28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

January 17,2022

ภาคเอกชนอีสานร่วมหารือรัฐมนตรี ใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟลาว-จีน

ภาคเอกชนอีสานเสนอ ๖ เรื่องใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟลาว-จีน ขอรัฐบาลเร่งรัดก่อสร้างสะพานเชื่อมต่อทางรถไฟแห่งใหม่ที่หนองคาย พร้อมขอให้จีนเปิดตลาดสินค้าเกษตรภายใต้พิธีสารไทยจีนเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๕ ที่ห้องประชุมโรงแรมรอยัลนาคาราและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ หนองคาย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่ จ.หนองคาย เพื่อประชุมร่วมกับภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ โดยมีนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นำหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมหารือ และนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ/ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุดรธานี นายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี นายธีรวัฒน์ คุณะปุระ ประธาน YEC อุดรธานี ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
 
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านการพาณิชย์และติดตามสถานการณ์การค้าไทยลาวจังหวัดหนองคาย เพื่อประเมินแนวทางการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟลาว-จีน และรับฟังปัญหาและข้อคิดเห็นจากภาคเอกชน โดยมีข้อเสนอจากภาคเอกชนรวม ๖ เรื่องได้แก่ ๑.การเร่งรัดก่อสร้างสะพานเชื่อมทางรถไฟแห่งใหม่ (สะพานหนองคายแห่งที่ ๒) ๒.การสร้างศูนย์กระจายสินค้าเพื่อผลักดันการส่งออกผลไม้ ผ่านด่านชายแดนจังหวัดหนองคาย ๓.ขอให้จีนเปิดตลาดสินค้าเกษตรภายใต้พิธีสารไทย-จีน ที่เกี่ยวข้องสำหรับสินค้าเกษตรเพิ่มเติม ๔.ขอให้จีนอำนวยความสะดวกสินค้าผ่านด่าน ๑๐ แห่ง ภายใต้พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่ ๓ เข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ๕.การเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าเกษตรจากจีนที่เพิ่มมากขึ้น และ๖.การใช้ประโยชน์จากการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนผ่านรถไฟจีนลาว ณ ปัจจุบัน

สำหรับเส้นทางรถไฟจีน–ลาว ซึ่งเปิดใช้เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ มีระยะทางประมาณ ๔๒๐ กม. จำนวน ๓๑ สถานีเริ่มต้นที่คุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เชื่อมต่อที่เมืองบ่อเต็น สปป.ลาว มีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีการทำ MOU บันทึกความร่วมมือ ๓ ประเทศระหว่างไทย–ลาว–จีน ในปี ๒๕๖๐ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้าข้ามแดนเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ผ่านการขนส่งทั้งทางราง ทางถนน ทางอากาศ และทางเรือ เพื่อสร้างโอกาสและการเติบโตของการส่งออกการนำเข้าของประเทศไทยต่อไปในอนาคตโดยมีอีสานเป็นระเบียงเศรษฐกิจใหม่

ในส่วนของการก่อสร้างสะพานเชื่อมต่อทางรถไฟแห่งใหม่ ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ จะมีทั้งทางรถไฟมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร และขนาดทาง ๑ เมตร ตั้งอยู่ทางทิศใต้ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย–ลาว แห่งที่ ๑ ประมาณ ๓๐ เมตร โดยไทยและลาวจะร่วมรับผิดชอบการลงทุนก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมต่อทางรถไฟแห่งใหม่ในส่วนพื้นที่เขตแดนของแต่ละประเทศ โดยให้สอดคล้องกับการดำเนินการที่ผ่านมาในหลายสะพานระหว่างไทย–ลาว และเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายของทั้งสองประเทศ


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๐ วันพุธที่ ๑๒ - วันอังคารที่ ๑๘ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


1002 1598