November 27,2021
ซีอีโอ‘นกแอร์’ย่องเยือนสนามบินโคราช หารือลับเปิดเส้นทาง
หลังมีแผนจะเปิดบินกลางปีหน้า เส้นทางโคราช-เชียงใหม่ หาดใหญ่ หรือภูเก็ต “ซีอีโอนกแอร์” รุดมาตรวจสอบและหารือผู้บริหารท่าอากาศยานฯ ย้ำขออนุญาตเปิดเส้นทางบินไม่ยาก แต่ขอลดภาษีต่างๆ รวมทั้งขอความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกอื่นๆ ด้าน “ผู้ว่าฯ วิเชียร” พร้อมสนับสนุนเต็มที่ เสนอให้นำเครื่องบินขนาด ๗๒ ที่นั่งมาบริการและค่าโดยสารที่คนโคราชยอมรับได้
ตามที่ “โคราชคนอีสาน” นำเสนอข่าวกรณีบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) นำโดยนายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) มีแผนเปิดเส้นทางการบินเส้นทางในประเทศโดยเฉพาะในเมืองรองต่างๆ ซึ่งมีเส้นทางบินในจังหวัดนครราชสีมารวมอยู่ด้วยนั้น ในช่วงกลางปี ๒๕๖๕ ใน ๒ เส้นทางการบิน ได้แก่ เส้นทางนครราชสีมา-เชียงใหม่ และเส้นทางนครราชสีมา-หาดใหญ่ หรือภูเก็ต ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณา เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางทางการบินเชื่อมไปยังภาคเหนือและภาคใต้ เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางด้วยรถจากภาคอีสานไปยังภาคใต้ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๑๓ ชั่วโมง โดยคาดว่าการเปิดจุดบินครั้งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้โดยสาร เพราะจะอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารจากนครราชสีมา ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก ไม่ต้องนั่งรถมายังดอนเมือง เพื่อต่อเครื่องไปยังภาคเหนือ หรือภาคใต้ สามารถใช้บริการที่สนามบินนครราชสีมาได้เลย ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีความต้องการเดินทางหลายร้อยคนต่อวัน และในเดือนธันวาคมนี้ นกแอร์ยังได้นำเข้าเครื่องบินจำนวน ๖ ลำเพื่อมาบริการด้วยนั้น
นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ซีอีโอนกแอร์ พร้อมนายประวัติ ดวงกันยา อดีต ผอ.ท่าอากาศยานนครราชสีมา เดินทางมายังท่าอากาศยานนครราชสีมา โดยมีนายเสกสรรค์ ขวัญวงศ์ รักษาราชการแทนผอ.ท่าอากาศยานนครราชสีมา ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
ต่อมาในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ เดินทางมายังท่าอากาศยานนครราชสีมา พร้อมด้วยนายประวัติ ดวงกันยา อดีตผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา (เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการท่าอากาศยานลำปาง) เพื่อหารือในด้านต่างๆ โดยมีนายเสกสรรค์ ขวัญวงศ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา ให้การต้อนรับและสรุปข้อมูลของท่าอากาศยานนครราชสีมาให้รับทราบ ซึ่งการเดินทางมาของนายวุฒิภูมิในครั้งนี้ไม่เป็นที่เปิดเผย
ทั้งนี้ ภายหลังการมาเยือนมีรายงานข่าวว่า นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ต้องกลับไปพิจารณาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะด้านค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบิน เช่น ค่าวิทยุการบิน ค่าเช่าสำนักงาน ภาษีสนามบิน ภาษีสรรพสามิต ค่าขึ้นลงเครื่องบิน ค่าจอดเครื่องบิน เป็นต้น ซึ่งต้องการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องลดค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ เหล่านี้ให้ด้วย นอกจากนี้ ยังต้องการพันธมิตรในการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการเดินทางรับ-ส่งเชื่อมต่อไปสนามบินและเข้ามายังตัวเมือง การเดินทางไปยังจุดท่องเที่ยว เช่นไปเขาใหญ่ หรือไปยังจังหวัดอื่นและสถานที่อื่นๆ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ การจัดโปรโมชั่นของสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม รถเช่า กิจกรรม Indoor/outdoor และกิจกรรมอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องการประชาสัมพันธ์กับท้องถิ่นที่จะไปบินด้วย
ในขณะที่ในด้านความพร้อมของสายการบินนกแอร์ก็ต้องดำเนินการในเรื่องด้านระบบการซื้อขาย การเช็คอินที่ท่าอากาศยาน เตรียมบุคลากร ตรวจระบบความปลอดภัย ประสานกับผู้ที่จะจัดสรรน้ำมันที่ท่าอากาศยานโคราช เป็นต้น ส่วนเรื่องการขออนุญาตในการเปิดเส้นทางบินนั้นนายวุฒิภูมิระบุว่าเป็นเรื่องไม่ยาก
นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์
ล่าสุดวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ “โคราชคนอีสาน” สัมภาษณ์นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ถึงกรณีที่นกแอร์มีความสนใจจะเปิดเส้นทางบินโคราช โดยนายวิเชียรไม่ทราบว่าซีอีโอสายการบินนกแอร์มาเยือนท่าอากาศยานนครราชสีมา
“ทางจังหวัดพร้อมที่จะช่วยเหลือ ขอให้มีข้อเสนอมา ที่สำคัญคือเรื่องราคาค่าตั๋ว ครั้งที่แล้วที่คุยกับบางกอกแอร์เวย์ส หลังจากที่นิวเจน แอร์เวย์สหยุดบินแล้ว ที่จะใช้สนามบินกองบิน ๑ มีการเจรจาจนใกล้จะจบแล้ว แต่ตกลงกับบางกอกแอร์เวย์ส ไม่ได้ เพราะคิดราคาค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับขอนแก่น-กรุงเทพฯ เขาก็คิดว่าราคาต้องประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าบาท ซึ่งคนโคราชหลายคนรับไม่ได้ ทำให้การดิวในครั้งนั้นจบไป หากในครั้งนี้นกแอร์ตั้งราคาค่าตั๋วโดยสารที่คนโคราชรับได้ จะให้ทางจังหวัดช่วยเรื่องภาษีน้ำมัน และเรื่องอื่นๆ น่าจะได้ ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ผมคิดว่า ทางส่วนกลางก็น่าจะช่วยผลักดันได้เช่นกัน” นายวิเชียร กล่าว
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า “สำหรับค่าโดยสารที่เหมาะสมหากบินจากโคราชไปเชียงใหม่หรือภูเก็ตนั้น ผมไม่รู้ว่าราคาควรเท่าไหร่ แต่คิดว่า ไม่ควรจะเกินจากที่บินจากขอนแก่นไปยังเส้นทางต่างๆ ที่เขาระบุมา เพราะที่ขอนแก่นมีราคานี้บินอยู่ หรือถึงจะเกินก็ไม่ควรมากเกินไป เพราะเที่ยวบินเราน้อยกว่า ผมว่าถ้าราคาใกล้ๆ กับบินจากขอนแก่นไปจะทำให้คนโคราชรับได้”
“ส่วนประเด็นที่มีผู้คนติงว่า สนามบินโคราชตั้งอยู่ไกลนั้น ในส่วนของสายการบินไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสนามบินอยู่ไกล คราวที่นิวเจนฯ เรามีจุดเช็คอินในเมือง เมื่อไปถึงก็ขึ้นเครื่องเลย ไม่ต้องรอนาน ซึ่งจุดเช็คอินในเมือง ห้างต่างๆ ถ้าทางจังหวัดพูด เขาก็ยินดีที่จะเสนอตัวเป็นจุดเช็คอิน และเมื่อถึงเวลานั้น ก็มีการจัดรถตู้บริการไปส่งที่สนามบิน และขากลับก็มีรถตู้รับกลับเข้ามาในเมือง ซึ่งหากค่าบริการรถตู้ไม่แพงก็เป็นการอำนวยความสะดวกได้ โดยคราวที่นิวเจนฯ บิน ซึ่งผมรู้เรื่องละเอียดมาก นิวเจนฯ ไม่ได้พูดเรื่องสายการบินอยู่ไกล ส่วนกรณีที่มีประชาชนบ่นว่า สนามบินตั้งอยู่ไกล ทำไมไม่ย้ายมากองบิน ๑ นั้น จริงๆ แล้ว คนที่จะบินไม่พูดว่าสนามบินตั้งอยู่ไกล เพราะจากที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปต้อนรับผู้โดยสารหลายเที่ยวบิน ก็ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ คือช่วงแรกมีการพูดว่า บินมาถึงแล้วไม่มีรถแท็กซี่เข้ามาในเมือง แต่เมื่อเอาแท็กซี่ไปรอประมาณ ๕-๖ คัน กลับไม่มีคนขึ้น ทุกคนมีรถส่วนตัวกันหมด ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้สนามบินไม่ไกล เพราะว่า รถไม่ติด เป็นถนนสี่เลน และขับรถค่อนข้างสะดวก ส่วนที่มีคนข้างนอกวิจารณ์ว่าจะให้ใช้กองบิน ๑ นั้น เรื่องนี้ต้องบอกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าเราต้องไปอธิบายเขาเยอะมาก และกองบิน ๑ ก็มีเครื่องบิน F-16 และมีความสำคัญทางด้านการทหาร ทำให้ไม่สามารถอนุญาตให้ใช้เป็นสนามบินพาณิชย์ได้” นายวิเชียร กล่าว
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
นายวิเชียร จันทรโณทัย เปิดเผยอีกว่า “หากมีสายการบินที่สนใจมาเปิดเส้นทางบิน ทางจังหวัดสามารถอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ ได้ แม้สนามบินจะอยู่ไกลแต่ก็ไม่ให้ลำบาก ขอให้มาบิน ซึ่งในช่วงหลังไม่ได้คุยกับสายการบินใด เพราะว่าบางบริษัทมาติดต่อแล้วก็หายไป
เมื่อถามว่า เส้นทางบินโคราช-กรุงเทพฯ ยังมีความจำเป็นหรือไม่ นายวิเชียร เปิดเผยว่า “ผมคิดว่าโคราช-กรุงเทพฯ อาจจะไม่จำเป็นแล้ว เพราะค่าใช้จ่ายในการบินแต่ละเที่ยวค่อนข้างสูง ส่งผลถึงค่าโดยสารด้วย เพราะการเทคออฟแต่ละครั้งก็ไม่ต่างกับขอนแก่นมาก ผมคิดว่าคนโคราชนิยมใช้รถยนต์ในการเดินทางไปกรุงเทพฯ มากกว่า แต่คิดว่า เส้นทางการบินไปยังเชียงใหม่ และภูเก็ตมีความเหมาะสม น่าจะลองบินในสองเส้นทางนี้ก่อน”
“ผมมีข้อสังเกตว่า หากเป็นไปได้คือ นกแอร์มีเครื่อง ATR ขนาด ๗๒ ที่นั่ง เพราะหากบินลำใหญ่ค่าใช้จ่ายก็มาก ซึ่งในการบินช่วงแรกๆ จำเป็นที่จะต้องให้ผู้โดยสารรู้ว่ามีการเปิดบริการในเส้นทางต่างๆ ก่อน หากบินเครื่อง ATR ไปสักระยะหนึ่ง แล้วมีผู้นิยมมากขึ้นจึงค่อยเปลี่ยนเป็นลำใหญ่ จะสามารถทำให้อยู่รอดได้ ซึ่งคราวนิวเจนฯ ใช้เครื่องบินลำใหญ่ เพราะไม่มีลำเล็ก จึงทำให้เกือบทุกเที่ยวบิน มีผู้โดยสารไม่ถึง ๕๐% คือประมาณ ๗๐ ที่นั่ง (ทั้งลำประมาณ ๑๔๐ ที่นั่ง) แต่ถ้านำเครื่อง ATR ขนาด ๗๒ ที่นั่งมาใช้ แต่ละเที่ยวน่าจะมีผู้โดยสารประมาณ ๕๐-๖๐ ที่นั่ง คือประมาณ ๗๐-๘๐%” นายวิเชียร กล่าว
นายวิเชียร กล่าวย้ำในท้ายสุดว่า “จังหวัดนครราชสีมามีความต้องการให้มีสายการบินพาณิชย์มาเปิดเส้นทางบิน ซึ่งโคราชน่าจะมีการพัฒนาในเรื่องนี้ เพราะเรามีสนามบินและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ พร้อมแล้ว หากต้องการมาบินก็สามารถมาพูดคุยกันได้ ทางจังหวัดพร้อมจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกกับส่วนราชการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางส่วนกลางหรือที่อื่นๆ เราจะเป็นผู้ปฏิบัติและทุ่มเทตามที่บริษัทต้องการ”
นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๗๐๔ ประจำวันพุธที่ ๒๗ - วันอังคารที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๔
71 1,679