February 20,2022
หวั่นโควิดติดเชื้อหลักพัน แนะท้องถิ่นหาเตียงรองรับ โรงเรียน-ตลาด’ยอดพุ่ง
สสจ.โคราช ชี้โควิดอยู่ในช่วงขาขึ้น ผู้ติดเชื้อรายวันอาจจะเพิ่มสูงถึงหลักพัน หวั่นโรงพยาบาลไม่มีเตียงรองรับ แนะท้องถิ่นเร่งจัดทำ CI และ HI ย้ำหลังจากนี้จะเป็นโรคประจำถิ่น ประชาชนต้องทำมาหากินและเรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัส ด้านหลายคลัสเตอร์ยังน่าเป็นห่วง พบโรงเรียนและตลาดระบาดหนัก
เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมี นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าวว่า “วันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่ ๔๕๖ ราย ซึ่งตัวเลขนี้ เป็นตัวเลขที่ยืนยันการติดเชื้อด้วยการตรวจ RT-PCR ส่วนผู้ป่วยที่พบผลบวก ATK จะถูกส่งตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันผล ดังนั้น ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละวัน อาจจะตามหลังผู้ป่วยที่มีผลบวก ATK แต่สุดท้ายก็จะตามกันทัน ส่วนสถานการณ์ผู้ป่วยสะสมวันนี้ โคราชมีผู้ป่วยสีเขียว ๒,๗๐๘ ราย สีเหลือง ๗๙๖ ราย และสีแดงหรือผู้ป่วยหนัก ๕๐ ราย ก็เป็นไปตามหลักวิชาการที่ว่า เมื่อเจ็บป่วยก็จะมีทั้งคนอาการน้อยถึงอาการหนัก โดยกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว จะเป็นกลุ่มเสี่ยงอาการหนัก จึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น สำหรับสถานการณ์การระบาดในโคราช หากดูตามสถิติจะพบว่า การะบาดหนักจะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ ซึ่งการระบาดหนักแบบเดิมกำลังจะเกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ แล้วสถานการณ์จะรุนแรงเหมือนเดิมหรือไม่นั้น ต้องบอกว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ โคราชพบผู้ป่วยเสียชีวิตเกือบทุกวัน และมีปัญหาเรื่องเตียงรักษาไม่เพียงพอ เนื่องจากมีผู้ป่วยวันละ ๖๐๐ ราย แม้ตัวเลขจะใกล้ ๖๐๐ ราย เหมือนกัน แต่จำนวนผู้ป่วยที่จะต้องเข้า ICU น้อยลง เพราะโควิดสายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลต้า สายพันธุ์โอมิครอนจะสามารถติดเชื้อได้ง่ายกว่าก็ตาม ดังนั้น ตัวเลขอาจจะสูงขึ้นกว่าเดิม และสูงกว่าปี ๒๕๖๔ โดยอาจจะสูงถึงหลักพันคนต่อวัน สิ่งที่รับไม่ได้แน่ๆ คือโรงพยาบาล ไม่มีเตียงให้นอน”
“สำหรับจำนวนผู้ป่วยรายอำเภอ ขอให้ผู้บริหารอำเภอแต่ละแห่งดูตัวเลขแล้วนำไปคิดว่าจะทำอย่างไร วันนี้อำเภอเมือง พบผู้ป่วยรายใหม่ ๘๒ ราย รักษาอยู่ ๑,๐๘๓ ราย อยู่ในโรงพยาบาล ๗๗๒ ราย โรงพยาบาลสนาม ๒๒๘ ราย จะเห็นว่าอำเภอเมืองยังคงพึ่งพาโรงพยาบาลเป็นหลัก ส่วน CI (Community Isolution) ยังมีจำนวนน้อย ดังนั้น ถ้าตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่คนไข้จะได้รับการรักษาใน HI (Home Isolution) โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความพร้อม ถ้าไม่พร้อมอาจจะมีความเสี่ยง จึงต้องขอให้อำเภอเมืองหรือเทศบาลต่างๆ หากสามารถร่วมกันจัดตั้ง CI ขึ้นมาได้ จะเป็นความมั่นคงด้านสุขภาพที่จะช่วยรองรับผู้ป่วย ส่วนอำเภอปากช่อง พบผู้ป่วยวันนี้ ๒๐ ราย ซึ่งอำเภอปากช่องเป็นอำเภอที่มีการทำ HI มากที่สุด มีผู้ป่วยรักษาใน HI ๒๓๗ ราย จึงขอฝากไว้ว่า ขอให้อำเภอเข้มงวด ห้ามผู้ป่วยที่อยู่ใน HI ออกไปสู่สังคม โดยเฉพาะการไปร้านสะดวกซื้อหรือตลาด เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย สำหรับผู้ป่วยอำเภออื่นๆ มีดังนี้ อำเภอด่านขุนทด ๗๐ ราย พิมาย ๔๑ ราย สีคิ้ว ๓๓ ราย สูงเนิน ๒๙ ราย โนนไทย ๒๙ ราย บัวใหญ่ ๒๖ ราย ปักธงชัย ๑๘ ราย เสิงสาง ๑๖ ราย โนนสูง ๑๒ ราย ห้วยแถลง ๑๒ ราย จักราช ๑๑ ราย ขามสะแกแสง ๑๐ ราย ชุมพวง ๑๐ ราย พระทองคำ ๘ ราย แก้งสนามนาง ๗ ราย สีดา ๕ ราย คง ๔ ราย ประทาย ๔ ราย ขามทะเลสอ ๓ ราย วังน้ำเขียว ๓ ราย บัวลาย ๑ ราย โนนแดง ๑ ราย และเฉลิมพระเกียรติ ๑ ราย”
แนวทางการรับมือโควิด
นพ.วิชาญ กล่าวอีกว่า “นับจากนี้ไป กระทรวงสาธารณสุขหรือทีมแพทย์เตรียมรับมือกับโรคโควิดอย่างไร หลังจากนี้ไม่ต้องถามหมอแล้วว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นสายพันธุ์อะไร เพราะขณะนี้เป็นโอมิครอนทั้งหมด โดยขณะนี้ประเทศไทยได้รับวัคซีนเข็มที่ ๑ จำนวน ๕๒.๔ ล้านโดส เข็มที่ ๒ จำนวน ๔๘.๗ ล้านโดส และเข็มที่ ๓ จำนวน ๑๔.๕ ล้านโดส ถือว่าประเทศไทยได้รับวัคซีนถึงร้อยละ ๗๐ ของจำนวนประชากรแล้ว ต่อจากนี้จะต้องเร่งฉีดเข็มที่ ๓ ในกลุ่ม ๖๐๗ คือ ผู้สูงอายุมากกว่า ๖๐ ปี และ ๗ กลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง และกลุ่มนี้จะฉีดทุกปี โดยขณะนี้เริ่มมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มเด็กอายุ ๕-๑๑ ปี และมีแผนจะฉีดวัคซีนซิโนแวค ในเด็กอายุ ๓-๕ ปี รอการอนุมัติจาก อย. แต่ผู้ปกครองสามารถยินยอมหรือไม่ก็ได้ จะไม่มีการบังคับ สำหรับการรายงานตัวเลขประจำวัน จะไม่เน้นผู้ป่วยรายวัน แต่จะให้ความสำคัญกับจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงผู้ป่วยอันตราย และยุทธศาสตร์หลักจะเป็นการตรวจด้วย ATK หากพบผลบวกจะดูแลใน HI เป็นหลัก”
นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา
โควิดเป็นโรคประจำถิ่น
“เป้าหมายการจัดการกับโควิด เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ตั้งแต่มีโควิดระบาดครั้งแรก ประเทศไทยตั้งเป้าจะไม่ให้มีใครป่วย แต่เมื่อผ่านจุดนั้นมาแล้ว ก็ตั้งเป้าใหม่ว่า จะต้องไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต จากนั้น ปลายปี ค.ศ.๒๐๒๑ ประชาชนประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงพยายามเปิดให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด และป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก ปัจจุบันทุกกิจกรรมหรือกิจการ แทบจะไม่มีการสั่งปิดอีกแล้ว แม้แต่สถานประกอบการ ยังผ่อนคลายให้เปลี่ยนมาเป็นร้านอาหาร ดังนั้น เมื่อเปิดทุกอย่างแลกกับการติดเชื้อวันละ ๕๐๐ ราย ทุกคนก็ต้องช่วยกันระวัง หากยอดพุ่งไปวันละ ๑-๒ พันราย วันนั้นอาจจะต้องปิดและเริ่มกันใหม่ โดยหลังจากนี้ เมื่อแผนและแนวทางการประกาศให้โควิดเป็นเชื้อประจำถิ่นแล้วเสร็จ ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุค Moving to Covid Endmic หมอก็จะไม่ต้องมานั่งรายงานตัวเลขอีกแล้ว แต่ใช้เวลาไปรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล สุดท้ายแล้วเราจะต้องไปถึงจุดนี้ ไม่ใช่จะอยู่กันแบบไม่ทำมาหากิน เพราะสุดท้ายโรคจะกลายเป็น Endmic แต่คาดว่า ยังไม่ใช่เร็วๆ นี้แน่นอน” นพ.วิชาญ กล่าว
๑๖ คลัสเตอร์ระบาดหนัก
สำหรับความคืบหน้าของคลัสเตอร์ในจังหวัดนครราชสีมา นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา สสจ.นครราช สีมา รายงานว่า วันนี้ ๑๖ คลัสเตอร์ ประกอบด้วย ๑.โรงเรียนบ้านเจริญผล ต.มาบกราด อ.พระทองคำ พบผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม จากนั้นจึงเริ่มมีการค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในชั้นเรียนและเพื่อนร่วมรถรับส่ง ทำให้พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๔๒ ราย กระจาย ๔ วง โดยวงที่ ๑ พบผู้ติดเชื้อ ๑๓ ราย วงที่ ๒ พบผู้ติดเชื้อ ๒๐ ราย วงที่ ๓ พบผู้ติดเชื้อ ๕ ราย และวงที่ ๔ พบผู้ติดเชื้อ ๔ ราย ๒.โรงเรียนเทศบาล ๒ อำเภอบัวใหญ่ พบผู้ติดเชื้อ ๘๖ ราย แบ่งเป็นครู ๒ ราย นักเรียน ๕๕ ราย และผู้ร่วมบ้านกับนักเรียน ๒๙ ราย ๓.โรงเรียนการุณวิทยา ต.ทองหลาง อ.จักราช วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ แม่ของผู้ป่วยรายแรกไปสัมผัสผู้ป่วยโควิด จึงซื้อ ATK มาตรวจในครอบครัว จึงพบผู้ป่วยรายแรกเป็นผลบวก เชื้อมีการกระจายสู่นักเรียนที่มีความสนิทสนมกัน ๖ ราย นักเรียนร่วมห้อง ๑๒ ราย และกลุ่มผู้ร่วมบ้านกับนักเรียน ๑๗ ราย รวมมีผู้ติดเชื้อ ๓๕ ราย
๔.โรงเรียน้านหนองพลวง ต.โพธิ์กลาง อ.เมือง วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ รพ.สต.หนองพลวงมะนาว ตรวจ ATK ให้นักเรียนชั้น ป.๖, ม.๓ และครูประจำชั้น ที่จะไปสอบและคุมสอบ O-NET จำนวน ๔๑ คน พบผลบวก นักเรียน ๑๑ ราย และ ครู ๑ ราย จากนั้นเวลา ๑๖.๐๐ น. ทำการค้นหาเชิงรุกนักเรียน ๑๕๒ คน ครู ๑๙ คน และผู้ปกครอง ๔๙ คน พบผลบวก ๕ ราย เป็นผู้ปกครองนักเรียนชั้น ป.๖ โรงเรียนจึงสั่งปิดสถานที่วันที่ ๑๒-๒๑ กุมภาพันธ์ ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อยืนยัน ๔๒ ราย ๕.สนามชนไก่ จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ติดเชื้อ ๑๑๘ ราย แบ่งเป็นสนามชนไก่อำเภอพิมาย ๖ ราย สนามชนไก่อำเภอโนนสูง ๓๔ ราย ซึ่งเชื้อมีการกระจายไปสู่ผู้สัมผัสเสี่ยงอีก ๓ อำเภอ คือ อำเภอบัวใหญ่ ๒๒ ราย โนนสูง ๒๒ ราย และคง ๓๒ ราย
๖.สนามชนไก่บ้านโกรกหิน ต.หันห้วยทราย อ.ประทาย พบผู้ติดเชื้อ ๔๒ ราย ซึ่งเชื้อกระจายไป ๖ อำเภอ ได้แก่ อำเภอบัวใหญ่ ๑ ราย ประทาย ๑๑ ราย สีดา ๑ ราย ชุมพวง ๒ ราย และบ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ ๑ ราย โดยกระจายสู่ผู้สัมผัสเสี่ยงอีก ๑๗ ราย ๗.ตลาดไนท์บาซาร์พิมาย อ.พิมาย พบผู้ติดเชื้อ ๔๗ ราย ยู่ในวงที่ ๑ จำนวน ๓๐ ราย และวงที่ ๒ จำนวน ๑๗ ราย ๘.ตลาดสดเทศบาลปากช่อง ต.ปากช่อง อ.ปากช่อง พบผู้ติดเชื้อ ๖๖ ราย อยู่ในวงที่ ๑ จำนวน ๔๕ ราย และวงที่ ๒ จำนวน ๒๑ ราย ๙.บริษัทโทโยนากา ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว พบผู้ติดเชื้อ ๘๕ ราย อยู่ในวงที่ ๑ จำนวน ๖๖ ราย วงที่ ๒ จำนวน ๑๒ ราย และวงที่ ๓ จำนวน ๗ ราย
๑๐.บริษัทจินตนา อินเตอร์เทรด อ.เมือง พบผู้ติดเชื้อ ๓๓ ราย พบผู้ป่วยรายแรกวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ จากนั้นวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ รพ.สต.มะค่าประสานโรงงานว่า พบเชื้อเพิ่ม ๑๑ ราย รพ.สต.มะค่า จึงลงพื้นที่ค้นหาเชิงรุกในพนักงาน ๕๐๐ คน พบผลบวก ๑ ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยง ๑๔๔ ราย ๑๑.ผู้ร่วมรับประทานอาหาร หมู่ที่ ๒ ต.วังโรงใหญ่ อ.สีคิ้ว พบผู้ติดเชื้อ ๒๑ ราย วงที่ ๑ เป็นกลุ่มที่รับประทานอาหารร่วมกัน ติดเชื้อ ๗ ราย จากนั้นผู้ที่รับประทานอาหารร่วมกัน นำเชื้อมาติดในครอบครัว ทำให้เกิดเป็นวงที่ ๒ จำนวน ๖ ราย และเชื้อกระจายไปยังเพื่อนบ้าน กับผู้ที่มาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เตะบอล และเล่นกับเด็ก เกิดเป็นวงที่ ๓ จำนวน ๕ ราย และยังติดเชื้อสู่วงที่ ๔ จำนวน ๓ ราย ๑๒.ครอบครัวบ้านดอน หมู่ที่ ๘ ต.ด่านจาก อ.โนนไทย พบผู้ติดเชื้อ ๒๐ ราย อยู่ในวงที่ ๑ จำนวน ๑๑ ราย และวงที่ ๒ จำนวน ๙ ราย
๑๓.งานหมอลำ จ.มหาสารคาม และ จ.บุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ ๒๙-๓๑ มกราคม ๒๕๖๕ โดยวันที่ ๒๙ มกราคม ผู้ป่วยรายแรกพร้อมเพื่อน ๖ คน ไปดูหมอลำที่ จ.มหาสารคาม จากนั้นวันที่ ๓๑ มกราคม ผู้ป่วยพร้อมเพื่อนอีก ๗ คน ไปดูหมอลำที่ จ.บุรีรัมย์ ต่อมาวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ได้รับแจ้งจากเพื่อนที่ไปดูหมอลำด้วยกันว่า มีอาการและตรวจ ATK พบผลบวก รพ.สต.โนนทอง จึงแจ้งประสานทีม CDCU ห้วยแถลง และผู้ป่วยรายแรกและญาติมาตรวจหาเชื้อ พบเชื้อ ๒ ราย วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ทีม CDCU ห้วยแถลง ลงพื้นที่สอบสวนโรคเพื่อนและญาติที่ร่วมกิจกรรมเมื่อวันที่ ๑-๖ กุมภาพันธ์ ประมาณ ๑๔๔ ราย พบผลบวก ๑๘ ราย ทำให้คลัสเตอร์นี้มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๔๖ ราย รอผลตรวจยืนยัน ๕ ราย
๑๔.บ้านหนองไทร ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๒๘ ราย วงที่ ๑ เป็นกลุ่มคนที่ทำกิจกรรมไหว้บรรพบุรุษร่วมกัน ๑๕ ราย จากนั้นเชื้อกระจายจากเด็กในวงที่ ๑ สู่เพื่อนร่วมชั้น และนักเรียนที่ขึ้นรถรับส่ง เกิดเป็นวงที่ ๒ จำนวน ๘ ราย วงที่ ๓ เป็นเพื่อนครูกับวงที่ ๒ จำนวน ๒ ราย และวงที่ ๔ ครูจากวงที่ ๓ ไปสอนนักเรียนในวงที่ ๔ จำนวน ๓ ราย ซึ่งคลัสเตอร์นี้อยู่ระหว่างสอบสวนโรคเพิ่มเติม ๑๕.งานศพบ้านหนองสรวง หมู่ที่ ๑ ต.หนองสรวง อ.ขามทะเลสอ เนื่องจากมีผู้ร่วมงานศพมาจากหลายจังหวัด คนที่มาจากจังหวัดสุพรรณบุรี ตรวจพบเชื้อ เนื่องจากงานศพจะต้องมีการเฝ้างาน ผู้ป่วยรายแรกจึงเป็นคนอยู่เฝ้า แต่เมื่อจะไปทำงาน ที่ทำงานจึงให้ตรวจ ATK ปรากฏว่า พบผลบวก เจ้าหน้าที่จึงค้นหาในครอบครัวและพบว่า มีความเชื่อมโยงกับงานศพ จึงค้นหาเชิงรุก พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๑๗ ราย
๑๖.ตลาดในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ เทศบาลนครฯ ลงพื้นที่ค้นหาเชิงรุกในกลุ่มตลาดประปาและตลาดเพ็ชรสีมา ๑,๒๐๘ ราย พบผู้ติดเชื้อ ๘๖ ราย จากนั้นวันที่ ๑๒-๑๓ กุมภาพันธ์ เทศบาลนครฯ ทำการค้นหาอย่างต่อเนื่อง จำนวน ๙๖ ราย พบผู้ติดเชื้อ ๔ ราย แต่มีความเชื่อมโยงตลาดประปาและตลาดเพ็ชรสีมาเพียง ๓ ราย โดยขณะนี้ยังไม่พบผู้ค้าขายติดเชื้อเพิ่มเติม แต่พบการติดเชื้อในวงที่ ๒ เป็นผู้ร่วมบ้านกับผู้ป่วย อยู่ที่ตำบลหัวทะเล จำนวน ๑ ราย ทั้งนี้ เทศบาลนครฯ ได้ทำความสะอาดตลาดประปาและตลาดเพ็ชรสีมาแล้ว รวมคลัสเตอร์นี้พบผู้ติดเชื้อในอำเภอเมืองทั้งหมด ๙๘ ราย เป็นพ่อค้าแม่ค้า ๖๙ ราย และผู้สัมผัสร่วมบ้านและผู้ใกล้ชิด ๒๙ ราย กระจายในพื้นที่ ๑๗ ตำบล ได้แก่ ตำบลตลาด ๑ ราย พะเนา ๙ ราย โพธิ์กลาง ๕ ราย หนองระเวียง ๓ ราย บ้านเกาะ ๒ ราย หนองจะบก ๒ ราย ปรุใหญ่ ๑ ราย หนองบัวศาลา ๔ ราย หนองไข่น้ำ ๓ ราย หนองกระทุ่ม ๑ ราย หมื่นไวย ๗ ราย บ้านใหม่ ๒ ราย จอหอ ๑๓ ราย หัวทะเล ๑๔ ราย โคกกรวด ๔ ราย พุดซา ๗ ราย และมะเริง ๑๖ ราย
นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวสรุปในที่ประชุมว่า “คลัสเตอร์ในวันนี้ส่วนใหญ่มาจากโรงเรียน ชุมชน ครอบครัว ตลาด และโรงงาน จึงขอเน้นย้ำกับทุกอำเภอให้มีการเฝ้าระวังและปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวด”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๕ ประจำวันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๒ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๕
92 1,655