11thOctober

11thOctober

11thOctober

 

December 04,2021

ชาวบ้านขอความยุติธรรม ซื้อที่ดินแต่ไม่ได้อยู่อาศัย รัฐช่วยจนกว่าจะได้โฉนด

ยุติธรรมจังหวัด ยื่นมือช่วยชาวชุมพวงเดือดร้อนหนัก ถูกไล่ที่หลังซื้อที่ดินไม่ได้แบ่งโฉนด ธนาคารยึดขายทอดตลาด หลังเจรจาเจ้าของที่ดิน คนใหม่ยอมไกล่เกลี่ย มอบที่ดินส่วนหนึ่งให้อยู่อาศัย ย้ำกระบวนการยังไม่สิ้นสุด จะช่วยจนกว่าจะได้โฉนดคืน


สืบเนื่องจาก ประชาชนบ้านโคกกุงน้อย ตำบลท่าลาด อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๗ ครอบครัว ขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากเคยทำสัญญาซื้อที่ดินแต่ไม่ได้แบ่งโฉนด ต่อมาที่ดินแปลงดังกล่าวถูกยึดไปขายทอดตลาด เป็นเหตุให้เดือดร้อนเพราะถูกไล่ออกจากที่ดิน

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๖.๐๐ น. ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครราชสีมา

ให้สัมภาษณ์ “โคราชคนอีสาน” ถึงการช่วยเหลือทางกฎหมาย ว่า “เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ โดยมีชาวบ้าน ๗ ครอบครัว อำเภอชุมพวง ไปซื้อที่ดินในราคา ๔-๗ หมื่นบาทต่อครอบครัว แต่เจ้าของเดิมยังไม่ได้โอนให้ แต่เสียชีวิตก่อน ซึ่งที่ดินผืนนี้ไปติดจำนองกับ ธ.ก.ส.ธนาคารการเกษตรฯ ซึ่งทายาทเจ้าของที่ดินไม่ได้ดำเนินการต่อกับธนาคาร ทำให้ถูกบังคับขายทอดตลาด เรื่องจึงยุ่งเข้าไปอีก โดยคนที่มาซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดก็เป็นคนในหมู่บ้าน และได้ขอให้ ๗ ครอบครัวนี้อย่าไปคัดค้านในการขายทอดตลาด เมื่อไม่มีการคัดค้านจึงทำให้การซื้อขายสมบูรณ์ ชาวบ้าน ๗ ครอบครัวจึงไม่ได้รับความเป็นธรรม จากนั้นเดือนกันยายน ๒๕๖๓ ชาวบ้านกลุ่มนี้เดินทางมายื่นเรื่องขอความช่วยเหลือจากสำนักงานยุติธรรมจังหวัดฯ จึงนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการกองทุนยุติธรรม หรืออนุกรรมการให้ความช่วยเหลือจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นประธาน โดยขั้นตอนต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบว่า ๗ ครอบครัวนี้เข้าหลักเกณฑ์ของกองทุนยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งคนที่มาขอเข้ากองทุนฯ จะต้องมีฐานะยากจน มีหนี้สิน มีพฤติการณ์ต่างๆ ที่บ่งบอกว่า ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้”

นายวิเชียร ไชยสอน ยุติธรรมจังหวัดนครราชสีมา 

“สำนักงานยุติธรรมจังหวัดฯ จึงนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการอนุมัติเงินจำนวน ๓ หมื่นบาท เพื่อจ้างทนายความมาต่อสู้คดี โดยสู้ในประเด็นการครอบครองปรปักษ์ เมื่อคดีเข้าสู่ชั้นศาลปรากฏว่า คู่กรณีทั้ง ๗ ราย และเจ้าของที่ดินรายใหม่ สามารถตกลงกันได้ ศาลจึงออกสัญญาประนีประนอมยอมความให้ โดยเจ้าของที่ดินคนใหม่ยินดีที่จะตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับชาวบ้านทั้ง ๗ ครอบครัว เนื่องจากที่ดินที่ซื้อมาเป็นแปลงใหญ่ เจ้าของที่ดินจะต้องไปรังวัดที่ดินภายใน ๑ เดือน นับตั้งแต่วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ และชาวบ้านทั้ง ๗ ครอบครัวได้ตกลงที่จะจ่ายเงินให้กับเจ้าของที่ดินรายละ ๑ หมื่นบาท โดยเงินจำนวนเงินนี้สามารถชำระจ่ายได้ภายใน ๑ ปี เมื่อชาวบ้านกลุ่มนี้ได้รับโฉนดแล้ว จะต้องย้ายออกจากที่เดิมภายใน ๑ เดือน ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานยุติธรรมจังหวัดฯ ได้ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านกลุ่มนี้มาโดยตลอด หากมีการรังวัดที่ดิน ก็จะมีเจ้าหน้าที่สำนักงานยุติธรรมฯ ลงไปสังเกตการณ์ด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าชาวบ้านจะได้รับโฉนดที่ดิน และได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง”

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า “ในส่วนความคืบหน้าของคดีนี้ ขณะนี้กำลังรอให้เจ้าของที่ดินไปรังวัดที่ดิน โดยมีกำหนดถึงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ แต่ถ้าเจ้าของที่ดินไม่ไปรังวัด ชาวบ้านทั้ง ๗ ครอบครัว สามารถไปรังวัดเองได้ทันที โดยนำคำพิพากษาไปยื่นที่สำนักงานที่ดินอำเภอ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ดินก็สามารถรังวัดให้ได้ เพื่อนำไปออกโฉนดที่ดินต่อไป ในกรณีที่ชาว้บานดำเนินการมีอุปสรรค สำนักงานยุติธรรมจังหวัดฯ ก็จะลงไปช่วยให้คำแนะนำและช่วยดูแล สำหรับชาวบ้านทั้ง ๗ ครอบครัวที่จะต้องย้ายออกจากที่ดินเดิม เจ้าของที่ดินได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งชองที่ดินในแปลงเดียวกันให้ เพราะที่ดินที่ซื้อมาเป็นแปลงใหญ่ โดยพื้นที่นั้นขณะนี้ใช้ทำนา มีทางสาธารณะเข้าถึง ขณะนี้ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว จะติดต่อให้เจ้าหน้าที่ที่ดินเข้ามารังวัด เพื่อออกโฉนดให้ชาวบ้านต่อไป ซึ่งกระบวนการยังไม่สิ้นสุด พร้อมจะช่วยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้โฉนด”

“สำหรับชาวบ้านที่ต้องการเข้ามาขอความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประกันตัวจากการตกเป็นจำเลย สามารถนำเรื่องเข้ากองทุนยุติธรรมได้ โดยมีหลักเกณฑ์ง่ายๆ คือ ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ เช่น มีฐานะยากจน จะต้องมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยกองทุนฯ จะช่วยเหลือในการจ้างทนายความต่อสู้คดี และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการต่อสู้คดีก็สามารถเบิกกับกองทุนได้ทั้งหมด แม้แต่การเดินทางมาขึ้นศาลก็เบิกได้ นอกจากนี้ ในกรณีที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ์โดยไม่เป็นธรรม เช่น การจับกุมที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ก็สามารถมายื่นขอความช่วยเหลือที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดฯ ได้เช่นกัน และที่สำคัญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสถาบันการศึกษา สามารถทำโครงการขอสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมได้ โดยประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ศูนย์ยุติธรรมชุมชน ทั้ง ๓๓๐ แห่ง ในจังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่เทศบาลตำบล และ อบต. หากต้องการให้รวดเร็วก็ติดต่อมาที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดได้โดยตรง” นายวิเชียร กล่าว

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับประจำวันพุธที่ ๑ - วันอังคารที่ ๗ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


66 1,609