October 25,2021
‘ทางลอดบิ๊กซี’๑๒ ปีที่รอคอย อย่าให้คนโคราชเสียโอกาสอีก คาดได้รับงบ ๓๕๐ ล.สร้างปี’๖๖
กรมทางหลวงจัดประชุมก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกบิ๊กซี งบ ๓๕๐ ล้านบาท ประชาชนบ่นไม่ช่วยแก้ปัญหาจราจรทั้งระบบ แนะให้รอบคอบเรื่องระบบระบายน้ำ หวั่นเกิดน้ำท่วมในอุโมงค์ อย่าแก้ปัญหาหนึ่งแล้วสร้างปัญหาใหม่ “ปธ.สภาเทศบาลนครฯ” เผยรอมา ๑๒ ปีแล้ว อย่าให้คนโคราชเสียโอกาสอีก
วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่โรงแรมซิตี้พาร์ค อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีการประชุมการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อุโมงค์บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (แยกนครราชสีมา) หรือแยกบิ๊กซี โดยมีนายวิจิตร กิจวิรัตน์ รักษาการปลัดจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนางสาวดาราวดี ใจคุ้มเก่า ผู้แทนกรมทางหลวง นายอุทัย มิ่งขวัญ ประธานสภาเทศบาลนครนครราชสีมา นางเอมอร ศรีกงพาน ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการ ร่วมประชุมและแสดงความเห็นทั้งในห้องประชุมและผ่านระบบออนไลน์ เพื่อรับฟังรายละเอียดจากวิทยากรบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ซิตี้ แพลน โปรเฟสชันนอล จำกัด โดยมีนายนคร ศรีธิวงศ์ ผู้จัดการโครงการและผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม และนายคมชาญ ชัยพิทักษ์โรจน์ วิศวกรงานทางและจราจร เป็นวิทยากร
นายวิจิตร กิจวิรัตน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “โครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกบิ๊กซี เตรียมการกันมานาน ยืดเยื้อผ่านมาหลายปี หากมีอุโมงค์แห่งนี้เกิดขึ้น ผมเชื่อว่า จะช่วยให้เกิดการพัฒนาเมือง แต่การพัฒนามีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ต้องชั่งดูว่า ข้อดีมากกว่าข้อเสียหรือไม่ หากข้อดีมากกว่า การพัฒนาก็ต้องดำเนินต่อไป เพื่อยกระดับการคมนาคมและการขนส่ง โดยขณะนี้ โคราชยังมีโครงการถนนวงแหวนรอบเมือง หากโครงการนี้สำเร็จ การคมนาคมในโคราชจะสะดวกสบายมากขึ้น การประชุมวันนี้ จึงต้องการให้ประชาชนที่เข้าร่วม มีข้อซักถามหรือข้อสงสัย โดยให้สอบถามกับกรมทางหลวงหรือบริษัทที่ปรึกษาได้ทันที เพื่อจะได้นำข้อซักถามหรือข้อเสนอแนะต่างๆ ไปปรับปรุงและแก้ไขโครงการ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนโคราช นอกจากนี้ โคราชกำลังจะเปิดเมือง มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และที่สำคัญ แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการแล้ว แต่ทุกคนอย่าการ์ดตก ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย อยู่ห่างกัน และล้างมือตลอด หากทุกคนการ์ดไม่ตก การเปิดเมืองก็จะดำเนินการต่อไปได้ เศรษฐกิจก็จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น”
แก้ปัญหาจราจรติดขัด
นายนคร ศรีธิวงศ์ นำเสนอรายละเอียดว่า “จากการศึกษาพบว่า บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (แยกนครราชสีมา) มีการจราจรที่หนาแน่น โดยเฉพาะเส้นทางจากตัวเมืองโคราชไปจังหวัดสระบุรี นอกจากนี้ ในปัจจุบันบริเวณ ๒ ข้างทาง มีอาคารพาณิชย์ ร้านค้า และที่อยู่อาศัยหนาแน่น ดังนั้น กรมทางหลวงจึงมีแนวคิดก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด เพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพของจุดตัด และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดด้วย ซึ่งกรมทางหลวงได้มีแบบและรายละเอียดตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ แต่ด้วยกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี ๒๕๕๒ ระบุว่า ถ้ามีการก่อสร้างทางหลวงในลักษณะอุโมงค์ หากมีโบราณสถานที่อยู่ในรัศมี ๑ กิโลเมตร จะต้องทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนก่อสร้างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาการก่อสร้าง”
นายคมชาญ ชัยพิทักษ์โรจน์ วิศวกรงานทางและจราจร นำเสนอว่า “ปัจจุบันโคราชจะมีโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และถนนวงแหวนรอบเมือง ซึ่งจะช่วยให้การสัญจรในเขตเมืองโคราชลดน้อยลง รถที่ไม่จำเป็นต้องผ่านเขตเมือง ก็จะไปใช้ถนนวงแหวน ดังนั้น การสัญจรในเขตเมือง จะเหลือเพียงกิจกรรมของคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย การขนส่ง และการสัญจรในช่วงเวลาเร่งด่วน โครงการอุโมงค์ทางลอดนี้ จึงเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาจราจรติดขัดบริเวณทางแยก เช่น อุโมงค์ทางลอดแยกประโดก ก็ถือเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดเช่นกัน”
ปริมาณรถผ่านจำนวนมาก
“พื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ พบว่า เป็นพื้นที่ที่มีสถานประกอบการจำนวนมาก และเป็นย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่น นอกจากนี้ ในพื้นที่โครงการยังมีห้างสรรพสินค้าด้วย ถึงแม้จะมีโครงการรอบนอกเมือง ก็จะยังมีการสัญจรเข้ามาเป็นประจำ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแก้ไขการจราจรในพื้นที่ดังกล่าว จากการศึกษาข้อมูลปริมาณรถที่สัญจรมาจากแยกประโดก เมื่อมาถึงแยกบิ๊กซีจะมีรถติดประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ เมตร ซึ่งในทิศทางอื่นก็มีรถติดเช่นกัน แต่มีน้อยกว่าประมาณ ๓๐๐ เมตร โดยจำนวนรถจากขอนแก่นมุ่งหน้าสระบุรี มีรถยนต์ประมาณ ๖๔% รถจักรยานยนต์ ๓๑% และรถบรรทุก ๐.๕๗%”
อุโมงค์ช่วยแก้รถติด
นายคมชาญ กล่าวอีกว่า “สำหรับแยกนี้ เดิมมีเขตทางขนาด ๔๐ เมตร การจะพัฒนาโครงการใด จึงต้องคำนึงถึงเขตทางด้วย เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่ของประชาชนสองข้างทาง โดยพื้นที่จุดนี้มีลักษณะเป็น ๓ แยก การแก้ปัญหาจราจรจึงจะก่อสร้างเป็นอุโมงค์ทางลอด ในทิศทางจากขอนแก่นมุ่งหน้าสระบุรี เพราะถ้าเป็นผู้ที่มาจากสระบุรีมุ่งหน้าขอนแก่น จะสามารถเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดได้ทันที เมื่อก่อสร้างเสร็จ จะปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรที่เปลี่ยนแปลงไป ทิศทางอื่นจะได้ประโยชน์ในแง่ที่การจราจรจะคล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาว่า ในอนาคตหากก่อสร้างโครงการนี้จราจรจะดีขึ้นกว่าที่ไม่ทำอะไรเลย”
“สำหรับแนวเส้นทางและรูปแบบโครงการ มีขนาด ๒ ช่องจราจร ขนาดช่องละ ๓.๒๕ เมตร ซึ่งรถทุกชนิดสามารถผ่านได้ โดยจุดเริ่มต้นอุโมงค์จะอยู่บริเวณโรงเรียนเทศบาล ๔ (เพาะชำ) จุดขึ้นจากอุโมงค์อยู่บริเวณปั๊มน้ำมันพีที และจุดสิ้นสุดโครงการอยู่บริเวณวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา รวมระยะทาง ๑,๐๗๕ เมตร แบ่งโครงสร้างเป็น ๒ ชนิด ได้แก่ ทางลอดช่วงตื้น เป็นผนังกั้นดินคอนกรีตเสริมเหล็ก กำหนดให้สูงไม่เกิน ๓ เมตร ผนังด้านข้างและพื้นทางลอดหนา ๐.๕ เมตร โครงสร้างจะวางเสาเข็มเจาะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๖ เมตร และทางลอดช่วงลึก จะเป็นผนังกำแพงที่สร้างด้วยการหล่อคอนกรีตขึ้นในดิน ความหนาใช้กันทั่วไป ๐.๘ เมตร และ ๑ เมตร ความยาวแต่ละแผงประมาณ ๕-๖ เมตร ความลึกขึ้นอยู่กับสภาพชั้นดินและลักษณะโครงสร้าง” นายคมชาญ กล่าว
ระบบป้องกันน้ำท่วม
“สำหรับระบบป้องกันน้ำท่วมของอุโมงค์ ซึ่งบริเวณจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดอุโมงค์ จะออกแบบให้เป็นเนินสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมไหลเข้าไปในอุโมงค์ ถ้ามีน้ำไหลเข้าอุโมงค์ จะมีเครื่องสูบน้ำระบายออก แต่ในกรณีที่มีน้ำท่วมรอบบริเวณในปริมาณมาก อุโมงค์คงท่วมไปด้วย เพราะอุโมงค์มีระบบป้องกันน้ำท่วมแค่เบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งอุโมงค์มีความสูง ๕.๕ เมตร รถบรรทุกสามารถเข้าได้ แต่รถบรรทุกจะค่อนข้างน้อย”
“ในส่วนของพื้นบนอุโมงค์ในจุดทางแยกทั้ง ๓ ทิศทาง จะมีจุดกลับรถทั้งหมด โดยรถที่มาจาก บขส.ใหม่ จะกลับรถบนอุโมงค์ ซึ่งเป็นช่วงปิดอุโมงค์ระยะทางประมาณ ๑๒๖ เมตร หากจะเข้าไปในศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช จะต้องกลับรถและไปเข้าประตู ๒ เพราะจุดกลับรถจะอยู่ใกล้ประตู ๑ ซึ่งกรมทางหลวงจะติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ตลอดเส้นทาง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ต่อรถที่เลี้ยวซ้ายมาจากเดอะมอลล์” นายคมชาญ กล่าว
ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นายนคร ศรีธิวงศ์ นำเสนอการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมว่า “พื้นที่ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้บริเวณโครงการเป็นจุดกึ่งกลางของรัศมีศึกษาระยะ ๕๐๐ เมตร ซึ่งพื้นที่ศึกษาจะอยู่ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา โดยศึกษาทั้งหมด ๘ ชุมชน ๔ หมู่บ้าน ในส่วนของโบราณสถานที่เข้าข่ายการศึกษา ได้แก่ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ห่างจากโครงการ ประมาณ ๙๘๔ เมตร ประตูชุมพล ห่างประมาณ ๙๙๐ เมตร และคูเมืองหรือกำแพงเมือง ห่างประมาณ ๘๑๓ เมตร สำหรับโบราณสถานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน คือ บ้านสำโรงจันทร์ อยู่ห่างประมาณ ๓๘๒ เมตร”
“นอกจากพื้นที่ชุมชนและโบราณสถาน ยังต้องศึกษาผลกระทบฯ ของพื้นที่อ่อนไหวในระยะ ๕๐๐ เมตรด้วย ซึ่งประกอบด้วย ๑.โรงเรียนหรือสถานศึกษา ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล ๔ (เพาะชำ) ระยะห่าง ๓๔ เมตร โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา ระยะห่าง ๑๐๕ เมตร และวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ระยะห่าง ๒๐๗ เมตร ๒.ศาสนสถาน ได้แก่ คริสตจักรสาวก ระยะห่าง ๔๖๖ เมตร ศาลเจ้าแป๊ะกง-ตรอกจันทร์ ระยะห่าง ๑๖๐ เมตร ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดท่าซุง (โคราช) ระยะห่าง ๒๐๙ เมตร วัดโพธิ์ ระยะห่าง ๓๔๐ เมตร วัดสุสาน ระยะห่าง ๙๙.๕๗ เมตร และวัดราษฎร์บำรุง (ปรก) ระยะห่าง ๔๙๙ เมตร และ ๓.สถานพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลเซนต์แมรี่ ระยะห่าง ๒๙๔ เมตร และโรงพยาบาลราชสีมา ฮอสพิทอล (โคราชเมโมเรียล) ระยะห่าง ๓๙๙ เมตร รวมพื้นที่ที่จะต้องศึกษาทั้งหมด ๒๓ แห่ง”
มาตรการป้องกันผลกระทบ
นายนคร กล่าวอีกว่า “สรุปผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการศึกษาเบื้องต้น เช่น ด้านทรัพยากรดิน จะไม่มีการชะล้างพังทลาย เนื่องจากพื้นที่เดิมอยู่บนทางหลวงหมายเลข ๒ ซึ่งเป็นคอนกรีต มีปริมาณดินขุดออก ๖๕,๘๓๔ ลบ.ม. การขุดนำดินออกไปอาจส่งผลกระทบต่อชั้นดินในบริเวณใกล้เคียง ส่วนการเจาะเสาเข็ม จะเลือกใช้สารละลายโพลิเมอร์ในการพยุงเสาเข็ม โดยดินที่ขุดออกมาจะถูกขนไปไว้ที่สำนักงานหมวดทางหลวงโนนไทย ซึ่งห่างจากโครงการประมาณ ๒๕ กิโลเมตร ในด้านทรัพยากรน้ำ บริเวณใกล้เคียงโครงการมีแหล่งน้ำลำตะคอง อยู่ห่างประมาณ ๑๕๐ เมตร ซึ่งผลกระทบจากตัวอุโมงค์ไม่มี แต่จะได้รับผลกระทบจากการเปิดหน้าดิน อาจจะมีตะกอนดินไหลลงไป จึงกำหนดมาตรการว่า ในช่วงการรื้อย้ายเกาะกลางถนนเดิม ต้องมีรถบรรทุกรอรับเศษมวลดินจากการก่อสร้าง โดยลำเลียงออกจากพื้นที่ไปไว้ยังจุดกองดินที่กำหนดทันที และจัดเก็บวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง และขยะมูลฝอยอย่างเป็นระเบียบ”
“สำหรับผลกระทบด้านคุณภาพอากาศ การก่อสร้างอาจจะทำให้เกิดฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่โครงการได้กำหนดมาตรการป้องกันไว้ว่า จะต้องฉีดน้ำบริเวณพื้นที่ก่อสร้างอย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง เพื่อป้องกันฝุ่นและฟุ้งกระจาย ต้องมีผ้าใบคลุมส่วนกระบะบรรทุกวัสดุอย่างมิดชิด ติดตั้งแผ่นกันฝุ่นที่ล้อทั้ง ๔ ข้างของรถบรรทุกที่ใช้ในการขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้างและดิน จำกัดความเร็วในการวิ่งของรถบรรทุกไม่ให้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดปัญหาการฟุ้งกระจายของเศษวัสดุหรือฝุ่นละออง ส่วนผลกระทบด้านเสียง อาจจะมีผลกระทบไม่มาก ส่วนใหญ่จะเกิดจากการขยายช่องจราจร และการก่อสร้างพื้นผนังทางลอด ซึ่งจะทำให้มีเสียงเกินค่ามาตรฐาน จะมีการติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราว” นายนคร กล่าว
ข้อเสนอแนะจากประชาชน
จากนั้น ที่ประชุมได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ โดยมีประชาชนสอบถามว่า “โครงการนี้ ได้ศึกษาเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) หรือไม่ เนื่องจากในอนาคตอาจจะมีการก่อสร้างให้เกิดการเสียหาย และตำแหน่งการติดตั้งอาคารระบายน้ำ เมื่อดูแล้วหลังสร้างเสร็จจะเป็นทัศนียภาพที่ไม่สวยงาม เราสามารถจะย้ายไปที่อื่นได้หรือไม่” นายคมชาญ ชัยพิทักษ์โรจน์ ตอบว่า “สำหรับการศึกษาโครงการรถไฟฟ้ารางเบา ขณะนี้ รฟม.ศึกษาไว้ ๓ เส้นทาง ซึ่งสายสีเขียวจะดำเนินการเป็นโครงการแรก ไม่มีผลกระทบต่อโครงการ และเส้นทางอื่นๆ ในอนาคตก็สามารถก่อสร้างได้ สำหรับประเด็นตำแหน่งของอาคารระบายน้ำ ต้องบอกว่า โครงการนี้ออกแบบไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ แต่ขณะนั้นมีการคัดค้าน ทำให้โครงการต้องหยุดชะงัก เมื่อเวลาผ่านไป กรมทางหลวงจึงนำโครงการมาพิจารณาใหม่ และให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีโบราณสถานในรัศมี ๑ กิโลเมตร ดังนั้น ตำแหน่งของอาคารระบายน้ำในทางวิศวกรรมอยู่ในจุดที่เหมาะสมแล้ว แต่ถ้าต้องย้ายไปจุดอื่น อาจจะต้องมีการเวนคืนที่ดิน ซึ่งจะมีผลกระทบกับชุมชน”
ต้องแก้ปัญหาให้ครอบคลุม
นายศุภกิจ ศิริรัตนพล ประชาชนในพื้นที่โครงการ กล่าวว่า “โครงการนี้มีการคัดค้านกันมานาน ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ แต่พูดถึงปัจจุบันที่บอกว่า จะมีรถผ่านแยกนี้ประมาณ ๒๓,๕๙๘ คันต่อวัน เป็นจำนวนรถที่ผ่านตลอด ๒๔ ชั่วโมงหรือแค่ ๑๒ ชั่วโมง หากคำนวณรถที่วิ่งผ่านเขตโครงการประมาณ ๒ กิโลเมตร หากขับมาก็จะต้องติดไฟแดงบริเวณแยกสำโรงจันทร์ประมาณ ๒ นาที ผมเคยถามว่า ปริมาณการจราจรบริเวณแยกสำโรงจันทร์และแยกโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา มีปริมาณรถเท่าไหร่ ผมก็เข้าใจต้องการให้โคราชพัฒนา แต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดนี้โดยไม่คำนึงถึงการจราจรเส้นอื่น ผมคิดว่า ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาจราจรที่ถูกต้อง ถ้าอุโมงค์นี้ก่อสร้างเสร็จ อาจจะทำให้เกิดรถติดในอุโมงค์ เชื่อว่าติดแน่นอน เพราะออกจากอุโมงค์ไปก็ยังมีไฟแดงอีกหลายแยก ผมต้องการให้โคราชเกิดการพัฒนาจริงๆ แต่การแก้ไขปัญหาการจราจรในเมือง ยังมีวิธีอื่นอยู่ สมมุติว่า ปิดไฟแดงแยกโรงพยาบาลกรุงเทพฯ การจราจรก็จะไหลมากกว่านี้”
นายคมชาญ ชัยพิทักษ์โรจน์ ตอบว่า “สำหรับปริมาณรถจำนวน ๒๓,๕๙๘ คันต่อวัน เป็นรถที่มาจากเส้นทางขอนแก่นมุ่งหน้ากรุงเทพฯ เป็นจำนวนการจราจรเฉพาะขาเดียว เราเก็บข้อมูลนี้ประมาณ ๓ วัน จากข้อมูลพบปัญหาว่า รถที่มาจากทิศทางขอนแก่นมุ่งหน้ากรุงเทพฯ มีปริมาณค่อนข้างมาก ซึ่งปัญหานี้เราได้กำหนดการแก้ปัญหาในภาพรวมของโครงการ ซึ่งจะต้องนำไปพิจารณาในลำดับต่อไป เพื่อลดผลกระทบบนทางหลวงหมายเลข ๒ ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ในภาพรวมโครงการ”
ลดผลกระทบต่อส่วนรวม
นางเอมอร ศรีกงพาน ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา เสนอแนะว่า “จากการติดตามโครงการมาตลอด ต้องขอขอบคุณวิศวกรโครงการที่ได้นำข้อเสนอแนะจากประชาชนไปปรับและแก้ไข ซึ่งในการดำเนินงานอะไรก็ตาม จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย จากการศึกษาข้อมูลในภาพรวม ทั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบระบายน้ำ และระบบการจราจร ทุกอย่างถูกพัฒนาขึ้นจากข้อเสนอแนะของประชาชน แต่ขอฝากในเรื่องความอ่อนไหวของศิลปวัฒนธรรม ให้พิจารณาให้รอบคอบกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในส่วนของระบบการจราจรในอุโมงค์ ขอให้ระวังการเกิดอุบัติเหตุในทางโค้งของอุโมงค์ รวมถึงผลกระทบด้านต่างๆ ขอให้กำหนดค่ามาตรฐานให้ชัดเจน อย่าให้เกิดผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม”
อย่าให้โคราชเสียโอกาส
นายอุทัย มิ่งขวัญ ประธานสภาเทศบาลนครนครราชสีมา กล่าวว่า “การที่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ ถือเป็นเรื่องดีสำหรับคนโคราช แต่ในการออกแบบของกรมทางหลวง บางครั้งอาจจะทำได้ไม่ครบทุกมิติ จึงทำให้เกิดผลกระทบตามมา เช่น เกิดน้ำท่วมบนถนนมิตรภาพแถวอำเภอสีคิ้ว ผมเชื่อว่า หากมีการออกแบบที่ครบทุกมิติ ผลกระทบต่างๆ ก็จะลดน้อยลง โดยเฉพาะการก่อสร้างอุโมงค์แห่งนี้ ซึ่งคนโคราชรอคอยมาประมาณ ๑๒ ปีแล้ว วันนี้จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่คนโคราชจะได้ใช้งานอุโมงค์”
แก้ปัญหาเก่า-ก่อปัญหาใหม่
นพ.สำเริง แหยงกระโทก อดีตนายก อบจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “การก่อสร้างอุโมงค์แห่งนี้ โคราชได้รับโอกาสมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องหยุดไป ซึ่งบ้านเมืองอื่นเขาเจริญไปไกลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ขอนแก่น และอุดรธานี ผมจึงคิดว่า หากโคราชมีอุโมงค์ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ควบคู่กับการพัฒนาบ้านเมืองและพัฒนาประเทศชาติ เสียดายว่า วันนี้ผู้เข้าร่วมประชุมในสถานที่น้อยกว่าในออนไลน์ เดี๋ยวเราจะเสียโอกาสแสดงความคิดเห็นเหมือนกับโครงการรถไฟทางคู่ หากโครงการออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว แล้วจะมาเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนอาจจะเป็นเรื่องที่ยาก อีกประเด็นหนึ่ง คือ ปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต บ้านเมืองจะเจริญเติบโตมากขึ้น การก่อสร้างอุโมงค์ระยะทาง ๑ กิโลเมตร อาจจะไม่ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เหมือนที่หลายคนเป็นห่วงว่า อย่างไรก็ตามรถก็ยังติดทั้งก่อนเข้าและหลังออกจากอุโมงค์ หากจะแก้ไขการจราจรจริงๆ ควรจะคิดแก้ไขอย่างครบวงจร การแก้ไขครั้งนี้ อาจจะแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง แต่ในอนาคตอาจจะไม่คุ้มกับงบประมาณที่เราลงทุนไปจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ต้องก่อสร้าง จึงขอฝากให้แก้ไขปัญหาการจราจรนอกอุโมงค์ด้วย และที่สำคัญ การก่อสร้างอุโมงค์ ขออย่าประมาทเรื่องน้ำท่วม ขอให้คิดให้รอบคอบ อย่าแก้ไขปัญหาหนึ่งแล้วทำให้เกิดอีกปัญหาหนึ่งขึ้นมา”
ขอให้มั่นใจระบบระบายน้ำในอุโมงค์
นายคมชาญ ชัยพิทักษ์โรจน์ ชี้แจงว่า “เรื่องการระบายน้ำออกจากอุโมงค์ กรมทางหลวงมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยในอุโมงค์จะติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำ ๕ เครื่อง ซึ่งก่อนจะดำเนินโครงการ เราได้เข้าพบกับเทศบาลนครฯ และโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด เพื่อหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำในเขตเมือง ซึ่งปริมาณน้ำในขณะนี้รับได้ประมาณ ๔๐ คิว แต่ถ้าเกินกว่านี้ จะทำให้เกิดน้ำท่วมทั่วบริเวณ ซึ่งถ้าน้ำท่วมระดับนั้นเครื่องปั๊มน้ำก็ไม่สามารถรับมือได้ แต่ถ้าระบบป้องกันน้ำท่วมเบื้องต้น ได้ออกแบบให้มีเนินสูง ๕๐ เซนติเมตร ก่อนเข้าและหลังออกจากอุโมงค์ เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าอุโมงค์ ส่วนน้ำฝนที่ตกลงมาในอุโมงค์ ปั๊มน้ำก็จะสูบออกได้ทัน ทุกเครื่องจะสลับกันทำงาน หากเครื่องใดเสียอีกเครื่องจะทำงานแทน ซึ่งระบบระบายน้ำ มีการศึกษาอย่างละเอียด มีการพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ จึงขอให้มั่นใจในเรื่องนี้”
คาดได้งบก่อสร้างปี ๒๕๖๖
จากนั้น เวลา ๑๔.๐๐ น. เป็นการนำเสนอรายละเอียดโครงการในกลุ่มที่ ๒ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชุมชนในพื้นที่โครงการ สถานประกอบการ และสื่อมวลชนในจังหวัดฯ โดย “โคราชคนอีสาน” สอบถามโครงการอุโมงค์ทางลอดแยกประโดกและแยกบิ๊กซีจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งหมดเท่าไหร่ จะได้รับงบประมาณปีใด และหลังจากนี้จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งได้รับคำตอบจากนายคมชาญ ชัยพิทักษ์โรจน์ ว่า “งบประมาณในการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกประโดก ๖๕๐ ล้านบาท ขณะนี้ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ซึ่งจากข้อมูลเข้าใจว่า กรมทางหลวงจะของบประมาณปี ๒๕๖๖ เพื่อขอรับงบประมาณในการก่อสร้าง ส่วนแยกบิ๊กซี ใช้งบประมาณก่อสร้าง ๓๕๐ ล้านบาท ยังอยู่ในขั้นตอนขออนุญาตศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดการณ์ว่า ประมาณปี ๒๕๖๖ หรือปี ๒๕๖๗ จะสามารถของบประมาณได้ ทั้งนี้ ในการจัดสรรงบประมาณจะขึ้นอยู่กับแผนของภาครัฐ เพราะขณะนี้มีการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาโควิด-๑๙ รวมถึงปัญหาต่างๆ จะต้องไปดูในส่วนของงบลงทุนว่า ภาครัฐสามารถจัดสรรงบลงทุนได้มากน้อยและรวดเร็วเพียงใด”
“ในส่วนของการดำเนินโครงการอุโมงค์ทางลอดบิ๊กซี หลังจากนี้บริษัทที่ปรึกษาจะส่งข้อมูลการศึกษาให้กับกรมทางหลวง ประมาณวันที่ ๑๕ พฤศจิกายนนี้ เมื่อกรมทางหลวงพิจารณาข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จะส่งให้ สผ.ต่อ ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลาประมาณ ๖ เดือนในการพิจารณา เดือนพฤษภาคมปีหน้า โครงการนี้น่าจะผ่านความเห็นชอบ และเมื่อผ่านแล้ว จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ ๒ ปี ซึ่งตามแผนแล้ว จะของบประมาณปี ๒๕๖๖” นายนคร กล่าวในท้ายที่สุด
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๐ วันพุธที่ ๒๐ เดือนตุลาคม - วันอังคารที่ ๒ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
95 1,737