6thDecember

6thDecember

6thDecember

 

September 11,2021

โควิดติดเชื้อในครอบครัวมากขึ้น สั่งทุกอำเภอคุมเข้มการรวมกลุ่ม

สถานการณ์โควิด-๑๙ เริ่มดีขึ้น ระบาดในโรงงานน้อยลง แต่คลัสเตอร์ครอบครัวมีแนวโน้มระบาดมากขึ้น ทุกฝ่ายต้องเตรียมพร้อมรับมือการระบาดรอบใหม่ ห่วงคนรวมกลุ่มกันหลังผ่อนคลายมาตรการ สั่งทุกอำเภอเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ย้ำหากพบปัญหาให้เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบ

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ระลอกที่ ๓ ในจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ ถึงปัจจุบัน ยังพบการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ๓๒ อําเภอ โดยจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ซึ่งส่วนใหญ่นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ทําหน้าที่ประธานการประชุม ณ สํานักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา และ “โคราชคนอีสาน” นําเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง

ความคืบหน้าในวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑๔๙ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๑๐๗ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๔๒ ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา ร่วมประชุม

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวถึงการจัดหาวัคซีน ว่า “จังหวัดได้เร่งหาวัคซีนมาเพิ่ม และขอให้ทางเจ้าหน้าที่วางแผนร่วมกันนำกลุ่มเป้าหมายหลักเข้ารับการฉีดเพื่อให้เป็นไปตามจำนวนเป้าหมายที่ตั้งไว้ และรัฐบาลกำลังเพิ่มกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กนักเรียนอายุ ๑๒-๑๘ ปี โดยกลุ่มนี้จะได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ และรัฐบาลยังคาดการณ์อีกว่า ไฟเซอร์อาจเข้ามาในไตรมาส ๔ ซึ่่่งขอให้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื้อยังสามารถติดต่อกันได้ ชุมชนและตลาดขอให้ปฏิบัติตามมาตรการด้วย”     

“ถึงเราจะอยู่กับโควิด-๑๙ อย่างรู้เท่าทันอย่างไร จากการประเมินสถานการณ์แล้ว โรคระบาดยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน ดังนั้นสามารถอยู่อย่างสบายใจได้ แต่ห้ามประมาท เพราะเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนต่างก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ ผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง สถานการณ์ในปัจจุบันเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หากประชาชนสามารถปฏิบัติตามได้ การควบคุมก็ถือว่าอยู่ในวงแคบ ผู้ประกอบการและโรงงานควรมีการวางแผนก่อนการระบาดระลอกที่ ๕ เพราะสามารถเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ หากไม่มีแผนในการรับมืออาจก่อให้เกิดความเสียหายมากเหมือนในปัจจุบันได้” นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

 
ต่อมา วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑๓๕ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๙๖ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๓๙ ราย สรุปมีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๐,๔๖๕ ราย รักษาหาย ๑๖,๒๘๐ ราย ยังรักษาอยู่ ๔,๐๓๒ ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๔๓ ราย

วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม ๑๓๑ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๑๐๕ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๒๖ ราย สรุปมีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๐,๕๙๖ ราย รักษาหาย ๑๖,๖๑๑ ราย ยังรักษาอยู่ ๓,๘๓๙ ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๓ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๔๖ ราย     

วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ เพิ่ม ๒๐๗ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๑๖๑ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๔๖ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมี นพ.สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สสจ.นครราชสีมา ร่วมประชุม

นพ.สมบัติ วัฒนะ กล่าวว่า “ขณะนี้กำลังเร่งฉีดวัคซีนในกลุมเป้าหมายอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้สูงอายุ ๖๐ ปี ขึ้นไป ผู้ป่วย ๗ โรคเรื้อรัง และกลุ่มคนท้อง หรือที่เรียกว่า กลุ่ม ๖๐๘ โดยการฉีดวัคซีนในขณะนี้ ยังคงใช้สูตรการฉีดไขว้ ระหว่างวัคซีนซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนผู้ป่วยที่เดินทางกลับจังหวัดนครราชสีมา มีทั้งหมด ๗,๕๔๔ ราย และสถานการณ์ของโรงพยาบาลสนาม มีเตียงว่างทั้งหมด ๕๖๒ เตียง”

จากนั้น วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑๗๕ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๑๒๐ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๕๕ ราย สรุปมีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๐,๙๗๘ ราย รักษาหาย ๑๗,๒๓๙ ราย ยังรักษาอยู่ ๓,๕๙๑ ราย และมีผู้เสียชีวิต ๒ ราย สะสม ๑๔๘ ราย

ล่าสุดวันที่ ๘ กันยายน พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ เพิ่ม ๑๐๙ ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๘๙ ราย และมีผู้เสียชีวิต ๒ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา ร่วมประชุม

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “โคราชสามารถควบคุมการระบาดในโรงงานได้ แต่ยังพบผู้ป่วยเป็นจุดๆ กระจายอยู่ในชุมชน ขอฝากถึงชุดปฏิบัติการในระดับอำเภอช่วยกันคุมเข้ม เรามีมาตรการเข้มข้นกว่า ๑ เดือนที่ผ่านมา และได้ประกาศผ่อนคลาย ทำให้ประชาชนรวมกลุ่มกัน มาตรการทางสาธารณสุขยังจำเป็นต้องใช้ การผ่อนคลายเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการยังจำเป็นอย่างยิ่ง ภาพรวมติดเชื้อในประเทศเรายังเป็นระดับหมื่นรายต่อวัน ส่วนโคราชยังเป็นหลักร้อย เป็นที่น่าพอใจ ทุกหมู่บ้านทุกชุมชนฝากให้นายอำเภอ ทีมตำบล อสม. กำนัน และผู้นำชุมชน ต้องนำมาตรการต่างๆ ที่มีอยู่มาใช้ เช่น การเดินทางของกลุ่มที่มาจากต่างจังหวัดยังต้องเข้าระบบในการตรวจสอบว่า ผ่านจุดไหนมาบ้าง เป็นพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ การกักตัวของผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ยังคงจำเป็นต้องมีอยู่ ทุกครั้งที่เกิดปัญหาอยากฝากให้ชุดปฏิบัติการให้ถึงพื้นที่โดยเร็ว เมื่อพบข้อมูลข่าวสารที่ยังไม่ตรงกับความเป็นจริง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกมาชี้แจงว่าความจริงคืออะไร ขณะนี้ตัวเลขคือเท่าไหร่ อยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อเป็นการป้องกันข่าวลือทันที และให้ข้อมูลที่แท้จริงต่อประชาชน”

สำหรับการระบาดในคลัสเตอร์ต่างๆ นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานว่า คลัสเตอร์ครอบครัว อ.เมือง ผู้ป่วยรายแรก เพศชายวัย ๓๙ ปี ทำงานอยู่ที่ มทส. มีการระบาดสู่ครอบครัวของน้องสาวจำนวน ๖ ราย และมี ๑ รายรอผลตรวจ มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๙ ราย, คลัสเตอร์ครอบครัว ต.หลุ่งตะเคียน อ.ห้วยแถลง ผู้ป่วยสามีภริยาเดินทางจากกรุงเทพฯ แวะรับน้องสาวและหลานที่ อ.ขามทะเลสอ เพื่อกลับบ้านที่ ม.๖ ต.หลุ่งตะเคียน อ.ห้วยแถลง พบผู้ป่วยทั้งหมด ๑๓ ราย, คลัสเตอร์รถเร่ขายอาหาร ต.หินดาด อ.ห้วยแถลง พบผู้ติดเชื้อในครอบครัว ๕ ราย รวมคลัสเตอร์นี้มี ๒๒ ราย, คลัสเตอร์ตลาดสดพิมายเมืองใหม่ มีผู้สัมผัสเสี่ยง ๕๐ คน มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๕ ราย, คลัสเตอร์บริษัทสแปคโก้ คูลลิ่งเทาเวอร์ อินดัสตรี จำกัด โครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทราย (อ.สีคิ้ว) พบผู้ติดเชื้อ ๑๐ ราย, คลัสเตอร์โรงงานปริ้นเตอร์ อ.สูงเนิน พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม รวมมีผู้ติดเชื้อ ๓๐ ราย, คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ตำบลท่าเยี่ยม อำเภอโชคชัย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑ ราย ยอดผู้ป่วยสะสม ๙๗๑ ราย รักษาหายแล้ว ๙๒๗ ราย และคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ตำบลกระโทก อำเภอโชคชัย ผู้ป่วยรายใหม่ ๒ ราย ผู้ป่วยทั้งหมด ๑,๔๒๑ ราย รักษาหายแล้ว ๙๑๕ ราย กำลังรักษา ๔๔๑ ราย

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๔ จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๑,๐๘๗ ราย รักษาหาย ๑๗,๕๔๕ ราย ยังรักษาอยู่ ๓,๓๙๒ ราย และมีผู้เสียชีวิต ๑๔๘ ราย โดยผู้ติดเชื้อสะสมแยกเป็นรายอำเภอ ดังนี้ อำเภอเมือง ๑,๕๘๓ ราย, ปากช่อง ๓,๖๒๙ ราย, พิมาย ๖๒๒ ราย, บัวใหญ่ ๖๖๘ ราย, ด่านขุนทด ๑,๐๐๓ ราย, โชคชัย ๑,๘๗๔ ราย, ครบุรี ๘๗๐ ราย, ชุมพวง ๓๕๖ ราย,  สูงเนิน ๘๐๑ ราย, สีคิ้ว ๘๖๒ ราย, ปักธงชัย ๘๐๐ ราย, ประทาย ๗๒๐ ราย, จักราช ๔๙๘ ราย, โนนไทย ๔๖๔ ราย, โนนสูง ๗๖๘ ราย, โนนแดง ๒๘๘ ราย, เสิงสาง ๗๐๘ ราย, คง ๖๑๔ ราย, ขามสะแกแสง ๒๙๒ ราย, ขามทะเลสอ ๑๖๖ ราย, แก้งสนามนาง ๔๒๗ ราย, ห้วยแถลง ๖๕๐ ราย, หนองบุญมาก ๕๐๐ ราย, วังน้ำเขียว ๓๓๕ ราย, บ้านเหลื่อม ๒๔๔ ราย, พระทองคำ ๓๐๐ ราย, ลำทะเมนชัย ๒๒๓ ราย, เฉลิมพระเกียรติ ๑๒๕ ราย, เมืองยาง ๑๔๔ ราย, สีดา ๒๐๘ ราย, บัวลาย ๑๗๓ ราย และเทพารักษ์ ๑๗๒ ราย


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๕ วันพุธที่ ๘ - วันอังคารที่ ๑๔ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


85 1,618