15thJanuary

15thJanuary

15thJanuary

 

February 12,2022

มทส.ก้าวกระโดดสู่บล็อกเชนเทคโนโลยี เน้นบ่มเพาะนศ.เป็นผู้ประกอบการ จัดทัพสู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรมยั่งยืน

มทส.เปิดวิสัยทัศน์ SUT2025 เน้นย้ำการปรับตัวมุ่งเน้นนำเทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยผลักดันการสร้าง Digital Transformation นำพาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน เน้นบ่มเพาะนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการ จับมือบริษัท ไอแอม คอนซัลติ้ง จำกัด และ Thailand Blockchain Working Group (TBWG) ร่วมมือทางวิชาการ และสร้างเครือข่ายบล็อกเชน

รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือซึ่งเน้นในเรื่อง  Digital Transformation “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเราได้วางยุทธศาสตร์ SUT2025 ขับเคลื่อนให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อความเป็นเลิศในทุกภารกิจ ทั้งการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การให้บริการวิชาการ หนึ่งในนโยบายที่เร่งด่วนและสำคัญ คือ การทำ Digital Transformation เนื่องจากในปัจจุบันเกิด Disruptive Technology ในหลายศาสตร์ มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องของการปรับปรุงระบบสารสนเทศ และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลหลายอย่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และการให้บริการ”

“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของมหาวิทยาลัยก็เป็นเรื่องสำคัญ ในระบบการเรียนการสอนปัจจุบันเราต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การปรับการเรียนการสอนเป็น Modular Program ที่ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตใน Credit Bank ซึ่งการเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลไม่สูญหาย โปร่งใส และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังให้ความสนใจพัฒนา SUT Coin บนบล็อกเชนด้วย ดังนั้น การที่มีคนเข้ามาร่วมจึงเป็นโอกาสที่ดีทั้งสองฝ่ายจะจับมือและแชร์เทคโนโลยีกัน มหาวิทยาลัยมีบุคลากร มี Infrastructure แต่เรายังขาดการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่ง I AM Consulting และ TBWG จะเป็นส่วนที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาหลักสูตร พัฒนาการเรียนการสอนต่างๆ หรือเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การทำ Spin-off และสร้าง Start-up”

รศ.ดร.อนันต์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “มทส. มีเป้าหมายสร้าง Student Entrepreneur บ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการให้นักศึกษา โดยจัดกิจกรรม Hackathon จากที่จัดมา พบว่า นักศึกษารุ่นใหม่ชอบกิจกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาจจะต่อยอดโครงการนี้ออกเป็น Student Entrepreneurship Platform เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยมีภารกิจด้านวิชาการเป็นหลัก เพื่อขยาย และต่อยอดออกไปได้ใน วงกว้าง มทส.มองเห็นว่าจะต้องร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดการปรับแปลงถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี การเรียนรู้ร่วมกันทั้งฝั่งมหาวิทยาลัยกับเอกชน อาจจะเข้าไปสู่การทำ Quadruple Helix ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องมีหลายฝ่ายมาร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มทส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะร่วมกันสร้างสรรค์โครงการดีๆ ในอนาคต โดยเฉพาะโครงการที่เน้นการพัฒนาวิทยาการใหม่ๆ เช่น Data Science, Data Analytics, Blockchain, Machine Learning, Big Data, AI, Cyber Security หรือ Platform อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี”

นายกริช วิโรจน์สายลี รองประธานกรรมการ บริษัท ไอแอม คอนซัลติ้ง จํากัด กล่าวถึงความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ว่า “เราจะร่วมกันพัฒนาหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยให้เกิดเป็น Digital University เพื่อรองรับอนาคตที่จะเข้าสู่โลกดิจิทัล ในฐานะไอแอม คอนซัลติ้ง และ TBWG อยู่ในภาคธุรกิจเอกชน เราสามารถนำความรู้ที่เราทำให้กับลูกค้าภายนอกมาแบ่งปันความรู้ให้กับอาจารย์ เพื่อให้อาจารย์นำความรู้เหล่านี้ไปร่วมกัน หรือสอนให้นักศึกษาได้ อีกเรื่องคือการพัฒนาทักษะความรู้ให้กับนักศึกษา ในเรื่องของดิจิทัลให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบล็อกเชน หรือการสร้าง Ecosystem ซึ่งมหาวิทยาลัยเองก็เป็น Sandbox ที่ดี โดยสามารถเริ่มต้นจาก Community เล็กๆ ก่อน เช่น ในภาควิชาหรือคณะ ก่อนจะต่อยอดไปสู่ทั้งมหาวิทยาลัยได้”

นอกจากนี้ ด้วยประสบการณ์ของเราในด้านระบบ ERP และระบบ HR เราสามารถนำองค์ความรู้ต่างๆ เข้าไปช่วยมหาวิทยาลัยสร้างหลักสูตร หรือให้ความรู้ให้กับนักศึกษา เพื่อให้พวกเขาได้คุ้นเคยกับระบบเทคโนโลยีองค์กรต่างๆ อีกส่วนหนึ่ง คือ บล็อกเชน เป็นโอกาสดีที่ มทส.ก็เป็นหนึ่งใน Validator Node ของ xCHAIN ที่เราได้ร่วมกับ TBWG พัฒนาให้เป็น Blockchain Infrastructure สำหรับประเทศไทย ทั้งหมดนี้เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ภายในมหาวิทยาลัยได้ เช่น การมี Digital ID ที่จะช่วยในการเรียนออนไลน์ หรือการนำ Digital Certificate มาช่วยการเรียนการสอนที่มีลักษณะเป็น Modular ในการเก็บหน่วยกิต และสามารถตรวจสอบย้อนหลังผ่าน Digital ID ได้ หรือการสร้าง Token ของมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดการใช้งาน ซึ่ง SUT Coin เป็นอีกจุดเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาสร้าง token โดยสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักศึกษา ทั้งหมดนี้เป็น Use Case เริ่มต้น และในอนาคต ทั้ง มทส., ไอแอม คอนซัลติ้ง และ TBWG จะสามารถต่อยอด และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ร่วมกันได้อีกมาก” นายกริช กล่าวท้ายสุด

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๔ ประจำวันพุธที่ ๙ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช  ๒๕๖๕


92 1,678