7thDecember

7thDecember

7thDecember

 

September 11,2021

ปีนี้ทะยานระดับโลก ‘โคราชจีโอพาร์ค’ ชัยภูมิ’ขับเคลื่อนตามรอย

สัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้บริหารจัดการอุทยานธรณีโคราช ชัยภูมิ และสตูล คาดปีนี้รับการประเมินเป็นอุทยานธรณีโลก หวังเป็นดินแดน ๓ มงกุฎของยูเนสโก ด้าน ‘อร่าม โล่ห์วีระ’ นายก อบจ.ชัยภูมิ พร้อมสนับสนุนเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อน ‘ชัยภูมิจีโอพาร์ค ดินแดนแห่งโลก ๓ มหายุค’ สู่อุทยานธรณีระดับประเทศและระดับโลก


เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๔ ที่โรงแรมเลิศนิมิตร จังหวัดชัยภูมิ ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ และหัวหน้าสถาบันเครือข่าย MICE City and Tourism โคราชไมซ์ซิตี้ จัดสัมมนาการบริหารจัดการอุทยานธรณีและการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ (Geotourism) เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุทยานธรณีในกลุ่มนครชัยบุรินทร์และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เรื่องการบริหารจัดการอุทยานธรณีและการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ ภายใต้กิจกรรมที่ ๓ การสื่อสารภาพลักษณ์กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ในการส่งเสริมธุรกิจการจัดทัวร์เพื่อเป็นรางวัลและธุรกิจการจัดการกิจกรรมโดยยึดแนวทาง New Normal โดยมีนายสุรชัย ศิริพงษ์เสถียร ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณีวิทยา พร้อมด้วย นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายชาติชาย ไชยพิมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายอร่าม โล่ห์วีระ นายก อบจ.ชัยภูมิ ในฐานะผู้อำนวยการอุทยานธรณีชัยภูมิ และหัวหน้าส่วนราชการจากทั้ง ๓ จังหวัด ร่วมรับชมและรับฟังผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting)

ทั้งนี้ มีการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ การบริหารจัดการอุทยานธรณี การจัดการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ และการพัฒนาการศึกษาระหว่างอุทยานธรณีโคราช ชัยภูมิ และสตูล โดยมีนายสุรชัย ศิริพงษ์เสถียร นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีสตูล ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช นายอร่าม โล่ห์วีระ และนายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ร่วมเสวนา

ผลักดันอุทยานธรณีของไทย

ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี กล่าวว่า “กิจกรรมครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมภาพหลักของอุทยานธรณีในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการจัดการอุทยานธรณี และการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ หรือ Geotourism ภายใต้โครงการกิจกรรมของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ โดยจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิ เป็นจังหวัดที่มีภาพลักษณ์ดึงดูดนักเดินทาง เพื่อท่องเที่ยว จัดกิจกรรม และประชุมสัมมนา ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านอุทยานธรณี ดังนั้น จึงจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับอุทยานธรณีโลก จังหวัดสตูล นับว่าเป็นอุทยานธรณ๊โลกแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งอุทยานธรณีโคราชอยู่ระหว่างรอการประเมิน ส่วนอุทยานธรณีชัยภูมิ เป็นอุทยานธรณีน้องใหม่ในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ โดยทั้ง ๓ แห่งมีการสื่อสารภาพลักษณ์ที่ชัดเจน ในเรื่องการท่องเที่ยว และพัฒนาท้องถิ่น โดยอาศัยทรัพยากรทางธรณี วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เพื่อเชื่อมโยงการสร้างเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากในเขตอุทยายธรณีทุกแห่ง ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนอุทยานธรณีโคราช และยังมีส่วนในการขับเคลื่อนอุทยานธรณีสตูลด้วย โดยมีบทบาทในการสร้างสรรค์และผลักดันอุทยานธรณีชัยภูมิ ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ มีสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน”

โคราชจีโอพาร์ค

นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “โคราชได้ดำเนินการจัดตั้งอุทยานธรณี หรือ Khorat Geopark ตามแนวทางของยูเนสโก ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ กระทั่งได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัดในปี ๒๕๕๘ จากนั้นปี ๒๕๖๐ ได้รับการจัดตั้งเป็น National Geopark แห่งที่ ๒ ของประเทศไทย ต่อจากอุทยานธรณีสตูล และในปี ๒๕๖๒ โคราชได้ส่งเอกสารสมัครไปยังยูเนสโก เพื่อขอรับการประเมิน Unesco Global Geopark หรืออุทยานธรณีโลก เป็นแห่งที่ ๖ ของอาเซียน ซึ่งเดิมทีจะได้รับการตรวจเยี่ยมและประเมินในปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ทำให้เลื่อนการประเมินมาถึงปัจจุบัน โดยคาดว่า จะมีการประเมินภายในปีนี้ ซึ่งผมและคนโคราช มั่นใจว่า อุทยานธรณีโคราชจะได้รับการจัดตั้งเป็น Unesco Global Geopark หรืออุทยานธรณีโลก เป็นแห่งที่ ๖ ของอาเซียน และเป็นแห่งที่ ๒ ของประเทศไทย”

โคราช‘ดินแดน ๓ มงกุฎ’

“ยูเนสโกมีโปรแกรมอนุรักษ์ทั้งหมด ๓ แบบ คือ ๑.มรดกโลก ๒.พื้นที่สงวนชีวมณฑล และ ๓.อุทยานธรณี ซึ่งโคราชได้รับการรับรองแล้ว ๒ แบบ คือ มรดกโลกผืนป่าดงพญาเย็นหรือเขาใหญ่ และพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช หากอุทยานธรณีโคราช ถูกประเมินและได้รับการรับรองจากยูเนสโก จะทำให้โคราชเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทย ที่มีครบทั้ง ๓ แบบคือ The Unesco Triple Crown หรือดินแดน ๓ มงกุฎของยูเนสโก ผมและคนโคราชมีความมั่นใจว่า โคราชจะเป็นดินแดน ๓ มงกุฎ ในเร็วๆ นี้”

“สำหรับโคราชจีโอพาร์ค มีพื้นที่ครอบคลุม ๕ อำเภอ คือ สีคิ้ว สูงเนิน เมือง เฉลิมพระเกียรติ และขามทะเลสอ โดยโคราชจีโอพาร์คมีความโดดเด่นด้านลักษณะภูมิประเทศเขาเควสต้าหรือเขามีดอีโต้ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายมีดอีโต้ ลาดเอียงด้วยมุม ๕-๑๐ องศา ซึ่งมีแนวเขาอีโต้คู่ขนานกว่า ๒๐ แห่ง และมีความสูงประมาณ ๔๐๐-๘๐๐ เมตร และความโดดเด่นอีกด้าน คือ ซากดึกดำบรรพ์ หรือซากฟอสซิลไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุค โดยมีอยู่จำนวนมากและหลากหลายชนิด บนชั้นหินกรวดแทรกสลับหินทราย ซึ่งพบในพื้นที่ ๕ อำเภอจำนวนมาก ซึ่งในอำเภอเมืองและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นแหล่งขุดค้นพบซากกระดูกไดโนเสาร์กว่า ๑,๐๐๐ ชิ้น นับว่า มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนฟอสซิลไม้กลายเป็นหิน มีแหล่งค้นพบในหลายอำเภอในพื้นที่อุทยานธรณีโคราช และพบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์มากที่สุดในโลก โดยมีอายุในช่วง ๑๖ ล้านปีก่อน ซึ่งพบทั้งหมด ๑๐ สกุล จาก ๕๕ สกุล ที่พบทั่วโลก” นายชรินทร์ กล่าว

ชัยภูมิ’แหล่งมรดกทางธรณี

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า “จังหวัดชัยภูมิมีความโดดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นแหล่งวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งจังหวัดชัยภูมิได้ตั้งคณะทำงานด้านธรณีวิทยาขึ้น ปรากฏว่า เมื่อค้นคว้าและสืบค้น พบแหล่งมรดกทางธรณีที่สำคัญเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะร่องรอยดึกดำบรรพ์ ๓ มหายุค ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดจึงต้องการขับเคลื่อนพื้นที่ที่มีศักยภาพเหล่านี้ สู่การแหล่งธรณีวิทยาระดับประเทศ และจะพัฒนาสู่ระดับโลกในอนาคต โดยจะนำอุทยานธรณีมาเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์จังหวัด เพื่อใช้ในการพัฒนาจังหวัด นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในเรื่องการท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ และการบริหารจัดการแบบองค์รวม โดยร่วมกับเครือข่ายและภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างองค์กรบริหารจัดการจีโอพาร์ค ทั้งภาคราชการ เอกชน ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกัน สู่การเป็นจีโอพาร์คระดับประเทศและระดับโลกต่อไป”

“ปัจจุบันจังหวัดชัยภูมิประกาศให้พื้นที่ ๘ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง บ้านเขว้า หนองบัวระเหว เทพสถิต ภักดีชุมพล เกษตรสมบูรณ์ หนองบัวแดง และคอนสาร เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและความพร้อมเหมาะสม โดยประกาศให้เป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัด เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ โดยใช้ชื่อหน่วยงานบริหารจัดการว่า ชัยภูมิจีโอพาร์ค และแต่งตั้งให้นายอร่าม โล่ห์วีระ นายก อบจ.ชัยภูมิ เป็นผู้อำนวยการชัยภูมิจีโอพาร์ค พร้อมด้วยคณะทำงานเฉพาะด้าน ได้แก่ ด้านสถาปนิก นักโบราณคดี นักวิชาการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มัคคุเทศก์ นักธรณีวิทยา นักจัดการการท่องเที่ยว พัฒนากร และนักเศรษฐกร เพื่อพัฒนาให้ชัยภูมิก้าวไปสู่วัตถุประสงค์ที่วางไว้ อย่างไรก็ตามจังหวัดชัยภูมิ ถือเป็นน้องใหม่ในด้านจีโอพาร์ค การจัดกิจกรรมในวันนี้จึงเป็นโอกาสที่จังหวัดชัยภูมิ จะได้นำความรู้ด้านอุทยานธรณีของจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดสตูล ไปเรียนรู้และก้าวเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศและระดับโลกต่อไป” นายวิเชียร กล่าว

แห่งแรกของไทย

นายชาติชาย ไชยพิมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า “จังหวัดสตูลได้รับประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัด เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ในชื่ออุทยานธรณีสตูล ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด ๔ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ทุ่งหว้า มะนัง และละงู รวมเนื้อที่ ๒,๕๙๗ ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีความโดดเด่นระดับนานาชาติ โดยเฉพาะสัตว์ทะเลในมหายุคพาลีโอโซอิก เมื่อประมาณ ๕๔๒-๒๕๗ ล้านปีก่อน นับว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย จากการค้นพบหลักฐานสำคัญทางธรณี ทำให้จังหวัดสตูลมีความโดดเด่นและความสำคัญด้านธรณีวิทยา เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ควรอนุรักษ์อย่างยิ่ง ซึ่งประกอบด้วยแหล่งธรรมชาติ โบราณคดี วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะนำมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้ และศึกษาวิจัย จากนั้น วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ และได้รับการประกาศเป็นระดับโลก เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๕ โดยในปี ๒๕๖๕ อุทยานธรณีโลกสตูล ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเครือข่ายอุทยานธรณีโลก ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ ๗ ต่อจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอุทยานธรณีโลกสตูล มีความมุ่งมั่นต่อยอดอุทยานธรณีให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ของคนรุ่นหลัง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสนับสนุนเศรษฐกิจระดับประเทศต่อไป”

แลกเปลี่ยนความรู้จีโอพาร์ค

จากนั้น เป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ การบริหารจัดการอุทยานธรณี การจัดการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ และการพัฒนาการศึกษาระหว่างอุทยานธรณีโคราช ชัยภูมิ และสตูล ซึ่งนายสุรชัย ศิริพงษ์เสถียร กล่าวว่า “กรมทรัพยากรธรณี มีหน้าที่สงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการแหล่งธรณีวิทยาในประเทศไทย เชื่อมไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจต่างๆ และร่วมอนุรักษ์โดยชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด การทำงานด้านอุทยานธรณี เริ่มต้นตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ และมีการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ จากนั้นปี ๒๕๕๑ มีกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ ปี ๒๕๖๒ จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการนโยบายถ้ำแห่งชาติ และล่าสุดปี ๒๕๖๓ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการอุทยานธรณีแห่งชาติ สำหรับแหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญในประเทศไทย มีทั้งหมดประมาณ ๑,๒๐๐ แห่ง จากการสำรวจและศึกษาพบว่า มี ๒๔๐ แห่งที่เข้าข่ายต้องอนุรักษ์คุ้มครอง กระจายอยู่ทุกพื้นที่ในประเทศไทย ส่วนแหล่งซากดึกดำบรรพ์ ที่รอขึ้นทะเบียนประมาณ ๔๐ แห่ง เขตศึกษาวิจัย ๒ แห่ง เตรียมเป็นเขตศึกษาวิจัยประมาณ ๑๐๐ แห่ง แหล่งซากดึกดำบรรพ์อ้างอิงทางวิจัย ๒๐๐ แห่ง และซากดึกดำบรรพ์ที่รอขึ้นทะเบียนกว่า ๓๐๐ ชิ้น”

“จากการจัดตั้งคณะกรรมการอุทยานธรณีแห่งชาติ เดิมมีหน้าที่เพื่อส่งเสริมอุทยานธรณีสตูลไปสู่ระดับโลก ซึ่งภายใต้บริบทของการทำอุทยานธรณี เพราะยูเนสโกได้ส่งเสริมเรื่องนี้มาหลายปี มีอุทยานธรณีระดับโลก ๑๖๙ แห่ง กระจายใน ๔๔ ประเทศ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว เห็นความสำคัญของอุทยานธรณี จึงแต่งตั้งอนุกรรมการทำงานด้านนโยบายและส่งเสริมการอนุรักษ์ด้านมรดกธรณีและอุทยานธรณี ซึ่งมรดกธรณี คือ พื้นที่จุดเดียว ที่ไม่รวมกับพื้นที่อื่นเหมือนอุทยานธรณี นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมการการประเมินด้านต่างๆ คอยส่งเสริมการทำงานอยู่ตลอด โดยเรามีแผนว่า จะผลักดันอุทยานธรณีในกี่ปี เพื่อไปสู่ระดับอุทยานธรณีโลก โดยมีแนวทางนโยบาย ๓ ด้านหลัก คือ ๑.การสร้างระบบการประเมินคุณค่าอุทยานธรณีและมรดกธรณี ตามมาตรฐานอนุรักษ์ระดับสากล ๒.การสร้างการรับรู้และสร้างคุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่ออุทยานธรณีและมรดกธรณี และ ๓.สร้างระบบการจัดการและเครือข่ายความร่วมมืออุทยานธรณีและมรดกธรณี คณะกรรมการได้ทำงานโดยการประกาศหลักเกณฑ์แนวทางการอนุรักษ์ เพื่อใช้ในการทำอุทยานธรณีในประเทศไทย” นายสุรชัย กล่าว

ชัยภูมิ ๓ มหายุค

นายอร่าม โล่ห์วีระ กล่าวว่า “ความโดดเด่นของอุทยานธรณีชัยภูมิ เกิดขึ้นจากการยกตัวสูงของแผ่นดิน ซึ่งมีกายภาพเป็นที่ราบสูง มีลักษณะพื้นที่แยกออกจากภาคกลางและภาคเหนืออย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้เกิดขอบหน้าผาสูงชัน หรือที่เรียกว่า ผาสุดแผ่นดิน โดยมีแท่งหินตั้งเรียงรายทั่วไป เช่น มอหินขาว และยังมีแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ มีแม่น้ำชีที่มีต้นกำเนิดในชัยภูมิ เป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคอีสาน นอกจากนี้ยังมีระบบนิเวศที่หลากหลาย จึงทำให้มีผู้คนในสมัยก่อนอพยพมาตั้งถิ่นฐาน และได้ชื่อว่าชัยภูมิ หรือพื้นที่ที่เหมาะสม มีจารีตประเพณีและวัฒนธรรมที่โดดเด่น มีความอุดมสมบูรณ์ และผืนป่าปกคลุมแผ่นหินอันกว้างใหญ่ มีสภาพชีววิทยาที่หลากหลาย จึงเป็นที่มาของการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติจำนวนมาก และความโดดเด่นของแหล่งธรณีชัยภูมิ มีความสำคัญต่อการตั้งถิ่นฐานของมวลมนุษยชาติ ซึ่งผลงานวิจัยทางธรณีวิทยา พบว่า แผ่นดินของจังหวัดชัยภูมิ มีความปลอดภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวมากที่สุดในประเทศ”

แหล่งหมีแพนด้ายักษ์

“สำหรับความโดดเด่นด้านซากดึกดำบรรพ์ มีการค้นพบซากสัตว์ทะเล เปลือกหอยโบราณ และหมีแพนด้ายักษ์ โดยมีหลักฐานกระจายไปทั่วพื้นที่ บ่งบอกถึงอายุของซากดึกดำบรรพ์ใน ๓ มหายุค ได้แก่ ยุคมหาสมุทร ยุคกลาง และยุคของการอุบัติขึ้นของมนุษย์ การมีโบราณสถาน เช่น ปรางค์กู่ บ่งบอกถึงความเป็นมาของผู้คนและกลุ่มชาติพันธุ์โบราณ ที่เข้ามาสร้างถาวรวัตถุ ที่บ่งบอกถึงความเชื่อ ความศรัทธาในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรณีวิทยาที่สำคัญ ซึ่งอุทยานธรณีชัยภูมิ ถูกประกาศให้เป็นอุทยานธรณีระดับท้องถิ่นหรือระดับจังหวัด เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นผู้จัดตั้งและแต่งตั้งให้ผมเป็นผู้อำนวยการอุทยานธรณีชัยภูมิ ใช้พื้นที่ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า เป็นสำนักงานอุทยานธรณีชัยภูมิ โดยพื้นที่อุทยานธรณีชัยภูมิครอบคลุม ๘ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง บ้านเขว้า หนองบัวระเหว เทพสถิต ภักดีชุมพล เกษตรสมบูรณ์ หนองบัวแดง และคอนสาร ซึ่งมีทีมดูแล ๑๗ คน ล้วนมีความสามารถและประสบการณ์ยาวนานในแต่ละสาขา โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับอุทยานธรณีชัยภูมิ ไปสู่อุทยานธรณีระดับประเทศและระดับโลกต่อไป” นายอร่าม กล่าว

โคราชจุดริเริ่มจีโอพาร์ค

ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล กล่าวว่า “โคราชจีโอพาร์ค แบ่งการบริหารจัดการใน ๒ ระดับ คือ ระดับจังหวัดและระดับอุทยานธรณี สำหรับในระดับจังหวัด ทำหน้าที่เป็นศูนย์อำนวยการอุทยานธรณีโคราช โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ถือเป็นผู้ริเริ่มการจัดตั้งอุทยานธรณีโคราช นำโดยสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ที่จะขับเคลื่อนตามนโยบายของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อผลักดันให้โคราชจีโอพาร์คเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศและระดับโลก ส่วนระดับผู้บริหารอุทยานธรณี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ในการประเมินของยูเนสโก จะให้ความสำคัญกับองค์กรที่เป็นนิติบุคคล จึงจัดตั้งเป็นสมาคมโคราชจีโอพาร์คและฟอสซิล เพื่อให้เข้าข่ายการเป็นนิติบุคคลในการบริหารโคราชจีโอพาร์ค ซึ่งมีบุคลากรสำคัญจากสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพื่อนร่วมงานจากหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็น อำเภอต่างๆ อปท.ทุกระดับในพื้นที่ รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา วัด ชุมชน และภาคเอกชน โดยจะทำงานร่วมกับเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งแบ่งการบริหารออกเป็น ๕ ส่วน ได้แก่ ฝ่ายอนุรักษ์และวิจัย ฝ่ายการตลาดและการท่องเที่ยว ฝ่ายบริหาร ฝ่ายยุทธศาสตร์ และฝ่ายศึกษาและสารสนเทศ ซึ่งที่ผ่านมา โคราชจีโอพาร์คบริหารด้วยโครงสร้าง ๒ ฝั่งตามที่กล่าว แนวทางการบริหารโคราชจีโอพาร์ค จะบริหารแบบองค์รวมตามแนวทางของยูเนสโก ให้ความสำคัญกับชุมชนและร่วมมือกับชุมชน โดยทำการพัฒนา วิจัย และอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเน้นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์”

ชัยภูมิ’เป็นไปตามเป้า

นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี กล่าวว่า “ชัยภูมิโชคดีที่ได้นายวิเชียร จันทรโณทัย มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการจัดตั้งอุทยานธรณี ซึ่งทุกกิจกรรมล้วนเกิดประโยชน์ต่อประชาชน หลังจากมีนโยบายจัดตั้งอุทยานธรณี จังหวัดก็ค้นหาหลักฐานและเอกสารต่างๆ ที่กรมทรัพยากรธรณีเคยสำรวจไว้ ทำให้พบความโดดเด่นมากมาย จากนั้นจึงนำมาหลอมรวมและประกาศเป็นอุทยานธรณีชัยภูมิ ซึ่งในวันประกาศได้มีพิธีลงนามร่วมกับส่วนราชการกับผู้ว่าราชการจังหวัดนายอำเภอในพื้นที่ และผู้บริหาร อปท.ทุกระดับ  เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอุทยานธรณี พร้อมกับตั้งเป้าหมาย เช่น ตั้งเป้าว่า จะประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัดในเดือนสิงหาคม ซึ่งสามารถทำได้ตามที่ตั้งไว้ จากนั้นเดือนตุลาคม จะนำศักยภาพและการบริหารจัดการ เพื่อสมัครเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างทุกภาคส่วนดำเนินการตามแผนงานโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านการอนุรักษ์ ศึกษา วิจัย ท่องเที่ยว และพัฒนา หากทำได้จะช่วยให้รายได้และเศรษฐกิจของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องการให้เกิดขึ้น โดยมีชัยภูมิจีโอพาร์คเป็นแกนหลักในการเชื่อมโยงไปด้วยกัน”

หนุนชัยภูมิจีโอพาร์ค

นายอร่าม โล่ห์วีระ กล่าวว่า “จังหวัดชัยภูมิ มีศักยภาพมากมาย มีพื้นที่กว้างใหญ่ใน ๑๖ อำเภอ โดยในพื้นที่ของอุทยานธรณี มีความลึกล้ำของประวัติศาสตร์อันยาวนาน ผมมั่นใจว่า เราจะได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิให้การสนับสนุน ซึ่งขณะนี้ จังหวัดชัยภูมิถือเป็นน้องใหม่ เมื่อได้รับฟังความรู้จากโคราชและสตูล ประกอบจังหวัดชัยภูมิมีคำพูดว่า กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ดังนั้น การพัฒนาตาม ๒ จังหวัดนั้น จะต้องมีแหล่งเงินทุน โดยขณะนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้กำชับกับผมตลอด จึงถือว่า อุทยานธรณีชัยภูมิจะมีแหล่งเงินทุนที่ถาวร ในฐานะที่ผมเป็นนายก อบจ. เราจะมีงบประมาณส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม นอกจากนี้ผมยังเป็นนายกสมาคมอีสานพัฒนา ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่สามารถเข้าไปหาผลประโยชน์ เพื่อหารายได้สนับสนุนอุทยานธรณีชัยภูมิ โดยไม่แสวงหาผลกำไร และในอนาคต จะปรับเปลี่ยนพื้นที่ของสำนักงานอุทยานธรณีฯ เพื่อสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการทำงานของอุทยานธรณีฯ ให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว”
    

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๕ วันพุธที่ ๘ - วันอังคารที่ ๑๔ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


99 1,748