29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 19,2021

ครม.อนุมัติ‘โคราช-อุดรฯ’ จัด‘มหกรรมพืชสวนโลก’ คาดสะพัด ๕๐,๐๐๐ ล้าน

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้โคราช-อุดรฯ ยื่นขอประมูลสิทธิ์จัดมหกรรมพืชสวนโลก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรส่งเสริมเกษตรกรไทยแลกเปลี่ยนความรู้กับนานาชาติ กระจายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำของเกษตรกร คาดเงินสะพัดกว่า ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท

ตามที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ โดยมีเรื่องการขออนุมัติดำเนินงานโครงการประมูลสิทธิ์งานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ.๒๕๖๙ และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๗๒ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ.๒๕๖๙ (ระดับ B) และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๗๒ (ระดับ A1) ต่อสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ International Association of Horticultural Producers (AIPH) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ สำหรับโครงการประมูลสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ.๒๕๖๙ และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๗๒

สำหรับมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานี (จัดงานระดับ B) มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านพืชสวนของไทยรวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำและสมุนไพร ตลอดจนการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านพืชสวน ในระดับชาติ และระดับนานาชาติ, ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้านธุรกิจ ด้านการนำเข้า-ส่งออก ผลิตผลการเกษตร ธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรมและธุรกิจด้านการบริการด้านต่างๆ, ส่งเสริมการพัฒนาและต่อยอดการเกษตรด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และสร้างจังหวัดอุดรธานีให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านการเกษตรของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง GMS เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต วิจัย และการต่อยอดสู่ BCG Model (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy) เศรษฐกิจชีวภาพ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และระบบเศรษฐกิจสีเขียว สร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ

โดยในงานนี้จะมีการเฉลิมฉลองที่สำคัญของประเทศและจังหวัดอุดรธานี ดังนี้ ๑.ในปี พ.ศ.๒๕๖๙ เป็นปีที่ประชาชนชาวไทยจะมีโอกาสได้ร่วมเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๑๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดมบรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒.สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ ๖ รอบ หรือ ๗๒ พรรษา และ ๓.เฉลิมฉลองการก่อตั้งจังหวัดอุดรธานี ครบ ๑๓๔ ปี โดยกรมพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมพระผู้สถาปนาเมืองอุดรธานี

 

สำหรับเป้าหมายจำนวนผู้เข้าชมงานคาดว่าจะมีประมาณ ๓.๖ ล้านคน (แบ่งเป็นชาวไทยร้อยละ ๗๐ และชาวต่างประเทศ ร้อยละ ๓๐ จำนวนประเทศที่เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า ๒๐ ประเทศ/องค์กร/สมาคม ซึ่งกำหนดจัดงาน ๑๓๔ วัน ระหว่างวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๙ ถึงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๗๐ โดยจัดขึ้นบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พื้นที่รวม ๑,๐๓๐ ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่น้ำ ๔๐๐ ไร่ และพื้นดิน ๖๓๐ ไร่ สำหรับผู้รับผิดชอบโครงการ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดอุดรธานี และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ

ในขณะที่มหกรรมพืชสวนโลกของจังหวัดนครราชสีมา เป็นการจัดงานระดับ A1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความก้าวหน้าด้านพันธุ์พืช เทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตพืชสวน การแปรรูปและผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร การเป็นฐานเกษตร และอาหารที่เข้มแข็งบนพื้นฐานของการพัฒนา รวมทั้งการสร้างสมดุลทางธรรมชาติด้านการวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทย, เพื่อให้เกิดการยกระดับและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสารทางด้านพืชสวนและการเกษตรกับนานาประเทศที่มาร่วมงาน และส่งเสริมให้เกิดการขยายตลาดสินค้าการเกษตรให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนและระดมสมองเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะกลางและระยะยาว และสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ต่างๆ ของประเทศและกับนานาชาติ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญ โอกาสที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมาและประเทศไทย โดยสร้างตัวแบบหลักการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์ตามยุทธศาสตร์ชาติ

สำหรับกิจกรรมการเฉลิมฉลองที่สำคัญของประเทศและจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย ๑.เฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดมบรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชาภิเษก ครบรอบ ๑ ทศวรรษ และเฉลิมฉลองทรงมีพระชนมายุครบ ๗๗ พรรษา ๒.สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ ๗๔ พรรษา ๓.เฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ ๒๐๓ ปี วีรกรรมท้าวสุรนารี และ ๔.เฉลิมฉลองการก่อตั้งจังหวัดนครราชสีมา ครบรอบ ๓๕๕ ปี โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

โดยมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดนครราช สีมา ตั้งเป้าหมายผู้เข้าชมงานจำนวน ๒.๖ ล้านคน โดยร้อยละ ๑๕ เป็นชาวต่างประเทศ มาจาก ๓๐ ประเทศ ซึ่งสถานที่จัดงานอยู่ในพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์โคกหนองรังกา ตำบลเทพาลัย อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๖๗๘ ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดง (Exhibited area) ๕๒๓ ไร่ และพื้นที่จอดรถ (Parking area) ๑๕๕ ไร่ กำหนดจัดงาน ๑๑๐ วัน ระหว่างวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๗๒ ถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๗๓ มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

อนึ่ง การจัดงานพืชสวนโลกทั้งที่จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครราชสีมา จะส่งผลด้านเศรษฐกิจ คือตลอดระยะเวลาในการจัดงานของจังหวัดอุดรธานี มีมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) กว่า ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่า ๘๑,๐๐๐ อัตรา รายได้จากการเก็บภาษีกว่า ๗,๗๐๐ ล้านบาท ซึ่งจะทำให้จังหวัดอุดรธานี เกิดรายได้สะพัดกว่า ๓๒,๐๐๐ ล้านบาท และตลอดระยะเวลาในการจัดงานของจังหวัดนครราชสีมา มีมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) กว่า ๙,๑๖๓ ล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่า ๓๖,๐๐๓ อัตรา และรายได้จากการเก็บภาษีกว่า ๓,๔๒๙ ล้านบาท ซึ่งทำให้จังหวัดนครราชสีมา เกิดรายได้สะพัดกว่า ๑๘,๙๔๒.๖๔ ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศ สามารถเผยแพร่ให้นานาชาติเห็นถึงการพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถี การอยู่ร่วมกันของคนไทยกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเผยแพร่พระราชดำริด้านการเกษตรในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนสู่ประชาคมโลก รวมทั้งยังก่อประโยชน์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ องค์กรนานาชาติ สามารถกระชับความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ และองค์กรนานาชาติ ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมในงานมากกว่า ๒๐ ประเทศ/องค์กร ในขณะที่ด้านสังคม สามารถสร้างงานและกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่และจังหวัดข้างเคียง ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านพืชสวนและการเกษตรให้กับท้องถิ่น เช่น การศึกษาวิจัย รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการต่อยอด ประชาชนชาวไทยจะได้มีโอกาสร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่สำคัญ และลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเมือง

ส่วนด้านการเกษตร จะสามารถแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ สามารถผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐานสากล มีวัฒนธรรมการบริโภคที่มีความหลากหลาย มีศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีที่ล้ำค่า รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชิงอนุรักษ์การเกษตร และในด้านการเพิ่มพูนประสบการณ์และองค์ความรู้ มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับนานาชาติร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อต่อยอดงานวิจัยและการพัฒนาพืชสวนของไทย อันจะเป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เอกชน ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านพืชสวน และรูปแบบการจัดนิทรรศการในประเทศและนานาชาติ เนื่องจากในงานจะเป็นจุดรวมเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านพืชสวนของประเทศที่มาร่วมงาน รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเพื่อร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมด้านพืชสวนต่อไป

สำหรับค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มาของงบประมาณในการจัดงานนั้น ๑.ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มาของงบประมาณการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ.๒๕๖๙ และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๗๒ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้ดำเนินการในขั้นตอนของบประมาณตามกฎหมายต่อไป ๒.สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ได้จัดสรรงบประมาณการประมูลสิทธิ์ที่ได้รับจัดสรรจากงบยุทธศาสตร์ประจำปี ๒๕๖๕ จำนวน ๑๕ ล้านบาท ตามรายละเอียด ดังนี้ ๑.ค่าประกันสิทธิ์ (Financial Guarantee) ในปี ๒๕๖๕ จำนวนเงิน ๑๐ ล้านบาท โดยแบ่งเป็น จังหวัดอุดรธานี จำนวน ๔ ล้านบาท และจังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๖ ล้านบาท ๒.ค่าดำเนินการสำรวจพื้นที่จังหวัดอุดรธานีในเดือนมกราคม และจังหวัดนครราชสีมา ของคณะกรรมการ AIPH (AIPH Site inspection) ในปี พ.ศ.๒๕๖๕ จำนวน ๕ ล้านบาท

ทั้งนี้ สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) แบ่งหมวดหมู่การจัดงานพืชสวนโลกไว้ ๔ ระดับ ดังนี้ ระดับ A1 นิทรรศการพืชสวนโลกขนาดใหญ่ มีรอบการจัด ๑๐ ปีขึ้นไป ใช้ระยะเวลาการจัดงาน ๓-๖ เดือน มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการขั้นต่ำ ๕๐ เฮกตาร์ มีพื้นที่สิ่งก่อสร้างไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่จัดแสดง โดยสงวนพื้นที่ร้อยละ ๕ ไว้สำหรับผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ ซึ่งต้องมีอย่างน้อย ๑๐ ประเทศเข้าร่วมจัดแสดง ส่วนระดับ B นิทรรศการพืชสวนนานาชาติ มีพื้นที่จัดแสดงขนาดเล็กกว่า A1 ใช้เวลาจัดงาน ๓-๖ เดือน มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการขั้นต่ำ ๒๕ เฮกตาร์ ซึ่งแบ่ง ๓% สงวนไว้สำหรับนานาชาติหรือผู้เข้าร่วมจัดแสดง และมีประเทศที่เข้าร่วมจัดแสดงงานอย่างน้อย ๑๐ ประเทศ ระดับ C นิทรรศการจัดแสดงพืชสวนนานาชาติ มีระยะเวลาการแสดง ๔-๒๐ วัน มีพื้นที่การจัดงานอย่างน้อย ๖,๐๐๐ ตารางเมตร โดยสงวนร้อยละ ๑๐ ไว้สำหรับผู้เข้าร่วมจากต่างประเทศ ซึ่งต้องมีอย่างน้อย ๖ ประเทศเข้าร่วมจัดแสดง และระดับ D นิทรรศการค้าพืชสวนนานาชาติ ไม่กำหนดระยะเวลาการจัดงาน โดยนิทรรศกาลจะมุ่งเป้าไปที่ผู้เยี่ยมชม การค้าขาย และส่งเสริมธุรกิจการค้า โดยผู้เข้าร่วมจัดแสดงร้อยละ ๖๐ จะต้องมีส่วนร่วมในด้านพืชสวน และนิทรรศกาลสามารถมีกิจกรรมประชุมหรือสัมมนาได้

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๓ วันพุธที่ ๑๗ - วันอังคารที่ ๒๓ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


1201 2630