22ndSeptember

22ndSeptember

22ndSeptember

 

November 26,2021

‘รถไฟลาว-จีน’ โอกาสและความท้าทายเศรษฐกิจไทย

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โครงการรถไฟลาว-จีน มีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ๒๔๖๔ ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับวันชาติลาว ๒ ธันวาคม ครบรอบ ๔๖ ปีแห่งการสถาปนา สปป.ลาว

แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-๑๙ ยังคงมีอยู่จึงให้บริการเฉพาะใน สปป.ลาว จากนครหลวงเวียงจันทน์ ถึงแขวงหลวงน้ำทา วันละ ๒ เที่ยว เช่นเดียวกับขบวนรถขนส่งสินค้าข้ามประเทศลาว-จีน ที่จะมีวันละ ๒ ขบวนเช่นกัน

เส้นทางรถไฟลาว-จีน มีความยาวรวมทั้งสิ้น ๔๒๒.๔ กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๔๔๙ เริ่มต้นจากนครหลวงเวียงจันทน์ ถึงเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา มุ่งหน้าไปยังเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนานประเทศจีน

ใช้รางขนาด ๑.๔๓๔ เมตร มีสถานีทั้งหมด ๓๒ แห่ง แบ่งเป็นสถานีขนส่งสินค้า ๒๒ แห่ง สถานีรับ-ส่งผู้โดยสาร ๑๐ แห่ง ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์ โพนโฮง วังเวียง กาสี หลวงพระบาง เมืองงา เมืองไซ นาหม้อ นาเตย และบ่อเต็น

ทางรถไฟสายนี้ช่วยย่นเวลาการเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังเมืองบ่อเต็น จากเดิมหากเดินทางด้วยรถยนต์จะใช้เวลาเกือบ ๑ วัน แต่ถ้าเดินทางด้วยรถไฟ ก็จะลดลงมาเหลือเพียงแค่ประมาณ ๓-๔ ชั่วโมงเท่านั้น

สำหรับรถไฟขนส่งผู้โดยสาร เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง Fuxing EMU รุ่น CR200J ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EMU) มีชื่อเรียกขานว่า “ขบวนล้านช้าง” จำนวน ๒ ขบวน ความเร็วสูงสุดที่ให้บริการ ๑๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ใน ๑ ขบวน มีตู้โดยสารรวม ๗ คัน มีที่นั่งรวม ๗๒๐ ที่นั่ง แบ่งขายตั๋วเป็น ๒ ชั้น ตั๋วสำหรับรถไฟชั้น ๑ มี ๔๖ ที่นั่ง ตั๋วชั้น ๒ มี ๖๖๒ ที่นั่ง และมีที่นั่งพิเศษสำหรับคนพิการอีก ๒ ที่นั่ง

ส่วนรถไฟขนส่งสินค้า ใช้หัวรถจักรรุ่น HDX 3CA มีชื่อเรียกขานว่า “ขบวนแคนลาว” ความเร็วสูงสุดที่ให้บริการ ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ละเที่ยวสามารถขนส่งสินค้าได้ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ตัน

ก่อนหน้านี้มีเสียงวิจารณ์ค่าโดยสารที่ออกมาอย่างไม่เป็นทางการว่า “แพงหลาย” โดยพบว่า จากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังบ่อเต็น ถ้านั่งรถไฟ EMU จะเสียค่าโดยสารสูงถึง ๓๒๐,๐๐๐ กีบ หรือประมาณ ๙๘๐ บาท

หรือหากจะนั่งรถไฟ EMU ไปลงที่วังเวียง จะเสียค่าโดยสาร ๙๖,๐๐๐ กีบ หรือประมาณ ๒๙๔ บาท หากไปลงหลวงพระบาง จะเสียค่าโดยสาร ๑๘๗,๐๐๐ กีบ หรือประมาณ ๔๗๔ บาท ซึ่งชาวลาวมองว่า ราคานี้ถือว่า “ไม่ถูกอย่างที่คิด”

แต่จากการให้ข่าวของ นายโพไซ ไขคำพิทูน รองรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว กล่าวในระหว่างการประชุมสำรวจสถานีรถไฟที่แขวงบ่อเต็น ว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องอัตราค่าโดยสารของรถไฟลาว-จีน

แม้ชาว สปป.ลาว อาจจะมองว่าค่าโดยสารไม่ใช่ถูกๆ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะคนไทย ถือว่าราคาพอๆ กับตั๋วเครื่องบินโลว์คอสต์ หลายคนเห็นข่าวนี้ก็อยากจะข้ามแดนไปเที่ยว สปป.ลาวบ้าง

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๔๖๔ นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว กล่าวต่อสมัชชาแห่งชาติว่า ประเทศจำเป็นที่จะต้องพิจารณาขั้นตอนการเปิดประเทศ 

โดยเฉพาะร่างแผนยุทธศาสตร์ในการเตรียมการอย่างครอบคลุม รวมถึงการเริ่มต้นการบริการรถไฟสายลาว-จีน ที่ทั้งสองประเทศตกลงที่จะเปิดเส้นทางรถไฟในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์ อ้างคำกล่าวของ นายสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี หวังว่าโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว จะดึงดูดนักท่องเที่ยวท้องถิ่นได้อย่างน้อย ๑.๙ ล้านคน และชาวต่างชาติกว่า ๑ ล้านคนในปี ๒๔๖๔

ปัจจุบัน สปป.ลาว ยังคงปิดด่านและห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ อนุญาตเฉพาะนักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน เจ้าหน้าที่ และแรงงานต่างประเทศที่จำเป็นเร่งด่วนตามขั้นตอนเท่านั้น

แม้ในด้านการท่องเที่ยวอาจจะยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจน แต่ดูเหมือนว่าด้านการขนส่งสินค้า ผู้ประกอบการก็เตรียมความพร้อมให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างไทย ลาว และจีนด้วยรถไฟกันแล้ว

เช่น บริษัท เก้าเจริญทรานสปอร์ต จำกัด ปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ทดลองขนส่งสินค้า ประเภทเม็ดพลาสติก จากสถานีรถไฟมาบตาพุด จ.ระยอง ไปยังสถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๖๔ 

จากนั้นวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๖๔ ได้ทดลองขบวนรถสินค้าทดสอบ ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับการรถไฟ สปป.ลาว โดยใช้ดินบรรจุถุงจำนวน ๒๔ ตู้ยาว ทำการทดสอบ ๓ รอบ

โดยจะเริ่มส่งออกสินค้าจริงในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๖๔ เริ่มจากขนส่งเม็ดพลาสติกก่อน หลังจากนั้นจะเป็นการขนส่งทุเรียน มังคุด จากจังหวัดระยอง ไปประเทศจีนเพื่อส่งต่อไปยุโรป

นายปัญญา ปะพุธสะโร ประธานบริหาร บริษัท เก้าเจริญเทรนทรานสปอร์ต ระบุว่า ขณะนี้มีภาคธุรกิจขนส่งหลายราย สนใจขนส่งสินค้าทางรถไฟแทนรถยนต์ เพื่อต่อสู้กับปัญหาน้ำมันแพง

โดยเปรียบเทียบการใช้รถเทรลเลอร์ขนส่งสินค้าจากไทยไปจีน จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๔ วัน ส่วนทางเรือจะใช้เวลา ๑๐ วัน แต่ทางรถไฟ จากมาบตาพุดไปลาว ใช้เวลาเพียงแค่ ๑๔ ชั่วโมง และจากลาวไปจีนใช้เวลาประมาณ ๘ ชั่วโมง

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบการส่งสินค้าด้วยรถไฟครั้งหนึ่ง ขนสินค้า ๑ หัวจักร ประมาณ ๓๐-๖๐ ตู้ ใช้คนขับ ๒ คัน แต่ถ้าไปรถยนต์จะใช้รถประมาณ ๓๐-๖๐ คัน ช่วยลดค่าน้ำมัน และลดอุบัติเหตุทางถนน

ปัญหาก็คือ การรถไฟฯ ไม่คาดคิดว่าจะใช้งานเยอะขนาดนี้ และเมื่อผลประกอบการขาดทุน พอไม่มีงบลงทุนก็พัฒนาพื้นที่ลานเก็บกองสินค้า (คอนเทนเนอร์ยาร์ด) ไม่ได้ เอกชนต้องช่วยการรถไฟฯ ทำพื้นที่ เทปูน ปรับพื้นเอง

ทราบมาว่า ทางรัฐบาลให้ความสำคัญกับการเปิดเดินรถไฟลาว-จีน โดยมีคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) วางกรอบแนวทางการพัฒนาเอาไว้

โดยระยะเร่งด่วน จะบริหารจัดการใช้ทางรถไฟข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๑ (หนองคาย) ไปยังสถานีท่านาแล้ง โดยจะเพิ่มความถี่การเดินรถไฟใช้หัวลาก ๑๔ ตันต่อเพลา รวมทั้งจัดเวลาการเดินรถไฟใหม่ลดความแออัด

พร้อมกันนี้ยังเตรียมความพร้อมกระบวนการและพิธีการศุลกากร จัดซื้อระบบตรวจสอบตู้สินค้าด้วยเอ็กซเรย์แบบเคลื่อนที่ พัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีหนองสองห้อง จ.หนองคาย ๔๐ ไร่ เป็นจุดพักคอยของรถบรรทุกสินค้าขาออก

สำหรับสถานีรถไฟหนองคาย จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าขาเข้าและปรับพื้นที่ เพื่อตั้งเป็นโรงพักสินค้า เพื่อจัดเก็บตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรในระยะเร่งด่วน 

ส่วนแผนระยะยาว จะเร่งเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทยให้สมบูรณ์ อีกทั้งมีแผนจะก่อสร้างสะพานแห่งใหม่สำหรับการขนส่งระบบราง แยกจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๑ และพัฒนาศูนย์ขนถ่ายสินค้านาทา จ.หนองคาย 

แม้รถไฟจีน-ลาวจะช่วยส่งเสริมทางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน แต่ผู้ประกอบการไทยจะต้องรับมือกับ “สินค้าจีน” ที่มีจุดเด่นเรื่องราคาถูก หลั่งไหลเข้ามาตีตลาด ในบ้านเรา และแข่งขันกับสินค้าไทยในตลาด สปป.ลาว แต่ในทางกลับกัน สินค้าไทยโดยเฉพาะ “ผลไม้ไทย” ซึ่งเป็นทีต้องการในตลาดจีน ก็จะส่งออกง่ายขึ้น จากเดิมขนส่งทางเรือใช้เวลา ๗-๑๐ วัน แต่หากขนส่งทางรถไฟจะใช้เวลาเร็วกว่า และต้นทุนการขนส่งถูกกว่าอีกด้วย

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว หาก สปป.ลาว เปิดประเทศ คาดว่านักท่องเที่ยวไทยจะไปเที่ยวลาว โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่างวังเวียง และหลวงพระบางได้สะดวกขึ้น เพราะเร็วกว่านั่งรถโดยสาร และราคาถูกกว่าขึ้นเครื่องบิน

ส่วนฝั่งไทย ธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มบริการสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล นวดแผนไทย หรือสถานเสริมความงาม ส่วนกลุ่มห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และโรงแรม จะมีชาว สปป.ลาวที่มีกำลังซื้อจากต่างแขวงมามากขึ้น

คงต้องรอสัญญาณจากรัฐบาล สปป.ลาว ว่า จะเปิดประเทศเมื่อไหร่ ถึงตอนนั้นคนไทยที่มีกำลังซื้อ และสนใจในมนต์เสน่ห์หลวงพระบาง มรดกโลก จะได้มีโอกาสทดลองนั่งรถไฟลาว-จีนสักครั้ง

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๔ วันพุธที่ ๒๔ - วันอังคารที่ ๓๐ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


829 1,503