20thDecember

20thDecember

20thDecember

 

November 05,2021

‘วิเชียร’เร่งตั้งอีก ๒ อำเภอ "ภูกระโดนและเขาภูหลวง" อ้างห่างไกลและทุรกันดาร

ผู้ว่าโคราชสั่งนายอำเภอสีคิ้วและปากช่อง เร่งทำประชาคมจัดตั้ง ๒ อำเภอใหม่ “ภูกระโดน-เขาภูหลวง” ให้เสร็จภายในเดือนนี้ ด้านปลัดจังหวัดฯ สรุปสาเหตุการแยกอำเภอ เพราะเป็นพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร และติดต่อราชการลำบาก ย้ำทำประชาคมเพื่อรับฟังเสียงประชาชนเป็นหลัก

ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เคยนำเสนอข่าวการจัดตั้งอำเภอใหม่ ในจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะอำเภอภูกระโดน ประกอบด้วย ๓ ตำบลในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว คือ ตำบลหนองน้ำใส ตำบลหนองหญ้าขาว และตำบลดอนเมือง มีพื้นที่ ๔๙ หมู่บ้าน ประชากรรวมทั้งสิ้น ๓๐,๙๒๗ คน ๑๑,๔๔๓ ครัวเรือน ซึ่งผ่านสภา อบจ.นครราชสีมาแล้ว และการจัดตั้งอำเภอใหม่ในพื้นที่อื่นอีก ๔ แห่ง ได้แก่ อำเภอกลางดง วังกะทะ คลองไผ่ และห้วยบง

ต่อมา ในการประชุมนายอำเภอประจำเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๔ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้สั่งการให้นายอำเภอสีคิ้วและปากช่อง เร่งจัดทำประชาคมเกี่ยวกับการจัดตั้งอำเภอใหม่ให้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๔ นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รักษาการปลัดจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ถึงกรณีการจัดตั้งอำเภอใหม่ว่า “ขณะนี้ขั้นตอนการจัดตั้งอำเภอภูกระโดน ที่จะแยกจากอำเภอสีคิ้ว และอำเภอเขาภูหลวง ที่จะแยกอำเภอปากช่อง ซึ่งอำเภอภูกระโดน ได้ส่งเรื่องไปที่กรมการปกครอง แต่ถูกส่งกลับมาให้ทำประชาคม ให้ครบทั้งอำเภอ ไม่ใช่เพียงตำบลเดียว ส่วนอำเภอเขาภูหลวงเหลือเพียงขั้นตอนทำประชาคมเช่นกัน ซึ่งการจะจัดตั้งอำเภอใหม่ จะต้องทำประชาคมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน โดยทำทั้งอำเภอ ทุกหมู่บ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ จังหวัดได้ทำการศึกษาอำเภอใหม่หลายแห่ง แต่เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการให้แยก จึงทำให้จังหวัดไม่หยิบยกเรื่องขึ้นมา เช่น อำเภอเมือง ที่จะแยกตำบลโพธิ์กลางและตำบลสุรนารี ซึ่งในความคิดผมก็น่าแยก เพราะอำเภอเมืองมีประชากรจำนวนมาก มีมากกว่า ๒๐๐ หมู่บ้าน ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง แต่เมื่อประชาชนไม่ต้องการแยก ก็ต้องฟังเสียงประชาชนเป็นหลัก”

สำหรับการดำเนินการจัดตั้งอำเภอใหม่ทั้ง ๒ แห่ง (อำเภอภูกระโดนและอำเภอเขาภูหลวง) นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รักษาการปลัดจังหวัดนครราชสีมา ได้สรุปรายละเอียดให้ “โคราชคนอีสาน” ว่า อําเภอภูกระโดนจะแยกออกจากอําเภอสีคิ้ว ประกอบด้วย ตําบลหนองน้ำใส ตําบลดอนเมือง และตําบลหนองหญ้าขาว รวม ๓ ตําบล ๔๙ หมู่บ้าน ประชากร ๓๐,๙๒๗ คน ด้วยเหตุผลความจําเป็นพิเศษด้านภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ หลักเกณฑ์การจัดตั้งกิ่งอําเภอและอําเภอ ข้อ ๓ เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร ระยะทางหมู่บ้านที่ห่างไกลจากตัวอําเภอ ประมาณ ๕๐-๘๐ กิโลเมตร ประชาชนเดินทางไป ติดต่อราชการและขอรับบริการจากภาครัฐไม่สะดวก สิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีปัญหาด้านความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดทั้งปัญหาด้านยาเสพติด เพราะห่างไกลจากสถานีตํารวจภูธรพื้นที่รับผิดชอบ (สภ.สีคิ้ว) เพื่อเป็นการอํานวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อขอรับบริการภาครัฐ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานและการให้บริการประชาชน จึงเสนอขอจัดตั้งอําเภอใหม่ ชื่ออําเภอภูกระโดน

การดำเนินการที่ผ่านมา จังหวัดนครราชสีมา ได้รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขอจัดตั้งอําเภอใหม่ (อําเภอภูกระโดน) ประกอบด้วย บันทึกการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาคมหมู่บ้าน ทั้ง ๓ ตําบล ๔๙ หมู่บ้าน ความคิดเห็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ความเห็นของที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจําอําเภอสีคิ้ว ความเห็นของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา และความเห็นของที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจําจังหวัดนครราชสีมา พร้อมบรรยายสรุปการขอจัดตั้งอําเภอใหม่ (อําเภอภูกระโดน) ส่งให้กรมการปกครองตรวจสอบและพิจารณาดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว

จากนั้นกรมการปกครองได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาขอจัดตั้งอําเภอใหม่ จึงขอให้จังหวัดจัดทําคําชี้แจงเหตุผลความจําเป็นดังกล่าวโดยละเอียด พร้อมดําเนินการประชาคมทุกหมู่บ้านในพื้นที่อําเภอสีคิ้ว เพื่อรับฟังความคิดเห็นของราษฎร และความเห็นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจังหวัดแจ้งให้อําเภอสีคิ้วดําเนินการจัดทําคําชี้แจงเหตุผลความจําเป็นกรณีดังกล่าวเพิ่มเติมโดยละเอียด และให้ดําเนินการจัดประชุมประชาคมหมู่บ้านทุกหมู่บ้านในพื้นที่อําเภอสีคิ้ว เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี แต่อําเภอสีคิ้วไม่สามารถจัดประชุมประชาคมได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะเร่งรัดดําเนินการโดยด่วน ซึ่งได้สั่งการทำดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

ในส่วนของอำเภอเขาภูหลวง ซึ่งจะแยกออกจากอำเภอปากช่อง ประกอบด้วย ตําบลวังกะทะ ตําบลคลองม่วง ตําบลโป่งตาลอง และตําบลระเริง อําเภอวังน้ำเขียว รวม ๔ ตําบล ๗๒ หมู่บ้าน ประชากร ๓๑,๕๓๙ คน ด้วยเหตุผลความจําเป็น พิเศษด้านภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ หลักเกณฑ์การจัดตั้งกิ่งอําเภอและอําเภอ ข้อ ๓ เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกลมีพื้นที่อยู่กึ่งกลาง ระหว่างอําเภอปากช่องและอําเภอวังน้ำเขียว ระยะทางหมู่บ้านที่ห่างไกลจากตัวอําเภอทั้ง ๒ อําเภอ ประมาณ ๔๐-๖๐ กิโลเมตร ประชาชนเดินทางไปติดต่อราชการและขอรับบริการจากภาครัฐไม่สะดวก สิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีปัญหาด้านความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนปัญหาด้านยาเสพติด เนื่องจากห่างไกลจากสถานีตํารวจภูธรพื้นที่รับผิดชอบ (สภ.ปากช่อง) และเป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการอํานวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อขอรับบริการภาครัฐ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานและการให้บริการประชาชน จึงเสนอขอจัดตั้งอําเภอใหม่ ชื่ออําเภอเขาภูหลวง

โดยที่ผ่านมาอําเภอปากช่องและอําเภอวังน้ำเขียว ได้ประชุมชี้แจงหลักการและเหตุผลการขอจัดตั้งอําเภอใหม่ อําเภอเขาภูหลวง ผ่านการประชาคม เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ๔ ตําบล ซึ่งได้ให้ความเห็นขอบแล้ว โดยประชาชนในพื้นที่เห็นว่า สถานที่ก่อสร้างศูนย์ราชการอําเภอใหม่ ควรเป็นพื้นที่ของกองทัพบก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเองลําตะคอง มีเนื้อที่ทั้งหมด ๒๓,๑๒๘-๓-๖๒ ไร่ ซึ่งใช้สําหรับเป็นสถานที่ฝึกและที่ตั้งของกองพันฝึกการรบพิเศษที่ ๙ ศูนย์สงครามพิเศษ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตําบลวังกะทะ อําเภอปากช่อง เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสําหรับตั้งเป็นศูนย์ราชการ อําเภอใหม่ เนื่องจากประชาชนทั้ง ๔ ตําบล สามารถเดินทางมาติดต่อราชการและขอรับบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว จึงขอให้จังหวัดประสานมณฑลทหารบกที่ ๒๑ เพื่อขอตรวจสอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ ๗๐๐ ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สําหรับก่อสร้างศูนย์ราชการอําเภอ จํานวน ๑๐๐ ไร่ และพื้นที่สําหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ๖๐๐ ไร่ โดยสอบถามว่า กองทัพบกยังมีความจําเป็นในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวอยู่หรือไม่

ความคืบหน้าล่าสุดอําเภอปากช่องและอําเภอวังน้ำเขียว อยู่ระหว่างการจัดทําประชาคมหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของราษฎรและสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อรวบรวมส่งให้จังหวัดพิจารณา ดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องในการขอจัดตั้ง อําเภอเขาภูหลวง จากอําเภอปากช่องและอําเภอวังน้ำเขียว เพื่อเสนอสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา และที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจําจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาให้ความเห็นชอบและรายงานให้กรมการปกครองทราบและพิจารณาดําเนินการตามลําดับต่อไป

ทั้งนี้ การตั้งอำเภอใหม่จะต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้ ๑.การจัดตั้งกิ่งอำเภอ จะต้องมีประชากรไม่ต่ำกว่า ๒๕,๐๐๐ คน มีตำบล ๔ แห่งขึ้นไป มีที่ว่าการกิ่งอำเภอใหม่ ซึ่งควรมีระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอเดิมไม่น้อยกว่า ๒๐ กิโลเมตร ทั้งนี้ ให้ใช้ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์และข้อเท็จจริงจากการสำรวจของจังหวัดนำมาประกอบการพิจารณา และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการอำเภอ และที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด

๒.การจัดตั้งอำเภอใหม่ อำเภอนั้นต้องได้รับการจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๕ ปี แต่ข้อกำหนดนี้สามารถยกเว้นได้ โดยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อำเภอใหม่ต้องมีประชากรไม่ต่ำกว่า ๓๕,๐๐๐ คน และต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด ทั้งนี้ การจัดตั้งกิ่งอำเภอและอำเภอ หากพื้นที่นั้นไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ทั้ง ๒ อย่าง แต่มีความจำเป็นพิเศษทางภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครองหรือความมั่นคง เช่น เป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว พื้นที่ปัญหาความสงบไม่เรียบร้อย พื้นที่ชายแดน และพื้นที่ตามโครงการพระราชดำริ กระทรวงมหาดไทยสามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นกรณีพิเศษได้ แต่จะต้องจัดทำประชาคม เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชน หากประชาชนไม่ยินยอมก็จะไม่สามารถดำเนินการต่อได้

อนึ่ง จังหวัดนครราชสีมา แบ่งการปกครองออกเป็น ๓๒ อำเภอ ๒๘๗ ตำบล ๓,๗๔๓ หมู่บ้าน ได้แก่ ๑.อำเภอเมืองนครราชสีมา ๒.คง ๓.ครบุรี ๔) อําเภอจักราช ๕.โชคชัย ๖.ชุมพวง ๗.ดานขุนทด ๘.โนนไทย ๙.บัวใหญ ๑๐.โนนสูง ๑๑.ปกธงชัย ๑๒.ปากชอง ๑๓.พิมาย ๑๔.สีคิ้ว ๑๕.สูงเนิน ๑๖.ประทาย ๑๗.หวยแถลง ๑๘.ขามทะเลสอ ๑๙.ขามสะแกแสง ๒๐.เสิงสาง ๒๑.บานเหลื่อม ๒๒.หนองบุญมาก ๒๓.แกงสนามนาง ๒๔.โนนแดง ๒๕.วังน้ําเขียว ๒๖.เมืองยาง ๒๗.เทพารักษ ๒๘.   พระทองคํา ๒๙.ลําทะเมนชัย ๓๐.เฉลิมพระเกียรติ ๓๑.สีดา และ ๓๒.บัวลาย มีประชากรทั้งหมด ๒,๖๓๔,๒๑๓ (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม ๒๕๖๔)


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๑ ประจำวันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


192 2,558