21stDecember

21stDecember

21stDecember

 

October 25,2021

จาก “ทาเคชิโกลด์” สู่ “โมซิม” ความสำเร็จที่ไม่ได้มาง่ายๆ แต่อยากให้ทุกคนมีความสุข ของ “เอ” ชัยวัฒน์ ติราภรณ์

หลายคนคงจำกันได้กับปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในเมืองโคราช เมื่อปลายปี ๒๕๖๓ ที่มี หุ้นส่วนมากถึง ๓๑ คน คือ “ทาเคชิ โกลด์” ซึ่งมีหัวเรือใหญ่อย่าง “เอ” ชัยวัฒน์ ติราภรณ์ เป็นเจ้าของและปลุกปั้นแบรนด์นี้ให้สำเร็จมาแล้วที่ขอนแก่น และอุดรธานี ตลอด ๑ ปีที่ผ่านมา ของ “ทาเคชิ โกลด์” โคราช ได้รับความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม  แม้ในบางช่วงจะประสบวิกฤตการระบาดของโควิด-๑๙ และศบค.ไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานที่ร้าน แต่เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลายลง นั่งทานในร้านได้ตามปกติ ผู้นิยมชมชอบอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟ่ต์และอะลาคาร์ท ก็หลั่งไหลเข้าร้านไม่ขาดสายพนักงานทุกคนทุกแผนกแทบจะไม่ได้ยืนเฉยๆ ต่างกุลีกุจอต้อนรับและบริการอย่างเต็มที่ 

“โคราชคนอีสาน” บุกไปที่ “ทาเคชิ โกลด์” สาขาโคราช เพื่อพูดคุยกับ “คุณเอ” ถึงเรื่องราวส่วนตัว การทำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น และที่ลงหลักปักเสาเข็มในพื้นที่ข้างๆ กันไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ และจะเปิดบริการในเดือนพฤศจิกายนนี้คือ ร้านอาหารเกาหลี ต้นตำรับปูซานแท้ๆ ซึ่งมี “คุณจูน” (Jun 류현) แห่ง Mosim Korean Original B.B.G. (ปัจจุบันมี ๒ สาขา คือที่ ม.กรุงเทพ และม.รังสิต) ผู้ร่วมทุนมาพูดคุยด้วย

  • หนุ่มนักเรียนนอก

หลายคนอาจไม่รู้เลยว่า จริงๆ แล้ว “คุณเอ” เป็นคนโคราช เพราะพื้นเพของคุณแม่เป็นชาวอำเภอขามสะแกแสง ส่วนคุณพ่อเป็นคนขอนแก่น ภายหลังย้ายครอบครัวไปอยู่ขอนแก่น ส่วนคุณเอถือว่าเป็นหนุ่มนักเรียนนอก เพราะจบทั้งระดับปริญญาตรีและโทจากเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นประมาณ ๘-๙ ปี เมื่อเรียนจบปริญญาตรีก็เริ่มทำงานทันที พร้อมกับเรียนปริญญาโทด้วย ทำงานที่ร้านอาหารทั้งไทย จีน อิตาเลียน เป็นทั้งพนักงานเสิร์ฟ บาเทนเดอร์ แม้กระทั่งในกาสิโนก็เคยทำ เพียงเพื่อหาเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ระหว่างใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ จึงทำให้มีความผูกพันกับธุรกิจร้านอาหาร

  • จุดเริ่มต้น “ทาเคชิ” 

ปี ๒๐๐๑ เขาเดินทางกลับประเทศไทย เริ่มทำงานในตำแหน่ง Marketing Manager ของเบียร์ Heineken ทำได้ประมาณ ๘ ปีครึ่ง ก็ต้องมาช่วยดูแลธุรกิจขายอาหารญี่ปุ่นของครอบครัวที่ยืนยาวมากว่า ๒๘ ปี คือ “บริษัท สิมิลัน ฟู้ดโปรดักส์” เพราะคุณน้าป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย เขาจึงต้องลาออกมารับตำแหน่ง Vice President และทำอยู่ประมาณ ๒ ปี ก็เกิดปาฏิหาริย์ เพราะคุณน้าหายจากโรคร้ายนั้น 

แม้คุณน้าจะให้ช่วยบริหารงานต่อ แต่เขาต้องการทำตามความตั้งใจของตัวเอง จึงขอแยกตัวออกมา โดยแตกไลน์ธุรกิจจากบริษัทนำเข้าวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่น ออกมาเป็นการเปิดร้านอาหารญี่ปุ่น ขณะนี้ผ่านมา ๔ ปีแล้ว โดยเริ่มจากแนวคิดที่ว่า “ร้านอาหารของเขาต้องใช้วัตถุดิบให้มากที่สุด เพราะครอบครัวขายวัตถุดิบอยู่แล้ว” คำตอบจึงจบที่ร้านบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น เพราะเริ่มเป็นที่นิยมมากในประเทศไทย โดยใช้ชื่อร้านว่า “ทาเคชิ” 

“คำว่า “ทาเคชิ” ไม่มีความหมายในพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่น เป็นเพียงชื่อคน แต่คนไทยติดคำว่า ‘ทาเคชิสู้ๆ’ คิดชื่ออยู่นานมาก คิดไปต่างๆ นานา สุดท้ายจบที่ ‘ทาเคชิ’ เพราะใครๆ ก็รู้จัก ซึ่งช่วงแรกผมมีแผนจะทำการตลาดทั่วประเทศ แต่ร้านทาเคชิที่จังหวัดไหนก็มี เช่น เชียงใหม่มีทาเคชิ ๔ ร้าน เราไปจดลิขสิทธิ์ก็ไม่ได้ เพราะมีคนใช้อยู่แล้ว ผมจึงเปลี่ยนเป็น “ทาเคชิ โกลด์” และจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ก็จะไม่มีคนใช้ชื่อนี้ได้” นี่คือที่มาของทาเคชิ โกลด์ จากคำบอกเล่าของคุณเอ

  • เส้นทาง ‘ทาเคชิ โกลด์’

“ทาเคชิ โกลด์” เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.๒๐๑๘ ที่ฮักมอลล์ ถนนศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น เปิดเพียง ๒ ปี การตอบรับดีมาก จึงคิดจะเปิดสาขา ๒ แต่ขอนแก่นไม่ใช่เมืองใหญ่ที่ควรจะมีถึง ๒ สาขา จึงมองหาจังหวัดข้างเคียงรวมทั้งโคราช แต่ขณะนั้น คุณเอรู้จักผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่อุดรธานี และแนะนำให้ไปเปิดสาขาอุดรฯ แน่นอนว่าในขณะนั้นโควิด-๑๙ ยังไม่ระบาด อุดรธานีเป็นเมืองที่เศรษฐกิจดีมาก ชาวสปป.ลาวข้ามมาจับจ่ายใช้สอย ทุกวันหยุดจะมีรถหรูเข้ามาประจำ เงินดอลลาร์สะพัดมาก จึงคิดว่า “เปิดสาขา ๒ ที่อุดรฯ น่าจะดีกว่าโคราช”

“ทาเคชิ โกลด์” สาขา ๒ จึงเกิดขึ้นที่อุดรฯ ผ่านไป ๑ ปีกว่า ก็ประสบความสำเร็จไม่ต่างจากขอนแก่น จึงมีความคิดว่า “ต้องมาโคราช” ด้วยคำแนะนำจากผู้ใหญ่คนเดิมจึงทำให้รู้จักกับ “คุณบู้” ไพจิตร มานะศิลป์” และ “คุณฮั่น” สุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลังคาซ่า จำกัด เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่คือซิตี้ลิงค์ “ช่วงที่ผมมาดูแรกๆ ยังเป็นที่ดินว่างๆ ไม่มีอะไรเลย ไม่ได้อยู่ในเมืองด้วย ก็คิดหนัก แต่เฮียบู้เล่าให้ฟังว่า โครงการในอนาคตจะมีอะไรบ้าง ผมตกลงลุยทันที” จึงกลายมาเป็น “ทาเคชิ โกลด์ โคราช” ในวันนี้

  • ‘ทาเคชิ โกลด์’ ร้านมหาชน

แน่นอนว่า การจะทำธุรกิจจะต้องมีการลงทุน แต่คุณเอไม่ต้องการเริ่มนับหนึ่งใหม่ที่โคราช “เพราะการนับหนึ่งที่ขอนแก่นและอุดรฯ ทำให้เหนื่อย กว่าจะติดลมได้ต้องใช้เวลาและงบด้านการตลาดเยอะมาก” จึงใช้วิธีร่วมหุ้นกับนักธุรกิจอื่นในโคราช ซึ่งมีมากถึง ๓๑ หุ้น “กระทั่งกลายเป็นร้านมหาชนในที่สุด” 

การมีผู้ร่วมหุ้นนั้นเป็นเรื่องดี ส่งเสริมให้การตลาดของร้านดีขึ้น เพราะผู้ถือหุ้นทุกคนมีคนรู้จัก แต่ละคนช่วยทำการตลาดและโฆษณา “เพราะทุกคน คือ เจ้าของร้าน จึงทำให้ไม่ต้องนับหนึ่ง” ในวันที่ทาเคชิ โกลด์โคราชเปิดวันแรกมีคนเข้าเต็มร้าน และยังเต็มมาถึงวันนี้ ยกเว้นช่วงที่มีการล็อกดาวน์จากโควิด-๑๙ “หากไม่มีล็อกดาวน์ก็จะวุ่นทั้งวัน ขายทั้งวัน” โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นกว่า ๓๐ คน ทุกคนมีเพื่อนอีกกี่คนก็ไม่รู้ ทุกคนพร้อมที่จะเวียนกลับมาอุดหนุนเสมอ

  • วางระบบร้านไว้ดี

สำหรับการบริหารทาเคชิ โกลด์ทั้ง ๓ สาขา ขณะนี้มีระบบที่ลงตัวแล้ว จากที่ลองผิดลองถูกมาประมาณ ๒ ปี กระทั่งระบบนิ่ง และนำระบบนี้มาใช้ทุกสาขา แต่ละสาขาจะมีผู้จัดการร้าน ในครัวก็มีหัวหน้าเชฟ แต่ละสาขาจะมี ๒ คนนี้ที่เป็นลูกน้อง โดยตรงของคุณเอ ส่วนที่เหลือจะเป็นลูกน้องผู้จัดการและเชฟ ซึ่งการทำงานของผู้จัดการร้าน มีระบบชัดเจนว่า ต้องทำอะไรบ้าง และจะวัดผลอย่างไร ส่วนเชฟก็เช่นกัน เช่น เมื่อมีผู้คอมเม้นท์อาหาร ก็ห้ามเกินคนละ ๓ ใบ ถ้าเกินจะถูกตัดเซอร์วิสชาร์จ เดือนหนึ่งมีกระดาษคอมเม้นท์เป็นพันใบ ทุกคนจึงระวังไม่ให้เจอคอมเม้นท์ ในส่วนของครัวจะมี ๔ โซน คือ ซาซิมิ, โรล, เทปันยากิ และครัวร้อน ถ้าลูกค้าบอกว่า กุ้งเทมปุระไม่อร่อย แสดงว่า มีปัญหาที่ครัวร้อนอย่างชัดเจน ไม่เกี่ยวกับโซนอื่น “ดังนั้น ทุกคนจะต้องดูแลหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด”

  • โควิดกระทบธุรกิจ

สิ่งที่เป็นภัยสำหรับธุรกิจในวันนี้ คือ “โควิด-๑๙” ไม่ว่าธุรกิจรูปแบบใดก็กระทบ ในบางช่วงธุรกิจร้านอาหารถูกสั่งปิด ห้ามนั่งทานในร้าน ซึ่งผลกระทบจากโควิดครั้งนี้ คุณเอบอกว่า “เจ็บครับ…แต่สำหรับผม ไม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่มีโควิด ไม่มีอะไรง่ายหรอก เพราะธุรกิจต้องขยายตัวมากขึ้น โจทย์ยากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน เมื่อเจอโควิดก็ต้องหาทางแก้ไข ทุกคนก็ช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรถึงจะไปรอด เพราะค่าใช้จ่ายเยอะมาก เดือนหนึ่งเฉียดล้าน” ดังนั้นในช่วงวิกฤตโควิด พนักงาน    ทาเคชิ โกลด์ โคราช จึงอาสารับค่าแรงครึ่งหนึ่ง ประกอบกับมีหุ้นส่วนหลายคน ทุกคนจึงช่วยกันคิด และช่วยกันออกไปจัดบูธขายตามสถานที่ต่างๆ ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้มีลูกค้ามาซื้อ “ทำให้ผ่อนจากเจ็บหนักๆ กลายเป็นเจ็บธรรมดา แต่ขณะนี้ก็ยังเจ็บอยู่”

  • ทุกคนต้องมีความสุข

ด้วยความช่วยเหลือของพนักงาน เพื่อช่วยให้ร้านผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ การให้สิ่งตอบแทนพนักงานย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งตรงกับคอนเซ็ปต์ของคุณเอคือ “ผมจะทำร้านอาหารญี่ปุ่น ที่ทุกคนมีความสุข หากเราตั้งว่า จะทำร้านอาหารเพื่อหากำไร เวลาขายก็ขายแพงๆ แต่ความคิดของผม คือ ทำให้คนมีความสุข เพราะผมเชื่อว่า ความสุข คือ พลังงานที่ส่งให้กันได้” ซึ่งในส่วนของพนักงานได้รับการตอบแทนจากการตั้งเซอร์วิสชาร์จ ๕% โดยแบ่ง ๒% สำหรับจัดงานปีใหม่ จัดซื้อยูนิฟอร์มที่ชำรุด หรือไว้ให้คนที่จะมาเบิกส่วนกลาง ส่วนอีก ๓% จะให้พนักงาน ยิ่งขายได้เยอะก็จะเยอะเป็นเงาตามตัว ทุกคนจึงพร้อมสู้ตายและตั้งใจทำงาน

  • หลักบริหารธุรกิจให้สำเร็จ

ความสำเร็จในการทำร้านอาหารญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ถ้ามีหลักบริหารที่ดีและใส่ใจ เรื่องยากก็จะกลายเป็นง่าย โดยคุณเอยึดหลัก ๒ อย่าง คือ Human Resource หรือการบริหารคน ซึ่งให้ความสำคัญเป็นอันดับ ๑ พนักงานสำคัญหมดทุกตำแหน่ง ทุกคนทำงานเพื่ออนาคต เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง ทุกคนล้วนทำงานอย่างสุจริต ทุกคนเป็นคนมีเกียรติ “ผมจึงให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นอันดับหนึ่งในการทำธุรกิจ” เพราะร้านอาหารไม่ใช่ร้านขายวัตถุดิบ แต่ ธุรกิจร้านอาหาร คือ “ขายงานบริการ” ต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า ทานเสร็จ กลับไป อยากกลับมาทานอีก เช่น วันนี้อยากกินอาหารเกาหลี ในหัวต้องคิดถึง “โมซิม”  เป็นอันดับแรกหากทำได้แบบนี้แสดงว่า ประสบความสำเร็จ แต่จะทำได้ดีอยู่ที่บุคลากรของร้าน เพราะการขับเคลื่อนร้านอาหาร ปัจจัยหลัก คือ คนส่วนอันดับ ๒ คือ “ระบบ” ทั้งคนและระบบจะควบคู่กัน แต่คนจะมาเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้น ระบบจะต้องดี มีระบบช่วยเหลือพนักงาน “พนักงานต้องมั่นใจว่า สามารถฝากอนาคตไว้กับทาเคชิ โกลด์ได้” ดังนั้น การทำธุรกิจร้านอาหารต้องสร้างความเชื่อมั่นให้พนักงาน แยกแยะหน้าที่กันชัดเจน 

  • “โมซิม” ปิ้งย่างเกาหลี 

ส่วนร้านอาหารเกาหลี “โมซิม” ที่จะเปิดในเร็วๆ นี้จุดเริ่มต้นคือ เมื่อครั้งที่คุณเอยังทำงานที่ “สิมิลัน” เวลาเลิกงานมักจะไปทานอาหารเกาหลีบ่อยๆ ขณะนั้นเป็นร้านเล็กๆ แต่อร่อยมาก จึงประทับใจในรสชาติ และทำให้ได้พบกับคุณจูนเจ้าของร้าน เป็นชาวเกาหลีแท้ๆ เรียนจบจากเมลเบิร์นเช่นกัน ซ้ำยังทำอาหารอร่อยมาก ทั้งคู่จึงคุยกันถึงการเปิดร้าน “โมซิมโคราช” ว่า จะเปิดแบบไหน จะไปเช่าบ้านเปิดเป็นห้องแถว หรือสร้างขึ้นมาใหม่ให้อลังการกว่าทาเคชิ โกลด์ สรุปว่า จะสร้างขึ้นมาใหม่ อยู่ติดกับทาเคชิ โกลด์ เพื่อง่ายต่อการบริหาร ส่วนชื่อร้าน “โมซิม” คุณจูนบอกว่า “โม” คือแม่ “ซิม” คือหัวใจ ดังนั้น “โมซิม” คือ "อาหารอร่อยที่ปรุงโดยแม่ หรืออาหารจากใจของแม่ที่ทำให้ลูกทานนั่นเอง”

ก่อนที่จะเปิดร้าน “โมซิม” มีการทำ Research ประมาณ ๔ เดือน ด้วยการไปนั่งสังเกตร้านอาหารเกาหลีร้านหนึ่งในโคราชติดต่อกัน ๓ วัน เพื่อนับจำนวนคิว ปรากฏว่า คนเต็มทุกวัน คนโคราชมีความต้องการและกำลังซื้อสูงมาก แต่จำนวนที่นั่งไม่เพียงพอต่อลูกค้า ดังนั้นการเปิดร้านโมซิม จึงเป็นการตอบสนองความต้องการของคนโคราช จึงร่วมกับคุณจูนเปิดร้านโมซิมขึ้น “ขณะนี้ลงทุนไปแล้ว ๑๐ ล้านบาท แต่ไม่รู้จะหยุดที่เท่าไหร่ ก็เหมือนทาเคชิโกลด์ที่บอกว่าจะลงทุน ๙ ล้าน แต่สุดท้ายหยุดที่ ๑๒ ล้าน” คุณเอบอกพร้อมหัวเราะ

สำหรับการเปิดร้าน “โมซิม” จะ Soft Opening ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๔ เพื่อทดสอบระบบ รับลูกค้า เพียง ๓๕% ก่อน ซึ่งคุณจูนจะเข้ามาช่วยดูแลระบบทั้งหมด ส่วน Grand Opening วางแผนไว้วันที่ ๒๒ ธันวาคมนี้

  •  จุดเด่น “ทาเคชิ โกลด์” และ “โมซิม”

สำหรับจุดเด่นของ “ทาเคชิ โกลด์” แน่นอนว่า ไม่สต๊อกสินค้า เมื่อปลาลงเครื่องก็จะส่งตรงเข้าร้านทันที จึงทำให้วัตถุดิบสด อาหารญี่ปุ่นทานง่าย ทานได้ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ใครๆ ก็ชอบอาหารญี่ปุ่น ใครๆ ก็ชอบทานแซลมอน และหลายคนเชื่อว่า กินอาหารญี่ปุ่น คือ ได้กินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น แซลมอนมีคอลลาเจนผู้หญิงกินแล้วผิวสวย 

ส่วนอาหารเกาหลีของ “โมซิม” คุณจูน เล่าว่า  “ผมคิดว่าโคราชมีคนเยอะ เมืองก็สวย ซึ่งตอนที่ผมอยู่กรุงเทพฯ มีร้านอาหารเกาหลีเยอะ แต่โคราชมีร้านอาหารเกาหลีไม่มาก ราคาแพง และรสชาติไม่ถูกปาก เพราะร้านมีเจ้าของเป็นคนไทย ไม่ใช่คนเกาหลี “โมซิม” จะเน้นรสชาติอาหารแถบปูซาน ซึ่งรสแซ่บและเผ็ด เหมือนกับคนไทยชอบอาหารอีสานรสแซ่บ”

ในส่วนของวัตถุดิบอาหาร หากเป็น “โมซิม” จะเน้นนำเข้าเครื่องเทศ แต่ “ทาเคชิโกลด์” เน้นวัตถุดิบจำพวกเนื้อปลาและอื่นๆ เกือบทุกอย่างต้องนำเข้า ซึ่งโมซิมจะใช้เนื้อสัตว์ของไทย ผักของไทย นำเข้าเพียงเครื่องเทศและวิธีการทำ โดยโมซิมขณะนี้มีทั้งหมด ๒ สาขา ที่ปทุมธานี สาขาแรกมี ๑๓๐ ที่นั่ง และสาขาที่ ๒ ประมาณ ๒๕๐ ที่นั่ง ส่วนโคราชกำหนดไว้ ๒๒๐ ที่นั่ง ถือเป็นร้านขนาดใหญ่ และอยู่ในห้องแอร์ทั้งหมด เพราะการทานอาหารเกาหลีจะมีทั้งปิ้งและย่าง หากร้อนจะทำให้ไม่มีความสุข 

ในการทำธุรกิจร้านอาหารเกาหลีและญี่ปุ่น แน่นอนว่า อาหารเกาหลีจะได้กำไรมากกว่า เพราะอาหารญี่ปุ่นนั้น คุณชัยวัฒน์ “ตั้งใจจะทำให้ทุกคนมีความสุข” ถ้าไม่รักจริงคงทำไม่ได้ ซึ่งเลือกใช้แต่วัตถุดิบดีๆ แต่ยังพอมีกำไรบ้าง ไม่เลือกดีจนเจ็บตัว ค่าใช้จ่ายด้านวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่นนั้นสูงมาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าอาหารเกาหลีจะไม่ใช้ของดีๆ เพียงแต่วัตถุดิบเกาหลีมีราคาถูกกว่าอาหารญี่ปุ่นเท่านั้นเอ"

ลูกค้าของ “ทาเคชิ โกลด์” ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย ส่วนชาวญี่ปุ่นมาทานน้อยมาก เพราะคนญี่ปุ่นไม่ทานบุฟเฟ่ต์ ทานอาหารน้อย อิ่มแล้วพอ และคนญี่ปุ่นมีเวลาน้อย ไม่สามารถต่อคิวได้ ส่วนใหญ่จะนิยมทานแบบอะลาคาร์ท ซึ่งร้านทาเคชิโกลด์มาแล้วต้องต่อคิวแน่ๆ ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงไม่มา เขาเลือกไปร้านอะลาคาร์ทเล็กๆ มีความเป็นส่วนตัว สั่งแล้วนั่งกินได้เลย “สัดส่วนลูกค้าคนไทยกับญี่ปุ่นอาจจะเป็น ๙๘ ต่อ ๒ จากนั้น” ในส่วนของ “โมซิม” คุณจูน เล่าว่า “คนเกาหลีจะมาทานแน่นอน แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ ๙๙% เป็นคนไทย”

  •  มาลองชิม “โมซิม” อาหารเกาหลี

“อยากให้คนโคราชมาลองทานอาหารเกาหลีที่โมซิม โดยเฉพาะเรื่องการบริการ โมซิมจะมีพนักงานประจำโต๊ะ และคอยให้คำปรึกษาในการทานอาหารเกาหลีที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ทานอาหารเกาหลีที่อร่อยที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นจุดแข็ง และอยากให้มาลอง เพราะราคาไม่ได้ต่างอะไรกันมากกับร้านอื่นๆ รับรองว่า ลองแล้วจะติดใจแน่” คุณจูนพูดภาษาไทยสลับภาษาอังกฤษ

ขณะที่ “คุณเอ-ชัยวัฒน์” เชิญชวนว่า “สำหรับทาเคชิโกลด์ เรากลับมาแล้วหลังจากล็อกดาวน์ และอยากให้คนโคราชมาลอง ถ้าไม่เกิดสถานการณ์โควิด ทาเคชิ โกลด์ถือว่ามีการตอบรับที่ดีมาก ขณะนี้ลูกค้าประจำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผมดีใจที่ทาเคชิ โกลด์ตอบโจทย์ให้คนโคราช และดีใจที่ลูกค้าให้ความเชื่อมั่นกลับมาใช้บริการรอบที่ ๒ และ ๓” 

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์การทำธุรกิจร้านอาหารของ “ชัยวัฒน์ ติราภรณ์” และเคล็ดลับที่ทำให้ “ทาเคชิ โกลด์” ประสบความสำเร็จทั้ง ๓ สาขา แม้เวลานี้จะเป็นช่วงที่อยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด-๑๙ แต่เขาก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง ด้วยความท้าทายใหม่อย่างการเปิดร้านอาหารเกาหลี “โมซิม” เพื่อให้สมกับความตั้งใจที่ว่า “อยากจะทำร้านอาหารที่ทุกคน มีความสุข” และนี่อาจจะเป็นความสุขที่เขาได้ลงมือทำเช่นกัน

 

วิรดา ลักษวุธ/วีรภัทร์ จูฑะพงษ์ : สัมภาษณ์และเรียบเรียง

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๐ วันพุธที่ ๒๐ เดือนตุลาคม - วันอังคารที่ ๒ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

136 1,876