August 27,2021
ประปาขาดสภาพคล่อง ปีนี้รายได้ลด ๖๐ ล้าน ขอโยธาธิการ ๑๐๔ ล.แก้ท่วม
‘เทศบาลนครโคราช’ ขออนุมัติทำกิจการนอกเขต สร้างถนนและวางท่อระบายน้ำ ความยาวประมาณ ๒,๘๘๕ เมตร ถนนเลียบคลองส่งน้ำบริเวณการเคหะ มั่นใจประชาชนใน ๓ ท้องถิ่นได้ประโยชน์ ลดปัญหาน้ำท่วมเซฟวัน ตั้งงบประมาณไว้ ๑๐๔ ล้านบาท เล็งเสนอกรมโยธาธิการฯ ด้านสำนักประปาขาดสภาพคล่อง อ้างโควิดคนใช้น้ำน้อย ขาดรายได้เดือนละ ๕ ล้าน ต้องขอใช้เงินส่วนอื่นมาจ่ายค่าไฟ เงินเดือนพนักงาน และค่าคลอรีน ยืนยันปัญหาน้ำประปาไม่ได้นิ่งนอนใจ วางแผนแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง ยาวแล้ว
มีการประชุมสภาเทศบาลนครนครราชสีมา สมัยสามัญ สมัยที่ ๒ ประจำปี ๒๕๖๔ ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๒๐ น. ณ ห้องประชุมชั้น ๕ เทศบาลนครฯ โดยนายอุทัย มิ่งขวัญ ประธานสภาเทศบาลฯ ทำหน้าที่ ฝ่ายบริหารนำโดยนายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรี และรองนายกเทศมนตรีทั้ง ๔ คนเข้าร่วม ได้แก่ นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ นายสหพล กาญจนเวนิช นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน และนายนัฏฐชัยฐ์ ธนกนกนนทณ์ พร้อมด้วยสมาชิกสภาเทศบาล นครฯ (ส.ท.) ทั้ง ๔ เขตเข้าร่วมประชุม มีทั้งหมด ๑๘ ระเบียบวาระ แต่เรื่องที่สำคัญอยู่ในวาระที่ ๑๑, ๑๒ และ ๑๘
สร้างถนน-คลองระบายน้ำ’นอกเขต
ระเบียบวาระที่ ๑๑ เรื่องขอรับความยินยอมทำกิจการนอกเขตเทศบาล สำนักการช่าง นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรีฯ นำเสนอญัตติว่า “ด้วยเทศบาลนครฯ ได้จัดทำโครงการปรับปรุงผิวจราจร พร้อมระบบระบายน้ำถนนเลียบคลองส่งน้ำ หลังการเคหะแห่งชาติ โดยจะทำการก่อสร้างถนน คสล.ยาวประมาณ ๒,๘๘๕ เมตร พื้นที่รวมไม่น้อยกว่า ๔๑,๕๐๐ ตร.ม. และก่อสร้างท่อระบายน้ำ คสล.ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ เมตร ทั้งสองฝั่ง ยาวรวม ๕,๗๗๐ เมตร งบประมาณ ๑๐๔ ล้านบาท เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างอยู่นอกเขตเทศบาลนครฯ และอยู่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ ซึ่งเทศบาลนครฯ ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวแล้ว (๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๒) เทศบาลนครฯ เห็นว่าโครงการปรับปรุงผิวจราจร คสล. พร้อมระบบระบายน้ำถนนเลียบคลองส่งน้ำหลังการเคหะแห่งชาติ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาจราจรและช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากอุทกภัย แต่พื้นที่ที่จะดำเนินโครงการอยู่นอกเขตเทศบาลนครฯ และมีแนวเขตติดกับเขตเทศบาลตำบลปรุใหญ่และเขตเทศบาลตำบลสุรนารี ซึ่งในการดำเนินโครงการต้องได้รับความยินยอมจากสภาเทศบาลนครฯ ก่อน ตามพ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ ม.๕๗ ทวิ จึงนำเสนอต่อสภาเพื่อขอความยินยอมให้ทำกิจการนอกเขตเทศบาลนครฯ”
ส.ท.หนุนเต็มที่เชื่อช่วยแก้น้ำท่วม
นายชัยโรจน์ ศุภโชคเจริญวงศ์ ส.ท.เขต ๔ อภิปรายว่า ถ้าโครงการนี้สำเร็จจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้ง ๗ ชุมชนที่อยู่หลังการเคหะ ซึ่งการก่อสร้างแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง คือช่วงที่ ๑ จากถนนมิตรภาพ ซอย ๑๙ บริเวณสถานพินิจฯ ถึงแยกชุมชนย่าโม ๔ ความยาว ๘๘๖ เมตร เป็นเงิน ๓๒ ล้านกว่าๆ ช่วงที่ ๒ แยกจากชุมชนย่าโม ๔ ถึงมิตรภาพ ซ.๑๕ ระยะทาง ๑,๐๒๐ เมตร เป็นเงิน ๓๗ ล้านกว่าๆ และช่วงที่ ๓ จากมิตรภาพ ซ.๑๕ ถึงทางหลวง ๓๐๔ ระยะทาง ๙๙๙ เมตร งบประมาณ ๓๔ ล้านกว่าบาท ทั้ง ๓ ช่วงนี้ใช้งบประมาณก่อสร้าง ๑๐๔ ล้านบาท หากโครงการนี้สำเร็จจะเป็นการพัฒนาเมืองและเป็นประโยชน์พื้นฐานให้พร้อมรับความเติบโตของเทศบาลนครฯ จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตามความประสงค์ และยังช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณถนนมิตรภาพหน้าเซฟวันและพื้นที่ใกล้เคียงด้วย เพราะปัจจุบันฝนตกแต่ละครั้งน้ำไหลหลากจากตำบลสุรนารี ปรุใหญ่ ข้ามมาท่วมในเขตเทศบาลนครฯ หลายจุด ได้แก่ จุดที่ ๑ แยกชุมชนย่าโม ๔ น้ำจะไหลจากซอยเถกิงพล สนาม ๘๐ พรรษา จุดที่ ๒ หลังชุมชนการเคหะ ๒ ซอย ๒๕ ตรงนั้น ส.ท.เขต ๔ ได้ประสานขอกระสอบทรายประมาณ ๒๐๐ กระสอบเพื่อปิดกั้นบรรเทาความเดือดร้อน จุดที่ ๓ ข้างคอนโดเคหะชุมชน ตรงนั้นเคยท่วมถึงขนาดกำแพงของเคหะพังทับหลังคาบ้านเรือนของประชาชนเสียหาย และเทศบาลนครฯ ได้ไปซ่อมแซมให้ จุดที่ ๔ ปากทางวัดคลองส่งน้ำ ไหลเข้ามาตรงมิตรภาพ ซ.๑๓ เข้ามายังหมู่บ้านคฤหาสน์ทอง ซึ่งน้ำทั้ง ๔ จุดนี้ไหลมารวมกันที่ถนนมิตรภาพ แต่ถ้าโครงการนี้สำเร็จน้ำที่ไหลหลากทั้งหมดจะไหลอย่างเป็นระบบ เข้าท่อระบายน้ำที่โครงการทำไว้คือ ๑.๕๐ เมตร ๒ ด้าน รวมเป็น ๓ เมตร ไหลอย่างเป็นระบบมารวมกันที่บริเวณถนน ๓๐๔ แล้วต่อตรงมาที่สามแยกปัก ไหลลอดทางรถไฟแล้วไปลงที่บริเวณโฮมโปร ไปออกที่เขื่อนคนชุม แต่ยังสงสัยว่า มวลน้ำทั้งหมดที่ไหลมารวมที่ถนน ๓๐๔ แล้วไปรวมกันที่สามแยกปัก จะรับไหวหรือไม่ ทางผู้บริหารเทศบาล นครฯ มีแนวนโยบายที่จะเอาน้ำออกไปทั้งหมดอย่างไร ซึ่งถ้านำออกไปได้ทั้งหมด ทั้ง ๗ ชุมชนได้ประโยชน์แน่นอน ทั้งผู้สัญจรไปมาบริเวณถนนมิตรภาพก็จะได้รับผลดีด้วย
นายชัยโรจน์ ศุภโชคเจริญวงศ์ ส.ท.เขต ๔
ห่วงเรื่องงบฯ และรถติด
ทางด้าน นายเกริกฤทธิ์ โชติธาพิพัฒน์ ส.ท.เขต ๓ อภิปรายว่า มีข้อสงสัยในร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านขั้นรับหลักการมานั้น ไม่มีญัตติในการจ่ายเงินของญัตตินี้ จึงขอสอบถามว่า เราสามารถนำเงินส่วนไหนมาก่อสร้าง ส่วนประเด็นที่สอง จากการที่นายชัยโรจน์อภิปราย เกิดความคุ้มค่าในการก่อสร้างหรือไม่ เนื่องจากเป็นการทำกิจการนอกเขต และการที่ยังไม่มีญัตติในงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้วมาขออนุญาตจากสภาเพื่อให้ความยินยอมนั้น สามารถทำได้หรือไม่
นางสาวดวงทิพย์ ปานรักษา ส.ท.เขต ๔ สอบถามระยะเวลาการก่อสร้าง ซึ่งโดยส่วนตัวใช้ถนนเส้นนี้เข้า-ออกไม่ต่ำกว่าวันละ ๗-๘ รอบ เพราะเป็นถนนเส้นหลักที่เข้า-ออกบ้าน สิ่งที่พบคือในช่วงเช้าและช่วง ๕-๖ โมงเย็น รถจะติดมาก เพราะเป็นเลนสวนเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากมีการก่อสร้างแล้วมีการปิด ๑ ช่องจราจร จะทำให้รถติดมหาศาล
นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรี ชี้แจงญัตตินี้ว่า มวลน้ำที่เข้ามาท่วมเซฟวันทั้งหมด จะไหลผ่านคลองส่งน้ำ ท่วมหลายหมู่บ้านของตำบลปรุใหญ่ แล้วมาที่เซฟวันและเข้ามาที่ตำบลบ้านใหม่ ปรากฏว่าระบบระบายน้ำในปัจจุบันมีไม่พอ ฉะนั้นเหตุผลหนึ่งที่เราต้องการดักมวลน้ำขนาดใหญ่จึงต้องทำถนนและทำคลองส่งน้ำใหม่ ภาพจากจุดนั้นรับน้ำทั้งหมดแล้วมาลงที่ถนน ๓๐๔ เดิมทีเทศบาลตำบลสุรนารีจะขอเชื่อมท่อจากเทศบาลนครฯ ขอมาทุกปี แต่ก็เชื่อมไม่ได้ เขาไม่ให้เชื่อม เพราะเป็นน้ำเน่าเสีย มวลน้ำตรงนั้นก็จะเยอะมาก จึงเชื่อมไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าเส้นทางนี้เกิดขึ้น ที่เทศบาลตำบลสุรนารีเคยขอก็ได้เชื่อมแน่ และน้ำทั้งหมดก็ไม่ต้องทะลักลงมาทันทีทันใดที่หน้าเซฟวัน จะมีการพักน้ำ ไหลย้อนกลับมาที่สามแยกปัก ไม่ต้องผ่านหน้าเซฟวัน ไหลมาที่สามแยกปักแล้วก็ไหลลงทางระบายน้ำตรงทางลอดทางรถไฟมี ๓ สายหลัก เป็นของกรมทางหลวง กรมโยธาธิการฯ และเทศบาลนครฯ ทั้ง ๓ สายหลักก็จะสามารถรับน้ำได้เพื่อระบายไปสู่ลำน้ำคือลำตะคอง และเขื่อนข่อยงาม
“ส่วนกรณีที่ส.ท.ดวงทิพย์เป็นห่วงเรื่องการจราจรในช่วงของการก่อสร้างจะเกิดผลกระทบกับผู้ใช้ถนน ก็คงมีตามลักษณะของการก่อสร้าง แต่มีการพูดคุยกับคณะผู้บริหารเทศบาลนครฯ ว่า ต่อไปนี้การก่อสร้างของเทศบาลนครฯ ให้วางแผนการก่อสร้างให้ดีที่สุด ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และการจราจร” นายประเสริฐ กล่าว
นายทวีศักดิ์ พันธ์วิเศษศักดิ์ ปลัดเทศบาลนครฯ
ผู้บริหารอบจ.สมัยที่แล้วไม่ร่วมมือ
นายทวีศักดิ์ พันธ์วิเศษศักดิ์ ปลัดเทศบาลนครฯ ชี้แจงกรณีนายเกริกฤทธิ์ตั้งข้อสังเกตเรื่องงบประมาณว่า งบประมาณก้อนใหญ่นี้ เรื่องเดิมคือเคยให้อบจ.นครราชสีมาเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณทั้งหมด แต่เมื่อประสานไปแล้วในสมัยผู้บริหารชุดเก่าก็ไม่มีความตั้งใจที่ช่วยทำในส่วนนี้ ซึ่งอดีตนายกเทศมนตรีจึงมีความคิดว่า ถ้าเช่นนั้นก็ทำแผนประสานงาน โครงการขนาดใหญ่นี้ต้องทำถึง ๓ ช่วงก็เพราะว่างบประมาณจำนวนมาก เงินที่ใช้เราต้องขอไปที่ไหนบ้าง ซึ่งคราวที่แล้วผมได้่ประสานขอสองอย่าง ขอเป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ขอไปเฟสแรกแล้ว ๓๐ กว่าล้าน แต่ก็ตกไปเพราะต้องแบ่งปันงบประมาณไปให้ที่อื่นด้วย ดังนั้น งบประมาณที่เราจะขอได้มีที่ไหนบ้าง ก็จะมีจากกรมโยธาธิการฯ, กรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเงินเหลือจ่าย, งบเทศบาลฯ, งบ อบจ. หรืองบจากกระทรวงอื่น อาจจะเป็นกรมชลประทาน
“นายกเทศมนตรีฯ ได้ประสานกับกรมโยธาฯ ซึ่งจะดำเนินการบริเวณถนน ๓๐๔ ให้อยู่แล้ว และตอนนี้ที่กรมโยธาฯ กำลังทำให้เราก็คือกำลังเชื่อมบริเวณโฮมโปร ประมาณ ๒-๓ ปีจึงจะทำบริเวณ ๓๐๔ แต่โครงการนี้ ที่เราคิดขึ้นมาก่อนก็เพื่อให้บริหารจัดการน้ำให้ได้ ๑๐๐% ก็ต้องทำเป็นขั้นบันได เรื่องงบประมาณส่วนหนึ่งผมว่าท่านนายกฯ คงจะไปขอส่วนกลาง ทั้งนี้การทำกิจการนอกเขตทำไมในร่างเทศบัญญัติฯ ไม่มี ก็เพราะว่า งบประมาณเรามีจำกัด เมื่อเป็นโครงการขนาดใหญ่ เราต้องมองว่า ถ้าบรรจุไปในงบประมาณปี ๖๕ แล้ว หากไม่สามารถทำได้ในปีนั้นก็จะเสียเวลา ควรจะเอางบภายในเขตเทศบาลของเรามาดำเนินการเรื่องเร่งด่วนก่อน โครงการนี้เราทำภายหลัง ถ้ามีการขออนุมัติจากส่วนกลางมาก็สามารถแทรกได้ตลอดเวลา เพราะเรามีแผนรองรับ และมี BOQ (แบบแปลนประมาณราคา) ไว้หมดแล้ว การมานำเสนอต่อสภาเพื่อขอทำการนอกเขตถูกต้องแล้ว ซึ่งเมื่อกรมธนารักษ์อนุญาตแล้ว สภาก็ต้องเห็นชอบด้วย และเทศบาลที่เกี่ยวข้องคือปรุใหญ่และสุรนารีต้องเห็นชอบด้วย เมื่อครบทุกองคฺ์กร เวลาที่เราของบประมาณจากส่วนกลางก็จะให้ทันที เพราะหลายท้องถิ่นได้ประโยชน์” ปลัดเทศบาลฯ กล่าว
คาดของบโยธาฯ ๑๐๔ ล.
นายประเสริฐ บุญชัยสุข กล่าวเสริมว่า เมื่อเรามีความพร้อม รูปแบบก็พร้อม การอนุมัติทำการนอกเขตก็พร้อม ทั้ง ๓ ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องก็พร้อม จากนั้นเราก็หาเม็ดเงิน ตอนนี้มีการพูดคุยกัน ทราบว่ามีงบประมาณของกรมโยธาธิการฯ อนุมัติมาแล้ว ๓๐๐ กว่าล้านบาท เพื่อมาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองหลักของโคราช ซึ่งจะต้องทำหลายจุด แต่บังเอิญว่า หลายจุดมีปัญหา ทำไม่ได้ ซึ่งผมได้คุยนอกรอบกับผู้ตรวจการกรมโยธาธิการฯ ว่า ถ้าจุดไหนทำไม่ได้ งบประมาณที่เหลือประมาณเท่าไหร่ เมื่อนั่งไล่ตัวเลขก็มีเหลือประมาณ ๑๐๐ ล้านเศษ ซึ่งบังเอิญว่าจะพอดีกับโครงการนี้ ผมจึงถามต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นเอามาทำตรงนี้ได้หรือไม่ เพราะเจตนารมณ์ของกรมโยธาธิการฯ ที่ให้งบประมาณมา หลักการคือต้องการให้ระบายน้ำออกจากเมือง ซึ่งสอดคล้องกับโครงการของเทศบาลนครฯ พอดี ถ้าเราโชคดีก็อาจจะได้เร็วขึ้่น เพราะโครงการของเรามีความพร้อม
ญัตตินี้มีสมาชิกยกมือเห็นด้วย ๒๒ คน
ขอสร้างฝายน้ำล้นบุ่งตาหลั่ว
จากนั้นในระเบียบวาระที่ ๑๒ การขอทำกิจการนอกเขต ของสำนักการช่าง โดยนายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรี นำเสนอว่า เทศบาลนครฯ มีนโยบายและเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังแบบยั่งยืน จึงจัดทำโครงการฝายน้ำล้นบุ่งตาหลั่ว เพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังให้มีการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น โครงการปรับปรุงฝายน้ำล้นบุ่งตาหลั่ว ตั้งอยู่นอกเขตเทศบาลนครฯ โดยตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม ซึ่งต้องได้รับการยินยอมจากสภาเทศบาลฯ
นายเกริกฤทธิ์ โชติธาพิพัฒน์ ส.ท.เขต ๓ ตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากโครงการนี้เคยขอดำเนินการไปแล้วในสมัยที่ผ่านมา จะสามารถยินยอมให้ทำการนอกเขตได้อีกหรือไม่ ซึ่งนายประเสริฐ บุญชัยสุข ชี้แจงว่า “เพื่อความปลอดภัย คราวที่แล้วเป็นการอนุมัติของคณะผู้บริหารชุดที่แล้ว ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นกฎ ระเบียบ หรือกติกา ซึ่งโดยปกติหากมีการเปลี่ยนคณะผู้บริหารหรือมีการยุบสภา แล้วมีคณะผู้บริหารชุดใหม่เข้ามา ก็ถือว่าของเก่าตกไป ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยและเพื่อความถูกต้องจึงนำมาดำเนินการใหม่”
นายอุทัย มิ่งขวัญ ลงจากบัลลังก์ประธานสภาฯ อภิปรายในฐานะส.ท.เขต ๑ ว่า ขอบคุณฝ่ายบริหารที่ตั้งโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งจะยังประโยชน์อย่างยิ่งในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในบุ่งตาหลั่ว และการบริหารจัดการน้ำของเทศบาลนครฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณชุมชนโรงต้ม หน้าจวนผู้ว่าฯ หน้ากองทัพภาคที่ ๒ ซึ่งจะเห็นว่าทุกครั้งที่มีฝนตกลงมา หน้าจวนผู้ว่าฯ และกองทัพภาคที่ ๒ มีน้ำท่วมขังอย่างมหาศาล เป็นมวลน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งผู้บริหารเทศบาลทุกสมัยก็พยายามแก้ไขปัญหา ต้องขอบคุณผู้บริหารที่จะให้งบดำเนินโครงการชะลอน้ำ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ญัตตินี้มีสมาชิกยกมือเห็นด้วย ๒๓ คน
นายอุทัย มิ่งขวัญ ส.ท.เขต ๑
สำนักประปา’ขาดสภาพคล่อง
และในระเบียบวาระที่ ๑๘ ญัตติเรื่องขอทำความตกลงยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๗ และแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๖๑ ข้อ ๔ ข้อ ๘๙ และข้อ ๙๐ ของสำนักประปา โดยนายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน นำเสนอญัตติว่า
“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือโควิด-๑๙ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการกิจการต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐมีรายได้ลดลง และผู้ประกอบการบางรายก็ปิดกิจการ จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้มีปริมาณการใช้น้ำประปาลดลง การจัดเก็บค่าน้ำประปา ซึ่งถือว่าเป็นรายได้หลักของสำนักประปาจึงลดลงจำนวนมาก ตามมาด้วยประมาณการรายรับไม่เพียงพอ สำหรับการเบิกจ่ายตามประมาณการรายจ่าย กล่าวคือรายรับลดลงเฉลี่ยเดือนละประมาณ ๕ ล้านบาท ทำให้ขาดรายได้ทั้งปีงบประมาณเป็นเงิน ๖๐ ล้านบาท ประกอบกับการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ๙๐% ตามพ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ.๒๕๖๓ และฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๖๔ ที่กำหนดให้สมควรลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะจัดเก็บในปีภาษี พ.ศ.๒๕๖๔ เพื่อเป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม และเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ทำให้เทศบาลนครฯ มีรายได้ลดลง การช่วยเหลืองบประมาณเฉพาะการจึงไม่เป็นไปตามประมาณการรายรับ ส่งผลให้รายรับของสำนักการประปาลดลงจำนวนประมาณ ๕๔ ล้านบาท ก่อให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องตามมา”
นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรีนครฯ
ต้องจ่ายค่าไฟ ๑๘ ล้าน
นายชาตรี เสนอต่อไปว่า ซึ่งสำนักการประปา เทศบาลนครฯ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายดังนี้ ๑.งบดำเนินงานค่าไฟฟ้า จำนวนเงิน ๑๘ ล้านบาท หากชำระเกินกำหนดมีค่าปรับ ๗.๕% ต่อปี จำเป็นต้องวางฎีกาเบิกจ่ายเงินให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ภายในวันที่ ๑๖ ของเดือน รอบการใช้ไฟฟ้าของเดือนสิงหาคมและกันยายน พ.ศ.๒๕๖๔, วัสดุวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ สารเคมี จำนวนเงิน ๕ ล้านบาท เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำสะอาด การจัดซื้อสารเคมีการผลิตน้ำประปา จัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาสะอาดให้แก่ประชาชนใช้ในการอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ, งบบุคลากร เงินเดือนฝากประจำ สำหรับจ่ายเป็นเงินเดือนพนักงานเทศบาล ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง สำนักการประปา เทศบาลนครฯ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๖๔ จำนวน ๒๘๘ คน เป็นเงิน ๕ ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงิน ๒๘ ล้านบาท
“จากการตรวจสอบยอดเงินสะสมของเทศบาลนครฯ มีเงินสะสมหลังหักตามระเบียบข้อ ๘๙ (๓) สามารถนำไปจ่ายได้ ดังนี้ ๑.เงินสะสม เทศบาลนครฯ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ จำนวน ๑๘๘,๘๔๔,๗๖๙.๔๑ บาท สำนักการประปา จำนวน ๓๑,๖๔๓,๙๗๑.๑ บาท รวมเป็นเงิน ๒๒๖,๔๘๘,๗๔๐.๕๑ บาท ๒.เงินทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล เงินฝาก กสท. เทศบาล นครฯ จำนวน ๑๘๒,๐๗๒,๖๖๐.๔๐ บาท สำนักการประปา จำนวน ๓๑,๖๙๖,๓๕๕.๔๗ บาท รวมเป็นเงิน ๒๑๓,๗๖๙,๐๑๕.๘๗ บาท เพียงพอที่จะจ่ายได้ แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายดังกล่าว ระเบียบการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๗ และแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๖๑ ไม่ได้กำหนดไว้ให้จ่ายเงินสะสมได้ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานกิจการประปาของเทศบาลนครฯ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ จัดการให้มีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคในเขตเทศบาลนครฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้น้ำประปา และเพื่อให้สถานะทางการเงินการคลังของสำนักการประปา เทศบาลนครฯ ยังคงมีสภาพคล่องในการบริหารสำนักการประปา จึงขอให้สภาเทศบาลนครฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบทำความตกลงยกเว้นระเบียบการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ จึงขอนำเรียนต่อสภาเทศบาลนครฯ เพื่อพิจารณา” นายชาตรี กล่าว
ส.ท.ปลุกคนทำงานตื่นได้แล้ว
นายเกริกฤทธิ์ โชติธาพิพัฒน์ ส.ท.เขต ๓ อภิปรายว่า มีระเบียบกฎหมายห้ามกระทำ แต่มาขอยกเว้นเพื่อดำเนินการ สามารถทำได้หรือไม่ ส่วนประเด็นค่าไฟฟ้า ๑๘ ล้านบาทเป็นหนี้ที่เราต้องจ่าย ส่วนวัสดุวิทยาศาสตร์ ๕ ล้านบาท ของเดือนปี พ.ศ.ใดเราไม่ทราบ แต่อยากฝากว่า เงินจำนวน ๕ ล้านบาทที่นำไปซื้อสารส้ม คลอรีน หรือวัสดุภัณฑ์อื่นๆ ที่จะทำให้น้ำประปาสะอาด ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนมาว่า น้ำไม่สะอาด ขุ่น ดำ และยังปรากฏว่า ถ้าทางส.ท.ไปปรับลดงบประมาณอีกจะไม่ใช่ดำอย่างเดียวแต่จะไม่ไหลด้วย พวกผมเป็นห่วงว่า เงินก้อนนี้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์อยากให้เกิดความคุ้มค่า และได้มาตรฐาน ส่วนเงินอีก ๕ ล้านบาทของพนักงานจ้าง สิ่งที่เราประสบพบเจอในสองเดือนกว่าที่เราเข้ามาทำหน้าที่ บุคลากร ๒๘๘ คน ทำหน้าที่หน้างาน ๗ ชุดๆ ละ ๔ คน รวม ๒๘ คน แต่เงิน ๕ ล้านบาทที่จะถูกจ่ายไป เจ้าหน้าที่ท่านใดที่หลับอยู่ขอให้ตื่นขึ้นมาพัฒนาบ้านเมืองไปพร้อมกันตลอดระยะเวลา ๔ ปี ขอเท่านั้น
“ยอดเงินสะสมตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงิน เงินสะสมจะมี ๒ กรณี ซึ่งกรณีของเทศบาลนครฯ ล่าสุด ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ จำนวน ๑๘๘,๘๔๔,๗๖๙.๔๑ บาท และเงินสะสมสำนักประปา ๓๑,๖๔๓,๙๗๑.๑ บาท มาดูระเบียบกระทรวงมหาดไทย ข้อ ๘๙ ให้กันเงินไม่น้อยกว่า ๓ เดือน จึงอยากทราบว่า เงินที่จะจ่ายเงินสะสมไปจำนวน ๒๘ ล้านบาท ตามที่กล่าวไปข้างต้นนั้น จะใช้เงินสะสมเทศบาลนครฯ หรือสำนักประปา” นายเกริกฤทธิ์ กล่าว
น้ำประปาปัญหาใหญ่
นายสมพร พิชิตการ ส.ท.เขต ๓ อภิปรายว่า ประเด็นเรื่องน้ำไม่ไหล ปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่เทศบาล นครฯ แจ้งแก่ประชาชนว่า จะมีการซ่อมแซมท่อน้ำในวันที่ ๖, ๗, ๘ สิงหาคมที่ผ่านมา บริเวณหน้าโรงงานซีเกท (อำเภอสูงเนิน) จากนั้นเป็นต้นมา ชาวชุมชนเขต ๓ มีปัญหาเรื่องน้ำไม่ไหลมาตลอด ไม่ทราบว่าใช้เวลาซ่อมวันที่ ๖, ๗, ๘ แล้วได้ใช้วันที่ ๙, ๑๐ แต่หลังจากนั้นใช้ไม่ได้เลย ส.ท.เขต ๓ ต้องออกพื้นที่ตลอดเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำประปาไม่ไหล เท่าที่ทราบข้อมูลมาว่า น้ำในเขต ๓ มาจาก ๒ แหล่งคือ จากอ่างอัษฎางค์ และโรงกรองมะขามเฒ่า และช่วงนี้ทราบว่าโรงกรองมะขามเฒ่าชำรุด ทำให้น้ำมาไม่เพียงพอ ทางอัษฎางค์ก็อาจจะช่วยผ่อนน้ำลงมาเพื่อให้น้ำไหลมาเพียงพอ แต่เท่าที่ทราบมาว่า ก่อนหน้าที่จะซ่อมท่อบริเวณโรงงานซีเกท นั้น น้ำก็ยังไหลอยู่ จึงต้องการให้ผู้บริหารอธิบายให้ทราบด้วยว่า ปัญหาหลักจริงๆ ของน้ำประปาไม่ไหลเกิดจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอหรือเกิดจากการสูญเสียน้ำจากที่อื่น สงสารชาวบ้าน โทรไปร้องเรียนที่หมายเลข ๑๑๓๒ ตลอด
นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครฯ
นายกฯ เห็นใจผู้ปฏิบัติงาน
นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรี ตอบว่า ระเบียบเหล่านี้เป็นกฎที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ การมีระเบียบอยู่แล้วและให้ยกเว้นระเบียบได้ ก็เป็นระเบียบที่มาจากกระทรวงเดียวกัน เรื่องแบบนี้มีทุกกระทรวงทบวงกรม แม้กระทั่งใน ครม. เวลามีปัญหาจริงๆ ก็จะใช้ลักษณะนี้ เมื่อมีปัญหาเขาก็เปิดช่องให้พวกเราสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขอยกเว้นระเบียบได้ แต่ว่าต้องผ่านสภา ต้องเป็นอำนาจของสภาในการที่จะอนุญาต ประการต่อมา เรื่องเงินสะสม ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าจะใช้ได้เท่าไหร่ จะมีการกำหนดไว้ว่าจะต้องกันไว้กี่เดือน ในส่วนที่บอกว่า ‘ตอนนี้ตื่นหรือยัง’ ผมคิดว่าตื่นทุกคนแล้ว เพราะว่าสองเดือนที่ผ่านมา ปัญหาที่พวกเราได้รับการร้องเรียนมากที่สุด ไม่ว่าจะผ่านส.ท. หรือทางผม และรองนายกฯ คือเรื่องน้ำประปา ยิ่งกว่าเรื่องถนนอีก เพราะน้ำประปาถือว่าเป็นสาธารณูปโภคที่สำคัญต่อชีวิตประจำวัน ไม่มีไฟเราอยู่ได้ ไม่มีน้ำเราอยู่ไม่ได้ ทุกครั้งที่มีปัญหาจะพยายามประสานงานกับทีมงานที่เข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างทันที อยากจะแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เกิดทั้งระบบ เหมือนเรามีรถยนต์เก่าๆ อายุ ๔๐ ปีแล้วพยายามปรับซ่อมยกเครื่องใหม่ ทั้งระบบท่อส่งน้ำขนาดใหญ่มาจากแหล่งน้ำดิบ ระบบผลิตประปามีการชำรุดบกพร่อง โดยเฉพาะท่อแตกเยอะมาก ทั้งท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ ท่อประธานที่กระจายไปแต่ละชุมชน และระบบการบริหารจัดการน้ำ การปล่อยแรงดันน้ำก็มีส่วนด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้น น้ำที่ไหลมาสูญเสียไปเกิน ๕๐% ถือว่าสูงมาก เราต้องรีบแก้ไขปัญหา ซึ่งมีการประชุมใหญ่เรื่องประปา ๒-๓ ครั้งแล้ว มีการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน ปานกลาง และระยะยาว ไว้แล้ว แต่ปัญหาเร่งด่วนในทุกวันนี้ก็ตามแก้กัน เช่น วันนี้เขต ๒ บอกว่าน้ำไหลแรงแล้ว เรื่องน้ำไม่มีปัญหา ส่วนเขต ๓ ก็จะเหลือ ๒ ชุมชนใหญ่ๆ คือเดชอุดมสามัคคี และชุมชนรุ่งเรืองบุญเรือง ซอยสืบศิริ ๒๘, ๓๐ และมีประชาชนร้องเรียนก็ไปลงพื้นที่ ซึ่งกำลังวางท่ออยู่ ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามจะแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด และน่าเห็นใจพนักงานที่ปฏิบัติงาน ทำงานทั้งวันทั้งคืน บางคนไม่ได้พักเลย เมื่อมีปัญหาผมก็โทรไป จนบางครั้งผมก็รู้สึกเกรงใจที่ต้องบอกว่าให้รีบไปแก้ไขปัญหา คนบอกง่าย แต่คนทำนั้น บางครั้งผมก็รู้สึกเกรงใจว่า เขาจะเดือดร้อนและลำบากไหม แต่ให้เข้าใจว่า ชาวบ้านเดือดร้อนมากกว่าเรา เราในฐานะอาสามาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายข้าราชการประจำหรือฝ่ายการเมือง เรามีหัวใจเดียวกัน คืออยากจะบริการให้ดีที่สุด รวดเร็วที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด นี่คือความตั้งใจของพวกเรา
นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรีฯ
มีแผนแก้ปัญหาสั้น กลาง ยาว
นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรี กล่าวว่า ขอชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความสบายใจ การแก้ปัญหาน้ำประปามีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สิ่งที่จะสามารถทำได้ในขณะนี้คือระยะสั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนเดชอุดม หรือสืบศิริ ภายในสองสัปดาห์จะต้องดำเนินการให้เสร็จ ไม่ว่าจะเป็นการปรับระดับแรงดันต่างๆ จนถึงการคุมน้ำ ถามว่าปัญหาต่อมามีอะไรอีก แน่นอนยังไม่จบ จะมีการปรับปรุงในส่วนของงานซ่อมบำรุง ส่วนการแก้ปัญหาระยะกลางนั้น ระบบผลิตน้ำประปามีส่วนหนึ่งที่เสียหายเพราะสภาพเก่า ฉะนั้นระยะเวลาการปรับปรุงในระยะกลางก็จะคาดว่าจะประมาณ ๖ เดือนในส่วนของโรงกรอง ซี่งมีบางส่วนชำรุด โดยปริมาณน้ำจะต้องเพิ่มขึ้นแน่นอนแต่ต้องอีก ๖ เดือนนับจากนี้ไป ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว มีแผนการปรับปรุงโครงสร้างระบบท่อน้ำดิบ ระบบกรอง และที่สำคัญที่สุดคือระบบป้องกันน้ำสูญเสีย ขณะนี้มีน้ำสูญเสียเต็มไปหมด เกิดจากทุกครั้งที่มีการปรับระดับแรงดันน้ำมีการสูญเสียเกิดขึ้น รวมทั้งการซ่อมบำรุงต่างๆ เช่นซ่อมจุดนี้ก็อาจส่งผลกระทบไปถึงจุดอื่นด้วย เนื่องจากท่อชั้นใต้ดินเรามองไม่เห็น บางส่วนเป็นท่อเก่า ท่อใยหิน ทนแรงดันไม่ได้ก็แตก หลังจากนี้การลดน้ำสูญเสียจะต้องเกิดขึ้น ในปีหน้าการสูญเสียน้ำน่าจะลดลงประมาณ ๑๐% ที่ต้องทำให้ได้
ในญัตตินี้มติที่ประชุมยกมือเห็นชอบ ๒๓ คน จากนั้นจึงปิดประชุม
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๓ วันพุธที่ ๒๕ - วันอังคารที่ ๓๑ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
67 1,701