October 08,2021
โควิดปะทุ‘โรงงาน-ตลาด’ ถอดบทเรียนเข้มเด็ดขาด
คลัสเตอร์ตลาดและโรงงานสาเหตุการ ติดเชื้อรุนแรงในโคราช ‘วิเชียร’ เร่งถอดบทเรียนนำมาแก้ไขปัญหาโควิด เตรียมยกระดับมาตรการควบคุมโรงงาน ต้องปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัด หากพบฝ่าฝืนจะพิจารณาดำเนินคดี หวังลดตัวเลขการติดเชื้อให้ต่ำกว่า ๑๐๐ รายต่อวัน ล่าสุดเสนอ ททท.เปิดเมือง ๕ อำเภอ ฟื้นการท่องเที่ยวปลายปี
วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. นพ.สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานว่า “คลัสเตอร์โรงงานแหลมทอง อำเภอสูงเนิน ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อสะสม ๖๐๒ ราย เป็นผู้ป่วยพบใหม่วันนี้ ๑๓๘ ราย รักษาหาย ๕ ราย คลัสเตอร์นี้เริ่มจากการค้นหาเชิงรุกพบการติดเชื้อในโรงงานทั้ง ๓ แห่ง และพบการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่กักตัวอยู่ในโรงงาน พนักงานของโรงงานแห่งนี้จะมีพักอยู่ทั้งข้างนอกและในโรงงาน ซึ่งบางคนมีผลตรวจ ATK เป็นบวก แต่ก็กระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ เช่น ที่อำเภอสูงเนิน ได้รับข้อร้องเรียนว่า พนักงานที่ ATK ผลเป็นบวก ยังออกไปเดินซื้อของในชุมชน ซึ่งเจ้าพนักงานโรคติดต่อได้ออกคำสั่งให้โรงงานดำเนินการหาสถานที่สำหรับการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สถานที่พักคอยสำหรับผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวก และสถานที่สำหรับการกักตัว Factory Isolution แต่ขณะนี้ยังมีการร้องเรียนจากชุมชนว่า พบผู้ป่วยผลตรวจ ATK เป็นบวก ไม่กักตัว จึงขอแจ้งให้โรงงานดำเนินการนำตัวผู้ที่มีผลบวกกลับมากักตัวที่โรงงาน ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลสูงเนิน นอกจากนี้ โรงงานยังไม่ติดตามพนักงานของตัวเองทั้ง ๑,๕๐๐ คน ว่า พนักงานได้รับการตรวจหรือยัง”
ยอมรับติดตามพนักงานไม่ได้
นายเดชา สายชู ผู้ช่วยผู้จัดการโรงงานฯ กล่าวว่า “ในส่วนของพนักงานที่พักอยู่ข้างนอกโรงงานประมาณ ๑,๕๐๐ คน ขณะนี้ได้รับผลตรวจ ATK เป็นลบ และนำกลับมาเข้าระบบ Bubble and Seal ประมาณ ๔๘๐ คน ยังเหลืออยู่ข้างนอกประมาณ ๑,๐๒๐ คน ซึ่งในจำนวนนี้ได้ตรวจ ATK รอบแรกแล้ว ในส่วนของผู้ที่พบผลบวกจะมีอยู่จำนวนหนึ่งที่สามารถติดตามตัวได้ แต่ยังมีประมาณ ๒๐-๒๕ คน ยังติดตามนำตัวกลับมาไม่ได้ ขณะนี้โรงงานจึงทำหนังสือแจ้งไปยัง สปก.ทุกท้องที่ ประมาณ ๒๕ ส่วนท้องถิ่น เพื่อประสานนำตัวคนกลุ่มนี้ทั้งหมดกลับมาให้ได้ และในจำนวนพนักงาน ๑,๐๒๐ คน มีประมาณ ๓๐๐ คน ยังไม่ได้รับการตรวจ ATK ซึ่งโรงงานได้ติดต่อไปให้กลุ่มนี้เข้ามาตรวจ แต่ก็ยังมีบางคนที่ไม่เข้ามารับการตรวจ ทั้งนี้ โรงงานทราบดีว่า หากติดตามตัวพนักงานกลับมาไม่ได้ จะต้องมีความผิดในหลายกรณี”
หวั่นการระบาดไม่สิ้นสุด
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสูงเนิน กล่าวว่า “จากการตรวจ ATK พนักงานในโรงงาน ในวันที่ ๒๒ กันยายน ตรวจ ๒,๐๖๗ คน โดยมีพนักงานของโรงงานทั้งหมด ๒,๙๗๕ คน พบผลบวก ๕๙๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๘.๖ ผลเป็นลบ ๑,๔๗๕ คน ในส่วนของข้อมูลพนักงานที่อยู่นอกสถานที่กักตัว ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใน FAI ของโรงงานกำลังรวบรวมข้อมูลให้ ซึ่งล่าข้าเนื่องจากมีความยากพอสมควร นอกจากนี้ยังได้ประสานในเรื่องที่จะต้องติดตามแต่ละพื้นที่ เพื่อให้พนักงานรายงานตัว โดยกำหนดให้โรงงานมีระบบคอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้พนักงานที่ยังไม่ได้รับการกักตัวรายงานตัวเข้ามา เพื่อจะได้รวบรวมข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังประสานกับท้องถิ่นให้ช่วยค้นหาและแจ้งกลับมาให้โรงงานทราบและติดตาม”
นพ.สมบัติ วัฒนะ กล่าวว่า “จากการรับฟังข้อมูลโรงงานและโรงพยาบาลฯ ยังมีพนักงานส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถติดตามได้ แม้จะมีผลตรวจ ATK บวก ซึ่งมีความกังวลว่า การดูแลป้องกันตัวเองต่อบุคคลรอบข้าง ไม่รู้ว่าจะทำได้ดีหรือไม่ อาจจะทำให้เกิดการแพร่กระจายต่อไปได้อีก ทำให้การระบาดไม่สิ้นสุด”
ข้อมูลเก่ายังไม่ยืนยัน
จากนั้น เจ้าหน้าที่ สสอ.สูงเนิน ซึ่งเข้าประชุมในภายหลัง กล่าวชี้แจงว่า “ในกรณีคลัสเตอร์โรงงานแหลมทอง แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนในโรงงาน ซึ่งมีการจัดระบบ BBS และ FAI และส่วนที่อยู่ข้างนอก ขณะนี้อำเภอสูงเนินมี SQ ทั้งหมด ๑๓ แห่ง โดยมาตรการของนายอำเภอระบุว่า จะต้องเข้า SQ ทุกคน แต่เนื่องจากพนักงานโรงงานที่อยู่ภายนอกมีประมาณ ๑,๐๐๐ คน ขณะนี้ได้ดำเนินการแจ้งพนักงานทุกคนให้เข้าไปกักตัวในพื้นที่ที่โรงงานจัดหาไว้ ซึ่งมีพื้นที่เพียงพอที่จะรองรับพนักงานทกคน ซึ่งขณะนี้ไม่ได้ขอความสมัครใจ แต่จะบังคับทุกคนให้เข้ากักตัว ยกเว้นคนที่อยู่ใน SQ ตั้งแต่แรก คาดว่า ผู้ที่อยู่ในชุมชนน่าจะเข้าไปอยู่ในระบบทั้งหมดแล้ว ส่วนที่อยู่ในโรงงานก็จะมีทีมหมอจากโรงพยาบาลสูงเนินประจำอยู่ เพื่อควบคุมสถานการณ์ ในส่วนกรณีที่มีพนักงาน ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก แล้วยังไม่สามารถติดตามให้มากักตัวได้นั้น ข้อมูลอาจจะเก่าไปแล้ว ซึ่งขณะนี้โรงงานได้จัดคู่สายโทรศัพท์ในการติดตามตัวพนักงานทุกคน ดังนั้น พนักงานทุกคนจะได้รับการติดต่อ โดยเฉพาะในกรณีที่มีผลบวก จะต้องเข้ามารับการตรวจ RT-PCR ซึ่งโรงงานวางมารตการรัดกุมดีแล้ว คนที่เข้าออกทั้งหมดเราปิดแล้ว การเข้าการออกจะต้องเป็นไปตามมาตรการของจังหวัด สำหรับคนที่อยู่ข้างนอกผมยังไม่ได้รับรายงานว่า มีพนักงานคนใดยังไม่ได้เข้ารับการกักตัว จะต้องตรวจสอบข้อมูลแหล่งข่าวอีกครั้งหนึ่ง”
มาตรการควบคุมโรงงาน
วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายเกษมสันต์ เครือเจริญ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฯ กล่าวว่า “สำหรับมาตรการจังหวัดนครราชสีมา ที่เคยออกมาเพื่อให้สถานประกอบการดำเนินการในกรณีที่ตรวจพบเชื้อ สถานประกอบการจะต้องทำ Bubble and Seal (BBS) รวมไปถึงการทำ Seal loot โดยทุกสถานประกอบการจะต้องมีแผนเผชิญเหตุหรือแผนฉุกเฉินที่สามารถทำได้ทันทีเมื่อพบการติดเชื้อ ซึ่งในแผนจะต้องพูดถึงการจัดเตรียมสถานที่ เพื่อทำ Factory Isolution (FAI) หรือสถานที่กักตัวสำหรับลูกจ้างที่ตรวจพบเชื้อ โดยมีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕ ของพนักงานทั้งหมด โดยระยะแรกให้กำหนดเตียงของ FAI หรือ SQ ไม่เกิน ๑๐๐ เตียง และอีกกรณีหนึ่ง คือ จะต้องมีการตรวจค้นหาเชิงรุกทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจโดย ATK หรือวิธีการอื่น โดยสถานประกอบการจะต้องแจ้ง สปก.อำเภอ หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ทราบก่อนไม่น้อยกว่า ๑ วัน เพื่อจะได้เข้าไปตรวจสอบ หากพบการติดเชื้อห้ามให้พนักงานกลับไปยังที่บ้านพักของตัวเอง ต้องดำเนินการนำเข้าระบบ FAI หรือ SQ ทันที สำหรับสถานประกอบการที่ตรวจพบเชื้อในปัจจุบันมีประมาณ ๓๐ กว่าแห่ง ซึ่งทุกแห่งได้ดำเนินการทำ BBS เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมาตรการเหล่านี้ได้ประสานความร่วมมือกับในพื้นที่ ทั้งระดับอำเภอ และชุมชน อย่างต่อเนื่อง”
ทุกโรงงานต้องจัดทำแผน
นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กล่าวว่า “สำหรับสถานประกอบการที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ ก็ต้องทำแผนและเตรียมความพร้อมการทำ BBS ไว้ด้วย ขณะเดียวกันสถานประกอบการที่มีการติดเชื้อในขณะนี้ จะต้องทำตามแผนที่กำหนดไว้ ในกรณีปัญหาที่เกิดจากการติดเชื้อในสถานประกอบการ แล้วมีพนักงานส่วนหนึ่งออกมาอยู่ข้างนอกโรงงาน ทำให้การแก้ไขไม่เป็นไปตามแผน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำหนดด้วย ผมจึงขอให้มีการออกตรวจสถานประกอบการที่ยังไม่มีการติดเชื้อว่า มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุหรือยัง และมีการปฏิบัติตามแผนที่แจ้งไว้หรือไม่ ในกรณีที่บางโรงงานพบการติดเชื้อ แต่พนักงานส่วนหนึ่งยังอยู่นอกโรงงาน ผมคิดว่า เมื่อมีการติดเชื้อ ทุกคนจะต้องอยู่ในสถานที่กักกัน ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายออกไปตรวจสอบด้วย หากเราไม่มีแผนป้องกันอย่างเช่น โรงงานแหลมทอง มีพนักงาน ๓,๐๐๐ คน ติดเชื้อประมาณ ๖๐๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๐ จะทำอย่างไรให้คนที่เหลือปลอดภัย ไม่ติดเชื้อ ซึ่งในโคราชยังมีโรงงานใหญ่ที่มีพนักงานหลายพันคนอีกหลายแห่ง เราจะต้องเข้มงวดในการตรวจสอบโรงงานใหญ่เหล่านี้ว่า มีแผนไว้หรือยัง ถ้าไม่มีก็ต้องคุมเข้มให้มีแผน”
นายเกษมสันต์ เครือเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในโคราชมีสถานประกอบการขนาดใหญ่ มีลูกจ้างตั้งแต่ ๑๐๐ คนขึ้นไป ประมาณ ๓๐๒ แห่ง ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้ออกไปทำความเข้าใจกับสถานประกอบการเหล่านี้แล้ว ในส่วนของสถานประกอบการที่มีลูกจ้างน้อยกว่า ๑๐๐ คน ได้มอบหมายให้แต่ละอำเภอออกไปให้คำแนะนำแล้ว หากมีกรณีสถานประกอบการพบผู้ติดเชื้อ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานก็จะออกไปพบผู้ประกอบการ เพื่อกำหนดให้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือมาตรการของจังหวัดอย่างเคร่งครัด”
รายชื่อพนักงานต้องเป็นปัจจุบัน
พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา กล่าวเสริมว่า “กรณีสถานประกอบการต่างๆ ขอฝากเรื่องทะเบียนรายชื่อที่เป็นปัจจุบัน ทั้งพนักงานประจำและพนักงานจ้างเหมา ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากในการควบคุมโรคและความเสี่ยงต่างๆ การสอบสวนโรคจะดำเนินได้รวดเร็วหรือล่าช้า ก็ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของทะเบียนรายชื่อเหล่านี้ด้วย หากสถานประกอบมีรายชื่อที่เป็นปัจจุบัน แยกชัดเจนในแต่ละแผนก และมีที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์ติดต่อที่ชัดเจน เวลามีการติดเชื้อจะสามารถควบคุมโรคได้รวดเร็ว และสามารถส่งข้อมูลให้พื้นที่ต่างๆ ได้รวดเร็ว ที่ผ่านมาการควบคุมโรคที่ทำได้ล่าช้า ส่วนหนึ่งเกิดจากทะเบียนรายชื่อไม่ชัดเจน ทำให้ติดตามตัวผู้สัมผัสได้ยาก นอกจากนี้ต้องการให้สถานประกอบการมีการตรวจเชิงรุกเป็นประจำ มีผลตรวจ ATK เป็นรายเดือน และส่งให้ สปก.อำเภอในพื้นที่ หากพบผลบวกจะได้ควบคุมและวางแผนร่วมกันอย่างรวดเร็ว”
เช็คชื่อเช้า-เย็น
นายชรินทร์ ทองสุข กล่าวว่า “ผมกังวลกรณีเมื่อมีการติดเชื้อ แล้วต้องสั่งปิดสถานประกอบการ แต่พนักงานอยู่ไม่ครบ ซึ่งตามจริงแล้ว เมื่อเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงจะต้องมีการควบคุมตัวไว้ตรวจ แต่เมื่อพนักงานอยู่ไม่ครบ ก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาแน่นอน หากคนที่ไม่อยู่นั้นเป็นคนที่มีเชื้อ จะทำให้เหมือนสะเก็ดไฟกระจายออกไป ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ เมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้น จะต้องควบคุมพนักงานให้ตรวจหาเชื้อ หากใครเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องแยกออกมา เรื่องเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ จะต้องมีการเช็ครายชื่อทั้งเช้าทั้งเย็นทุกวันในระหว่างที่ยังสอบสวนโรคไม่เสร็จ อาจจะนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเช็คชื่อ จะต้องทำให้พนักงานอยู่ในสถานประกอบการระหว่างสอบสวนโรคให้ได้ หากทีมสอบสวนโรครายงานมาว่า พนักงานอยู่ไม่ครบ กรณีนี้จะต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ทุกครั้งที่มีการสั่งปิดสถานประกอบการ ให้แนบข้อกฎหมายด้วย และระบุให้ชัดเจนว่า จะต้องควบคุมลูกจ้างให้อยู๋ในสถานประกอบการ หากปล่อยออกไปก็จะทำให้เชื้อกระจาย ดังนั้น ครั้งนี้ขอให้เป็นบทเรียน เราจะต้องวางแนวทางไว้ให้ชัดเจนในครั้งต่อไป”
นำร่อง Factory Sandbox
นายเกษมสันต์ เครือเจริญ กล่าวเสริมว่า “ในขณะที่โรงงานจะทำการตรวจ ATK จะต้องมีทีมจาก สสจ. เข้าไปร่วมคัดกรอง หรือเข้าไปสอนเทคนิคการใช้งาน ATK ซึ่งก่อนที่จะมีการตรวจคัดกรอง จะต้องถามโรงงานก่อนว่า มีทะเบียนลูกจ้างหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วทุกโรงงานจะมีทะเบียนลูกจ้าง แต่ไม่ได้อัพเดทเป็นปัจจุบัน หากเราไปสร้างเงื่อนไขว่า จะต้องมีรายชื่อพนักงานก่อน จึงจะให้เข้ารับการตรวจ เมื่อตรวจพบเชื้อก็จะไม่ต้องไปถามหารายชื่อในภายหลัง ซึ่งจากการตรวจคัดกรองของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน สถานประกอบการใดที่พบผู้ติดเชื้อ ผมจะขอรายชื่อพนักงานภายใน ๓ วัน เพื่อนำข้อมูลนี้มาส่งต่อให้หน่วยงานอื่นๆ ในการใช้ประโยชน์ แต่ส่วนใหญ่จะพบว่า ข้อมูลที่ให้มายังไม่เป็นปัจจุบัน ผมจึงประสานไปยังสถานประกอบการทุกแห่ง ต้องจัดทำทะเบียนรายชื่อพนักงาน โดยระบุที่อยู่เป็นปัจจุบัน แต่เมื่อถึงเวลาส่งข้อมูล สถานประกอบการบางแห่งก็ยังละเลยที่จะอัพเดทข้อมูล ดังนั้น ตั้งแต่วันนี้ไป อาจจะต้องเพิ่มมาตรการส่วนนี้ เมื่อมีการค้นหาเชิงรุกจะต้องมีรายชื่อให้ก่อน หากไม่มีก็จะไม่อนุญาตให้ตรวจ นอกจากนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมได้พูดคุยกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และตัวแทนผู้ประกอบการ ซึ่งการพูดคุยมีข้อสรุปว่า จะให้โคราชเป็นอีกหนึ่งจังหวัด จากเดิม ๗ จังหวัด ในการทำ Factory SandBox จะทำให้สถานประกอบการได้รับการสนับสนุนชุดตรวจ รวมถึงการช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่จะนำมาแก้ไขการระบาดในสถานประกอบการ”
โรงงาน-ตลาดระบาดหนัก
ล่าสุด วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “จากตัวเลขการติดเชื้อในโคราช มี ๒ ประเด็นที่จะต้องช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรจะลดการระบาดให้น้อยลงกว่านี้ จากการดูข้อมูลย้อนหลังพบว่า เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม เป็นช่วงที่มีการติดเชื้อในจังหวัดจำนวนมาก ประมาณ ๔๐๐ คน วันนี้ลดลงมาเรื่อยๆ แต่ระดับที่ประชาชนจะพอใจ คือ ต่ำกว่า ๑๐๐ ซึ่งคลัสเตอร์สำคัญในวันนี้เป็นคลัสเตอร์ตลาด ซึ่งมีการระบาดรุนแรงเป็นอันดับต้น ส่วนคลัสเตอร์ชุมชนและครอบครัวไม่รุนแรงมาก จากที่ตรวจสอบข้อมูลผู้ติดเชื้อสะสมรายอำเภอ อำเภอปากช่อง ๔,๕๒๑ ราย โชคชัย ๑,๙๒๙ ราย สูงเนิน ๑,๖๔๑ ราย ด่านขุนทด ๑,๒๕๘ ราย และเมือง ๓,๑๕๔ ราย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคลัสเตอร์โรงงานและตลาด โคราชมีโรงงานหลายแห่ง และอาจจะเกิดขึ้นอีกได้ ขอให้ถอดบทเรียนดูว่า คลัสเตอร์โรงงานเกิดจากอะไร แล้วทำอย่างไรจะสามาถควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดในจำนวนมาก หลังจากนี้ ๑ สัปดาห์ให้มาคุยกันว่า คลัสเตอร์โรงงานและตลาดจะทำอย่างไร อาจจะต้องเข้มงวดมากกว่านี้ ในเรื่องของการเตรียมการ ในทางระบาดวิทยาอาจจะพบว่า ผู้ประกอบการไม่ให้ความร่วมมือ แจ้งเรื่องล่าช้า และทำไมถึงไม่จัดทำสถานที่กักตัว เรื่องเหล่านี้จะต้องหาวิธีแก้ไขร่วมกัน ในส่วนของอำเภอด่านขุนทด ที่เพิ่มมาจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์ชุมชนและงานศพ ซึ่งงานศพอาจจะต้องกำหนดมาตรการเฉพาะว่า จะมีมาตรการอย่างไร เช่น ใครมีอาการจะไม่ให้ไปร่วมงาน หากคนไปร่วมงานเกิน ๕๐ คน จะต้องแยกศาลา และห้ามรับประทานอาหารร่วมกัน เป็นต้น เราจะต้องช่วยกันเรื่องนี้ เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้ได้ และไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นอีก”
นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานว่า สำหรับคลัสเตอร์โรงงานแหลมทอง ล่าสุดคลัสเตอร์นี้ ได้จัดทำ Factory Isolution ในโรงงานแล้ว โดยมีโรงพยาบาลสูงเนินเข้าไปดำเนินการ ซึ่งกลุ่มที่อยู่ใน FAI เป็นพนักงานต่างชาติประมาณ ๑,๐๙๐ คน และเป็นคนไทยส่วนหนึ่ง โดยมีพนักงานส่วนหนึ่งอยู่นอกโรงงาน เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เข้าไปทำงาน ซึ่ง สสจ.ได้ส่งรายชื่อให้ทุกอำเภอ เพื่อติดตามพนักงานกลุ่มนี้แล้ว สำหรับคลัสเตอร์นี้มีการระบาดตั้งแต่วันที่ ๑๕ กันยายน จากนั้นมีการตรวจคัดกรองโดย สปก.อำเภอสูงเนิน และปิดทางเข้าออกโรงงานในเวลาต่อมา ในส่วนพนักงานที่ยังไม่ติดเชื้อ ก็ให้เข้าสู่ระบบ BBS ทั้งอยู๋ในโรงงานและรีสอร์ตต่างๆ เพื่อยังให้สามารถทำงานต่อไป ซึ่งวันนี้ยังพบพนักงานติดเชื้อเพิ่ม ๑๒ ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม ๖๓๑ ราย จากพนักงานทั้งหมดประมาณ ๓,๐๐๐ คน และติดเชื้อในกลุ่มครอบครัวอีก ๑๙ ราย สำหรับพนักงานที่อยู่ใน BBS มีประมาณ ๑,๕๐๐ คน ส่วนที่เหลือไม่สมัครใจ จึงอยู๋ในการดูแลกักตัวของแต่ละอำเภอ เนื่องจากพนักงานโรงงานนี้เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด
โรงงานไม่รับผิดชอบ
นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “คลัสเตอร์โรงงานแหลมทอง จะต้องนำพนักงานทั้งหมดเข้าสู่ระบบกักตัวให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะทำให้เกิดการระบาดในครอบครัวอีก หากวันนี้ไม่สามารถดึงคนที่อยู่นอกโรงงานกลับมาได้ ก็ขอให้กักตัวทั้งหมดเป็นเวลา ๑๔ วัน ซึ่งโรงงานนี้ใช้เวลา ๒ สัปดาห์ ในการรวมรายชื่อพนักงานที่อยู่ข้างนอกประมาณ ๑,๕๐๐ คน แบบนี้เป็นความไม่รับผิดชอบ เรื่องนี้มีการพูดกันมานานมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีโรงงานในจังหวัดสมุทรปราการหรือสมุทรสาคร เขามีการระบาดหลายครั้ง เราน่าจะเตรียมตัวได้ทัน จากนี้ต้องนำบทเรียนเหล่านี้มา หากจะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มแข็ง ไม่อย่างนั้นจะก่อให้เกิดปัญหา เดี๋ยวผมจะเช็คกับนายอำเภอว่า พนักงานโรงงานแหลมทองที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ นายอำเภอทราบหรือไม่ว่า พนักงานเหล่านี้อยู่ที่ใด เพื่อเป็นการเช็คอีกครั้งหนึ่ง ในส่วนคลัสเตอร์อื่นๆ ฟังแล้วเราอาจจะต้องทำงานกันหนักขึ้น เพราะหลายคลัสเตอร์ยังมีช่องว่าง และอาจจะเกิดขึ้นอีก เช่น โรงงานแหลมทองมีพนักงาน ๓,๐๐๐ คน ติดเชื้อแล้วกว่า ๖๐๐ คน คนที่ยังไม่ติดก็อาจจะติดเพิ่มขึ้น ตัวเลขที่หวังว่าจะลดลงอาจจะไม่ง่าย ดังนั้น ต้องคุมไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมาให้ได้ เดี๋ยวผมจะพูดคุยกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน อาจจะต้องทำงานหนักขึ้น ต้องออกไปตามทุกโรงงาน เพื่อตรวจสอบกันใหม่ทั้งหมด หากโรงงานใดไม่ปฏิบัติตามมาตรการ อาจจะต้องมีการบังคับกันเกิดขึ้น”
เอาจริงเรื่องโรงงาน
นายเกษมสันต์ เครือเจริญ กล่าวว่า “สืบเนื่องจากคำสั่งจังหวัดที่ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่มีการพบการติดเชื้อในสถานประกอบการ สถานประกอบการจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น ทำ BBS การจัดหาพื้นที่ทำ SI หรือ SQ นอกจากนี้คำสั่งจังหวัดยังระบุข้อกำหนดอีกว่า ในการตรวจพบสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง อาจจะให้คำตัดเตือนในการดำเนินงาน และให้รายงาน รวมไปถึงพิจารณาดำเนินคดีกับสถานประกอบการ เมื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งผมขอเสนอว่า หากสถานประกอบการไม่ให้ความร่วมมือ ขอให้มีการดำเนินคดี ขณะนี้ต้องใช้มาตรการบังคับทางกฎหมาย เพราะว่า ในเรื่องการทำบัญชีรายชื่อให้เป็นปัจจุบัน มีการพูดกันมานานแล้ว ส่งหนังสือกำชับไปตลอด หากโรงงานทำบัญชีรายชื่อไว้ เมื่อพบการติดเชื้อขึ้น ก็จะสามารถส่งให้ สสจ.ได้ทันที แต่โรงงานก็ไม่ทำ และปล่อยให้มีการติดเชื้อและกระจาย ผมจึงขอเสนอว่า เคสนี้อาจจะพิจารณาดำเนินคดี เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัด ในส่วนการดำเนินการอื่นๆ อาจจะเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคต่อไป”
เข้มงวดโรงงาน-งานศพ
ภายหลังการประชุม นายวิเชียร จันทรโณทัย เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “สถานการณ์โควิดในโคราช มีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังมีการติดเชื้อเฉลี่ย ๑๐๐ ราย ซึ่งยังไม่อยู๋ในจุดที่น่าพอใจ จึงต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ ในวันนี้ที่ประชุมสรุปได้ว่า เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำ คือ การลดอัตราการติดเชื้อในจังหวัดให้น้อยลงให้ได้ จึงต้องมาดูพื้นที่ที่ติดเชื้อจำนวนมาก เช่น อำเภอปากช่อง ด่านขุนทด และเมือง สาเหตุหลักเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งต้องย้อนดูว่า ทำไมจึงเกิดการระบาดขึ้น พบว่า โรงงานหลายแห่งไม่ทำตามข้อกำหนดของ ศบค. และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัด จึงต้องไปเข้มงวดกันมากขึ้น โดยให้ทุกโรงงานจัดทำแผนเผชิญเหตุไว้ หากมีการติดเชื้อขึ้น แล้วพบว่า โรงงานนั้นไม่เตรียมการไว้ อาจจะต้องพิจารณาดำเนินการตามข้อกฎหมาย เพื่อลดการติดเชื้อในจังหวัดให้น้อยกว่า ๑๐๐ ให้ได้ ในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง คือ การจัดงานศพ ซึ่งทำให้เกิดคลัสเตอร์ขึ้นหลายที่ วันนี้จะต้องมีมาตรการที่ชัดเจน ประกาศให้ประชาชนทราบว่า เมื่อมีการจัดงานศพ จะต้องเข้าไปตรวจสอบและให้คำแนะนำการจัดงาน”
เปิดเมือง ๑ พฤศจิกายน
“เมื่อโคราชสถานการณ์ดีขึ้น การติดเชื้อลดลงแล้ว เราจะเตรียมเปิดพื้นที่ที่มีความพร้อม เดิมทีโคราชจะเปิดเมืองในเฟสที่ ๒ ในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ แต่เมื่อศึกษาพบว่า ททท. มีข้อกำหนดที่จะให้โคราชเสนออยู่ในเฟสที่ ๑ ได้ ทำให้เลื่อนเปิดเมืองมาในวันที่ ๑ พฤศจิกายน โดยจะมีข้อกำหนดให้จังหวัดเช็ดและดำเนินการ จึงมีการพูดคุยกันว่า บางพื้นที่ในโคราชอาจจะขอเปิดในเฟสที่ ๑ เช่น อำเภอปากช่อง สีคิ้ว วังน้ำเขียว พิมาย และเมือง เพื่อต้อนรับเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวในช่วงที่ปลายปี ซึ่งผมจะพยายามทำให้ผ่านข้อกำหนดให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนในกลุ่มอำเภอเหล่านี้ ให้ครอบคลุมร้อยละ ๗๐ ของประชากรทั้งหมด และร้อยละ ๙๐ ของผู้ประกอบการ ซึ่งผมยืนยันกับ ททท.แล้วว่า เราจะทำได้ เมื่อเราส่งแผนไปแล้ว ต่อไปจะต้องติดตามหรือจัดหาวัคซีนมาลงในพื้นที่มากขึ้น เมื่อ ททท.นำแผนของโคราชไปเสนอ ศบค. ก็จะมีการพิจารณาให้เปิดเมืองในวันที่ ๑ พฤศจิการยนเป็นต้นไป ในส่วนของภาคอื่นๆ นอกจากการท่องเที่ยว วันนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาว่า จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร เพื่อให้เกิดเป็นโคราชโมเดล ไม่ต้องรอเงินจากรัฐบาลอย่างเดียว อะไรที่โคราชทำได้ก็ทำก่อน” นายวิเชียร กล่าว
เมื่อถามว่า “โครงการเปิดเมือง Korat Greenbox ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง” นายวิเชียร จันทรโณทัย ตอบว่า “Korat Greenbox เป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ว่า โคราชมีความปลอดภัยแล้ว แต่ขณะนี้อาจจะยังไม่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ จึงต้องหันมาทำโครงการของ ททท. ที่ใช้ชื่อว่า Covid Free Zone”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๙วันพุธที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๙ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
64 1,601