28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

October 25,2021

‘ซูม่อน’ จิตรลาล มุกตาน เดินทางไกลจากเนปาลสู่ภาคอีสานของไทย

 

“อย่ายอมแพ้ อย่าเปลี่ยนใจ จงเชื่อมั่นในตัวเอง” คำคมจากหนุ่มหล่อผู้หอบความฝันมาจากแดนไกล “ซูม่อน” จิตรลาล มุกตาน นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเดินทางมาไกลกว่า ๒,๐๐๐ กิโลเมตร จากประเทศเนปาล เพื่อแสวงหาความรู้ในประเทศไทยตั้งแต่ยังเด็ก ชีวิตของเด็กหนุ่มคนนี้จะต้องพบเจออะไร และจะเป็นอย่างไร มาทำความรู้จักเขากันเลย

“ซูม่อน” จิตรลาล มุกตาน อายุ ๑๙ ปี เกิดวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๕ เป็นนักเรียนสงฆ์แลกเปลี่ยน มาจากจังหวัดเหเตาฑา ประเทศเนปาล มาบวชเรียนอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ยังเด็ก ซูม่อนมีพี่น้อง ๒ คน เขาเป็นพี่ชายคนโต ครอบครัวของซูม่อนมีฐานะปานกลางใช้ชีวิตธรรมดาในประเทศเนปาล มีสมาชิกในครอบครัวทั้งหมด ๕ คน คือ ยาย พ่อ แม่ น้องชาย และรวมถึงตัวเขาเอง ซูม่อนจบการศึกษามาจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมเจ้าพระยาบดินทรเดชา วัดมหาธาตุ (พระอารามหลวง) จังหวัดยโสธร ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ ๑ สาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

รูปช่วงวัยเด็กของซูม่อนตอนอาศัยอยู่ที่ประเทศเนปาล

 

“ซูม่อน” ย้ายมาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี โดยโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนของสงฆ์ ซึ่งพระสงฆ์เนปาลจะติดต่อมายังพระสงฆ์ไทยในแต่ละวัด เพื่อพาเด็กๆ ที่เนปาลมาบวชเป็นนักเรียนสงฆ์แลกเปลี่ยน ซูม่อนถูกส่งมาที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมเจ้าพระยาบดินทรเดชา วัดมหาธาตุ (พระอารามหลวง) จังหวัดยโสธร ส่วนเพื่อนที่มาจากเนปาลด้วยกัน ถูกส่งไปตามวัดที่รับนักเรียนสงฆ์แลกเปลี่ยนตามจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย

สำหรับการบวชเรียนจะแตกต่างจากการเรียนปกติทั่วไป เพราะจะเน้นการเรียนการสอนในเรื่องของพระพุทธศาสนา ภาษาบาลี เรียนนักธรรม วินัยของพระพุทธเจ้า แต่จะมีแบ่งเวลาให้เรียนสามัญด้วย เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย รวมถึงวิชาอื่นๆ

“ขณะบวชเรียนผมมีเพื่อนค่อนข้างเยอะครับ” ซูม่อนเล่าถึงเพื่อนที่บวชเรียนด้วยกันขณะที่อยู่โรงเรียนวัดในจังหวัดยโสธร ซึ่งมีประมาณ ๙๐-๑๐๐ คน โดยมีทั้ง ม.๑-ม.๖ “ทุกคนเป็นเพื่อนกัน โรงเรียนอยู่ภายในวัดเลย ผมกับเพื่อนๆ ก็ยังติดต่อคุยกันถึงทุกวันนี้”

 

รูปตอนซูม่อนบวชเรียน

 

  • คิดถึงบ้านคิดถึงเนปาล

อย่างที่ทราบว่า “ซูม่อน” เดินทางมาไกลกว่า ๒,๐๐๐ กิโลเมตร เมื่อมาถึงต้องแยกกับเพื่อนไปยังวัดต่างๆ ทำให้ต้องใช้ชีวิตคนเดียว “ครั้งแรกที่มาอยู่ประเทศไทย ผมคิดถึงบ้านมากๆ คิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ คิดถึงน้อง คิดถึงยาย ผมคิดถึงทุกคน และทุกอย่างที่เนปาล” แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ซูม่อนใช้โทรศัพท์ติดต่อกับที่บ้านได้อย่างสะดวก ทั้งโทรพูดคุยและวิดีโอคอลหากัน ได้คุย ได้เห็นหน้า ทำให้บรรเทาความคิดถึงได้บ้าง “ผมจะโทรหาที่บ้านบ่อยมากๆ เลยครับ” ซูม่อนเล่าพร้อมกับหัวเราะ แต่เมื่อได้ใช้ชีวิตในประเทศไทย ซูม่อนเริ่มปรับตัวได้ เมื่อใดที่คิดถึงครอบครัวก็โทรหา แต่สิ่งสำคัญ คือ การตามหาความฝันและการศึกษาหาความรู้ หากคิดถึงบ้านก็ต้องอดทน ซูม่อนบอกตัวเองเสมอว่า “ไม่เป็นเรายังได้คุยกันอยู่ทุกวัน” หากเศร้าหรือคิดถึงบ้านเมื่อไหร่ ซูม่อนก็จะหาอะไรทำ เช่น การฟังเพลง อย่างน้อยก็พอที่จะช่วยให้ผ่อนคลายได้บ้าง

 

 

การใช้ชีวิตในประเทศไทยของซูม่อนไม่ค่อยมีปัญหาหรือลำบากนัก แต่จะมีปัญหาในเรื่องใช้ภาษา การพูดภาษาไทย เพราะเมื่อมาถึง พูดและฟังภาษาไทยไม่ได้ "ช่วงแรกแทบจะไม่รู้คำศัพท์ภาษาไทยเลย เวลาคุยกับเพื่อนหรือกับพระอาจารย์ก็จะไม่ค่อยรู้เรื่องนัก” แม้จะสื่อสารกันยาก แต่ด้วยความฉลาดของเด็กคนนี้ จึงนำภาษามือมาใช้ผสมกับภาษากาย จากนั้นก็ค่อยๆ เรียนรู้ กระทั่งเริ่มพูดและสื่อสารภาษาไทยได้คล่องตอนอายุ ๑๕-๑๖ ปี นอกจากเรื่องภาษาแล้ว การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ในประเทศไทยก็ไม่ได้ลำบาก “อยู่ได้สบาย มีความสุขดีด้วยซ้ำ”

 

 

  • อยากกลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัว

แน่นอนว่าการจากบ้านมาไกลนั้น ทุกคนต้องคิดถึงบ้านเป็นธรรมดา แต่เมื่อมีโอกาสคงจะใช้โอกาสนั้น เพื่อกลับไปหาคนที่เรารัก ซึ่งในเรื่องนี้ซูม่อนบอกว่า “จากวันนั้นอายุ ๑๒ ปี ที่ออกจากบ้านมาอยู่ประเทศไทย ตอนนี้ผมอายุ ๑๙ ปีแล้วก็ผ่านมา ๖-๗ ปีได้แล้ว ตั้งแต่มาอยู่ที่ประเทศไทยผมก็ยังไม่มีโอกาสได้กลับบ้านเลยครับ ด้วยเหตุผลอะไรหลายๆ อย่าง จึงทำให้ผมยังไม่สามารถกลับบ้านที่เนปาลได้ แต่ผมก็มีความคิดว่าจะกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่เนปาลภายในปีหน้า ถ้าสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 กลับมาให้เดินทางได้ปกติ”

 

 

  • ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

ปัจจุบันซูม่อนกำลังศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพราะเขาชอบการร้องเพลง ชอบการแสดง มีความชอบตั้งแต่เด็ก และมีความฝันอยากเป็นนายแบบ จึงมาศึกษาต่อและหาความรู้จากสาขานิเทศศาสตร์ ส่วนสาเหตุที่ต้องเป็น ม.อุบลฯ เพราะมีรุ่นพี่ที่รู้จักเรียนจบจากที่นี่ จากนั้นจึงศึกษาข้อมูลของมหาวิทยาลัย และได้เข้าสู่ “รั้วกันเกรา” ในที่สุด แต่การเรียนนิเทศศาสตร์สำหรับซูม่อนถือว่ายากพอควร เพราะไม่เก่งภาษาไทย หากวันใดมีงานที่อาจารย์ให้ทำเกี่ยวกับงานเขียน จะทำได้ไม่ดีนัก แต่ถ้าเป็นงานที่เกี่ยวกับการปฏิบัติลงมือทำ หรือการแสดง และคิด content ก็อาจจะพอทำได้บ้าง ส่วนในช่วงนี้กำลังเรียนออนไลน์ แต่ซูม่อนบอกว่า “การเรียนออนไลน์สำหรับผมเองสามารถเรียนได้เข้าใจ แต่คิดว่า การเรียน On Site น่าจะดีกว่าเรียนออนไลน์ เพราะได้เจอเพื่อน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน น่าจะมีความสุขมากกว่าการที่ต้องนั่งเรียนคนเดียว”

 

 

การใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ย่อมมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าอุปโภคบริโภค และที่สำคัญ คือ ค่าเทอม ในช่วงแรกซูม่อนได้รับทุนจากทางบ้าน ช่วยในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่เมื่อไม่นานมานี้ ได้รับทุนการศึกษาจากคณะ จึงสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายจากทางบ้านได้ “ขณะนี้ต้องตั้งใจเรียน ยังไม่มีโอกาสได้ทำงาน แต่ก็อยากทำงานหารายได้อีกทาง หากเป็นไปได้อยากลองเป็นนายแบบดูสักครั้ง” ซึ่งวันหนึ่งโอกาสก็เข้ามา รุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยได้ชักชวนไปถ่ายแบบ จึงทำให้ได้ลองถ่ายแบบบ้างบางครั้ง 

 

หากเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ซูม่อนมีความคิดที่จะไปทำงานต่างประเทศ ที่ไม่ใช่ประเทศไทยและเนปาล แต่ก็ยังไม่ได้คิดไว้ว่าอยากจะไปประเทศไหน แต่การทำงานย่อมต้องใช้ประสบการณ์ เขาจึงคิดว่า จะเริ่มต้นทำงานที่ประเทศไทยก่อน ค่อยๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ จากนั้นจึงจะขยับขยายความฝันสู่การทำงานในประเทศอื่นๆ ต่อไป

 

 

  • อยู่วัดประหยัดค่าใช้จ่าย

สำหรับชีวิตของซูม่อนนอกรั้วมหาวิทยาลัย เป็นเพียงเด็กธรรมดา ที่อาศัยอยู่วัดมาตั้งแต่เด็ก “จนชินกับการใช้ชีวิตในวัดไปแล้ว” และขณะนี้ก็ยังอาศัยอยู่วัดบ้านศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี แม้ว่าจะไม่ได้บวชเรียนเหมือนเมื่อก่อน เพราะย้ายออกมาอยู่หอพัก เป็นเรื่องใหญ่และลำบากสำหรับเขา ซูม่อนเคยชินกับการใช้ชีวิตอยู่ในวัด ไม่ค่อยได้อยู่กับสังคมภายนอก และอีกอย่างคือ ถ้าอยู่วัด ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้หลายอย่าง ซึ่งในแต่ละเดือนเขาใช้เงินเพียง ๕๐๐-๗๐๐ บาทเท่านั้น แต่ก็มีบางเดือนที่เพิ่มไปถึง ๑,๐๐๐-๑,๓๐๐ บาท จึงคิดถึงเรื่องประหยัดค่าใช้จ่ายเป็นหลักด้วย ส่วนการเดินทาง ก็อาศัยการปั่นจักรยาน ได้ทั้งการออกกำกายและประหยัดค่าใช้จ่าย แต่บางทีก็มีเพื่อนมารับ สำหรับค่าเทอม คุณแม่ส่งมาให้ ๑๕,๐๐๐ บาท จ่ายค่าเทอม ๑๒,๐๐๐ บาท เก็บไว้ใช้ ๓,๐๐๐ บาท ได้รับค่าอาหารจากคณะ ๒,๕๐๐ บาท และทุนจากมหาวิทยาลัย ๑๐,๒๐๐ บาท “การมาอาศัยอยู่ที่วัด ผมก็จะช่วยทำงานวัด เวลามีงานหรือพิธีจะช่วยจัดสถานที่ เตรียมพิธี และในช่วงเช้าช่วยจัดเตรียมถวายภัตตาหารเช้าให้หลวงพ่อ และผมก็จะร่วมทำวัตรเช้า-วัตรเย็นในทุกๆ วันอีกด้วย”

 

 

  • อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลง

จากการพูดคุยกับซูม่อน ทำให้เรารู้ว่าเขาคือเด็กที่สู้ชีวิต เดินทางไกลจากบ้านเกิดมาเพื่อตามหาความฝัน และไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรค เหมือนกับที่ซูม่อนเล่าไว้ว่า “ผมเองมีประโยคหนึ่ง ที่ทำให้ไม่ยอมแพ้ต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิตที่ผ่านมา คือ อย่ายอมแพ้ อย่าเปลี่ยนใจ จงเชื่อมั่นในตัวเอง “Never give up, and do not change your character always be yourself” ผมอยากฝากถึงคนที่ไม่ใช่คนไทยที่มาจากต่างประเทศ หรือกำลังจะมาเรียนที่นี่ อยากให้ตัดสินใจมา ไม่ต้องกลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าเรามัวกลัว...เราจะไม่ได้เรียนรู้เลย ไม่ต้องกังวลว่าเราจะไม่มีความรู้ภาษาไทย เพราะเมื่อมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยไปเรื่อยๆ จะสามารถพูดได้เอง คนไทยน่ารัก ใจดีทุกคน เขาพยายามที่จะเข้าใจและพยายามจะช่วยให้เราเข้าใจในการสื่อสารกัน ถึงแม้ว่าจะพูดภาษาไทยไม่ได้ ทุกคนที่ผมเจอในประเทศไทยเป็นคนดีทุกคน ผมดีใจที่พวกเขาพยายามจะเข้าใจและอธิบายให้เข้าใจ สำหรับผมคิดว่าน่ารักดี ทำให้ผมรู้สึกดีมากด้วย”

 

 

ในการเดินทางไปเรียนต่างประเทศ ภาษาอาจจะเป็นอุปสรรคในช่วงแรก “แต่ขอเพียงคุณมีความกล้า คุณเองก็สามารถจะทำมันได้”

“ซูม่อน” จิตรลาล มุกตาน ชื่อเขาแปลว่า “ผู้ที่เชื่อมั่นในอนาคตตัวเอง” จากเด็กธรรมดาพยายามต่อสู้กับความโดดเดี่ยวในต่างแดน สู่หนุ่มน้อยที่มีความมุ่งมั่น อดทน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในแบบของตัวเอง แค่กล้าเปลี่ยนแปลงก็จะพบสิ่งที่ดีกว่า “ภาษาเป็นสิ่งแสดงภูมิปัญญาของมนุษย์ แต่ความพยายามเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ” ซูม่อนกล่าวอย่างเข้มแข็ง

 

 

จันทร์สุดา สังสนา : เรื่อง
ขอบคุณภาพจาก Therdphoom Thongin, 
สื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ Suman Tmg Muktan

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๐ วันพุธที่ ๒๐ เดือนตุลาคม - วันอังคารที่ ๒ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


1036 1666