14thNovember

14thNovember

14thNovember

 

January 17,2022

ยืนยัน‘รถไฟเร็วสูง’ต้องยกระดับ วิเชียร’เตรียมบุก‘ก.คมนาคม’ หวังคลายทุกข์ประชาชน

ชาวตำบลบ้านใหม่-โคกกรวด ยืนยันไม่เอาทางรถไฟเป็นคันดิน แม้ รฟท.จะเสนอทางเลือกแก้ปัญหาจราจรแล้ว ‘ผู้ว่าฯ วิเชียร’ เผยก่อสร้างตอม่อใช้งบเท่ากับสะพานเกือกม้าหลายจุด ชี้สร้างคันดินเป็นการแบ่งกั้นประชาชน ย้ำไม่เหมาะสม เตรียมยื่นหนังสือกระทรวงคมนาคม ด้าน กมธ.คมนาคม วุฒิสภา ลงพื้นที่รับฟังปัญหา

ตามที่เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่หอประชุมโรงเรียนบ้านภูเขาลาด ต.บ้านใหม่ อ.เมืองนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนายสมเกียรติ วิริยะกุล นันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จัดประชุมรับฟังปัญหาและผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ในระยะที่ ๑ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง ๒๕๑.๙ กม. งานสัญญาที่ ๓-๕ งานโยธา ช่วงสถานีโคกกรวด-สถานีนครราชสีมา โดยมีนายวัชรพล โตมรศักดิ์ เลขาธิการพรรคชาติพัฒนา และ ส.ส.เขต ๒ นครราชสีมา นายประพจน์ ธรรมประทีป ส.อบจ.นครราชสีมา อำเภอเมือง เขต ๔ นางมะลิวัลย์ บางนิ่มน้อย นายกเทศมนตรีตำบลบ้านใหม่ ผู้นำชุมชน และตัวแทนชาวบ้านกว่า ๕๐ คน ร่วมรับฟังผู้แทนบริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับจ้างดำเนินงานก่อสร้าง และมีเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมนำเสนอการดำเนินโครงการขอบเขตงาน ๑.งานโครงสร้างทางรถไฟ ระยะทางรวม ๑๒.๕๒ กม. คันทางระดับดิน ๗.๘๕ กม. ทางยกระดับ ๔.๘๕๓ กม. ๒.งานสถานีนครราชสีมา ๓.งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบไฟฟ้า และ ๔.งานรื้อย้ายต่างๆ รวมมูลค่า ๗,๗๕๐ ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง ๑,๐๘๐ วัน เริ่มงานวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๔ สิ้นสุดวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗

ทั้งนี้ การดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ โดยเฉพาะช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมา มีประชาชนตำบลบ้านใหม่ นัดรวมตัวเคลื่อนไหวแสดงจุดยืน ต้องการยกระดับเป็นตอม่อไม่ใช่คันดิน เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนปรับรูปแบบการก่อสร้าง โดยผู้นำชุมชนได้ยกตัวอย่างปัญหาความเดือดร้อน และร้องขอให้ปรับรูปแบบ แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน อ้างอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่รัฐบาลในฐานะเจ้าของโครงการ ทำให้ประชาชนตำบลบ้านใหม่ ไม่ยอมรับรูปแบบที่นำเสนอส่งผลให้กิจกรรมการมีส่วนร่วมเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร และมีการปะทะคารมระหว่างผู้แทน รฟท. กับประชาชน จึงไม่ได้ข้อสรุป และประชาชนออกมาเรียกร้องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทั่งมีการประชุมรับฟังปัญหาและผลกระทบฯ ครั้งนี้ และนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ต้องเข้าร่วมรับฟังด้วยตนเองในครั้งนี้

รฟท.แจงเหตุผล

ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวชี้แจงว่า “โครงการนี้สามารถกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับชีวิตในการเดินทางได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด ปลอดภัยยิ่งขึ้น ลดปริมาณการจราจรบนถนนสายหลัก ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง สามารถเพิ่มทางเลือกการเดินทางสู่ภาคอีสาน และเชื่อมต่อ สปป.ลาว และจีนในอนาคต สำหรับการแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ ประกอบด้วย จุดที่ ๑ บริเวณบ้านเดื่อ จะทำเป็นสะพานบกกว้าง ๑๕ เมตร สูง ๔.๕ เมตร ๒ ช่องจราจร โดยสะพานจะอยู่ห่างจากจุดตัดบ้านเดื่อประมาณ ๒๐๐ เมตร เรื่องความสูงที่กังวลว่า รถดับเพลิงผ่านไม่ได้ ขณะนี้กำลังปรับรูปแบบ จุดที่ ๒ ที่หนองเป็ดน้ำ จะเป็นรูปแบบจุดกลับรถเกือกม้าของโครงการรถไฟทางคู่ และมีสะพานลอยคนเดินกับจักรยานที่เพิ่มเข้ามา จุดที่ ๓ บ้านยางน้อย เดิมไม่มีอะไรเลย แต่ขณะนี้ปรับแบบเพิ่มสะพานลอยคนเดินกับจักรยานเข้ามา และมีสะพานบกระหว่างบ้านยางน้อยกับหมู่บ้านกรุงไทย ๒ จุดที่ ๔ หมู่บ้านกรุงไทย ๒ จะมีหลายอย่าง ทั้งสะพานบก สะพานเกือกม้า และสะพานลอยคนเดินกับทางจักรยาน และจุดที่ ๕ ภูเขาลาด เดิมมีเพียงสะพานเกือกม้า จึงเพิ่มเส้นทางสัญจรเข้ามาเป็นสะพานลอยคนเดินกับจักรยานยนต์”

นายประพจน์ ธรรมประทีป กล่าวว่า “ต.บ้านใหม่ เป็นชุมชนชานเมืองขนาดใหญ่มี ๑๒ หมู่บ้าน ประชากรกว่า ๓ หมื่นคน โครงการบ้านจัดสรร ๑๕ แห่ง สถานศึกษา ๙ แห่ง และที่ตั้งหน่วยงานราชการ รูปแบบเดิมช่วงเส้นทางผ่าน ต.บ้านใหม่ เป็นคันทางระดับดิน ๗.๘๕ กม. ก่อนจะยกระดับเข้าสู่สถานีรถไฟนครราชสีมา ซึ่งคันดินสูงประมาณ ๒ เมตร เหมือนกำแพงกั้น ไม่ตอบโจทย์ความสะดวก ความปลอดภัย เสมือนการแบ่งแยกชาวบ้านที่อยู่สองข้างทางรถไฟออกจากกันส่งผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เตรียมยื่นหนังสือถึงก.คมนาคม

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “จากการประชุมร่วมกันกับทุกฝ่ายในวันนี้ ชาวตำบลบ้านใหม่และตำบลโคกกรวด ได้แสดงจุดยืนต้องการให้สร้างทางรถไฟในรูปแบบยกระดับเป็นตอม่อไม่ใช่คันดิน ที่ผ่านมามีการเสนอไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้วเกี่ยวกับปัญหาความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ในส่วนตรงนี้ ซึ่งหากมีการดำเนินการก่อสร้างในรูปแบบของคันดินจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ปัญหาด้านการจราจร ปัญหาเรื่องมลภาวะ และปัญหาเรื่องการแบ่งแยกภูมิทัศน์เมืองอีกด้วย ประชาชนในพื้นที่ทุกคนยืนยันต้องการให้สร้างในรูปแบบยกระดับตอม่อตั้งแต่สถานีตำบลโคกกรวดจนถึงสถานีนครราชสีมา รวมระยะทาง ๗.๕ กม. ข้อเสนอของชาวบ้านถือว่ามีเหตุมีผล ซึ่งทางการรถไฟแห่งประเทศไทยควรนำไปพิจารณา สำหรับค่าใช้จ่าย งบประมาณในการก่อสร้างนั้นน่าจะพอๆ กับรูปแบบเดิมที่ต้องดำเนินการสร้างเกือกม้าสะพานบก และทางลอดกลับรถ หากการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่พิจารณาไม่มีการปรับแบบ จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องใน ๒ ตำบลนี้ ซึ่งมีประชาชนอาศัยหนาแน่น เป็นชุมชน มีประชาชนอาศัยกว่า ๔๐,๐๐๐ คน เพราะฉะนั้นการสร้างทางรถไฟแบบคันดิน กั้นระหว่าง ๒ ชุมชนนี้จึงไม่มีความเหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้าตนในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย ตัวแทนชาวบ้าน ผู้นำชุมชน จะเดินทางไปยื่นหนังสือข้อเสนอของชาวบ้าน ที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อให้มีการพิจารณาเรื่องนี้แก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านโดยเร็ว”

กมธ.คมนาคมลงพื้นที่รับฟังปัญหา

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๕ คณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา นำโดยพลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พร้อมด้วยพลเอกธวัชชัย สมุทรสาคร รองประธาน กมธ.คนที่ ๓ นำคณะลงพื้นที่ร่วมประชุมและรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข ๖ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) พร้อมทั้งลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการฯ ตอน ๗, ตอน ๑๓ และตอน ๒๐ โดยในช่วงบ่ายเดินทางมาที่ห้องประชุมหมวดทางหลวงปากช่องที่ ๑ ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยมีนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นายชิตพล เหล่าอัน ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากสำนักสำรวจและออกแบบ สำนักก่อสร้างทางที่ ๒ กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนเข้าร่วมประชุมพูดคุยหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน พร้อมรับข้อพิจารณาการแก้ไขปัญหาเพื่อนำเสนอหน่วยเหนือให้ทราบและเร่งดำเนินให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด

โดยในครั้งนี้ มีผู้เดือดร้อนจากการก่อสร้างโครงการของกรมทางหลวงเข้าร่วมนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนหลายกรณี อาทิ การร้องเรียนของนายพลพจน์ พลเจริญเกียรติ และคณะ กรณีขอให้มีการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) ตามแนวเส้นทางก่อสร้างทางลอดใต้คันทางรถไฟเดิม, การร้องเรียนของนายอนันต์ ละอองแก้วสุข ประธานกลุ่มพัฒนาชุมชนตําบลบ้านใหม่ ๒๐๒๐ เรื่องผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้าง โครงการรถไฟความเร็วสูงและโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ผ่านเทศบาลตําบลบ้านใหม่, การร้องเรียนของนายวิโรจน์ ศรีสังข์ นายกเทศมนตรีตําบลสีมามงคล กรณีขอให้ดําเนินการเร่งรัดการคืนสภาพถนนเส้นเลียบทางรถไฟทางคู่ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ในเขตตําบลกลางดง อําเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และการแก้ไขปัญหาจุดกลับรถบนทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) ช่วงเทศบาลตําบลกลางดง อําเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๐ วันพุธที่ ๑๒ - วันอังคารที่ ๑๘ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


85 1,661