16thApril

16thApril

16thApril

 

February 05,2022

‘คอบร้าโกลด์-โคปไทเกอร์’มาแน่ ผู้การวิตก‘ต่างชาติจะติดจากเรา’ โคราชยินดีรับเครื่องบินชุดใหม่

กองบิน ๑ แถลงผลปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๔ ช่วยเหลือประชาชนพ้นภัยแล้ง ภัยหนาว และน้ำท่วม พร้อมคุมเข้มมาตรการป้องกันโควิด-๑๙ ในองค์กร “ผู้บังคับการ” เผยแผนฝึกร่วมผสมกับต่างชาติปีนี้ ทั้ง “คอบร้า โกลด์” และ “โคป  ไทเกอร์” ยืนยันเข้มงวดและปลอดภัยจากโควิด-๑๙ เปรย “กลัวเขาติดจากเรามากกว่า” หากกองทัพอากาศเลือกโคราชเป็นที่ประจำการเครื่องบินใหม่เป็นเรื่องที่น่ายินดี

เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๕ ที่อาคารบรรยายสรุปร่วม (Star Fire) กองบิน ๑ น.อ.เจริญ วัฒนศรีมงคล ผู้บังคับการกองบิน ๑ พร้อมด้วยรองผู้บังคับการกองบิน ๑ ได้แก่ น.อ.พศิน สมบัติทวี และ น.อ. พีรภัทร เกศวยุธ รวมทั้ง น.อ.พิศาล วินัยชาติศักดิ์ เสนาธิการกองบิน ๑ ร่วมแถลงผลปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๔ โดยมีสื่อมวลชนในจังหวัดนครราชสีมาประมาณ ๒๐ คน ร่วมรับฟัง

น.อ.เจริญ วัฒนศรีมงคล ผู้บังคับการกองบิน กล่าวแนะนำตัวและผู้บริหารที่ร่วมแถลงว่า “ปัจจุบันกองบิน ๑ มีผู้บังคับบัญชาทั้งหมด ๔ คน ประกอบด้วย ๑.น.อ.เจริญ วัฒนศรีมงคล ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบิน ๑ เคยประจำอยู่ที่กองบิน ๗ จังหวัดสุราษณ์ธานี จากนั้นย้ายไปรับราชการที่กรมยุทธการทหารอากาศ กรุงเทพมหานคร และก่อนที่จะมาเป็นผู้บังคับการกองบิน ๑ เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองฝึกร่วมผสม โดยมีหน้าที่รับผิดชอบการฝึกร่วมกับนานาประเทศ ส่วน น.อ.พศิน สมบัติทวี (น้ำพุ) ดำรงรองผู้บังคับการกองบิน ๑ เคยเป็นผู้บังคับฝูงบิน ๑๐๓ กองบิน ๑ มีชั่วโมงบินมากกว่า ๒,๐๐๐ ชั่วโมง และยังเคยเป็นนักบินโชว์ (Display Pilot) อีกด้วย ทางด้าน น.อ.พีรภัทร เกศวยุธ (แจ็ค) รองผู้บังคับการกองบิน ๑ เคยเป็นผู้บังคับฝูงบิน ๑๐๒ กองบิน ๑ และน.อ.พิศาล วินัยชาติศักดิ์ เสนาธิการกองบิน ๑ เป็นคนโคราชแท้ๆ มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอสูงเนิน เป็นอดีตผู้บังคับฝูงบิน ๑๐๒ ต่อจาก น.อ.พีรภัทร เกศวยุธ”

ช่วยเหลือประชาชน

สำหรับผลการปฏิบัติงานของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบิน ๑ นั้น น.อ.เจริญ วัฒนศรีมงคล กล่าวว่า “แม้กองบิน ๑ จะเป็นหนึ่งในหน่วยงานราชการ แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น กองบิน ๑ จะมีโครงสร้างเป็นหน่วยงานใช้กำลัง โดยทำหน้าที่ในนามศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ซึ่งจะไม่ได้เปิดทำการตลอดเวลา แต่จะเปิดเฉพาะช่วงที่เกิดสาธารณภัยต่างๆ เพื่อให้ศูนย์ฯ มีอำนาจในการสั่งใช้เครื่องมือในการช่วยเหลือประชาชน เมื่อเกิดสาธารณภัยที่ใด ก็สามารถออกไปช่วยเหลือทันที โดยการช่วยเหลือประชาชนในปีที่ผ่านมา เริ่มจากการช่วยเหลือด้านภัยแล้งสำหรับประชาชนที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งกองบิน ๑ สนับสนุนน้ำจำนวนหลายแสนลิตร การช่วยเหลือด้านอุทกภัยช่วยเหลือด้วยการป้องกันไม่ให้บ้านพักอาศัยเสียหาย และช่วยประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วมอย่างรวดเร็ว รวมถึงการช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด เช่น ช่วยทำความสะอาด ปรับปรุงบ้านพักอาศัย และมอบถุงยังชีพที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ ในขณะที่การช่วยเหลือด้านภัยหนาว มีการมอบผ้าห่มและเสื้อกันหนาวให้กับประชาชน”

แผนป้องกันโควิด-๑๙

น.อ.เจริญ กล่าวถึงมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ในกองบิน ๑ ว่า “กองบิน ๑ นับเป็นหน่วยงานราชการที่จำเป็นต้องทำงานในรูปแบบ On-Site เท่านั้น แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำงาน โดยแบ่งข้าราชการในส่วนงานธุรการครึ่งหนึ่งทำงานในรูปแบบ Work From Home ส่วนข้าราชการที่อยู่ในส่วนของหน่วยรบหรือฝูงบิน จะแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม โดยกลุ่มที่ ๑ ทำงาน กลุ่มที่ ๒ เข้าเวร เตรียมความพร้อม และกลุ่มที่ ๓ Work From Home หากพบกลุ่มใดติดเชื้อโควิด-๑๙ ก็ยังจะเหลืออีก ๒ กลุ่มที่สามารถทำงานได้ ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ กองบิน ๑ ได้ริเริ่มรูปแบบการทำงานใหม่ เนื่องจากในกองบิน ๑ มีข้าราชการปฏิบัติงานอยู่ประมาณ ๑,๙๐๐ คน และแต่ละคนยังมีครอบครัวอาศัยอยู่ด้วย จึงมีข้อสั่งการว่า ในช่วงวันหยุดทุกสัปดาห์ ข้าราชการจะต้องทำแบบคัดกรองออนไลน์ โดยก่อนที่ทุกคนจะมาทำงาน จะต้องทำแบบคัดกรองก่อน เมื่อส่งแบบคัดกรองแล้ว ระบบจะกำหนดค่าต่างๆ ไว้ เพื่อแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสีเหลือง แดง และเขียว หากคนใดเป็นกลุ่มสีเหลือง จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไปสอบถามความเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้คนมีความเสี่ยงเข้ามารวมกลุ่มกับกลุ่มสีเขียว โดยคนที่อยู่ในกลุ่มสีเหลืองและแดง จะต้องถูกกักตัวดูอาการหรือให้ตรวจหาเชื้อเพื่อยืนยันผล โดยการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ กองบิน ๑ ทำตามมาตรการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ กำหนด และได้เชิญให้เจ้าหน้าที่จาก สสจ.มาตรวจสถานที่ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมากำหนด”

น.อ.เจริญ วัฒนศรีมงคล ผู้บังคับการกองบิน ๑

การฝึกร่วมผสมกองทัพอากาศ

จากนั้น น.อ.เจริญ แถลงถึงแผนการฝึกร่วมกับกองกำลังมิตรประเทศประจำปี ๒๕๖๕ ว่า “ในส่วนของแผนการฝึกร่วมผสมกับกองกำลังต่างประเทศในปีนี้ ประกอบด้วย การฝึก Cobra Gold ซึ่งเป็นการฝึกทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยมีกองทัพไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ถือเป็นการฝึกทั้งประเทศ สำหรับกองทัพอากาศจะมีหน่วยบินจากต่างประเทศเข้ามาร่วมฝึกด้วย แต่เนื่องจากปีนี้มีสถานการณ์โรคระบาด ในส่วนของการฝึกของกองทัพอากาศจริงๆ จึงถูกงด แต่กิจกรรมที่เกี่ยวกับ Cobra Gold ที่จะต้องใช้เครื่องบินสนับสนุนการฝึกของเหล่าทัพอื่นยังดำเนินการอยู่ ซึ่งจะมีกองกำลังของสหรัฐฯ มาร่วมฝึกด้วยประมาณ ๑๕๐ คน โดยการฝึก Cobra Gold จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ถึงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๕ ส่วนการฝึก Cope Tiger เป็นการฝึกใหญ่ที่สุดของกองทัพอากาศ และอาจจะมีความสำคัญที่สุด โดยวางแผนการฝึกไว้ระหว่างวันที่ ๑๐-๒๕ มีนาคม ๒๕๖๕ ซึ่งจะมีกองทัพอากาศสิงคโปร์ประมาณ ๒๕๐ นาย และสหรัฐฯ ประมาณ ๔๐๐ นาย มาร่วมการฝึก นับเป็นการฝึกร่วม ๓ ชาติ โดยปีนี้ได้ลดรูปการฝึกลง จำนวนเครื่องบินและผู้เข้าร่วมการฝึกน้อยลง อย่างไรก็ตามในฐานะที่ผมเคยเป็นผู้อำนวยการกองบินร่วมผสม ขอบอกว่า การฝึกร่วมผสมนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการบำรุงความพร้อมรบของทหารอากาศแล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่การฝึกด้วย เช่น ในช่วงสถานการณ์ปกติ กองกำลังที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่การฝึก ส่วนหนึ่งจะไปพักที่โรงแรม มีการท่องเที่ยว และจับจ่ายใช้สอย ชาวต่างประเทศเข้ามากินมาอยู่ประมาณ ๓-๔ สัปดาห์ ซึ่งส่วนนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ และเพื่อความสบายใจ กลุ่มทหารที่มาเป็นกลุ่มที่สามารถควบคุมได้ ไม่ใช่มาแล้วจะไปที่ใดก็ได้ แต่ทุกคนมาแล้วจะอยู๋ในระเบียบวินัย”

“ในการควบคุมสถานการณ์โรคระบาดของผู้ร่วมฝึกที่จะเดินทางเข้ามาโคราช กองบิน ๑ ได้พูดคุยอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุข และได้รับคำแนะนำหรือการดูแลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ดังนั้น เมื่อมีแผนป้องกันที่ชัดเจน กองบิน ๑ จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ เพื่อให้พิจารณา ที่ผ่านมากองบิน ๑ ปฏิบัติตามมาตรการ เพราะมีการเดินทางเข้ามาฝึกฝ่ายเดียวของกองทัพอากาศสิงคโปร์เมื่อปี ๒๕๖๔ ซึ่งการฝึกผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ผมพูดกับทีมงานบ่อยๆ ว่า ผมไม่ค่อยกลัวเขาจะนำเชื้อเข้ามา แต่กลัวเขาจะติดจากเราไปมากกว่า” น.อ.เจริญ กล่าว

เวลาฝึกบินย่อมมีเสียงรบกวน

ทางด้าน น.อ.พศิน สมบัติทวี แถลงเพิ่มเติมว่า “นโยบายของผู้บัญชาการทหารอากาศ มีคณะกรรมการยกระดับคุณภาพชีวิตของกองประจำการ คือ น้องที่เข้ามารับราชการทหารกองประจำการกองทัพอากาศ จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลายด้าน เช่น ความเป็นอยู่ การฝึกที่ปลอดภัยและมีมาตรฐาน และรับประกันได้ว่า การเข้ามาเป็นทหารอากาศ เข้ามาฝึกเพื่อรับใช้ชาติอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีนักบินโชว์ (Display Pilot) คือหัวหน้าหรั่ง หรือ น.อ.รุ่งยศ ยศไกร ซึ่งการฝึกซ้อม อาจจะสร้างเสียงรบกวนให้กับประชาชน โดยการฝึกซ้อมมีความจำเป็น เพื่อให้นักบินสร้างความคุ้นเคยกับการบิน ให้มีความชำนาญ และความพร้อมอยู่ตลอดเวลา”

วัดกันที่คุณภาพ

น.อ.เจริญ วัฒนศรีมงคล กล่าวถึงขีดความสามารถหรือกำลังรบของกองบิน ๑ ว่า “ปัจจุบันกองบิน ๑ มีเครื่องบิน F-16 ประจำการอยู่ โดยเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ มีอายุประมาณ ๓๔ ปี จึงมีเครื่องบินส่วนหนึ่งที่มีสภาพเก่ามาก ไม่คุ้มค่าต่อการซ่อมแซม ประกอบกับอะไหล่หรือผู้ซ่อมเครื่อง F-16 หายากมากบนโลก ดังนั้นจึงปลดประจำการบางส่วนออกไป ซึ่งเดิมทีกองบิน ๑ มีฝูงบินประการอยู่ ๓ ฝูงบิน คือ ฝูงบิน ๑๐๑, ฝูงบิน ๑๐๒ และฝูงบิน ๑๐๓ ซึ่งฝูงบิน ๑๐๑ ย้ายไปประจำการที่กองบินอื่น ส่วนกองบิน ๑๐๒ ได้ปลดประจำการไปเมื่อปีที่แล้ว จึงเหลือเพียงฝูงบิน ๑๐๓ ซึ่งยังใช้เครื่องบิน F-16 ที่มีมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ แต่ถ้าพูดถึงความสามารถ เครื่องบิน F-16 ก็ยังเป็นเครื่องบินที่ดีมาก เครื่องที่สร้างเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว บวกกับการใช้งานก่อนจะขายให้ประเทศไทยประมาณ ๑๐ ปี ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีบนเครื่องบิน F-16 อาจจะไม่ทันสมัยแล้วในปัจจุบัน แต่ถ้าเปรียบเทียบกับรอบบ้าน ยังถือเป็นเครื่องบินรบที่ใช้งานได้ดีอยู่ มีความน่าเกรงขาม และเหมาะสมกับภัยคุกคามในปัจจุบัน แต่กำลังทางอากาศจะวัดกันที่คุณภาพไม่ใช่ปริมาณ ดังนั้นถ้ามีของที่มีคุณภาพ จะทำให้ชนะเสมอ แม้อีกฝ่ายจะมีจำนวนมากกว่า แต่ก็จะแพ้เสมอ แพ้ไปเรื่อยๆ เพราะคุณภาพสู้กันไม่ได้ กองบิน ๑ จึงต้องการของที่มีคุณภาพ จากข่าวที่ผ่านมา กองทัพอากาศก็มีความสนใจที่จะซื้อเครื่องบินใหม่ หากซื้อสำเร็จ แนวโน้มน่าจะนำมาทดแทนฝูงบิน ๑๐๒ ที่ปลดประจำการไป จะเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ถ้าเครื่องบินใหม่มาประจำการที่กองบิน ๑ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้กองทัพอากาศยังไม่สรุปว่าจะประจำการที่ใด แต่ถ้าเลือกกองบิน ๑ ก็จะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและน่ายินดีสำหรับคนโคราช”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๓ วันพุธที่ ๒ - วันอังคารที่ ๘ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช  ๒๕๖๕


1032 1388