29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 04,2021

ลงทุนอีสานครึ่งปี ๓,๐๕๐ ล้าน ‘โคราช’ครองแชมป์ ๑,๑๙๙ ล. พลังงานทดแทนยังเป็นดาวเด่น

“บีโอไอ” สรุปผลการลงทุนครึ่งปีแรกของปี ๒๕๖๔ ในภาคอีสาน ๒๐ จังหวัด มีทั้งสิ้น ๒๙ โครงการ มูลค่า ๓,๐๕๐ ล้านบาท กระจุกตัวอยู่ในโคราช ๑๓ โครงการ มูลค่า ๑,๑๙๙ ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนถือว่าลดลง แต่กิจการที่ยังได้รับความสนใจคือพลังงานทดแทน ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากการระบาดของโควิด-๑๙ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (นครราชสีมา) หรือ “บีโอไอโคราช” รายงานภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนใน ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๖๔ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในพื้นที่รับผิดชอบ ๘ จังหวัด (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี) โดยการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในเดือนมกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๔ ภาพรวมทั้งประเทศ มีจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมลงทุน ๘๐๑ โครงการ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๒ และมีมูลค่าเงินลงทุน ๒๖๓,๘๔๐  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๒๔

สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ในพื้นที่ ๘ จังหวัดของภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของบีโอไอโคราช มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ๑๗ โครงการ มูลค่าเงินลงทุน ๑,๒๗๗ ล้านบาท แยกเป็น นครราชสีมา ๑๓ โครงการ มูลค่า ๑,๑๙๙ ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทย ๓๕๑ คน, อุบลราชธานี ๒ โครงการ มูลค่า ๗ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๑๖ คน, บุรีรัมย์ ๑ โครงการ มูลค่า ๕๙ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๑๓ คน และสุรินทร์ ๑ โครงการ ๑๒ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๑ คน

ในขณะที่การกระจายสัดส่วนผู้ถือหุ้นในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ๘ จังหวัด เป็นโครงการคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น ๑๐ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๕๙ ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน ๒๙๓ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๒๒ ของเงินลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง ส่วนโครงการต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้น มี ๕ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๒๙ ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน ๒๗๘ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๒๒ ของเงินลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง ส่วนโครงการร่วมลงทุนไทยและต่างชาติ มี ๒ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๑๒ ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน ๗๐๖ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๕๕ ของเงินลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง  

นอกจากนี้ ในส่วนการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ๘ จังหวัด แยกเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษ ๑) มาตรการส่งเสริมการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพ ในเดือนมกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๔ มีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ๔ โครงการ เงินลงทุน ๔๘ ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อใช้พลังงานทดแทน โดยการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองในโครงการ ๑ โครงการ ในจังหวัดอุบลราชธานี และตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตและการนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิต จำนวน ๓ โครงการ ในจังหวัดนครราชสีมา ๒) มาตรการส่งเสริม SMES  ในเดือนมกราคม–มิถุนายน ๒๕๖๔ มีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ๒ โครงการ เงินลงทุน ๗๓ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ๑ โครงการ เป็นกิจการผลิตเกลือบริสุทธิ์ และอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ๑ โครงการ เป็นกิจการผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติที่มีขั้นตอนการออกแบบระบบอัตโนมัติและระบบควบคุมการปฏิบัติงานด้วยสมองกลเอง     

ในขณะที่โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย การอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในเดือนมกราคม–มิถุนายน ๒๕๖๔ มีการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ๒๐ จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ ซึ่งจะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการกระจายความเจริญ ไปสู่ภูมิภาคของรัฐบาล โดยในพื้นที่อีสานตอนล่างมีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน  ๒ โครงการ เงินลงทุน ๗๑ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ๑ โครงการ เป็นกิจการการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ และอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ๑ โครงการ เป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์     

สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๘ จังหวัดทั้ง ๑๗ โครงการในครึ่งปีแรกของปี ๒๕๖๔ จำแนกโดยกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้ ๑.กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร เป็นกิจการผลิตแป้งแปรรูปและสิ่งปรุงแต่งอาหาร ๓ โครงการ และกิจการผลิตอาหารสัตว์ ๑ โครงการ ๒.กลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เป็นกิจการสถานพยาบาล ๑ โครงการ ๓.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เป็นกิจการผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติที่มีขั้นตอนการออกแบบระบบอัตโนมัติและระบบควบคุมการปฏิบัติงานด้วยสมองกลเอง ๑ โครงการ และกิจการผลิตเครื่องพิมพ์หน้ากว้างที่สามารถพิมพ์บนกระดาษหน้ากว้าง กระดาษแบบมัน ๑ โครงการ ๔.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกิจการการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ ๑ โครงการ และกิจการผลิต EARPHONE/HEADPHONE และชิ้นส่วนของ ARPHONE/HEADPHONE ๑ โครงการ ๕.กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม เป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ๕ โครงการ และ กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ๑ โครงการ ๖.กลุ่มอุตสาหกรรมแร่ โลหะ และวัสดุ เป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ ๑ โครงการ และ ๗.กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการอุตสาหกรรม เป็นกิจการผลิตเกลือบริสุทธิ์ ๑ โครงการ  

ทางด้านศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๓ หรือ “บีโอไอขอนแก่น” ซึ่งรับผิดชอบ ๑๒ จังหวัดในภาคอีสานตอนบน (ขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ หนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด สกลนคร หนองบัวลำภู เลย นครพนม และมหาสารคาม) มีการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ๑๒ โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุน ๑,๗๗๒ ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลัง ๕ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ถึง ๒๕๖๔ การลงทุนในปี ๒๕๖๔ จำนวนโครงการ ๑๒ โครงการและมูลค่าเงินลงทุน ๑,๗๗๒ ล้านบาทนั้น จำนวนโครงการมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ แต่มูลค่าเงินลงทุนลดลงกว่าทุกปี โดยอุตสานกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมสนับสนุน มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมมากที่สุด จำนวน ๗ โครงการ แยกเป็น กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (๓ โครงการ) กิจการผลิตไอน้ำจากก๊าซชีวภาพ/พลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ กิจการบำบัดของและกิจการผลิตไฟฟ้าจากขยะ มูลค่าเงินลงทุนรวม ๑,๑๓๕.๙ ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียนกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ๒๕๖๓ จำนวนโครงการลดลงร้อยละ -๑๒.๕๐ แต่มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๑๗๓.๒๓ รองลงมาคืออุตสาหกรรมเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์ จำนวน ๓ โครงการ มูลค่าเงินลงทุน ๕๘๖.๗ ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ๒๕๖๓ จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนลดลงร้อยละ -๕๗.๑๔ และ -๖๗.๗๐

สำหรับการอนุมัติทั้ง ๑๒ โครงการในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน แยก เป็น จังหวัดกาฬสินธุ์ ๑ โครงการ เงินลงทุน ๓๑.๕ ล้านบาท เป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ, ขอนแก่น ๔ โครงการ เงินลงทุน ๒๓๑.๕๗ ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตไอน้ำจากก๊าซชีวภาพ/พลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ, กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา, กิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และกิจการผลิตหลอดดูดน้ำย่อยสลายได้จากเศษแป้ง, บึงกาฬ ๑ โครงการ เงินลงทุน ๕๕๔.๕ ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตน้ำยางเข้ม/ยางกริมเครฟ, มหาสารคาม ๒ โครงการ เงินลงทุน ๒๔.๘๙ ล้านบาท คือ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ทั้ง ๒ โครงการ, นครพนม ๑ โครงการ เงินลงทุน ๔๓.๔ ล้านบาท กิจการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย, อุดรธานี ๒ โครงการ เงินลงทุน ๒๙๖.๔๘ ล้านบาท กิจการบำบัดน้ำเสียหรือกำจัดของเสีย และกิจการผลิตแป้งแปรรูป และจังหวัดหนองคาย ๑ โครงการ เงินลงทุน ๖๐๐ ล้านบาท กิจการผลิตไฟฟ้าจากขยะ

ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนครึ่งปี ๒๕๖๔ ภาวะเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตัวเลขการลงทุนลดลง แต่อย่างไรก็ตามมีกิจการที่ยังคงได้รับความสนใจที่นักลงทุนลงทุนอย่างต่อเนื่อง คือกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากสำนักงานได้มีนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งเก่าและใหม่ ลงทุนต่อยอดกิจการที่มีอยู่เดิมแต่หมดสิทธิประโยชน์ไปแล้ว โดยจะได้รับทั้งสิทธิประโยชน์ด้านเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม สำหรับแนวโน้มการลงทุนในไตรมาส ๓ คาดว่าภาวะเศรษฐกิจยังคงไม่ฟื้นตัว เนื่องจากประเทศไทยประสบกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ระลอกใหม่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังชะลอการลงทุนออกไปก่อน ประกอบกับประชาชนขาดรายได้ ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศลดลง

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๔ วันพุธที่ ๑ - วันอังคารที่ ๗ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔

 


1016 1634