19thApril

19thApril

19thApril

 

October 08,2021

รพ.มหาราชเปิดอาคารฉายรังสี เพิ่มศักยภาพรักษามะเร็ง

โรงพยาบาลมหาราชฯ เปิดอาคารฉายรังสีอุโมงค์หมุน เพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้ครบวงจรมากขึ้น ลดอัตราการส่งออกผู้ป่วยนอกพื้นที่ ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาแบบฉายรังสีได้สะดวกมากขึ้น และลดเวลาการรักษา สนับสนุนโครงการมะเร็งรักษาทุกที่

เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล              ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ร่วมพิธีเปิดอาคารฉายรังสีอุโมงค์หมุน ให้บริการด้วยเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาค (Linac) เพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งในเขตสุขภาพที่ ๙ โดยมี นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ ๙ นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชฯ ซึ่งมีคำสั่งย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ และ นพ.ปฐวี โชติทวีศักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการภารกิจศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง และหัวหน้ากลุ่มงานรังสีวิทยา โรงพยาบาลมหาราชฯ รวมทั้ง นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมต้อนรับ

เพิ่มศักยภาพการรักษา

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ กล่าวว่า “ในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในเขตสุขภาพที่ ๙ ที่จำเป็นต้องฉายรังสีจำนวน ๒,๐๐๐ ราย แต่มีเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคเพียง ๒ เครื่อง จึงก่อให้เกิดความล่าช้า แออัดในการให้บริการ เขตสุขภาพที่ ๙ ดังนั้น จึงได้จัดหาเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อช่วยเสริมศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบองค์รวมในพื้นที่เขตสุขภาพที่ ๙ ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ สามารถฉายรังสีได้ทั้งแบบ ๓ มิติ แบบจำกัดความเข้มนำรังสี (IMRT) และแบบแปรความเข้มเชิงปริมาตร (VMAT) ตรวจสอบความแม่นยำในการฉายรังสีได้อย่างละเอียดด้วยระบบภาพนำวิถีชนิด kv-cone beam CT ซึ่งเป็น ๑ ใน ๗ เครื่องของประเทศไทย โดยให้บริการฉายรังสีแก่ผู้ป่วยได้ถึงวันละ ๖๐ ราย เป็นการเพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้ครบวงจรมากขึ้นเทียบเท่าโรงเรียนแพทย์ส่วนกลาง สามารถลดอัตราการส่งออกผู้ป่วยนอกพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาแบบฉายรังสีได้สะดวกมากขึ้น และลดเวลาการรักษาแบบฉายรังสีของผู้ป่วยแต่ละราย เป็นการสนับสนุนโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ (Canaer anywhere) ในเขตสุขภาพที่ ๙ ต่อไป”

ยกระดับการรักษามะเร็ง
 
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ กล่าวว่า อาคารฉายรังสีอุโมงค์หมุนจัดสร้างขึ้นเพื่อติดตั้งเครื่องฉายรังสีชนิดเร่งอนุภาคพลังงานสูงแบบอุโมงค์หมุนด้วยอัตราความเร็วสูง พร้อมระบบภาพนำวิถี ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพเพิ่มความเป็นเลิศในด้านการรักษาโรคมะเร็ง มุ่งเน้นการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งในเขตสุขภาพที่ ๙ นครชัยบุรินทร์ ครอบครองประขากรกว่า ๖๗ ล้านคน ทั้งนี้ในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ที่ต้องฉายรังสีมากว่า ๒,๐๐๐ ราย แต่มีเครื่องฉายรังสีเพียง ๒ เครื่องจึงก่อให้เกิดความล่าช้าและแออัดในการให้บริการ ทางหน่วยงานต้นสังกัดได้เล็งเห็นปัญหานี้ ได้จัดสรรงบประมาณในการสร้างอาคาร และของบประมาณในการจัดซื้อคุรุภัณฑ์เครื่องฉายรังสี ผ่านโครงการการจัดหาครุภัณฑ์เครื่องฉายรังสีสำหรับแก้ปัญหาผลกระทบโควิด-๑๙ โดยได้รับงบประมาณ ๑๔๘ ล้านบาท มีระยังเวลาในการดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๕ เมษายน-๑๐ กันยายน ๒๕๖๔ รวมทั้งสิ้น ๑๕๘ วัน ทั้งนี้ศักยภาพเครื่องฉายแสงรังสีชุดนี้ สามารถฉายรังสีรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้วันละ ๖๐ ราย ทั้งแบบ ๓ มิติ แบบจำกัดความเข้มนำรังสี (IMRT) และแบบแปรความเข้มเชิงปริมาตร (VMAT) ประกอบกับสามารถตรวจสอบความแม่นยำในการฉายรังสีได้อย่างละเอียดด้วยระบบภาพนำวิถีชนิด kv-cone beam CT เป็นเครื่องแรกในประเทศไทย อันเป็นการเพิ่มศักภาพการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในเขตสุขภาพที่ ๙ เทียบเท่าโรงเรียนแพทย์ในส่วนกลาง เป็นการลดการส่งต่อผู้ป่วยออกนอกเขตสุขภาพที่ ๙

นพ.ปฐวี โชติทวีศักดิ์ กล่าวรายงานว่า “ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ เขตสุขภาพที่ ๙ มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ ๙,๘๕๐ ราย เรียงลำดับโรคที่พบได้บ่อยดังนี้ ๑.โรคมะเร็งลำไส้ ๒.มะเร็งตับ ๓.มะเร็งเต้านม ๔.มะเร็งปอด ๕.มะเร็งช่องปาก ในภาพรวมของเขตอยู่ที่ ๙,๘๕๐ ราย แต่เมื่อพิจารณาในแง่โรงพยาบาลมหาราชฯ เพียงแห่งเดียว พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ในปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ ๔,๘๖๘ ราย คิดเป็นร้อยละ ๕๐ มีความคล้ายคลึงกับระดับเขต ซึ่งในปี ๒๕๖๓ มีผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องฉายรังสีอยู่ที่ ๑,๙๐๐ ราย คิดเป็น ๓๕% ของผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมด แต่เมื่อพิจารณาผู้ป่วยรายใหม่กับผู้ป่วยรายเก่าในปี ๒๕๖๓ มีผู้ป่วยที่จะต้องฉายรังสีทั้งสิ้น ๒,๑๙๗ ราย”

“หน่วยรังสีรักษาโรงพยาบาลมหาราชฯ มีพันธกิจหลักในการดูแลผู้ป่วยนอก (OPD) ในเขตสุขภาพที่ ๙ สามารถให้การรักษาผู้ป่วยระยะไกลด้วยเทคโนโลยี ๒ มิติ ๓ มิติ และปรับความเข้มนำรังสี (IMRT) และแบบแปรความเข้มเชิงปริมาตร (VMAT) นอกจากนี้สามารถให้บริการตรวจสอบความแม่นยำในการฉายรังสีได้อย่างละเอียดด้วยระบบภาพนำวิถีชนิด kv-cone beam CT ปีงบประมาณ ๒๕๕๙-๒๕๖๓ ข้อมูลในภาพรวมของเขตสุขภาพที่ ๙ จะเห็นว่าแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากปี ๒๕๕๙ เพิ่มขึ้น ๑,๖๐๐ ราย ล่าสุด ปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ ๑,๙๐๐ ราย จากข้อมูลทั้งหมดสามารถสรุปรวบรวมปัญหาและอุปสรรคในการให้บริการของหน่วยงานรังสีรักษาของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ๓ ประการ ดังนี้ ๑.เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นแต่อุปกรณ์เครื่องฉายรังสีมีจำนวนแค่ ๒ เครื่อง ทำให้การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยไม่ทั่วถึงและล่าช้า ๒.ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามีปริมาณแออัดในบริเวณการรักษา และเครื่องฉายรังสีต้องทำงานหนักเกินขีดจำกัดของเครื่องจึงทำให้เครื่องเกิดปัญหาบ่อยครั้ง ๓.ในบางส่วนของผู้ป่วยที่เกินขีดจำกัดในการรักษาจึงต้องมีการส่งต่อการรักษาไปยังทางศูนย์ที่กรุงเทพมหานคร ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ และโรงพยาบาลมหาราชฯ จึงเข้าร่วมโครงการจัดหาครุภัณฑ์เครื่องฉายรังสี สำหรับแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-๑๙ ด้านการแพทย์และทางสาธารณสุขให้กับ ๗ หน่วยงาน ที่ให้บริการทางด้านรังสีรักษา ใช้วงเงิน ๘๘๗ ล้านบาท” นพ.ปฐวี กล่าว

ผลักดันให้มีเครื่องฉายรังสี

นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า “ในฐานะที่มีส่วนร่วมในการผลักดันให้มีเครื่องฉายรังสีในศูนย์มะเร็งนี้ ได้ถูกจัดสรรไปยังพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยภายในปีนี้ใช้เงินกู้โควิดมาช่วยในการจัดหาเครื่องฉายรังสีถึง ๗ เครื่อง กระทรวงสาธารณสุขช่วงนี้มีหน้าที่ดูแลประชาชน ทั้งเรื่องโควิด และสถานการณ์นอกเหนือจากโควิด มีโครงการ ๓ หมอ, โครงการ Cancer Anywhere ได้เริ่มขึ้นในเขตสุขภาพที่ ๙ และเป็นเขตนำร่อง ซึ่งหวังว่าทุกเขตสุขภาพจะได้รับการถ่ายทอดและนำไปปฏิบัติ จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างมาก”

“สำหรับการติดตั้งเครื่องฉายรังสีมะเร็ง ยอมรับในความสามารถของผู้บริหารโรงพยาบาลทุกแห่งที่ได้รับเลือกให้จัดตั้งเครื่อง การรักษามะเร็งของระบบการสาธารณสุขไทยถือว่าทำได้ดี แต่ต้องทำสิ่งที่สำคัญกว่า คือ การทำให้ประชาชนห่างไกลจากโรคมะเร็ง ควรแนะนำให้ความรู้แก่ประชาชน ปฏิบัติตัวอย่างไร พฤติกรรมการบริโภค ความเป็นอยู่อย่างไร เพื่อห่างไกลจากความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง” นายอนุทิน กล่าว


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๙วันพุธที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๙ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔

 


1054 1416