31stDecember

31stDecember

31stDecember

 

October 05,2021

เตรียมผลักดัน GI กาแฟโรบัสต้า สินค้าทางเลือกที่มีอนาคต สร้างรายได้เกษตรกรศรีสะเกษ

เตรียมผลักดันให้ “กาแฟ โรบัสต้า” ขึ้นทะเบียน GI เพราะเป็นสินค้าทางเลือกที่มีอนาคต หวังให้ “ศรีสะเกษ” เป็นแหล่งผลิตกาแฟโรบัสต้าที่มีคุณภาพสูง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค โดยเน้นการรวมกลุ่มเกษตรกรในการผลิต ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกาแฟกว่า ๓๐๐ ไร่ สร้างกำไร ๑๓,๐๒๙ บาท/ไร่/ปี

นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ ๑๑ อุบลราชธานี

 

นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ ๑๑ อุบลราชธานี (สศท.๑๑) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “กาแฟโรบัสต้า” นับเป็นสินค้าทางเลือกที่มีอนาคต (Future Crop) ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายส่งเสริมพัฒนาการผลิตและการตลาดให้เป็นสินค้าสร้างรายได้แก่เกษตรกร เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดโลก ซึ่งในปี ๒๕๖๓ กระทรวงเกษตรฯ โดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตรได้บูรณาการร่วมกับจังหวัดศรีสะเกษดำเนินโครงการพัฒนาระบบการผลิตกาแฟมาตรฐานและการแปรรูปสร้างแบรนด์กาแฟศรีสะเกษและโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนผลิตกาแฟโรบัสต้าครบวงจร เพื่อให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นแหล่งผลิตกาแฟโรบัสต้าที่มีคุณภาพสูง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค โดยเน้นการรวมกลุ่มเกษตรกรในการผลิต ประกอบกับจังหวัดเตรียมผลักดันให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ซึ่งคาดว่าจะได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ในปี ๒๕๖๕

ทั้งนี้ สศท.๑๑ ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตกาแฟโรบัสต้า ในพื้นที่อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๔ พบว่า ปัจจุบันเกษตรกรมีการปลูกแบบรายเดี่ยวและรวมกลุ่มการผลิต ส่วนใหญ่จะปลูกต้นกาแฟโรบัสต้าแซมในสวนทุเรียน ซึ่งจากการติดตามกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ พบว่า กลุ่มผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้า อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีศักยภาพในการผลิต เนื่องจากเกษตรกรมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร เช่น แหล่งน้ำ และดินในการเพาะปลูก โดยเริ่มรวมกลุ่มเมื่อปี ๒๕๖๐ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกาแฟกว่า ๓๐๐ ไร่ มีสมาชิกเกษตรกร ๗ ราย โดยเมื่อปีที่ผ่านมาทางกลุ่มได้เข้าร่วมโครงการฯ กับศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ซึ่งได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ในด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด รวมถึงได้รับการสนับสนุนปัจจัยต้นพันธุ์กาแฟทีมีคุณภาพ

ด้านสถานการณ์การผลิตกาแฟโรบัสต้าของกลุ่ม ปี ๒๕๖๔ มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย ๙,๔๗๑ บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ ๒ และเก็บเกี่ยวได้ประมาณ ๔๐ ปี) ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนกันยายน–พฤศจิกายน ผลผลิตรวมประมาณ ๑,๘๐๐ กิโลกรัม/ปี ผลผลิตเฉลี่ย ๑๐ กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย ๒๒,๕๐๐ บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) ๑๓,๐๒๙ บาท/ไร่/ปี ราคากาแฟโรบัสต้า (ผลสด) ณ วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๔ อยู่ที่ ๒๕ บาท/กิโลกรัม ถ้าเป็นผลกาแฟแห้ง ราคาอยู่ที่ ๑๒๕ บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ ผลผลิตของกลุ่มยังอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้น และเป็นช่วงเริ่มให้ผลผลิต

สถานการณ์ด้านตลาดของกลุ่ม พบว่าผลผลิตกาแฟโรบัสต้า (ผลสด) ทั้งหมด เกษตรกรส่งจำหน่ายให้กับศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ โดยทางศูนย์จะนำผลผลิตไปแปรรูปเป็นกาแฟสด และนำไปวิจัย ขยายต้นพันธุ์ต่อ ซึ่งจากการที่กลุ่มเข้าร่วมโครงการฯ ประกอบกับได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ โดยเฉาะในเรื่องของการแปรรูปสร้างแบรนด์กาแฟศรีสะเกษ ทางกลุ่มจึงมีแผนจะดำเนินการผลิตกาแฟโรบัสต้าแบบครบวงจร โดยจะเน้นการแปรรูปเป็นกาแฟสด ประมาณร้อยละ ๘๐ ของผลผลิต ส่วนด้านตลาดจะเน้นการขายทางออนไลน์เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม ประมาณร้อยละ ๒๐   

ผู้อำนวยการ สศท.๑๑ กล่าวทิ้งท้ายว่ากาแฟโรบัสต้านับเป็นพืชที่มีอนาคตสดใส เพื่อให้เกิดการพัฒนากาแฟโรบัสต้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงควรมีการฟื้นฟูต้นกาแฟที่มีอยู่เดิม ส่งเสริมการปลูกใหม่ในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาด และมีผลผลิตเพียงพอต่อการนำไปใช้สำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ 
“จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคกาแฟ โรบัสต้าทุกท่านร่วมสนับสนุนผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟของจังหวัดศรีสะเกษ ผ่านช่องทาง Facebook “ทุเรียนภูเขาไฟสวนบุญส่ง” ซึ่งผลผลิตกำลังทยอยออกสู่ตลาดในขณะนี้ โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดในเดือนกันยายน และออกต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔”

หากเกษตรกรหรือผู้สนใจข้อมูลการผลิตกาแฟโรบัสต้า สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ นายชนินธร ท้าวธงชัย ประธานกลุ่ม หมู่ ๑๐ ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ หรือโทรศัพท์ ๐๘๔-๙๓๖๒๗๒๗ และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.๑๑ อุบลราชธานี โทรศัพท์ ๐๔๕-๓๔๔๖๕๕ หรืออีเมล zone11@oae.go.th

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๙๘ วันพุธที่ ๒๙ เดือนกันยายน - วันอังคารที่ ๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


100 1,723