20thSeptember

20thSeptember

20thSeptember

 

October 08,2021

ฉีด‘ไฟเซอร์’ให้นักเรียนโคราช เตรียมพร้อมเปิดเทอม ๑ พ.ย.

โคราชได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์เพื่อนักเรียน ๑๒-๑๘ ปี ลอตแรก ๗๓,๔๔๐ โดส เน้นฉีดกลุ่มเสี่ยง ๗ โรค เบื้องต้นฉีดผู้หญิง ๒ เข็ม ส่วนผู้ชายเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบให้ฉีดแค่ ๑ เข็มก่อน เตรียมพร้อมเปิดเทอม ๑ พฤศจิกายนนี้

เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๔ นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” กรณีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ป้องกันโควิด-๑๙ ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาอายุระหว่าง ๑๒-๑๘ ปีว่า “สำหรับจังหวัดนครราชสีมา ได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ประมาณ ๗๓,๐๐๐ โดส ซึ่งขณะนี้กระจายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ในทุกอำเภอแล้ว และในวันนี้มีการประชุมแนวทางว่า จะฉีดให้ใคร อย่างไร และเท่าไหร่ เพราะวัคซีนไฟเซอร์ถูกส่งตรงจากกรมควบคุมโรคมาให้โรงพยาบาล จึงอาจจะมีตัวเลขไม่แน่นอน และต้องการข้อชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ โดยการฉีดวัคซีนรอบแรกนี้ จะฉีดให้กับนักเรียนทุกอำเภอในจำนวนร้อยละ ๕๐ ของนักเรียนที่มีอยู่ ทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจากในโคราชมีนักเรียนที่แจ้งความจำนงมาประมาณ ๑.๔ แสนคน จึงต้องแบ่งฉีดรอบแรกครึ่งหนึ่งก่อน โดยคาดว่า การฉีดวัคซีนจะเริ่มขึ้นในวันที่ ๗ ตุลาคมนี้ และขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละโรงพยาบาลด้วย

“สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ ขณะนี้มีการฉีดทั่วโลก ซึ่งผลข้างเคียงก็จะมีคล้ายๆ กับวัคซีนชนิดอื่นๆ ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่พบได้ในปริมาณน้อยมาก การเข้ารับการฉีดจึงต้องมาจากความสมัครใจของนักเรียนและผู้ปกครอง เมื่อฉีดไปแล้วจะมีระบบการเฝ้าระวัง ๗ วันหลังการฉีด โดยให้ผู้บริการศึกษารับให้คำปรึกษากับนักเรียนโดยตรง เมื่อพบปัญหาก็จะสามารถประสานงานกับหน่วยงานที่เป็นจุดฉีดได้ทันที หากเด็กมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราได้ประสานกับโรงพยาบาลมหาราชฯ ไว้แล้ว เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมาร ตรวจสอบทุกกรณีที่สงสัยว่า มีปัญหา โดยส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีน ๒ เข็ม ยกเว้นเพศชาย อายุ ๑๒-๑๕ ปี เพราะพบว่า ในกลุ่มเด็กเพศชายอายุน้อยมีโอกาศเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสูงกว่าค่าเฉลี่ย จึงให้ฉีดเพียง ๑ เข็มจนกว่าจะมีการศึกษาวิจัยและข้อสั่งการจากกระทรวงสาธารณสุขที่ชัดเจน ซึ่งเด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ ๒ จะเว้นระยะห่าง ๓ สัปดาห์จากเข็มที่ ๑ ดังนั้น การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ปกครองและนักเรียน” นพ.วิชาญ กล่าว

ในขณะที่วัคซีนชนิดอื่นๆ ทั้งวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้านั้น นพ.วิชาญ เปิดเผยว่า โคราชยังได้รับการจัดสรรมาเรื่อยๆ สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เจ้าหน้าที่พยายามให้บริการฉีดทุกแห่ง กระทั่งขณะนี้โคราชมีตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ ๑ เกิน ๕๐% แล้ว หรือประมาณ ๑.๑ ล้านคน

ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นำเสนอ แนวทางการฉีดวัคซีน Pfizer สําหรับ นักเรียน/นักศึกษา อายุ ๑๒ ขึ้นไปที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช./ปวส.) หรือเทียบเท่าจังหวัดนครราชสีมา โดยมีรายละเอียด ดังนี้ ๑.จัดสรรวัคซีน Pfizer ตามจํานวนนักเรียน/นักศึกษา ที่ต้องการวัคซีนเป็นรายอําเภอ โดยใช้สัดส่วน ๕๐% ของจํานวนนักเรียน/นักศึกษาที่ต้องการ ๒.การนับอายุเด็กนักเรียน/นักศึกษา ให้นับในวันที่ฉีดวัคซีนเข็ม ๑ เป็นหลัก (นับวันเป็นหลัก) ๓.ให้ฉีดเด็กนักเรียน/นักศึกษา กลุ่มเสี่ยง ที่มีโรคประจําตัวเป็นลําดับแรก (๗ กลุ่มโรคได้แก่ โรคอ้วน, โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง, ไตวายเรื้อรัง, มะเร็งและภูมิคุ้มกันต่ำ, เบาหวาน, โรคทางพันธุกรรม ดาวน์ ซินโดรม หรือมีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทรุนแรง) ๔.ให้ฉีดวัคซีนแก่นักเรียน/นักศึกษา ที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.๑-๖ หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช./ปวส.) หรือเทียบเท่า และกรณี ที่เด็กนักเรียนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ แต่ไม่ได้เรียนในจังหวัดนครราชสีมา ให้ติดต่อหน่วยบริการฉีดวัคซีนใกล้บ้าน เพื่อลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีน รวมถึงเด็กที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาที่มีอายุ ๑๒-๑๗ ปี (๑๗ ปี ๑๑ เดือน ๒๙ วัน)

๕.ให้ฉีดวัคซีนตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ คือ เพศหญิง อายุ ๑๒ ปี ขึ้นไป ฉีด ๒ เข็ม เฉพาะเพศชาย อายุ ๑๒-น้อยกว่า ๑๖ ปี ฉีด ๑ เข็ม ส่วนเข็มที่ ๒ ให้ชะลอจนกว่าจะมีข้อสั่งการจากกระทรวงสาธารณสุข ๖.ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง โดยทางสถานศึกษา จะเป็นผู้ดําเนินการมายื่นให้กับหน่วยบริการที่ฉีดวัคซีน โดยให้สถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ ๗.ให้มีระบบติดตามอาการที่ไม่พึงประสงค์ ในระหว่างวันที่ ๑-๗ หลังการฉีดวัคซีน จากสถานศึกษา ๘.ให้หน่วยบริการ ร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษา ในการออกแบบจุดฉีดวัคซีน ภายใต้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขกําหนด โดยฉีดวัคซีนภายในวันที่ ๖-๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๔ เนื่องจากวัคซีนมีอายุจํากัด และ ๙.ให้หน่วยบริการ รายงานผลการให้บริการในระบบ MOPH IC และติดตามผลการให้บริการ รายสถานศึกษาตามแบบฟอร์มที่กําหนด

ทั้งนี้ ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (อบจ.นครราชสีมา) ภายใต้การนำของ ดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา ได้นำร่องในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์แก่นักเรียนในโรงเรียนสังกัด อบจ. โดยเริ่ม ๓ แห่ง ซึ่งที่โรงพยาบาลสมเด็จย่า ๑๐๐ ปี อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา ดร.ยลดาและคณะได้ร่วมให้กำลังใจแก่นักเรียนสังกัด อบจ.นครราชสีมา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ปลาย) ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ ๑ ป้องกันโควิด–๑๙ ก่อนที่จะมีกำหนดเปิดภาคเรียนพร้อมกันในวันที่ ๑ พฤศจิกายนนี้ ซึ่งวันนี้เป็นวันแรกที่ได้ดำเนินการฉีดให้กับนักเรียน ๓ โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเมืองยางศึกษา ยินยอมฉีด ๒๓๖ คน จากจำนวนนักเรียน ม.ปลาย ๒๗๕ คน ณ รพ.สมเด็จย่า ๑๐๐ ปี อ.เมืองยาง, โรงเรียนโตนดพิทยาคม ยินยอมฉีด ๙๐ คน จากจำนวนนักเรียน ม.ปลาย ๑๐๖ คน ณ รพ.โนนสูง อ.โนนสูง และโรงเรียนมะค่าวิทยา ยินยอมฉีด ๑๑๙ คน จากจำนวนนักเรียน ม.ปลาย ๑๒๑ คน ขณะที่ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ได้รับการฉีดวัคซีนครบ ๒ เข็มแล้วกว่า ๙๕%

สำหรับการเข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ของนักเรียนสังกัด อบจ.นครราชสีมา ทั้ง ๕๘ แห่งจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น ๒๘,๖๔๙ คน ประสงค์รับวัคซีนจำนวน ๒๖,๑๖๘ คน โดยการฉีดวัคซีนเบื้องต้นจะดำเนินการฉีดให้กับนักเรียนชั้น ม.ปลาย ทั้งนี้นักเรียนที่ประสงค์ฉีดวัคซีนจะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองเท่านั้น

ทั้งนี้ ในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๔ ที่จุดบริการฉีดวัคซีน ศูนย์เซ็นทรัลพลาซานครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ไปเป็นประธานเปิดการฉีดวัคซีนไฟเซอร์แก่นักเรียนในเขตอำเภอเมือง โดยวันนี้มีนักเรียนจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยกว่า ๓,๐๐๐ คน และโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา เข้ารับบริการ

อนึ่ง สำหรับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์สำหรับนักเรียนอายุ ๑๒-๑๘ ปีในจังหวัดนครราชสีมานั้น ในลอตแรกได้รับการจัดสรรจำนวน ๗๓,๔๔๐ โดส โดยในเขตอำเภอเมืองได้รับ ๔๓,๓๔๒ โดส ส่วนอีก ๓๑ อำเภอ ได้รับอำเภอละ ๙๖๐ โดส
    

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๙วันพุธที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๙ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


58 1,572