28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

October 08,2021

เชิญเที่ยว‘เขาใหญ่’ได้ตลอดปี พร้อมรับสาวงามชิงมิสยูนิเวิร์ส

“เขาใหญ่” เตรียมต้อนรับสาวงามผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส ระหว่างวันที่ ๙-๑๖ ตุลาคมนี้ วางมาตรการป้องกันโควิด-๑๙ เพื่อยกระดับมาตรการควบคุมโรค พร้อมเปิดเมืองสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว เชิญชวนเที่ยว “เขาใหญ่” ตลอดทั้งปีด้วยความปลอดภัย

ตามที่จะมีการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ๒๐๒๑ ระหว่างวันที่ ๙-๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ ที่เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. นางชวาลา ป้องขันธ์ ผู้อำนวยการกองประกวดฯ และนางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ ได้นำเสนอมาตรการด้านสาธารณสุขต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ซึ่งมีนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน ณ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา

นางชวาลา ป้องขันธ์ รายงานเพิ่มเติมว่า “กิจกรรมครั้งนี้ มีผู้เข้าประกวดนางงามทั้งหมด ๓๐ คน ทีมงานหลัก ๒๔ คน ทางเรามีทีมงานเสริม ๒ วัน คือวันที่ ๑๓ ตุลามคม เป็นวันที่มีการทำกิจกรรมที่เขาใหญ่ จะมีการทำเรียลลิตี้ไลฟ์ มีทีมตากล้องมาเพิ่ม ๑๒ คน และวันที่ ๑๕ ตุลาคม มีการทำกิจกรรมเป็นเรียลลิตี้ไลฟ์ มีตากล้องชุดเดิม คือ ๑๒ คน จากวันที่ ๑๓ ตุลาคม โดยจะมาอยู่ทั้ง ๑๓-๑๕ ตุลาคม นี่คือจำนวนคนของกองประกวดหลัก จำนวนทีมงานกองประกวด ๒๔ ท่าน รวมช่างแต่งหน้าทำผม ตามที่ส่งรายชื่อมา เพราะมีการอบรมการแต่งหน้าทำผมให้ผู้เข้าประกวดแล้ว เมื่อสองวันที่ผ่านมา มีช่างแต่งหน้าทำผมแค่ ๒ คน เพื่อมาเป็นหลักบอกแนวทางการแต่งหน้าและทำผมให้ผู้เข้าประกวด เพราะจะให้ผู้เข้าประกวดแต่งหน้าทำผมเอง และจะมีการตรวจ ATK อีกรอบ คือ วันที่ ๑๑ ตุลาคม และมาตรการวางแผนกับสมาคมการท่องเที่ยวและทางสาธารณสุขอำเภอปากช่องได้วางแผนไว้จะเป็นการทำ Bubble and Seal การเดินทางทำกิจกรรมจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง จะไม่มีใครสามารถออกนอกเส้นทางได้ เนื่องจากการเดินทางและจำนวนคนทั้งหมดของกองประกวดจะเดินทางด้วยรถคันเดิม คนกลุ่มเดิม ไม่มีการจอดแวะพัก และในแต่ละสถานที่ที่ไปทำกิจกรรมจะมีการตรวจและควบคุมโรคของพนักงานและสถานที่ตามมาตรการการควบคุมโรคของ สสจ.นครราชสีมา”

นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ กล่าวเสริมว่า “นอกเหนือจากที่กองประกวดได้ทำการตรวจหาเชื้อทีมงาน ผู้เข้าประกวดกันอย่างเข้มงวดแล้ว ในส่วนของทางผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ทุกคนเราใช้หลักการที่ทางสาธารณสุขได้ลงตรวจ คือการตรวจ ATK แบบ ๗-๑-๗ มีการตรวจล่วงหน้า ๗ วันของทางผู้ประกอบการ ร้านอาหารทุกร้าน พนักงานทั้งหมด รวมถึงเจ้าหน้าที่เขาใหญ่ทุกคน จะมีการการตรวจก่อน ๗ วันล่วงหน้า และ ๑ วันก่อนถึงวันจัดกิจกรรมจริง และหลังจากที่จัดกิจกรรมเสร็จอีก ๗ วัน โดยหลักการ ๗-๑-๗ นี้จะมีเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขและจากทางโรงพยาบาลปากช่องนานาเซ็นรับรอง ซึ่งมีรายชื่อของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และได้มีการตรวจไปในวัน ๑ ตุลามคมที่ผ่านมา ผลการตรวจเป็นลบทั้งหมดทุกคนตามรายชื่อ เราได้ปฏิบัติการกันอย่างเข้มงวด ทางสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่และทางชมรมผู้ประกอบการก็มีการทำ Bubble and Seal พนักงานและเจ้าหน้าที่ทุกคน ในส่วนของการทำกิจกรรมในสถานที่ต่างๆ มีการทำ Bubble and Seal ทุกที่ โดยไม่ให้กลับบ้านตรวจเสร็จอยู่ในพื้นที่ และจะมีรายชื่อที่ชัดเจน”

“ส่วนใหญ่ทางผู้ประกอบการก็จะเป็นคนท้องที่ ซึ่งได้มีการเรียกมาตรวจหาเชื้อเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่พักทั้ง ๓ แห่ง มีการตรวจตามมาตรการที่เข้มงวดอยู่แล้ว และการเก็บตัวของงามก็แยกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน ซึ่ง สสจ. ร่วมกับอำเภอปากช่องได้ลงพื้นที่ตรวจเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายนที่ผ่านมา และนางงามจะมีการจัดกลุ่มละ ๖ คน ถึงแม้ว่าการเดินทางขึ้นเขาจะไม่สามารถนำรถบัสขึ้นไปได้ แต่ก็ได้เตรียมรถซึ่งเป็นรถโล่งไว้แล้ว ทางนายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่และทางเขาใหญ่ รวมถึงกองประกวดมีการจัดเตรียมตามมาตรการที่เข้มงวด เพราะต้องการให้การจัดงานสำเร็จและลุล่วงไปได้ด้วยดี จะได้เป็นการยกระดับมาตรฐานในการทำงานของทางจังหวัดด้วย” นางสาวพันชนะ กล่าว

นายชรินทร์ ทองสุข กล่าวว่า “ทางกองประกวดที่มีความตั้งใจในการวางมาตรการมาเป็นอย่างดี แต่เพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่าย ทางจังหวัดอยากให้คนที่เข้ามาปลอดโรค คนที่เข้ามาก็อยากให้คนในจังหวัดปลอดโรค ดังนั้นให้ สสจ. และกองประกวดได้คุยกันเพื่อปรับบางมาตรการ บางกิจกรรมให้เป็นไปในทาง Bubble and Seal ให้มากที่สุด ใช้มาตรฐาน SOP ที่ สสจ. ทำร่วมกับสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ซึ่งในหลายๆ กิจกรรมที่เสนอมาก็เป็นในรูปแบบของ Bubble and Seal แล้ว ถ้าหากว่ามาตรการไม่ลงตัวก็ขอให้มาเสนอใหม่ วันนี้จะเป็นการขอมติคณะกรรมการโรคติดต่อในหลักการไว้ก่อน ต่อไปนี้ทุกกิจกรรม จะเป็นในรูปแบบ New Normal ทางจังหวัดกำลังจะเป็นจังหวัดที่เริ่มสร้างมาตรฐานใหม่ได้ ผมเห็นว่าควรจะเห็นชอบตามหลักการไว้ก่อน แล้วมาปรับแก้กับ สสจ. ขอให้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อลงมติเห็นชอบ”

จากนั้นเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๔ นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ ให้สัมภาษณ์ “โคราชคนอีสาน” ว่า “การจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สในครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมนำร่องที่มีการใช้กระบวนการ มาตรการต่างๆ ของโครงการ Korat Green Box ซึ่งถือได้ว่าอำเภอปากช่องเป็นอำเภอแรกในการนำร่องทำโครงการ Korat Green Box จาก ๔ อำเภอที่เป็นอำเภอนำร่องของจังหวัด คือ อำเภอเมือง, ปากช่อง, วังน้ำเขียว และพิมาย โดยมีการใช้มาตรการของทางสาธารณสุขด้านการท่องเที่ยว และการจัดงานตามมาตรฐาน New Normal เช่น ผู้ที่จะเข้ามาในจังหวัดโคราชจะต้องมีการฉีดวัคซีนครบสองเข็ม และมีการตรวจ RT-PCR ไม่เกิน ๗๒ ชั่วโมง ส่วนทีมงานที่เขาใหญ่ก็จะมีการตรวจ ATK โดยใช้หลักการ ๗-๑-๗ คือตรวจก่อนที่จะเริ่มทำงาน ๗ วัน และตรวจก่อนมีการเริ่มทำการกับกองประกวด ๑ วัน และสุดท้ายตรวจหลังจากที่การทำงานเสร็จสิ้น ๗ วัน”

“การจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สในครั้งนี้ มีส่วนในการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัด โดยกิจกรรมกองประกวดมี ๓ ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือการทำกิจกรรมที่สวนเอเดน ออร์แกนิกส์ ปีนี้สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่มีแนวคิด คือการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เนื่องจากทางอำเภอปากช่องเด่นเรื่องทางการเกษตร ทั้งเกษตรอินทรีย์ และเกษตรทั่วไป จึงจะนำเสนอความมั่นคงด้านอาหาร เพราะฉะนั้นที่แรกที่จะเข้าไปทำกิจกรรมในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๔ คือ สวนเอเดน ออร์แกนิกส์ ซึ่งมีการทำกิจกรรมในฐานต่างๆ ของนางงาม ๓๐ คน ส่วนที่สองกิจกรรม From Farm to Table มีกิจกรรมการเดินป่า บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งถือว่าเป็นมรดกโลก แน่นอนว่าเขาใหญ่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว กิจกรรมนี้ย่อมจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและแนวคิดเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมส่วนที่สามที่สวนผักปากช่อง สาวงามผู้เข้าประกวดได้เรียนรู้การปลูกผักสมุนไพร การปลูกฟ้าทะลายโจร และจะให้ผู้เข้าประกวดมีการลองทำฟ้าทะลายโจรแคปซูลด้วย”

นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ กล่าวอีกว่า “ผู้ประกอบการในเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง ร่วมกันส่งเครื่องดื่ม นม อาหาร ทุกอย่างที่ทางผู้ประกอบการผลิตเองส่งให้กองประกวดตลอดระยะเวลาที่อยู่เขาใหญ่ วันที่ ๙-๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ เพราะกองประกวดแบ่งที่พักเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรกคือพักที่โรงแรม ภูวนาลี รีสอร์ท เขาใหญ่ ระหว่างวันที่ ๙-๑๑ ตุลาคม และส่วนที่สองจะพักที่ My Ozone& Mövenpick Resort Khao Yai ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๖ ตุลาคม แต่จะมีการเว้นวันที่ ๑๓-๑๔ ตุลาคม เพราะจะขึ้นไปทำกิจกรรม From farm to Table และกิจกรรมการเดินป่า ร่วมกับเชฟมิชลินสตาร์ ๕ ท่าน บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่”

“นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเขาใหญ่ ๙๙% เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย เพราะฉะนั้น Korat Green Box คือแนวคิด เน้นไปในทางให้ความรู้กับผู้ประกอบการ มีการจัดอบรม Covid-19 Supervisor รุ่นละ ๒๐ กว่าคน เพราะฉะนั้นขณะนี้เรามีสถานประกอบการ ๑๐ ประเภท ผู้ประกอบการประมาณ ๑๕๐ คน ที่อบรมเสร็จแล้ว และกำลังจะได้รับประกาศนียบัตร Covid-19 Supervisor ภายใต้โครงการ Korat Green Box จัดอบรมโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ และชมรมผู้ประกอบการอาหารอำเภอปากช่อง” นางสาวพันชนะ กล่าว

นางพันชนะ กล่าวท้ายสุดว่า “ในส่วนของการท่องเที่ยวเขาใหญ่ไม่เคยมีการปิดสถานที่โดยรอบทั้งอำเภอปากช่อง มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวอยู่เรื่อยๆ ตลอดทั้งปี และในตัวอุทยานแห่งชาติมีมาตรการควบคุม จัดระเบียบในการเข้ามาในอุทยาน เพื่อลดความหนาแน่น มีการจัดเป็นรอบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนที่จะเข้ามาเที่ยวหรือพักในโรงแรมในอำเภอปากช่อง คือจะต้องมีการฉีดวัคซีน ๑-๒ เข็มขึ้นไปตามมาตรการของทางจังหวัด ในส่วนของพนักงานของสถานประกอบการต่างๆ ที่ได้รับการอบรม Covid-19 Supervisor จะมีการตรวจ ATK ทุก ๗ วัน เป็นสิ่งที่เราเน้น โดยเฉพาะร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก ไกด์นำเที่ยว บริษัททัวร์ และร้านกาแฟ อีกอย่างคือ สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ให้ผู้ให้บริการฉีดวัคซีนเกือบ ๑๐๐% แล้ว เพราะฉะนั้นขอให้มั่นใจได้ จะมาเที่ยว มาพักผ่อน หรือจะเป็นการจัดกิจกรรมต่างๆ ในวันหยุด วันธรรมดา สามารถมาได้ตลอดปี”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๙วันพุธที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๙ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


994 1597