุนแรงในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันมีจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จึงสั่งให้ทุกโรงงานจัดทำ Factory Isolution (FAI) หรือสถานที่พักผู้ป่วยในโรงงาน
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๖.๐๐ น. ที่ห้องประชุมนางสาวบุญเหลือ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุมหารือจัดเตรียมการจัดตั้ง FAI ในโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.วัญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และภาคเอกชนจังหวัดนครราชสีมา อาทิ นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา และตัวแทนจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ
นายกอบชัย บุญอรณะ กล่าวว่า “สถานการณ์โควิด-๑๙ ขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายคนต้องการทำความเข้าใจ และร่วมเสนอแนะข้อมูลต่างๆ ให้กับจังหวัด โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว โดยสนใจเข้ามาช่วยแก้ไขการทำงานของจังหวัด การประชุมวันนี้จึงเป็นการเปิดรับฟังผู้ประกอบการทุกคน หรือมีอะไรสงสัยก็สามารถสอบถามได้ ผมพยายามให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งหลายข้อเรียกร้องตั้งแต่สมัยนายวิเชียร จันทรโณทัย และผมก็เสนอไปให้ส่วนกลาง ส่วนใหญ่ถูกตอบกลับมาแล้ว แต่เป็นการตอบกลับแบบนามธรรม เช่น การลดภาษี ผมจึงให้หน่วยงานต่างๆ เข้าไปให้คำแนะนำว่า การลดภาษี ลดตรงไหนบ้าง เพื่อให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติจริง อย่างน้อยตัวแทนภาคเอกชนจะได้รับรู้และเข้าใจ แต่ถ้ายังมีอะไรที่ตกหล่น ก็สามารถเสนอมาได้ตลอด ผมพร้อมที่จะรับเรื่องและเสนอไปยังส่วนกลาง”
“ก่อนการประชุมนี้ ผมได้ประชุมร่วมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการพูดถึงจังหวัดลำปาง ชัยภูมิ และนครราชสีมา โดย ๓ จังหวัดนี้มีขนาดที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนกลางชื่นชมโคราชหลายเรื่อง โดยเฉพาะการบริหารจัดการโควิด-๑๙ สถานการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นจากการใช้โคราชโมเดลทั้งนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากผมเป็นคนคิด เกิดจากทุกคนช่วยกันคิด สำหรับผู้ติดเชื้อขณะนี้ ผมเชื่อว่า ตัวเลขจะสูงไปอีกช่วงหนึ่ง แม้ตัวเลขสะสมจะมาก แต่ผู้รักษาหายก็มาก คิดเป็นครึ่งต่อครึ่ง ตัวเลขเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาเพราะโคราชได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เพราะจัดการไม่ได้หรือทำงานผิดพลาด ในขณะเดียวกัน วัคซีนเราก็ได้มาแล้วกว่า ๔ แสนโดส และจะได้รับเรื่อยๆ กระทั่งโคราชมีภูมิคุ้มกันหมู่” นายกอบชัย กล่าว
“การระบาดช่วงแรกเกิดขึ้นจากการติดเชื้อในจังหวัด แต่ช่วงนี้ไม่ใช่ เพราะตั้งแต่ปิดแคมป์คนงานและล็อกดาวน์กรุงเทพฯ คนก็ทยอยออกมาต่างจังหวัด ซึ่งโคราชเป็นเมืองใหญ่ มีคนไปทำงานในกรุงเทพฯ จำนวนมาก และคนที่จะกลับภูมิลำเนาก็ต้องเดินทางผ่านโคราช ทำให้ตัวเลขติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะนี้ยังมี นโยบายรับคนโคราชที่ติดเชื้อกลับบ้านด้วย ใครป่วยก็ให้มารักษาที่โคราช ดีกว่านอนรอเตียงในกรุงเทพฯ ดังนั้น การติดเชื้อรายวัน ตัวเลขของผู้ติดเชื้อจากภายนอกจึงมากกว่าคนที่ติดเชื้อในจังหวัด ซึ่งผู้ที่จะเดินทางเข้ามาโคราช ก็จะต้องถูกคัดกรองก่อนเข้าชุมชน จึงทำให้เกิด State Quarantine (SQ) จำนวนมาก คนที่เดินทางมาก็ต้องกักตัวก่อน ๑๔ วัน หากเจอเชื้อก็นำส่งโรงพยาบาลทันที คนเหล่านี้จึงไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปสร้างการระบาดในพื้นที่ ทำให้ตัวเลขการระบาดในพื้นที่น้อยมาก แต่ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากโรงงาน วันนี้จึงต้องหาวิธีการจัดการให้ได้ ประกอบกับขณะนี้เตียงในโรงพยาบาลต่างๆ เริ่มไม่เพียงพอ จึงมีแนวคิดในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และ Community Isolution (CI) หรือสถานที่พักผู้ป่วยในชุมชนต่างๆ และขณะเดียวกันก็มี Home Isolution (HI) เป็นการนำผู้ป่วยไปรักษาที่บ้าน โดยกลุ่มนี้จะเป็นผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง และมีความพร้อมของสถานที่ สามารถแยกตัวกับคนในครอบครัว ในวันนี้จะพูดถึง Factory Isolution (FAI) ซึ่งเป็นสถานที่กักตัวในโรงงาน จะทำอย่างไร จัดการอย่างไร ขอให้ภาคเอกชนเสนอขึ้นมา” นายกอบชัย กล่าว
ทำ FAI ในโรงงาน
นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “เรามีความเต็มใจที่จะร่วมมือกับส่วนราชการในจังหวัด เพื่อจัดทำ FAI ซึ่งวันนี้ผู้ว่าฯ ต้องการให้ภาคเอกชนทำ FAI ในโรงงานหรือสถานประกอบการ แต่จากการพูดคุยกับสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ จะขอเปลี่ยนแนวคิดที่ว่า การทำ FAI จะต้องทำในโรงงานเท่านั้น เนื่องจากว่า ในโรงงานอาจจะมีความพร้อม แต่โรงงานไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำเป็นที่อยู่อาศัย จึงสรุปว่า อาจจะทำ FAI นอกโรงงาน บางโรงงานอาจจะไม่มีความพร้อม ก็สามารถทำในที่อื่น แต่หากทำในพื้นที่ชุมชน จะต้องทำประชาพิจารณ์ว่า ชุมชนจะยอมให้ทำหรือไม่ ดังนั้น ถ้าจะทำ FAI ขอใช้คำว่า FAI ของโรงงาน ไม่ใช่ FAI ในโรงงาน”
นายหัสดิน กล่าวอีกว่า “สำหรับการทำ FAI มีข้อจำกัดอยู่พอสมควร จึงศึกษาจากจังหวัดอื่นๆ ที่ทำก่อนหน้าว่า มีการจัดทำอย่างไร เช่น ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจณะ ทำเป็น Common FAI คือ ทำเป็น FAI รวมในเขตอุตสาหกรรม มี ๙๖๐ เตียง โดยแบ่ง ๑๐๐ เตียงให้กับชาวบ้านใกล้เคียง เพื่อเป็นการทำ CSR ซึ่งจำนวนเตียงคิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของคนงานทั้งหมด แต่โคราชจะขอเริ่มต้นต่ำกว่าร้อยละ ๑๐ เพราะบางโรงงานมี ๑๔,๐๐๐ คน แต่ต้องสำรองเตียงไว้ ๑,๔๐๐ เตียง หากทำแล้วไม่ได้ใช้ก็จะเป็นการสูญเสียทรัพยากร รวมทั้งต้องหาบุคลากรทางการแพทย์เตรียมไว้ด้วย ส่วนการทำ Common FAI เช่น เขตอุตสาหกรรมนวนครทำขึ้นมา แต่ละโรงงานจ่ายเงินเข้ามากองกลาง เพื่อใช้จัดเตรียมสถานที่ แต่ก็ต้องดูความจำเป็นว่า ในเขตอุตสาหกรรมฯ จำเป็นที่จะต้องหาเตียงรองรับไว้ร้อยละ ๑๐ ตั้งแต่แรกหรือไม่ หากคนงานติดมากขึ้นก็สามารถขยายได้ตลอด แต่การทำก่อนร้อยละ ๑๐ เป็นการคาดการณ์ว่า จะมีผู้ป่วยประมาณนี้ ซึ่งโรงงานก็บอกว่า พยายามมีมาตรการป้องกัน เพื่อไม่ให้มีคนติดเชื้อ ถ้ามีคนติดถึงร้อยละ ๑๐ ก็สามารถทำได้ แต่บางโรงงานไม่มีติดถึงร้อยละ ๑๐ หรือไม่มีเลย ก็เกิดคำถามว่า มีความจำเป็นที่จะต้องหาเตียงไว้หรือไม่”
“ในจังหวัดสมุทรปราการ มีแนวคิดว่า โรงงานใดที่มีพนักงานเกิน ๓๐๐ คน ให้จัดทำ FAI ผมจึงมองกลับมาที่โคราชว่า มีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ในโรงงานหรือไม่ ซึ่งโคราชมี แต่เป็นการระบาดที่ไม่ได้แพร่กระจายไปทุกโรงงาน ดังนั้นโคราชจึงมีความจำเป็นที่จะต้องประกาศให้โรงงานที่มีพนักงาน ๓๐๐ คนขึ้นไป ทำ FAI ส่วนโรงงานที่มีพนักงานน้อยกว่า ๓๐๐ คน ก็ให้ทำเป็น Common FAI โดยจะต้องมากำหนดว่า จะใช้สถานที่ใดทำ FAI ดังนั้น จึงจะขอทำ FAI เริ่มต้นน้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ซึ่งโรงงานขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมบางแห่ง ยังยืนยันว่า โรงงานจะไม่มีการติดเชื้อมากถึงร้อยละ ๑๐ ของพนักงานทั้งหมด เขาอ้างว่า มีมาตรการรัดกุม พยายามไม่ให้พนักงานติดเชื้อ แต่ถ้าติดก็ว่ากันไม่ได้ แต่คงไม่ถึงร้อยละ ๑๐ แน่นอน นี่จะเป็นข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรม”
ขอให้ช่วยเหลือ
“อีกปัญหาหนึ่งในการทำ FAI คือ การหาบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาดูแล เช่น โรงงานซีเกท มีพนักงาน ๑๔,๐๐๐ คน ต้องทำ FAI ๑,๔๐๐ เตียง เขาจะหาบุคลากรจากที่ใดมาดูแล แต่ถ้าโรงงานทุกแห่งรวมตัวกันทำ Common FAI ขอให้ สสจ.เข้ามาช่วยดูแล เพราะโรงงานรวมมาอยู่ในที่เดียวกันแล้ว จึงไม่ต้องแบ่งบุคลากรกระจายไปโรงงานต่างๆ ข้อเสนอต่อมา คือ พนักงานที่เข้าพักใน FAI จะมีมาตรการเยียวยาอย่างไร ซึ่งจะประสานไปยังสำนักงานประกันสังคม โรงงานก็พร้อมที่จะดูแลส่วนหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยด้วย รวมทั้งเข้ามาช่วยจัดการขยะติดเชื้อว่า มีระบบหรือระเบียบอย่างไร โดยเฉพาะขณะนี้ การทำ FAI จะต้องมีเต็นท์และสุขาเคลื่อนที่ แต่โรงงานต่างๆ ก็เช่าไปทำ Bubble and Seal หมดแล้ว ไม่รู้จะหาจากที่ไหน จึงต้องการให้จังหวัดเข้ามาช่วยจัดการเรื่องเหล่านี้ด้วย วันนี้จึงมีคำถามว่า ส่วนราชการจะช่วยอะไรได้บ้างในการจัดทำ FAI” นายหัสดิน กล่าว
จังหวัดพร้อมรับข้อเสนอ
นายกอบชัย บุญอรณะ กล่าวว่า “สรุปข้อเสนอได้ว่า ภาคอุตสาหกรรมต้องการทำ FAI ของโรงงาน คือ จะทำในหรือนอกโรงงานก็ได้ หากโรงงานสามารถพูดคุยกับคนในพื้นที่นั้นๆ ได้ ก็สามารถทำได้ ซึ่งผมเคยให้นโยบายว่า พื้นที่โรงงานไม่สามารถทำได้ทั้งหมด แต่ถ้าโรงงานสามารถไปพูดคุยกับพื้นที่ต่างๆ และชาวบ้านไม่มีปัญหาก็ทำได้ แต่ต้องชัดเจนว่า FAI ในและนอกโรงงานเป็นอย่างไร และ Common FAI คืออะไร เป็น FAI สำหรับนิคมอุตสาหกรรมใช่หรือไม่ ในส่วนของรายละเอียดต่างๆ ก็ให้ สสจ.เข้าไปช่วยดูแลและให้คำแนะนำ ส่วนการทำ FAI ร้อยละ ๑๐ ของพนักงานในโรงงาน ซึ่ง สสจ.มองในเชิงระบาดวิทยา หากเกิดเหตุขึ้น จะสรุปไว้ก่อนว่า จะมีการระบาดร้อยละ ๑๐ แน่ๆ ดังนั้นจึงเป็นการป้องกันไว้ก่อน แต่โรงงานกลับมองว่า หากเกิดการติดเชื้อขึ้นจริงๆ ก็อาจจะไม่มากถึงร้อยละ ๑๐ หากทั้ง ๒ ฝ่าย พบกันครึ่งทางได้ ก็มาคุยกันว่า จะมีแผนจัดการอย่างไร พูดง่ายๆ ว่า แต่ละโรงานจะต้องมีแผน มีการเตรียมพร้อม หากเกิดการติดเชื้อขึ้นจะทำอย่างไร เช่น บางโรงงานมีแผนว่า หากมีคนติดเชื้อ ก็เตรียมสถานที่ไว้แล้ว เตรียมโรงพยาบาลไว้แล้ว หรือมีการพูดคุยกับคนที่จะมาสร้างสถานที่แล้ว แต่ว่า ก่อนจะมีการระบาดนั้น โรงงานอาจจะขอไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ก็ได้ ขอให้จัดทำเป็นข้อเสนอขึ้นมา แล้ว สสจ.จะช่วยดูช่วยแนะนำ ในส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ ต้องการอะไรขอให้เสนอมา แล้วจังหวัดจะนำเสนอรัฐบาลต่อไป สภาอุตสาหกรรมต้องการอะไร ขอให้เขียนมาเป็นข้อๆ จะได้มาดูว่า เรื่องใดทำได้และทำไม่ได้บ้าง จะได้มาช่วยกันปรับและแก้ไข”
ข้อเสนอจากโรงงาน
นางสาววาสนา รวมทรัพย์ หัวหน้าทีมบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจโรงงานโคราช บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เห็นด้วยกับการทำ FAI ที่ไม่จำกัดเฉพาะในโรงงาน ซึ่งซีเกทพยายามมองหาสถานที่ที่สามารถทำ FAI แต่ส่วนใหญ่ที่หามาได้ จะติดเรื่องการทำประชาพิจารณ์ จึงจะขอให้จังหวัดเข้ามาช่วยเหลือ ให้คำแนะนำและความรู้กับชุมชน ซึ่งมีเจ้าของโรงแรมหลายแห่งสนใจที่จะให้ใช้สถานที่ แต่ยังติดเพียงการทำประชาพิจารณ์เท่านั้น ซึ่งการให้คำแนะนำว่า การเป็น FAI จะต้องมีมาตรการอย่างไร เจ้าหน้าที่สำรวจของโรงงานก็ไม่มีความรู้มากพอที่จะให้คำตอบโรงแรมต่างๆ จึงต้องการให้จังหวัดเข้ามาช่วยเหลือในส่วนนี้ นอกจาก ผู้ติดเชื้อที่จะต้องเข้าอยู่ใน FAI แล้ว ยังมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงด้วย ซึ่งโรงงานก็มองหาสถานที่ให้กลุ่มนี้กักตัว แต่ไม่ง่าย เพราะเจ้าของสถานที่ เมื่อทราบว่า จะนำผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมากักตัว ก็หวั่นจะเกิดการแพร่ระบาด ซึ่งเมื่อดูสถานการณ์ของ SQ ในโคราช พบว่า ยังมีที่ว่างอยู่จำนวนมาก จึงมีแนวคิดว่า SQ ของจังหวัดจะสามารถรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากภาคอุตสาหกรรมได้หรือไม่ หากทำได้จะมีขั้นตอนการส่งตัวอย่างไร”
“สำหรับการจัดทำ FAI นั้น ซีเกทเป็นโรงงานที่พยายามจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด มีการจัดหาวัคซีนเข้ามาเอง ซึ่งปัจจุบันพนักงานฉีดวัคซีนไปแล้วร้อยละ ๙๐ ดังนั้น เมื่อพนักงานมีภูมิคุ้มกันหมู่และโรงงานมีระบบจัดการที่เข้มงวด การทำ FAI สำรองเตียงร้อยละ ๑๐ จากพนักงานทั้งหมด จะสามารถลดลงได้หรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นตัวอย่างให้โรงงานอื่นๆ ว่า หากคุณมีการฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ก็ไม่ต้องทำ FAI สำรองเตียงร้อยละ ๑๐” นางสาววาสนา กล่าว
นายกอบชัย บุญอรณะ กล่าวว่า “การทำประชาพิจารณ์ก็ต้องเกิดขึ้น โดยจังหวัดจะช่วยไปพูดคุยร่วมกัน โดยโรงงานจะต้องเตรียมข้อเสนอและประเด็นต่างๆ เสนอ สสจ. เจ้าของสถานที่ ผู้นำชุมชน และตัวแทนภาคประชาชน ต้องพูดคุยกันว่า หากทำสถานที่เพื่อผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หรือสถานที่ FAI จะจัดการอย่างไร ทุกฝ่ายต้องคุยเป็นกรอบไว้ก่อน เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว ก็ให้โรงงานลงไปขอใช้พื้นที่ในชุมชนต่างๆ ส่วนการลดจำนวนเตียงสำรองใน FAI หากโรงงานมีการฉีดวัคซีนให้พนักงานครบ ๒ เข็ม ถือเป็นแต้มต่อกับทาง สสจ. หากโรงงานใดฉีดครบ ๒ เข็ม สสจ.ก็อาจจะลดหย่อนให้ได้”
เข้มงวดในโรงงาน
นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “โคราชมีตัวเลขผู้ติดเชื้อมาก เพราะส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น โดยเฉพาะหลังการล็อกดาวน์กรุงเทพฯ เมื่อโคราชมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ส่วนคำถามที่ว่า จะคลายล็อกหรือไม่นั้น ประเทศไทยใช้วิธีอิงตามตัวเลขผู้ติดเชื้อ ไม่ได้สนใจว่า ติดจากข้างนอกหรือข้างใน จึงต้องอิงไปตามจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด ซึ่งในขณะนี้ตัวเลขเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่กรุงเทพฯ ใช้วิธีการค้นหาเชิงรุก โดยใช้ Antigen Test Kit (ATK) ตรวจหาเชื้อ เมื่อพบผลบวกก็จะต้องส่งกลับภูมิลำเนา โคราชจึงรับคนกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น แม้คนติดเชื้อจะมากขึ้น แต่ยังมีข่าวดีว่า สถานการณ์ไม่รุนแรงเท่าช่วงแรก ที่คนต้องนอนรอเตียงและเสียชีวิต หากถามว่า ทำไมจังหวัดจึงห่วงการระบาดในโรงงาน เพราะว่า ถ้ามีโรงงานใดโรงงานหนึ่งเกิดการระบาดกว่า ๑,๐๐๐ คน จะทำให้โคราชหลุดจากการล็อกดาวน์ (พื้นที่สีแดงเข้ม) ยากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นที่มาว่า ทำอย่างไรให้โรงงานปลอดภัย ซึ่งโรงงานส่วนหนึ่งเริ่มตื่นตัวกันแล้ว การทำ FAI เป็นการันตีว่า หากมีการติดเชื้อ จะไม่ทำให้เชื้อกระจายไปที่อื่น ส่วนมาตรการที่โรงงานทำ เช่น ให้พนักงานตรวจเชิงรุกเป็นประจำ สิ่งเหล่านี้เป็นมาตรการที่ทำมาถูกทางแล้ว จะทำ FAI สำรองเตียงร้อยละเท่าไหร่ผมไม่ติดใจ แต่โรงงานจะต้องเตรียมความพร้อม มีการวางแผนจัดการ หากเกิดการระบาดแล้วจะทำอย่างไร แต่ที่ สสจ.ห่วง คือ การติดเชื้อจำนวนมากในโรงงาน ซึ่งในจังหวัดอื่นมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว หากเราไม่มีการติดเชื้อแบบนั้น ก็จะทำให้เปิดบ้านเปิดเมืองเร็วขึ้น และขอให้สำรวจตัวเองว่า แต่ละโรงงานสามารถทำ FAI สำรองเตียงเริ่มต้นได้ร้อยละเท่าไหร่ จะเริ่มร้อยละ ๕ สสจ.ก็ไม่ว่า หรือโรงงานจะจับคู่กับสถานที่พักต่างๆ หากทำเช่นนี้ สสจ.ก็จะลงไปสำรวจให้ สสจ.ยินดีที่จะสนับสนุนทุกทาง เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ไม่ได้มาตั้งการ์ดว่า จะต้องทำแบบนี้อย่างเดียว แต่ สสจ.ก็ดูตามบริบทเช่นกัน สุดท้ายแล้วเราก็มีความเป็นห่วงเรื่องเดียวกัน เพราะถ้ามีการติดเชื้อจำนวนมาก โคราชก็ต้องล็อกดาวน์ต่อ และโรงงานอาจจะสูญเสียจำนวนมาก และแม้ว่าโรงงานหลายแห่งจะฉีดวัคซีนให้พนักงานแล้ว แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยที่จะประมาท เพราะฉีดแล้วก็ยังติดเชื้อได้ อย่างไรก็ต้องมี FAI แต่อาจจะไม่ต้องสำรองเตียงร้อยละ ๑๐ ผมต้องการให้ทุกคนมองภาพว่า ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น คุณพร้อมหรือไม่”
ระบบ bubble and seal
นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “อย่างไรก็ตาม ท้องถิ่นก็ต้องมีส่วนในการดูแลโรงงาน เนื่องจากโรงงานคือ ชุมชนซ้อนชุมชน จึงต้องหาวิธีการว่า ทำอย่างไรพนักงานจะปลอดภัย นอกจากปลอดภัยในโรงงานแล้ว ต้องปลอดภัยต่อชุมชนด้วย ซึ่งการทำ FAI เสมือนการทำ CI ในโรงงาน ก่อนจะทำก็ต้องมีเรื่องความปลอดภัยของพนักงานที่จะไปทำงานในโรงงาน คือ การทำ Bubble and Seal บางแห่งใช้วิธี seal ในโรงงาน ทำงานในนั้นได้เลย แต่ลักษณะของโรงงานในโคราชส่วนใหญ่ จะต้องมีการทำ Bubble ด้วย แปลเป็นไทยง่ายๆ คือ อยู่ใครอยู่มัน เสมือนลูกโป่งลูกหนึ่ง ทำงานของใครของมัน สำหรับโรงงานที่ไม่เคยพบผู้ป่วยหรือมีผู้สัมผัสเสี่ยง สสจ.ขอให้ตรวจเชิงรุกร้อยละ ๑๐ ทุกๆ ๗ วัน แต่ขณะนี้หลายโรงงานมีผู้ป่วยและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนมาก ตัวเลขจริงอาจจะไม่ตรงกับที่รายงานก็ได้ ดังนั้น สสจ.จึงขอให้ตรวจหาเชื้อทั้งหมด หากพบผู้ติดเชื้อก็ส่งต่อให้โรงพยาบาล แต่ถ้ารายใดเป็นเคสผู้ป่วยสีเขียว ก็จะให้เข้าอยู่ที่ FAI ซึ่งชุมชนและท้องถิ่น ต้องมีส่วนในการดูแลเรื่องนี้ด้วย ขอให้ตระหนักว่า ต้องช่วยกัน”
“ระบบจัดการ Bubble and Seal คือ เมื่อตรวจเชิงรุกคนที่อยู่ใน Bubble ทั้งหมด รายใดพบเชื้อก็ส่งต่อไปที่ FAI เมื่อหายดีแล้วหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็ให้ส่งไปที่ CI เมื่อครบ ๑๔ วัน ก็ส่งคนกลุ่มนี้กลับเข้าระบบ Bubble and Seal แต่ถ้าทำแบบนี้นานๆ โรงงานก็แย่เหมือนกัน เพราะมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก แต่ถ้าโรงงานใดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก็ไม่จำเป็นจะต้องตรวจเชิงรุกทั้งหมด ให้สุ่มตรวจเพียงร้อยละ ๑๐ ดังนั้นการทำ FAI จึงไม่จำเป็นจะต้องสำรองเตียงไว้ที่ร้อยละ ๑๐ ขอให้ทำตามบริบทของโรงงาน มีน้อยก็ทำน้อย มีมากก็ทำมาก แต่การทำ Bubble and Seal ขอให้ชุมชนรับรู้ ช่วยแนะนำช่วยดูแลกัน ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะยังมีหลายแห่งที่ไปทำแล้วชุมชนไม่ยอมรับ” นพ.วิญญู กล่าว
ทำงานร่วมกัน
นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ในการลงพื้นที่ไปเยี่ยมชุมชนหรือหมู่บ้านต่างๆ ในช่วงนี้ หมู่บ้านไหนที่เล่าว่า มีแผนรับมือแล้ว เช่น จะทำอย่างไรหากมีผู้สัมผัสเสี่ยง หรือคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยง ผมไม่เป็นห่วงหมู่บ้านเหล่านี้ แต่ผมเป็นห่วงหมู่บ้านที่ถามอะไรก็ตอบไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร เหมือนกับสถานประกอบการที่รู้ตัวเองว่า มีแผนรับมืออย่างไร กับสถานประกอบการที่ไม่รู้อะไร รอให้ สสจ.เข้ามาช่วยจัดการ กลุ่มนี้คือกลุ่มที่น่าห่วงที่สุด ดังนั้น วันนี้ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมได้รู้จักตัวเอง และจัดทำแผนรองรับ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบ้านตัวเอง เช่น ในบ้านผมอาศัยอยู่ ๓ คน มีห้องเก็บของว่างอยู่ห้องหนึ่ง ขณะนี้ยังไม่มีคนป่วย ก็วางแผนว่า ถ้ามีคนป่วยขึ้นมา จะใช้ห้องเก็บของเป็นสถานที่กักตัวคนป่วยในบ้าน คำถาม คือ ผู้ประกอบการเตรียมไว้หรือยัง ทุกคนเรียกร้องให้ สสจ.ทำงานเชิงรุก ซึ่งผมเห็นด้วย แต่ผมต้องการให้ทุกคนรุกทั้ง ๒ ฝ่าย ถ้าทุกคนทำงานเชิงรุกด้วยกัน งานก็จะสำเร็จอย่างรวดเร็ว”
อนึ่ง การประชุมครั้งนี้ ใช้เวลากว่า ๓ ชั่วโมง (เวลา ๑๖.๐๐-๑๙.๓๐ น.)
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๒ วันพุธที่ ๑๘ - วันอังคารที่ ๒๔ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
86 1,630