September 24,2021
ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีการประกวดราคาจ้างก่อสร้าง โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค งานสัญญาที่ ๓ งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า
ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีการประกวดราคาจ้างก่อสร้าง โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค งานสัญญาที่ ๓ งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า
บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) ได้มีประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) งานสัญญาที่ ๓-๑ งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย - กลางดง และช่วงปางอโศก - บันไดม้า ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๒ โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอในการประกวดราคาดังกล่าวทั้งสิ้น ๖ ราย รวมทั้งบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (ผู้ร้องสอด) และกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.๑๐ JV ซึ่งมีผู้ฟ้องคดีเป็นสมาชิกร่วมกับบริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด ทั้งนี้ ผู้ร้องสอดเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ส่วนผู้ฟ้องคดีเสนอราคาต่ำเป็นอันดับสอง แต่ผู้ร้องสอดมีคุณสมบัติและผลงานไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากผู้ร้องสอดได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ มีผู้ถือหุ้นจำนวน ๓ ราย ได้แก่ บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด บริษัท บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี จำกัด และนายชาตรี เขมาวชิรา แต่ผู้ร้องสอดกรอกข้อมูลในระบบการเสนอราคาในนามบริษัท ไม่ได้กรอกข้อมูลในนามกิจการร่วมค้า พร้อมกับได้ยื่นข้อเสนอโดยใช้ผลงานก่อสร้างของบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี จำกัด ซึ่งเป็นหนังสือรับรองจากหน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ PRASARANA MALAYSIA BERHAD รับรองว่า บริษัท บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี จำกัด เป็นผู้รับจ้างช่วงของกิจการร่วมค้า BPHB – TIM SEKATA JV ผู้รับจ้างหลัก แต่ไม่มีการระบุมูลค่าผลงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงประกาศให้กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.๑๐ JV เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ผู้ร้องสอดได้ยื่นอุทธรณ์ ผลการประกวดราคาดังกล่าว ซึ่งต่อมา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓) มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) ๐๔๐๕.๕/๕๒๙๔๕ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ ว่า คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) เคยมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) ๐๔๐๕.๔/๐๓๗๙๙๖ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ อนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามหนังสือของคณะกรรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กนบ) ๐๔๐๕.๒/ว ๔๑๐ ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๐ เรื่อง กำหนดแบบประกาศและเอกสารเชิญชวนในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุฯ และหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) ๐๔๐๕.๒/ว ๒๘๙ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้า ให้แก่ผู้ร้องสอดเป็นการเฉพาะราย ผู้ร้องสอดจึงถือเป็นกิจการร่วมค้าที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ และสามารถนำผลงานของผู้ร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมาใช้เป็นผลงานในการยื่นประกวดราคาได้ จึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) ๐๔๐๕.๕/๕๒๙๔๕ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องสอด ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ต่อมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ ๑๖๔/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) ๐๔๐๕.๕/๕๒๙๔๕ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมีปัญหาที่ต้องพิจารณาก่อนว่า หนังสือของ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) ๐๔๐๕.๔/๐๓๗๙๙๖ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ ที่อนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามหนังสือคณะกรรมการนโยบายฯ ด่วนที่สุด ที่ กค (กนบ) ๐๔๐๕.๒/ว ๔๑๐ ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๐ และอนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) ๐๔๐๕.๒/ว ๒๘๙ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กรณีนี้ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีอำนาจยกเว้นหรือผ่อนผันเฉพาะการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ แต่มิได้บัญญัติให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยกเว้นหรือผ่อนผันให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเป็นการเฉพาะ อีกทั้ง หนังสือคณะกรรมการนโยบายฯ ด่วนที่สุด ที่ กค (กนบ) ๐๔๐๕.๒/ว ๔๑๐ ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๐ ออกโดยใช้อำนาจของคณะกรรมการนโยบายฯ ตามมาตรา ๒๔ (๖) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ ในการกำหนดแบบเอกสารซื้อหรือจ้างพร้อมประกาศเชิญชวน เพื่อให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ดังนี้ การยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามหนังสือดังกล่าว จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายฯ โดยเฉพาะ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่มีอำนาจในการยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามหนังสือของคณะกรรมการนโยบายฯ ดังกล่าว ส่วนการอนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) ๐๔๐๕.๒/ว ๒๘๙ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ นั้น กรณีนี้คณะกรรมการนโยบายฯ ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๙ (๗) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ มอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทาง วิธีปฏิบัติ แบบหรือตัวอย่างเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อันมีผลทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีอำนาจดุลพินิจที่จะทบทวน แก้ไข ผ่อนปรนหรือยกเว้นการใช้บังคับแนวทาง วิธีปฏิบัติ แบบหรือตัวอย่างที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กำหนดขึ้นได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม ดังนี้ หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เห็นว่าข้อกำหนดตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) ๐๔๐๕.๒/ว ๒๘๙ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้า มีความไม่เหมาะสม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ย่อมมีอำนาจที่จะทบทวน แก้ไข หรือยกเลิกเพิกถอนข้อกำหนดนั้นได้ แล้วจึงออกข้อกำหนดขึ้นใหม่เพื่อใช้บังคับกับผู้ยื่นข้อเสนอราคา แต่การใช้บังคับข้อกำหนดดังกล่าวต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียม มิใช่ยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการเฉพาะราย ผู้ร้องสอด มิเช่นนั้นแล้ว จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงแน่นอนแห่งนิติสถานะ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่มีอำนาจในการยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) ๐๔๐๕.๒/ว ๒๘๙ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ ให้แก่ผู้ร้องสอดเป็นการเฉพาะรายผู้ร้องสอด ประกอบกับการอนุมัติยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ ต้องมีการประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลางตามวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด ตามมาตรา ๒๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มิได้นำหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) ๐๔๐๕.๔/๐๓๗๙๙๖ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ เรื่อง ข้อหารือคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในนามกิจการร่วมค้าและผลงาน ประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยกเว้นการปฏิบัติตามหนังสือของคณะกรรมการนโยบายฯ ด่วนที่สุด ที่ กค (กนบ) ๐๔๐๕.๒/ว ๔๑๐ ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๐ และหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) ๐๔๐๕.๒/ว ๒๘๙ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ ให้แก่ผู้ร้องสอดเป็นการเฉพาะราย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏต่อมาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) ๐๔๐๕.๒/ว ๕๘๑ ลงวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๓ เรื่อง การพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้า (ฉบับใหม่) ยกเลิกหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) ๐๔๐๕.๒/ว ๒๘๙ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ (ฉบับเดิม) แล้วกำหนดแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้าใหม่ โดยให้มีผลเป็นการทั่วไป แต่เมื่อหนังสือฉบับดังกล่าวออกมาภายหลังการดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการพิพาท กรณีจึงไม่อาจนำหนังสือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) ๐๔๐๕.๒/ว ๕๘๑ ลงวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๓ เรื่อง การพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้า (ฉบับใหม่) มาใช้บังคับย้อนหลังกับการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการพิพาท เมื่อเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอตามที่กำหนดในประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ ยังไม่ถูกยกเว้นการใช้บังคับหรือยกเลิกเพิกถอนไป ก่อนการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการพิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามรวมทั้งผู้ยื่นข้อเสนอราคาทุกรายจึงต้องผูกพันยึดถือปฏิบัติและดำเนินการตามประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างมีกรอบการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชนและก่อให้เกิดผลดีกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
คดีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า ผู้ร้องสอดมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ หรือไม่ กรณีนี้ ประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคา แต่ในกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ กิจการร่วมค้าดังกล่าวสามารถนำผลงานก่อสร้างของผู้เข้าร่วมค้ามาใช้แสดงเป็นผลงานก่อสร้างของกิจการร่วมค้าได้ เมื่อผู้ร้องสอดได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ผู้ร้องสอดจึงมีสถานะความเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น ผู้ร้องสอดในนาม “บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด” จึงต้องมีผลงานก่อสร้างในนามบริษัทดังกล่าว โดยไม่สามารถนำผลงานก่อสร้างของผู้ถือหุ้นมาใช้แสดงเป็นผลงานก่อสร้างของผู้ร้องสอดได้ เมื่อผู้ร้องสอดยื่นข้อเสนอราคาโดยใช้ผลงานก่อสร้างของบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี จำกัด โดยไม่ได้ยื่นผลงานก่อสร้างที่ทำในนามบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ผู้ร้องสอดจึงไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ร้องสอดประสงค์จะเสนอราคาในนามกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ แต่เมื่อบริษัทผู้ร้องสอดมีบุคคลธรรมดาเป็นผู้ถือหุ้น จึงต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นสมาชิกของกิจการร่วมค้า เมื่อประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ กำหนดให้สมาชิกของกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ทุกรายต้องเป็นนิติบุคคล และต้องมีอาชีพรับจ้างตามที่ประกวดราคาจ้าง แต่ผู้ร้องสอดมีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และไม่ได้มีอาชีพรับจ้างตามที่ประกวดราคาจ้าง ผู้ร้องสอดจึงไม่มีคุณสมบัติในการยื่นข้อเสนอราคาในนามกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ นอกจากนี้ ในส่วนหนังสือรับรองผลงานของผู้ร้องสอด ประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ กำหนดให้หนังสือรับรองผลงานต้องออกโดยเจ้าของงานและระบุมูลค่าผลงาน เมื่อผู้ร้องสอดได้ยื่นหนังสือรับรองผลงานก่อสร้างของบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี จำกัด ที่ออกให้โดยบริษัท PRASARANA MALAYSIA BERHAD ผู้เป็นเจ้าของงาน และหนังสือรับรองผลงานที่ออกให้โดยกิจการร่วมค้า BPHB – TIM SEKATA JV ผู้รับจ้างหลัก แต่หนังสือรับรองผลงานที่ออกโดยบริษัท PRASARANA MALAYSIA BERHAD นั้น แม้จะออกให้โดยเจ้าของงาน แต่หนังสือรับรองดังกล่าวรับรองเพียงว่าบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี จำกัด เป็นผู้รับจ้างช่วงงานก่อสร้างจากกิจการร่วมค้า BPHB – TIM SEKATA JV โดยไม่ได้ระบุมูลค่าของผลงานไว้ ส่วนหนังสือรับรองผลงานที่ออกโดยกิจการร่วมค้า BPHB – TIM SEKATA JV แม้จะได้ระบุมูลค่าผลงานไว้ แต่กิจการร่วมค้า BPHB – TIM SEKATA JV ไม่ใช่เจ้าของงานก่อสร้าง หนังสือรับรองผลงานของผู้ร้องสอดจึงไม่เป็นไปตามที่ประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ กำหนด
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องสอด โดยพิจารณาคุณสมบัติของผู้ร้องสอดตามหนังสือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) ๐๔๐๕.๔/๐๓๗๙๙๖ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ ซึ่งอนุมัติยกเว้นให้
ผู้ร้องสอดเป็นกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ และพิจารณาต่อไปว่า ผู้ร้องสอดสามารถนำผลงานของผู้ร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมาใช้แสดงเป็นผลงานในการยื่นประกวดราคา จึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) ๐๔๐๕.๕/๕๒๙๔๕ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษาเพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) ๐๔๐๕.๕/๕๒๙๔๕ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องสอด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ทั้งนี้ ให้คำสั่งศาลที่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) ๐๔๐๕.๕/๕๒๙๔๕ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์ในกรณีที่ไม่มีการอุทธรณ์ หรือจนกว่าศาลมีคำสั่งถึงที่สุดไม่รับอุทธรณ์ในกรณีที่มีการอุทธรณ์ หากศาลมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างผู้ชนะการเสนอราคา ตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการพิพาท ฉบับลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๓ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามประกาศประกวดราคาฉบับดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการกิจการสาธารณะซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ บรรลุผลโดยเร็วต่อไป
69 1,624