29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

December 31,2021

‘บจธ.’มอบสิทธิที่ดินเกษตรกรพิมาย ชูโมเดลบริหารจัดการที่ดินโคราช ผลักดันกม.จัดตั้งหน่วยแก้ปัญหายั่งยืน

บจธ.มอบสิทธิที่ดินทำกินเกษตรกรวิสาหกิจช่องโคพัฒนา อ.พิมาย พร้อมชูโมเดลบริหารจัดการที่ดินโคราช พร้อมขอบคุณ “บิ๊กป้อม” หลังสั่ง บจธ.ดูแลช่วยเหลือสมาชิกเกษตรกรทุกพื้นที่ พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนกฎหมายการจัดตั้งหน่วยงาน เพื่อให้แก้ปัญหาที่ดินอย่างยั่งยืน

วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๔ ณ ณ โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โคราช สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. แถลงข่าว โดยมีนายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการ บจธ. เป็นผู้แถลง และนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ ทั้งนี้เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานพื้นที่ต้นแบบโครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนเพื่อยืนยันถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ถาวรภายใต้ร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. .... ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนมกราคม ๒๕๖๕ เป็นที่มาของจัดงาน “บจธ.มอบที่ดินทำกิน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โดยพิธีมอบสิทธิในที่ดินตามโครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน ของ บจธ. จัดขึ้น ณ วิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เพื่อแสดงให้เห็นความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาที่ดินและการบริหารจัดการที่ดินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นรูปธรรม  โดยมีเกษตรกรทั้งที่ได้รับสิทธิในที่ดินแล้ว และที่อยู่ระหว่างขอความช่วยเหลือเข้าร่วมงานประมาณ ๓๐๐ คน 

ช่วยเกษตรกรพึ่งตนเองได้

นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนายการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บจธ.มุ่งมั่น ลดความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดินทำกิน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางให้เกษตรกรในการทำการเกษตร ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และพัฒนาศักยภาพให้เกษตรกร บจธ. มีภารกิจที่สำคัญในการจัดหาและพัฒนาที่ดิน โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพี่น้องเกษตรกรและชุมชน ให้พึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งปัจจุบัน บจธ.ได้ช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไปแล้ว ๑๑ พื้นที่ และสหกรณ์การเกษตร ๑ พื้นที่ ครอบคลุมทั้ง ๕ ภาค ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ เนื้อที่รวม ๑,๒๓๔–๒-๑๗.๗ ไร่ จำนวน ๔๘๒ ครัวเรือน และยังมีโครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินไปแล้ว ๓๘๗ ราย โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง ๕ ชุมชน เนื้อที่ ๗๔๑-๓-๙๑.๕ ไร่ จำนวนเกษตรกร ๕๐๐ ครัวเรือน โดยทุกชุมชนมีผลการดำเนินงานก้าวหน้าเป็นที่น่าชื่นชมมาก เกษตรกรทุกพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลังจากได้ติดตามรับฟังเสียงพี่น้องและบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ทุกคนต้องการให้ บจธ. แก้ปัญหาให้ทั่วประเทศ และพร้อมสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติฯ ให้จัดตั้งหน่วยงาน เพื่อให้แก้ปัญหาการเข้าถึงที่ดินได้ที่รวดเร็วและต่อเนื่อง”

แลกเปลี่ยนเรียนรู้

ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกันมีการจัดเวทีเสวนา “ย้อนเรื่องราวความหลัง ความฝัน และความจริง สู่ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. ....” ณ วิสาหกิจชุมชนไร่นาส่วนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา มีการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร บุคคลทั่วไป หน่วยงานในพื้นที่ และ บจธ. ได้ชวนคิดชวนคุยถึงร่างกฎหมายจากโมเดลสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่พิมาย จากนั้นร่วมชมวิดีทัศน์เกี่ยวกับนโยบายและบทบาทภารกิจของธนาคารที่ดินหรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทํานองเดียวกันกับธนาคารที่ดิน และ บจธ. เพื่อสร้างความรับรู้ และสร้างภาคีความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้การดำเนินการในการพิจารณาร่างกฎหมายสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ทุกชุมชนดำเนินการก้าวหน้า

โดยพล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานกรรมการ บจธ. เปิดเผยว่า บจธ.ภายใต้การกำกับดูแลของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีความห่วงใยเกษตรกรและผู้ยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกินทั่วประเทศ โดยได้สั่งการให้ บจธ. ดำเนินการติดตามผลการดำเนินงาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน และจัดหาตลาดนัดชุมชนให้แก่ทุกวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการของ บจธ. โดยปัจจุบันทุกชุมชนมีผลการดำเนินงานก้าวหน้าเป็นที่น่าชื่นชมมาก เกษตรกรทุกพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลังจากได้ติดตามรับฟังเสียงพี่น้องและบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ทุกคนต้องการให้ บจธ.แก้ปัญหาให้ทั่วประเทศ และพร้อมสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. .... ให้จัดตั้งหน่วยงาน เพื่อให้แก้ปัญหาการเข้าถึงที่ดินได้ที่รวดเร็วและต่อเนื่องยิ่งขึ้น

ภูมิใจรายได้ต่อครัวเรือนสูงขึ้น

นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการ บจธ. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน หลังจากที่ บจธ.ได้สนับสนุนที่ดินทำกินให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์การเกษตร อบรมปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการทุกคน เพื่อให้กลุ่มมีระบบบริหารจัดการกลุ่มที่เข้มแข็ง โดยดำเนินการจัดหาที่ดินด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามที่กลุ่มร้องขอความช่วยเหลือ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดจำหน่าย และประสานการจัดตลาดนัดชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพียงพอในช่วงการระบาดโควิด-๑๙ ผ่านระยะเวลามาเพียง ๑ ปี มีผลตอบรับที่ดี ทุกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการของ บจธ. สามารถสร้างรายได้รายครัวเรือนจากผลผลิตที่ปลูกในชุมชนได้เดือนละไม่ต่ำกว่า ๖,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท/ครัวเรือน กลุ่มสามารถผ่อนชำระค่าเช่าของ บจธ. ได้อย่างสบาย ส่งผลให้ให้สมาชิกในชุมชนสามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในช่วงของภาวะวิกฤตของเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ โดยเวทีเสวนาครั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานพื้นที่ต้นแบบโครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนเพื่อยืนยันถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ถาวรภายใต้ร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนมกราคม ๒๕๖๕

 ‘ช่องโคพัฒนา’ สมาชิกเข้มแข็ง 

“การจัดเวทีชาวบ้านชวนคิดชวนคุยเสวนาถึงร่างกฎหมายจากโมเดลสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่วิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา ตำบลรังกาใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการเสวนา รวมแล้วกว่า ๑๕๐ คน โดยเป็นการเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของเกษตรกรที่เคยไร้ที่ดินทำกิน คนยากจน เกษตรกรที่เคยได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองบางปะอิน-นครราชสีมา ที่อยู่ในโครงการดังกล่าว ซึ่งได้มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ยื่นเรื่องของความช่วยเหลือมายัง บจธ. เนื้อที่รวม ๑๕๐ ไร่เศษ สมาชิก ๔๕ ครัวเรือนฯ เป็นระยะเวลา ๒ ปี สมาชิกมีความเข้มแข็ง ให้ความร่วมมือในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้เต็มศักยภาพ พื้นที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน และมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่จนเกิดผลผลิตและสามารถสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนได้ ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบ หรือตัวอย่างความสำเร็จ (Best Practice) ของการดำเนินงานของ บจธ. เป็นที่มาของจัดงาน “บจธ. มอบที่ดินทำกิน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โดยพิธีมอบสิทธิในที่ดินตามโครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน ของ บจธ. จัดขึ้น ณ วิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เพื่อแสดงให้เห็นความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาที่ดินและการบริหารจัดการที่ดินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นรูปธรรม สร้างความรับรู้ และสร้างภาคีความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้การดำเนินการในการพิจารณาร่างกฎหมายสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยมีเกษตรกรทั้งที่ได้รับสิทธิในที่ดินแล้ว ส่วนราชการจังหวัด และตัวแทนกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ระหว่างขอความช่วยเหลือพื้นที่ภาคอีสานอีก ๑๓ แห่ง เข้าร่วมงานประมาณ ๓๐๐ คน” ผู้อำนวยการ บจธ. กล่าว

“บิ๊กป้อม” มอบสิทธิที่ดินทำกิน

ล่าสุดวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ที่ทำการวิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบสิทธิในที่ดินทำกินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “โครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนของ บจธ. ให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิในที่ดินและอยู่ระหว่างขอความช่วยเหลือจำนวน ๓๐๐ คน โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ครอบครัวรัตนเศรษฐ นำโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.เขต ๗ นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส. เขต ๘ ซึ่งทั้ง ๓ คน ถูกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายอภิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.เขต ๑ ทั้งนี้ มีนายวิเชียร จันทร โณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นางยลดา หวังศุกกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา รวมทั้งผู้แทนส่วนราชการ และผู้นำชุมชนมาต้อนรับอย่างคับคั่ง

บจธ.แก้ปัญหาที่ดินเกษตรกร

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บจธ.เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินภารกิจกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนในการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดินจากการจำนอง ขายฝากตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงที่ดินทำกินเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการตามภารกิจของ บจธ. ทุกโครงการจะน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยเป็นหลักในการพัฒนาที่ดินในโครงการเดินทางต่อได้ เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่ที่อาศัยที่ทำกินยั่งยืนต่อไป

ภารกิจลดความเหลื่อมล้ำที่ดินทำกิน

อนึ่ง สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีวัตถุประสงค์ในการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน และมีการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสม โดย บจธ.ดำเนินงานผ่าน ๔ โครงการหลัก กล่าวคือ โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร โครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน และโครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ อันเป็นกลไกของรัฐในการบริหารจัดการที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและผู้ยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องที่ดินทำกินของประเทศ ตลอดจนให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการมีที่ดินทำกิน ป้องกันและแก้ไขปัญหาสูญเสียสิทธิในดินทำกินของเกษตรกร รักษาที่ดินเกษตรกรรม และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มศักยภาพเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และอีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือการผลักดันการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ลักษณะทำนองเดียวกันกับธนาคารที่ดิน ตามความในมาตรา ๖ แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมให้กระทรวงการคลังและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารที่ดินต่อคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ ซึ่ง บจธ. ได้ยกร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. .... ขึ้น เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภารกิจของ บจธ. ทั้ง ๔ โครงการหลักดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมาจากการปฏิบัติงานจริงของ บจธ. ซึ่งได้ถูกขัดเกลาด้วยการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม โดยมีการปรับรูปแบบและอำนาจหน้าที่ให้มีความเหมาะสมและสะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาโดยยึดมิติทางสังคมเป็นหลักไม่ใช่มิติด้านการเงินการธนาคารอย่างที่ผ่านมา

เสนอร่างพ.ร.บ.

ทั้งนี้ ในการยกร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. .... บจธ. ได้ดำเนินการโดยนำข้อมูลการปฏิบัติงานในโครงการต่างๆ มาวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลเพื่อยกร่างกฎหมายที่มีความเหมาะสมกับภารกิจในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนตามบริบทของประเทศไทย และในขณะยกร่างคณะอนุกรรมการที่ดำเนินการได้ลงพื้นที่การปฏิบัติการจริงของ บจธ. ที่จังหวัดเชียงรายเพื่อเก็บข้อมูลประกอบการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย โดยในขณะนี้ขั้นตอนการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ในระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม ๒๕๖๕ ซึ่ง บจธ.ในฐานะที่มีหน้าที่ต้องผลักดันร่างกฎหมายเพื่อให้เกิดการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกันกับธนาคารที่ดิน 

โคราช’ต้นแบบจัดการที่ดิน

โดยหนึ่งในโครงการที่ บจธ. ได้พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการที่ดินที่สอดคล้องกับร่างกฎหมายดังกล่าว คือ โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร ที่เกษตรกรรวมกลุ่มกันยื่นขอความช่วยเหลือ จากนั้น บจธ.จึงเริ่มต้นสำรวจข้อมูลที่ดิน ข้อมูลเกษตรกรผู้เดือดร้อนไม่มีที่ดินทำกิน ก่อนที่จะหาฉันทมติจากสมาชิกและเข้าไปซื้อที่ดินแปลงใหญ่ นำมาจัดสรรให้เกษตรกรและผู้ยากจนที่ต้องการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา ตำบลรังกาใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา มีเกษตรกรและผู้ยากจนที่ได้รับความช่วยเหลือจำนวน ๔๕ ครัวเรือน สมาชิกบางส่วนเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกิน บางส่วนถูกเจ้าของที่ดินบอกเลิกเช่า และบางส่วนได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายภาครัฐในการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ เส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย และกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการทวงคืนผืนป่า สมาชิกจึงได้มีการรวมกลุ่มกันและยื่นหนังสือขอรับความช่วยเหลือจาก บจธ. ต่อมา บจธ. ได้มีการจัดซื้อที่ดินโดยมีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของ บจธ. เนื้อที่ ๑๕๐-๐-๑๗ ไร่ และได้มีการทำสัญญาเช่ากับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เป็นระยะเวลา ๒ ปี เพื่อให้กลุ่มเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งการวางแผนการดำเนินงาน การบริหารจัดการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม จนยกระดับเป็นโครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการเช่าซื้อตามหลักเกณฑ์ของ บจธ. ต่อไป ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ได้มีการจัดสรรแบ่งแปลงให้เกษตรกรเข้าไปใช้ประโยชน์เรียบร้อยแล้ว กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ มีการบริหารจัดการกลุ่มที่ดี สมาชิกมีความเข้มแข็ง ให้ความร่วมมือในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้เต็มศักยภาพ พื้นที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน และมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่จนเกิดผลผลิตและสามารถสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนได้ ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบ หรือตัวอย่างความสำเร็จ (Best Practice) ในการดำเนินงานของ บจธ. 

สำหรับเกษตรกรหรือผู้ยากจนที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน สามารถสอบถามข้อมูลต่างๆ หากเป็นกรณีขอรับความช่วยเหลือในการกระจายการถือครองที่ดิน ติดต่อกองบริหารจัดการที่ดิน โทร.๐๒-๒๗๘๑๖๔๘ ต่อ ๕๐๑, ๕๑๑ ส่วนกรณีขอรับความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิหรือจะสูญเสียสิทธิในที่ดิน ติดต่อ กองบริหารสินเชื่อ โทร.๐๒-๒๗๘๑๖๔๘ ต่อ ๖๐๑, ๖๐๒, ๖๑๐ 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๙ วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ - วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๕ 


963 1595