15thJanuary

15thJanuary

15thJanuary

 

October 25,2021

‘ผู้ว่าฯวิเชียร’สั่งเปิด‘ตลาดสุรนารี’ แต่...เทศบาลยังไม่อนุญาต

“ตลาดสุรนารี” พ้นสถานะรังโรค “วิเชียร” สั่งเปิดพื้นที่เพื่อปรับปรุง  ยืนยันยังไม่ให้ค้าขาย แต่ผู้บริหารตลาดระบุ “ตลาดสุรนารี เปิดให้บริการแล้ว” ด้านเทศบาลฯ ตรวจสอบพบการขายจริงส่งหนังสือแจ้งให้หยุด

“จังหวัดนครราชสีมา” พบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ในลักษณะเป็นกลุ่มก้อน หรือ Cluster หลายกลุ่ม ซึ่งคลัสเตอร์ใหญ่ในช่วงแรกคือแคมป์คนงานก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งตลาดต่างๆ เริ่มต้นจากตลาดเช้าเทศบาลเมืองปากช่อง ขณะนั้นยอดผู้ติดเชื้อ ๔๐๐ กว่าคน แต่ก็สามารถควบคุมได้ในระยะเวลาต่อมา

น่าจับตามองคือ “คลัสเตอร์ตลาดสุรนารี” หรือที่รู้จักกันมากว่า ๓๐ ปีในชื่อ “ตลาดสุรนคร” แหล่งค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ในภาคอีสาน หลังจากที่มีปัญหาพิพาทระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าต่อสู้กันในศาลกว่ากว่า ๓๐ ปี เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผู้เช่าก็คืนทรัพย์สินแก่ผู้ให้เช่าตามคำสั่งศาล เจ้าของจึงดำเนินการบริหารตลาดเอง หลายคนแทบจะไม่เคยรู้ว่า ตลาดแห่งนี้มีปัญหาเรื่องโครงสร้างหรือมีระบบสาธารณูปโภคที่ไม่ถูกสุขลักษณะอย่างไรบ้าง จากปลายปี ๒๕๖๓ ต่อเนื่องมาจนถึงกลางปี ๒๕๖๔ ก็ดำเนินการมาเรื่อยๆ กระทั่งมาถึงยุคของผู้บริหารเทศบาลนครนครราชสีมาชุดใหม่ และมีเรื่องการระบาดของ “โควิด-๑๙” เข้ามา เรื่องราวต่างๆ จึงถูกกระจายออกสู่สังคม เริ่มตั้งแต่เทศบาลนครฯ เข้าไปทุบอาคารที่ไม่ได้มาตรฐาน พ่อค้าแม่ค้าต้องย้ายแผงขายของกันจ้าละหวั่น ลงทุนสร้างร้านใหม่กันไปไม่น้อย

••• เริ่มต้นการระบาด

แต่ผ่านไปไม่กี่วัน การระบาดของคลัสเตอร์ตลาดสุรนารีก็เริ่มขึ้นในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๔ และดูเหมือนจะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เชื่อมโยงไปสู่ตลาดสดพิมายเมืองใหม่ และอีก ๑๙ อำเภอ กว่าจะควบคุมได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งคลัสเตอร์นี้ถูกยกเข้าไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมาอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคให้ผู้บริหารตลาดส่งบัญชีผู้ค้าและเกี่ยวข้องในตลาด แต่ก็ไม่ได้มาง่าย ตัวเลขไม่ตรงบ้าง สืบสวนโรคระบุว่าค้าขายในตลาดนี้ แต่ในบัญชีรายชื่อกลับไม่พบ โดยเฉพาะจุดที่เป็นปัญหาหรือจุดสัมผัสต่างๆ ที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ และเรื่องแดงขึ้นอีก “ตลาดยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ” สร้างความแปลกใจให้คนทั้งเมือง

••• ปิดพื้นที่ตลาดสุรนารี

“ตลาดสุรนารี” ถูกคำสั่งปิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ ครั้งแรกระหว่างวันที่ ๑๒-๑๕ กันยายน ๒๕๖๔ ลงนามโดย “ประเสริฐ บุญชัยสุข” นายกเทศมนตรีนครฯ ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคฯ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ เพื่อทำความสะอาดสถานที่ และงดหรือชะลอการเข้าออกภายในตลาด

แต่เมื่อครบกำหนด ทีมสอบสวนโรคกลับรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ว่า ยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ จากตลาดแห่งนี้ต่อเนื่อง ลุกลามไปยังอำเภอต่างๆ และยังพบปัญหาเดิมคือ ตลาดมีรายชื่อพ่อค้าแม่ค้าไม่ครบถ้วน รวมถึงผู้ที่ขนของ เข็นผัก ขับรถสามล้อ ยาม พนักงานตลาด คนขนส่งสินค้า และไม่มีการลงทะเบียนผู้มาใช้บริการ ทำให้การติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงทำได้ยากขึ้น ที่สุดแล้ว มติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ซึ่งมี “ศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (ขณะนั้น) เป็นประธาน ให้ขยายเวลาปิดตลาด มีกำหนดถึงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๔ และกำชับให้หน่วยงานกล้าจัดการให้ถูกต้องในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการควบคุมโรค และการประกอบกิจการตลาด คำสั่งปิดตลาดนี้ ลงนามโดย “กอบชัย บุญอรณะ” ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (ขณะนั้น) โดยสั่งการว่า

“๑.ให้ปิดตลาดสุรนารี ๒.ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าหรือออกพื้นที่ตามข้อ ๑ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจําเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ”

การปิดตลาดสุรนารีดำเนินต่อไป แม้จะมีเสียงร่ำร้องจากบรรดาผู้ค้าให้เปิดตลาดเพื่อทำการค้าขาย เพราะเดือดร้อนและขาดรายได้ ซึ่งหลายรายยึดตลาดแห่งนี้ทำมาหากินมายาวนาน

แต่เมื่อยังควบคุมโรคไม่ได้ ประกอบกับเรื่องการยื่นขอประกอบกิจการตลาดยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่อาจเปิดให้ทำการค้าขายได้ตามปกติเหมือนตลาดอื่นๆ ท่ามกลางเสียงบ่นจากบรรดาผู้ค้าขายออกมาอย่างต่อเนื่องว่า “ตลาดโน้นทำไมเปิดได้ ตลาดนี้ทำไมเปิดไม่ได้” ทั้งที่ตลาดสุรนารีมีระบบที่ดีและสะอาดมากกว่า แต่ความจริงคือ ยังไม่ถูกสุขลักษณะ และผู้บริหารตลาดอยู่ระหว่างปรับปรุงเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่อาจจะยังขาดการสื่อสารข้อมูลไปถึงกัน

••• ปิดไม่มีกำหนด

และยังไม่ทันจะครบกำหนดการปิดตลาดในวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๔ มติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ในวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๔ ก็มีมติให้ขยายเวลาปิดตลาดออกไปอีก และเป็นการลงนามในคำสั่งก่อนเกษียณอายุราชการของ “กอบชัย บุญอรณะ” ผู้ว่าฯ โคราช ๔ เดือน เพราะพบว่าคลัสเตอร์นี้มีผู้ป่วยกระจายไปสู่ ๑๙ อำเภอ รวม ๔๘๖ ราย โดยมีแนวโน้มของการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังมีประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อจํานวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด อย่างเคร่งครัด โดยเนื้อหาในคำสั่งระบุชัดเจนว่า

“จากการตรวจประเมินของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๔ พบว่า ยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ของโรคโควิด-๑๙ ประกอบกับเทศบาลนครนครราชสีมาได้มีคําสั่งไม่อนุญาตให้ประกอบกิจการตลาดแก่ผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการตลาดสุรนารี เนื่องจากผู้ยื่นขอรับใบอนุญาต ไม่สามารถดําเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดตั้งตลาด ตามกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ.๒๕๕๑ และเทศบัญญัติเทศบาลนครนครราชสีมา เรื่อง ตลาด พ.ศ.๒๕๕๖ จึงมีความจําเป็นที่ต้องมีมาตรการเข้มงวดสําหรับการควบคุมโรคโควิด-๑๙ ในพื้นที่ตลาดสุรนารีให้ได้โดยเร็ว เพื่อขยายผลการควบคุมป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

“๑.ให้ปิดตลาดสุรนารี ๒.ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการค้าขาย รวมทั้งใช้เป็นที่ขนถ่ายสินค้า ขนส่งสินค้าในพื้นที่ ตามข้อ ๑. และ ๓.ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าหรือออกพื้นที่ตามข้อ ๑. เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งนี้ มีความผิดตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราช กําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๕๘ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และมีความผิดตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๕๘ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๔”

คำสั่งนี้ดูเหมือนสร้างความโกลาหลให้แก่ผู้ค้า เพราะไม่มีกำหนดว่า ตลาดจะเปิดวันไหน (ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับอนุญาต)

••• ยังไม่อนุญาตให้ดำเนินกิจการ

ต่อมาเมื่อ “วิเชียร จันทรโณทัย” หวนคืนสู่เมืองโคราชเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ หลังจากย้ายไปพักที่ชัยภูมิ ๔ เดือน และได้เข้าร่วมประชุมในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ มีประเด็น “ตลาดสุรนารี” เข้ามาอีก เนื่องจากให้เทศบาลนครฯ โดย “ไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ” รองนายกเทศมนตรีนครฯ ลำดับเรื่องราวต่างๆ ว่า

“ตลาดสุรนารีดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๒ กว่า ๓๐ ปี แต่มีการเปลี่ยนมือเจ้าของ โดยขอคืนใบอนุญาตเมื่อปลายปี ๒๕๖๓ ช่วงนั้นจึงเป็นสุญญากาศ ต่อมามีผู้ยื่นขอใบอนุญาตคือบริษัท ตลาดสุรนารี จำกัด ประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ ในระหว่างนั้นก็อยู่ในระยะเวลาตรวจสอบการออกใบอนุญาต และถามไปที่กรมอนามัยเรื่องสิทธิในการขอใบอนุญาต เนื่องจากตลาดสุรนารีมีการประกอบกิจการมาต่อเนื่องจึงมีพ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก เทศบาลนครฯ ก็อยู่ในระหว่างตรวจสอบสิทธิในการยื่นขออนุญาต และอยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อเกี่ยวเนื่องต่างๆ ในการขออนุญาต ระหว่างนั้นเทศบาล นครฯ ก็มีการทำหนังสือตอบโต้ไปยังตลาดโดยตลอด”

“รองนายกฯ ไกรสีห์” รายงานต่อไปว่า “เมื่อผู้บริหารเทศบาลนครฯ ชุดนี้ (ประเสริฐ บุญชัยสุข เป็นนายกเทศมนตรี) เข้ามาบริหาร เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ ได้รับข้อร้องเรียนและลงไปตรวจสอบทันที หลังจากนั้นประมาณวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ ทางกรมอนามัยตอบเรื่องสิทธิในการยื่นขออนุญาตว่า ผู้ยื่นขออนุญาตมีสิทธิในการยื่นขอใบอนุญาต ซึ่งเทศบาลนครฯ ก็พิจารณาทันที และพบว่า องค์ประกอบที่ตลาดสุรนารียื่นขอใบอนุญาตนั้นไม่สามารถอนุญาตให้ดำเนินการได้ จึงออกหนังสือแจ้งไปว่า ไม่สามารถอนุญาตให้ประกอบการตลาดได้ ช่วงนั้นมีเรื่องโรคระบาดเข้ามาด้วย จึงมีคำสั่งคณะกรรมการจังหวัดฯ ให้ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ให้ปิดตลาด”

••• บุกหาผู้ว่าฯ ถึงร้านก๋วยเตี๋ยว

ในขณะที่ “วิเชียร จันทรโณทัย” กล่าวในที่ประชุมวันเดียวกันว่า “ในช่วงที่ไม่สามารถให้ตลาดสุรนารีประกอบกิจการได้นั้น ทำให้ผู้ค้าเดือดร้อน เทศบาลนครฯ ลองดูว่ามีพื้นที่ไหนที่จะให้ผู้ค้าไปจำหน่ายได้ เพื่อลดความเดือดร้อนของผู้ไม่มีที่ค้าขาย เพราะมีการพูดคุยกับพาณิชย์จังหวัดฯ อยู่แล้ว ลองไปสำรวจอีกครั้ง เมื่อวานก่อน (๔ ตุลาคม) ผมไปทานก๋วยเตี๋ยว ผู้ค้าขายก็ยกขบวนกันไปหา อยากหาที่ขายของ”

นอกจากนี้ “วิเชียร” ยังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอีกว่า “อย่างที่ทราบกันว่า ตลาดสุรนารี เป็นตลาดที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเป็นตลาด แต่ที่ผ่านมาพ่อค้าแม่ค้าเข้าไปขายด้วยการละเมิดกฎหมาย ซึ่งเทศบาลฯ มีการปรับและแจ้งเตือนตลอด เมื่อมีโรคระบาดขึ้นในพื้นที่ จังหวัดจึงมีคำสั่งให้ปิด การละเมิดกฎหมายหรือการตั้งตลาดเถื่อนจึงยุติลง พ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ในตลาดก็มาหาผม บอกว่า ไม่มีพื้นที่จำหน่ายสินค้า แต่เทศบาลฯ ก็ชี้แจงแล้วว่า ไม่สามารถอนุญาตได้ เพราะสถานที่ไม่ถูกสุขลักษณะและไม่เป็นไปตามมาตรการในการเปิดตลาด จึงมอบหมายให้เทศบาลฯ ช่วยพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ โดยหาสถานที่ให้จำหน่ายสินค้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จ ซึ่งเขาบอกว่า ประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๖๕ จากนั้นจึงจะยื่นขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ระหว่างนี้จะไม่สามารถเข้าพื้นที่ตลาดได้ ซึ่งการเปิดตลาดจะต้องดูข้อกฎหมาย ๒ กรณี สำหรับการปิดพื้นที่เพราะการระบาดของโควิด เมื่อสถานที่ปลอดโรคแล้ว อาจจะสามารถคลายพื้นที่ให้คนเข้าไปปรับปรุงหรือก่อสร้างได้ แต่เรื่องของการเข้าไปจำหน่ายสินค้า จะต้องให้เทศบาลฯ เป็นคนควบคุม ห้ามให้คนเข้าไปรวมกันขายของอีกจนกว่าตลาดจะได้รับอนุญาตถูกต้อง”

••• เปิดพื้นที่ตลาดให้ปรับปรุง

ในด้านโรคติดต่อนั้น “คลัสเตอร์ตลาดสุรนารี” พบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น ๕๓๐ ราย โดยพบผู้ติดเชื้อรายสุดท้ายในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๔ และในเวลาต่อมาก็พ้นจากพื้นที่ควบคุมโรคแล้ว คือไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคติดต่ออันตรายแล้ว

แต่ดูเหมือนเรื่องราวจะยังไม่จบ เมื่อในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ “วิเชียร จันทรโณทัย” ลงนามในคำสั่งให้เปิดพื้นที่ตลาดสุรนารี โดยให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ตลาดสุรนารี ซึ่งก็คือเทศบาลนครฯ กำหนดมาตรการเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้เกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่แก่ผู้ประกอบการด้วย โดยประกาศนี้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป แต่ “วิเชียร” ก็ย้ำในที่ประชุมว่า เป็นการเปิดให้เข้าไปดำเนินการปรับปรุงให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ

และในวันเดียวกันนี้เอง “ประเสริฐ บุญชัยสุข” นายกเทศมนตรีนครฯ ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นและเจ้าพนักงานควบคุมโรค ก็ลงนามในคำสั่งเทศบาลนครฯ ที่ ๒๑๖๕/๒๕๖๔ เรื่อง “มาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-๑๙ สำหรับตลาดสุรนารี (ฉบับที่ ๓)” ข้อที่ ๑ “ไม่อนุญาตให้ประกอบกิจการตลาดจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม” และข้อ ๒ “ผู้ที่จะเข้าจะเข้าพื้นที่ตลาดสุรนารีจะต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ก่อนเข้าพื้นที่ตลาดสุรนารี ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗๒ ชั่วโมง”

••• ป่าวประกาศตลาดสุรนารีเปิดแล้ว

แม้ตลาดจะได้รับอนุญาตให้เปิดพื้นที่และลบสถานการณ์เป็นรังโรคแล้ว แต่ตลาดแห่งนี้ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ แต่ในวันที่ ๑๕ ตุลาคม เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. ที่ตลาดสุรนารี “พิชญ์ สนธิ” ที่ปรึกษากฎหมายและบริหารบริษัท ตลาดสุรนารี จำกัด พร้อมทีมบริหาร เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนบางส่วน โดยระบุว่า ตลาดมีการปรับปรุงระบบต่างๆ เพื่อให้ถูกสุขลักษณะและย้ำว่า “ตลาดสุรนารี พร้อมเปิดให้บริการในวันเสาร์ที่ ๑๖ ตุลาคมนี้ หลังจากตลาดสุรนารีปลดล็อกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙”

••• ตรวจแล้วไม่พบการค้าขาย?

เมื่อข่าวแพร่ออกไปว่า ตลาดสุรนารีจะเปิดให้มีบริการ “ไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ” รองนายกเทศมนตรีฯ พร้อมคณะ จึงลงพื้นที่ตรวจสอบ กรณีตลาดสุรนารีได้ประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง ระบุ “ตลาดสุรนารี โคราช พร้อมเปิด ๑๖ ต.ค.” โดยมีเจ้าหน้าที่เทศกิจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา สนธิกำลังดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งพบว่า ผู้ค้าบางรายจัดเตรียมสินค้าเข้ามาวางจำหน่ายแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ “ไม่พบการค้าขาย” ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดเมื่อแฟนเพจ “ตลาดสุรนารี - Suranaree Market สุรนครเดิม” ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพระบุว่า “ตลาดสุรนารี เปิดให้บริการแล้ว” และ “ตลาดสุรนารีพร้อมเปิดให้บริการ ๒๔ ชั่วโมงตามปกติ” และกลุ่มผู้ค้าร้านต่างๆ ก็เชิญชวนให้ประชาชนไปเลือกซื้อสินค้ากันผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก

••• ยืนยันยังไม่ให้ค้าขาย

เรื่อง “ตลาดสุรนารี” เปิดให้ขายสินค้าโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตลาด จึงสร้างความกังขาให้กับสังคมอย่างมาก มีการนำมาซักถามในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๔ อีก ซึ่ง “ชูศักดิ์ ชุนเกาะ” รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กล่าวในที่ประชุมว่า “การเปิดตลาดจะต้องมีใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข และมีใบอนุญาตตามเทศบัญญัติของเทศบาลนครฯ จึงจะสามารถเปิดประกอบกิจการตลาดได้ เรื่องของการอนุญาตให้เปิดตลาด ขณะนี้ตลาดสุรนารียังไม่ได้รับอนุญาต แต่ในส่วนคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ได้มีคำสั่งให้เปิดตลาด ส่วนนั้นคือ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ”

ทางฝั่ง “จักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ” นิติกรชำนาญการพิเศษ สสจ.นครราชสีมา กล่าวย้ำว่า “คำสั่งปิดตลาดสุรนารีก่อนหน้านี้ เป็นการปิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๕๘ เงื่อนไขของการปิดคือจะต้องเป็นพื้นที่ต่อการแพร่ของโรคติดต่ออันตราย ซึ่งโควิด-๑๙ เป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งผ่านไประยะเวลาหนึ่ง เมื่อไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้นจากคลัสเตอร์นี้แล้ว ดังนั้นคำสั่งปิดตลาดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อจึงหมดไป แต่การที่จะดำเนินกิจการตลาดต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น คือเทศบาลนครฯ โดยจะต้องยื่นขอดำเนินกิจการตลาด ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๓๕”

“ผู้ประกอบกิจการตลาดจะต้องได้รับอนุญาตจากเทศบาลนครฯ จึงจะสามารถดำเนินการเปิดตลาดให้มีการค้าขายได้ แต่ในส่วนการเข้าไปปรับปรุง เพื่อให้รองรับมาตรการที่จะยื่นขออนุญาต ทั้งการปรับปรุงอาคาร การปรับปรุงสุขาภิบาลต่างๆ ในการเปิดตลาดส่วนนี้จะไม่ใช่การเปิดตลาดเพื่อทำการค้าขาย หากว่ากันตามข้อกฎหมาย คือ เวลานี้ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการตลาดจากเทศบาลนครฯ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถเปิดให้มีการค้าขายในลักษณะของตลาดได้” นิติกร ย้ำในเรื่องข้อกฏหมาย

••• ฝ่าฝืนต้องจับปรับ

สำหรับกรณีการเปิดค้าขายนั้น “จักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ” นิติกรฯ ให้ความเห็นว่า “บทบาทของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องควบคุมให้เป็นตามข้อกฎหมาย ดังนั้น เมื่อพบว่ามีการขายของในตลาด จะต้องคำสั่งให้หยุด หากผู้ประกอบกิจการยังไม่หยุด จะต้องส่งเรื่องเพื่อดำเนินคดีต่อไป”

วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ “ไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ” รองนายกเทศมนตรีนครฯ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” หลังจากลงพื้นที่ไปตรวจตลาดสุรนารีว่า “พบมีการค้าขาย แต่ตลาดกำลังปรับปรุงอยู่ส่วนหนึ่ง และมีการขายสินค้าอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้มากมาย ซึ่งได้แจ้งไปแล้วว่า จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย โดยเทศบาลฯ จะแจ้งเป็นหนังสือให้หยุด”มมมมมมไ

นั่นก็แสดงว่า “ตลาดสุรนารี” เปิดให้ขายของแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตลาด จากนี้ไป จึงเป็นการพิสูจน์ความเอาจริงเอาจังของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลตลาดแห่งนี้

สุดท้ายแล้ว “ตลาดสุรนารี” จะปิดหรือจะเปิดกิจการแน่นอนว่า “โคราชคนอีสาน” มีหน้าที่ในการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา บนพื้นฐานของหลักฐานและข้อมูลที่มีอยู่จริง ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับตลาดแห่งนี้ และไม่ได้สนใจว่า ใครจะขัดแย้งกับใคร แต่กลับสนับสนุนให้มีการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ “ตลาด” เปิดดำเนินการได้ เป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโคราชและภาคอีสานต่อไป

• ทีมข่าวโคราชคนอีสาน


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๐ วันพุธที่ ๒๐ เดือนตุลาคม - วันอังคารที่ ๒ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔

 


138 1,840